การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์เป็นอย่างไร? ค่าครองชีพแพงไหม? คนที่นั่นพูดภาษาอะไร? เราอาจจะเคยได้ยินคำถามนี้กันบ่อย ๆ บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ในมุมที่เจาะลึกกัน ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงการศึกษาข้อมูลและพูดคุยกับชาวดัตช์เพื่อค้นหาคำตอบให้ชัดเจนกันมากขึ้น เนื้อหาในบทความฉบับนี้แบ่งออกเป็นหลายหัวข้อ ครอบคลุมเรื่องการเรียนภาษาดัตช์ การทำงานและอัตราภาษีเงินได้ สวัสดิการและเงินสงเคราะห์ ค่าครองชีพความเป็นอยู่ การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ผู้คนและวัฒนธรรม ตลอดจนครอบครัวและการแต่งงาน เมื่ออ่านบทความฉบับนี้แล้วจะช่วยให้เห็นภาพในการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์
วีซ่าและใบอนุญาตพำนักอาศัยในเนเธอร์แลนด์
ไปเนเธอร์แลนด์ต้องใช้วีซ่าประเภทไหน?
ก่อนย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ต้องมีวีซ่าอย่างถูกกฎหมาย จะเป็นวีซ่าประเภทใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และสถานการณ์ของผู้สมัคร วีซ่าเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็นหลายประเภท คือ
- วีซ่าระยะสั้น สำหรับผู้ที่มาเที่ยวหรือทำธุรกิจ วีซ่าเยียมครอบครัวหรือเพื่อน วีซ่าลูกเรือ วีซ่าเปลี่ยนเครื่องที่สนามบิน ฯลฯ มักมีระยะเวลาพักอยู่ในเนเธอร์แลนด์สูงสุดไม่เกิน 90 วัน สามารถยื่นได้ที่ศูนย์ยื่นคำร้องขอวีซ่า (VFS) มีระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องประมาณ 6 เดือนก่อนวันเดินทางจริง
- วีซ่าระยะยาว มักรู้จักกันในชื่อ MVV (Long-term stay visa) สำหรับผู้ที่ย้ายมาอยู่กับคู่สมรสหรือพาร์ทเนอร์ มาทำงาน ศึกษาต่อ เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมออแพร์ ฯลฯ มักมีระยะเวลาพักอยู่ในเนเธอร์แลนด์เกิน 90 วัน ในส่วนนี้ต้องยื่นขอวีซ่าก่อนผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติเนเธอร์แลนด์ (IND) เพื่อใช้เดินทางเข้าประเทศ หลังจากนั้นเมื่อไปถึงเนเธอร์แลนด์แล้วต้องไปรับใบอนุญาตพำนักอาศัยอย่างเป็นทางการ มีระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องประมาณ 3 เดือนก่อนวันเดินทางจริง
ไปเนเธอร์แลนด์สามารถทำงานได้ไหม?
การหางานในเนเธอร์แลนด์ต้องมีใบอนุญาตการทำงานหรือวีซ่าอย่างถูกต้อง และที่สำคัญขึ้นอยู่กับข้อกำหนดจาก IND ว่าวีซ่าประเภทนั้น ๆ สามารถทำงานในเนเธอร์แลนด์ได้ไหม เช่น
- วีซ่าผู้ที่ย้ายมาอยู่กับคู่สมรสหรือพาร์ทเนอร์สามารถทำงานในเนเธอร์แลนด์ได้ตามกฎหมาย
- วีซ่าออแพร์สามารถทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กได้หนึ่งปีตามชั่วโมงการทำงานที่กำหนด และไม่อนุญาตให้ทำงานอื่นนอกเหนือจากการเป็นออแพร์
- วีซ่าทำงานสามารถทำงานในเนเธอร์แลนด์ได้อย่างถูกกำหมาย
ซึ่งรายละเอียดว่าเราสามารถทำงานได้ไหมในเนเธอร์แลนด์มักจะระบุไว้หลังบัตรใบอนุญาตพำนักอาศัย (verblijfstitel) ตรงหัวข้อ Opmerkingen/Remarks ตามประเภท I, II, III, IV, V, EU/EEA หรือสมาชิกในครอบครัว EU/EEA
เมื่อมาถึงเนเธอร์แลนด์แล้วมีสิ่งสำคัญที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น การนัดหมายเพื่อรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย การแจ้งนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน การตรวจเอกซเรย์ปอดที่ GGD การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน DigiD การสมัครประกันสุขภาพ การลงทะเบียนกับคลินิกหมอบ้าน การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน MijnOverheid และการเปิดบัญชีธนาคารที่เนเธอร์แลนด์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมเบื้องต้น เมื่อพร้อมแล้วเราก็เริ่มต้นสำหรับการหางาน (สำหรับคนที่ไม่ได้มาด้วยวีซ่าทำงานหรือเรียนต่อ) หรือเรียนภาษาดัตช์ตามกระบวนการบูรณาการพลเมือง
การทำงานในเนเธอร์แลนด์
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำงานในเนเธอร์แลนด์
วันพักร้อนขั้นต่ำ 4 สัปดาห์
เวลาเริ่มงานส่วนใหญ่ 09.00– 17.00 น.
สัญญาการจ้างงาน
เงินเดือนขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย
อัตราภาษีเงินได้และการเสียภาษี
การหางานในเนเธอร์แลนด์
งานในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาดัตช์ อาจจะยกเว้นบริษัทต่างชาติในตัวเมืองใหญ่ ๆ ถ้าภาษาดัตช์ยังไม่แข็งแรงอาจจะสมัครงานบริษัทต่างชาติ หรือเรียนภาษาดัตช์ให้ดีก่อนเพื่อสมัครงานดัตช์ ซึ่งจะมีการสอบภาษาดัตช์ระดับ B1-B2 ที่เรียกว่า Nt2 เพื่อรับใบประกาศอย่างเป็นทางการมาใช้สมัครงานดัตช์ ลิงก์ด้านล่างรวมเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์สำหรับการหางานในเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมลูกจ้างเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิและเงินชดเชยในกรณีต่าง ๆ
- การทำงานและอัตราภาษีเงินได้เบื้องต้น
- เว็บไซต์หางานของ UWV
- สำนักงานประกันพนักงาน (UWV)
- ธนาคารประกันสังคม (SVB)
- หน่วยงานด้านแรงงานของเนเธอร์แลนด์
- JOB DD in NL งานสำหรับคนไทยในเนเธอร์แลนด์
- Stap Budget เงินช่วยเหลือหลักสูตรฝึกอบรมภาษาและอื่น ๆ
- LinkedIn ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Indeed ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Glassdoor ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Randstad บริษัทช่วยหางานชื่อดังในเนเธอร์แลนด์
- Accenture บริษัทช่วยหางานของในเธอร์แลนด์
- Unique บริษัทช่วยหางานในเนเธอร์แลนด์
- Youngcapital หางานในเนเธอร์แลนด์ใช้ภาษาอังกฤษ
- English Job Search หางานภาษาอังกฤษในเนเธอร์แลนด์
- Dutch Tech Jobs แพลตฟอร์มงานเทคโนโลยีในเนเธอร์แลนด์
- Job Fair For Internationalsตลาดงานแฟร์ในเนเธอร์แลนด์
- The Hague International Centre หางานในกรุงเฮก
- Jooble เว็บไซต์ค้นหางานนานาชาติ
- Joblift แพลตฟอร์มค้นหางานเนเธอร์แลนด์
- Lintberg แพลตฟอร์มรับสมัครงานเนเธอร์แลนด์
- Locanto ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Vacatures Website Verzameling ไดเรกทอรีงานว่างในเนเธอร์แลนด์
- Vacatures Jouw Verzamelaar ไดเรกทอรีงานว่างในเนเธอร์แลนด์
- Werken in het buitenland หางานต่างประเทศ
- ENGINEERING ไดเรกทอรีหางานวิศวกรรมทั่วโลก
- Careers in Holland หางานด้านด้านไอที วิศวกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
- Michael Page, Ogilvy หางานการตลาด
- IT Vacatures Online หางานด้านไอที
- Euro Legal Jobs หางานด้านกฎหมาย
- One World หางานด้าน NGO
- Uitzendbureau หางานตำแหน่งชั่วคราว
- Jobs Online ค้นหางานตามหมวดหมู่
- Museumvereniging งานพิพิธภัณฑ์
- Werken in een hotel, Hotel Professionals ค้นหางานโรงแรม
- Werkenindehoreca งาน Horeca
- AH, Jumbo, Oriental งานซูเปอร์มาร์เก็ต
- Picnic, Thuisbezorgd, Flinkงานส่งอาหาร
- Inditex Careers, Uniqlo, Primark, Cotton Club, Fashion United งานร้านขายเสื้อผ้า
- Douglas, Etos, ICI Paris KL, Kruidvat, HEMA, Bijenkorf งานร้านขายเครื่องสำอางและร้านสะดวกซื้อ
- McDonald’s, Burger King, KFC, Subway, Dunkin Donuts, Starbucks งานตามแบรนด์
- Zorgselect, Florence, Nationale Vacature Bank, Werken in zorgen wel zijn งานด้านดูแลสุขภาพ
สวัสดิการและเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์
สวัสดิการและเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์ มักรู้จักกันในภาษาดัตช์ว่า ‘Toeslagen’ เป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่มอบให้กับพลเมืองและผู้อยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ โดยมีกรมสรรพากร (Belastingdienst) เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่าย ผู้ที่จะรับเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์ได้ต้องมีข้อกำหนดที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ เช่น อายุ รายได้รวม ทรัพย์สินที่มี รวมถึงสถานการณ์อื่น ๆ เงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น
- เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าประกันสุขภาพ (Zorgtoeslag)
- เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน (Huurtoeslag)
- เงินสงเคราะห์บุตร (Kinderbijslag)
- เงินสงเคราะห์บุตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Kindgebonden budget)
- เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderopvangtoeslag)
นอกจากเงินสงเคราะห์แล้วยังมีสวัสดิการอีกหนึ่งอย่างที่เรียกว่าเงินชดเชย (ภาษาดัตช์: Uitkering) เป็นเงินผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามกฎหมายแรงงานในกรณีต่าง ๆ ที่ส่งผลเกี่ยวกับการทำงาน การเจ็บป่วยทำให้ขาดรายได้ รวมไปถึงการตั้งครรภ์และลาคลอด เงินชดเชยจะไม่ได้เฉพาะพนักงานที่มีนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงพนักงานที่ต้องกลายมาเป็นผู้ว่างงานโดยไม่มีนายจ้าง และผู้ประกอบการอิสระอีกด้วย แบ่งออกเป็นหลายแบบ คือ
- เงินชดเชยการว่างงาน (WW-uitkering)
- เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติสวัสดิการเจ็บป่วย (Ziektewet-uitkering)
- เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยเกิน 2 ปี (WIA- uitkering)
- เงินชดเชยการตั้งครรภ์และการลาคลอด (Zwangerschapsuitkering)
- เงินสวัสดิการสังคม (Bijstandsuitkering)
เงินเหล่านี้มาจากจ่ายภาษีตามกฎหมายของพลเมืองที่อาศัยและทำงานในเนเธอร์แลนด์และนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือให้พลเมืองตามสมควรที่จะได้รับ คนทำงานได้เงินเยอะจ่ายภาษีเยอะ คนทำงานได้เงินน้อยจ่ายภาษีน้อย คนมีรายได้น้อยได้รับสวัสดิการสนับสนุน ‘เราดูแลกันและกัน รัฐบาลช่วยเหลือเมื่อจำเป็น’ สิ่งนี้ทำให้ไม่เกิดความเลื่อมล้ำในสังคม
ประกันสุขภาพและการพยาบาลในเนเธอร์แลนด์
ต้องมีประกันสุขภาพพื้นฐาน
ทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์มีหน้าที่ตามกฎหมายในการทำประกันสุขภาพมาตรฐานเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เช่น การปรึกษาแพทย์ทั่วไป การรักษาในโรงพยาบาลและยาตามใบสั่งแพทย์ เราสามารถเลือกทำประกันเสริมได้ตามความสมัครใจเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมอยู่ในแพ็คเกจมาตรฐาน
การสมัครประกันสุขภาพต้องทำภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ ราคาเบี้ยประกันสุขภาพพื้นฐานรายเดือนอยู่ที่ 100-150 ยูโร สามารถเลือกค่าความเสี่ยงที่ต้องรับเอง (eigen risico) ตามแพ็คเกจมาตรฐานได้ตั้งแต่ 385-885 ยูโร และสามารถเปลี่ยนประกันสุขภาพได้ทุกปีระหว่างวันที่ 12 พ.ย. ถึง 31 ธ.ค. ที่สำคัญอย่าลืมเปรียบเทียบแพ็คเกจประกันสุขภาพและตัวเลือกต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนเพื่อผลประโยชน์ที่คุ้มค่าของผู้ถือกรมธรรม์
ถ้าไม่สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือนจะได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากสถาบันดูแลสุขภาพแห่งชาติดัตช์ (CAK) ให้สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือน ถ้าไม่ได้ทำประกันสุขภาพภายในช่วงเวลาดังกล่าว CAK จะออกค่าปรับที่สูงถึง 496.74 ยูโร (ตัวเลขปี 2024) และถ้ายังไม่สมัครประกันสุขภาพท้ายที่สุดจะถูกหักเบี้ยประกันรายเดือนจากเงินเดือน เพราะฉะนั้นการมีประกันสุขภาพในต่างแดนดีกว่าการต้องทนรับความเสี่ยงที่จะตามมา ช่วยให้อุ่นใจในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูง
ถ้าไม่สบายต้องไปหาหมอบ้านก่อน
หมอบ้าน (ภาษาดัตช์: Huisarts) มีความสำคัญคือเมื่อเราเกิดอาการเจ็บป่วยใด ๆ สามารถไปหาหมอบ้านหรือเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกใกล้บ้านที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งหมอบ้านจะเป็นด่านแรกของการรักษาในเบื้องต้น หากอาการเจ็บป่วยเกินกว่าที่จะรักษาได้ที่คลินิกนั้น ๆ หรือจำเป็นต้องส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง หมอบ้านจะดำเนินการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่น ๆ ตามลำดับ
การสมัครหมอบ้านสามารถค้นหาคลินิกที่อยู่ใกล้บ้านเราได้ที่เว็บไซต์ Ikzoekeenhuisarts หรือ Independer โดยใช้รหัสไปรษณีย์ หรือพิมพ์คำว่า Huisarts zoeken ตามด้วยชื่อเมืองหรือพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ในเว็บไซต์ Google เมื่อเจอคลินิกที่ต้องการสามารถสมัครโดยตรงการส่งแบบฟอร์มผ่านอีเมล์หรือแบบฟอร์มออนไลน์ของคลินิกนั้น ๆ โดยใช้หมายเลข BSN ประกอบ หลังจากลงทะเบียนแล้วรอประมาณ 1-2 วันทางคลินิกหมอบ้านจะติดต่อกลับมาและอาจนัดวันเวลาเข้าพบหมอบ้านเพื่อทบทวนประวัติทางการแพทย์ของเรา (ขึ้นอยู่กับคลินิก) ถ้ามีรายการยาที่ต้องทานอยู่เป็นประจำควรนำไปด้วยเช่นกัน
แล้วถ้าอยากไปหาหมอฟันต้องทำอย่างไร?
ทันตแพทย์หรือหมอฟันในเนเธอร์แลนด์ (ภาษาดัตช์: Tandarts) มีคลินิกหมอฟันตั้งอยู่ตามตัวเมืองต่าง ๆ ทั่วเนเธอร์แลนด์ การที่จะเข้าพบหมอฟันได้ต้องมีการนัดหมายล่วงหน้าก่อน หากยังไม่มีหมอฟันประจำตัวต้องทำการค้นหาและสมัครคลินิกหมอฟันใกล้บ้านก่อนเช่นเดียวกับการสมัครหมอบ้าน เมื่อมีหมอฟันประจำตัวแล้วเราก็สามารถเข้าพบเพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากหรือทำทันตกรรมด้านอื่น ๆ ได้ตามความสะดวก
ค่าใช้จ่ายในการทำฟันแตกต่างออกไปตามสถานการณ์ที่ต้องทำ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจะมีประกันสุขภาพพื้นฐานที่ครอบคลุมการทำฟัน สำหรับการทำฟัน เช่น การถอนฟันกราม การอุดฟัน การขูดหินปูน การรักษาเหงือก การรักษารากฟัน การเอกซเรย์ฟันและกราม การผ่าตัดรักษารากฟัน การดัดฟัน รวมไปถึงการทำฟันปลอม เป็นต้น อาจจะไม่ครอบคลุมอยู่ในประกันสุขภาพพื้นฐาน คนที่ต้องเข้ารับการรักษาฟันเป็นประจำอาจจะพิจารณาทำประกันทันตกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หรือพิจารณารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหากไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพในช่องปากที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำ
ภาษาศาสนาผู้คนและวัฒนธรรมในเนเธอร์แลนด์
ที่เนเธอร์แลนด์ใช้ภาษาอะไร?
ที่เนเธอร์แลนด์ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการ (ภาษาดัตช์: Nederlands) ทุกอย่างที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง ฉลากสินค้า จดหมายราชการ หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นภาษาดัตช์ คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามตัวเมืองใหญ่ ๆ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ตามตัวเมืองเล็ก ๆ เราอาจจะไม่ได้ยินภาษาอังกฤษมากเท่าไรนัก แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่มักใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนท้องถิ่น เว้นก็แต่ถ้ามาอยู่ในระยะยาวต้องเรียนภาษาดัตช์เพิ่มเติม
จำเป็นไหมที่ต้องเรียนภาษาดัตช์?
จำเป็นต้องเรียนภาษาดัตช์เพิ่มเติมแบบไม่มีข้อแม้ ภาษาดัตช์แบ่งออกเป็น 6 ระดับ คือ A1, A2, B1, B2, C1 และ C2 ระดับความยากง่ายไล่จากมากไปน้อย เริ่มตั้งแต่ก่อนย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าระยะยาว (MVV) ต้องมีผลสอบภาษาดัตช์ A1 เพื่อประกอบการยื่นวีซ่า (ขึ้นอยู่กับประเภทวีซ่าที่สมัครด้วย) พอมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์แล้วมีภาระผูกพันธ์ตามกฎหมายในการสอบบูรณาการพลเมืองให้ภายผ่านใน 3 ปี ส่วนต้องสอบระดับไหนขึ้นอยู่กับปีที่ย้ายมา เช่น
- สอบภาษาดัตช์ระดับ A2 สำหรับคนย้ายมาเนเธอร์แลนด์ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2022
- สอบภาษาดัตช์ระดับ B1 สำหรับคนที่ย้ายมาย้ายมาเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022
ถ้าอยากไต่เต้าไปจนถึงระดับ C2 เลยก็ได้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการเรียนภาษาของแต่ละคน เพราะสุดท้ายเมื่อสอบผ่านแล้วยังคงใช้ภาษาดัตช์สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันต่อไป หลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการพลเมืองภายผ่านใน 3 ปีแล้วถือว่าเรามีส่วนร่วมที่ดีในสังคมดัตช์ เราสามารถทำให้เป็นระบบมากขึ้นด้วยการยื่นขอยื่นขอใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยถาวร หรือการแปลงสัญชาติเพื่อกลายเป็นพลเมืองดัตช์ ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีเงื่อนไขที่สำคัญก็คือผลการสอบภาษาดัตช์นั้นเอง รายละเอียดในส่วนนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ IND
ชาวดัตช์ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา
ประชากรเกินกว่าครึ่งในไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลย รองลงมาคือชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ซึ่งแยกออกเป็นคริสตจักรปฏิรูป คริสตจักรโปรเตสแตนต์ และลัทธิคาลวิน ที่มีขนบธรรมเนียมการปฏิบัติบางอย่างเป็นของตัวเอง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นศาสนาอิสลามและศาสนาอื่น เช่น ฮินดู พุทธศาสนาและยิว
ถ้าจะพูดกันให้เห็นภาพก็คือที่เนเธอร์แลนด์จะไม่ปิดกั้นเรื่องศาสนา ไม่จำเป็นว่าถ้าพ่อแม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งแล้วลูกต้องนับถือศาสนานั้นตาม ตอนเด็ก ๆ ลูกอาจจะยังไปทำกิจกรรมในศาสนานั้นตามพ่อแม่ แต่พอโตขึ้นอายุ 18 ปีถ้ามีความเห็นต่างเรื่องศาสนาแล้วไม่กลายมาเป็นคนศาสนานั้นก็ได้ อันนี้จะสอดคล้องกับค่านิยมหลักในสังคมดัตช์ (Core values) ที่ทุกคนมีอิสระในเรื่องความเชื่อและสามารถเลือกศาสนาของตัวเองได้หรือไม่เลือกก็ได้ หลายคนที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์จะได้เรียนรู้เรื่องนี้ในการอบรมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมดัตช์ (Participation statement)
หลากหลายผิวพรรณและเชื้อชาติ
พอพูดถึงชาวดัตช์หลายคนอาจจะนึกถึงคนที่มีผมสีทอง ตาสีฟ้า ผิวขาวและสูง แต่จริง ๆ แล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องมีลักษณะดังกล่าวก็สามารถเป็นคนดัตช์ได้ กว่า 23% ของประชากรที่ถือพาสปอร์ตดัตช์ไม่ได้เกิดในเนเธอร์แลนด์ หรือพ่อแม่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวตุรกี โมร็อคโค ซูรินาม อินโดนีเซีย เยอรมัน และโปแลนด์ โดยไม่รวมถึงชาวดัตช์เชื้อสายอินโดนีเซียรุ่นแรกและรุ่นที่สอง ประเทศเนเธอร์แลนด์เปิดรับผู้อพยพเข้ามาอาศัยและทำงาน และสามารถขอสัญชาติดัตช์ได้เมื่อมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน ผู้คนที่นี่จึงเต็มไปด้วยหลากหลายผิวพรรณและเชื้อชาติ
การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา
คนดัตช์พูดเก่งและพูดตรง! เวลาที่คิดอะไรเขาจะพูดออกมาโดยที่ไม่ประดิษฐ์คำพูดให้สวย หรือวกไปวนมาไม่เข้าประเด็น เช่น ถ้าสวยก็บอกว่าสวย ถ้าดีก็บอกว่าดี จะไม่ตอบอะไรที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง คนดัตช์ยังชอบแสดงความคิดแล้วก็พูดถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อนในพื้นที่สาธารณะได้แบบไม่ถูกมองว่าแปลกแยกหรือก้าวร้าว เหมือนเป็นการเรียนรู้ความคิดของกันและกันและยังสามารถเป็นเพื่อนกันได้ถึงแม้จะมีมุมมองความคิดที่แตกต่าง
ผู้คนมีความคิดแบบปัจเจกชน (เอาตัวเองเป็นหลักก่อน)
ชาวดัตช์มีแนวโน้มที่จะเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง กล้าที่จะแสดงออกและมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมีแนวทางการใช้ชีวิตแบบปฏิบัติจริงโดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือหลักการ ใขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนและเสรีภาพส่วนบุคคล โดยใส่ใจกับความต้องการและเป้าหมายของตัวเองมากกว่าครอบครัวหรือสังคม
ความเป็นปัจเจกชนยังรวมไปถึงเวลามีครอบครัวเดี่ยวที่แยกออกจากครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าตายาย (ในภาษาดัตช์เรียกว่า ‘gezin’) สำหรับพี่น้องยังคงไปมาหาสู่กันโดยเฉพาะในช่วงวันเกิด หรือวันแต่งงาน และไม่มีภาระผูกพันหรือโดนกดดันจากสังคมว่าต้องเลี้ยงดูแลสมาชิกในครอบครัวขยาย ฟังดูแล้วอาจจะแตกต่างจากค่านิยมทางเอเชีย แต่ที่นี่เป็นแบบนี้จริงๆ นั้นอาจเป็นเพราะว่ามีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กรวมไปถึงสวัสดิการในการดูแลเด็ก ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะลำบากในอนาคต
ตรงต่อเวลา
เรื่องตรงต่อเวลาของชาวดัตช์เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน การพบปะกับชาวดัตช์ถ้านัดเวลาไว้ที่สิบโมงเช้าควรไปถึงเวลาสิบโมงเช้า ไม่ควรไปก่อนเวลาหรือไปสาย การไม่ตรงต่อเวลาแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ หากไม่สามารถไปตามเวลานัดหมายได้ควรโทรไปแจ้งให้อีกฝ่ายทราบไม่เช่นนั้นพวกเขาจะรออยู่ที่นั้น
สังคมที่เท่าเทียมกัน
เรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเนเธอร์แลนด์ สถานะทางสังคมและความเคารพเกิดจากการขัดเกล้าผ่านระบบการศึกษาและการทำงาน ไม่ได้ผ่านทางความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือวัยชรา เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีลำดับชั้นในการทำงาน อย่างไรก็ตามเรากล่าวในมุมมองของชาวดัตช์ตามประสบการณ์ที่ได้เจอมาในการทำงานที่นี่
การประกอบอาชีพในสายงานต่าง ๆ ไม่มีใครกล่าวว่าอาชีพที่ได้รับเงินเดือนน้อยเป็นอาชีพที่ด้อยค่า อาชีพทุกอาชีพมีความหมาย อาชีพคนเก็บขยะก็มีความหมาย เพราะเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้พื้นที่เกิดความสะอาด หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ขยะอาจจะเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง
ผู้คนที่นี่มองว่าคนเราได้เพิ่มประโยชน์อะไรให้กับสังคมมากไหม ไม่ได้มองจากความร่ำรวยหรือไม่ร่ำรวย หัวหน้าสามารถเดินมาหาลูกน้องโดยที่ไม่ต้องให้ลูกน้องเดินไปหาอย่างเดียว หรือลูกน้องมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการเป็นสังคมที่มีความเสมอภาค ตำแหน่งส่วนตัวและตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ถูกพิมพ์ลงไปในนามบัตร มีเพียงชื่อและนามสกุล ซึ่งบางครั้งเราแทบไม่รู้เลยว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยนั้นอาจจะมีตำแหน่งที่สำคัญก็เป็นไปได้
ในส่วนของความสัมพันธ์ไม่ได้มองว่าฝ่ายหญิงต้องทำงานบ้านอย่างเดียว แล้วฝ่ายชายไม่ทำงานบ้านเลย หรือฝ่ายชายทำคนเดียวฝ่ายหญิงไม่ช่วยแบ่งเบา ในทางตรงกันข้ามต่างคนต่างช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกัน เพราะหน้าที่ในครอบครัวไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ความเท่าเทียมในครอบครัวจากพ่อแม่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาแนวความคิดพื้นฐานของลูก พอโตไปพวกเขาจะไม่เอาเปรียบคนในความครอบครัวรวมไปถึงสังคมเมื่อต้องออกเผชิญโลกภายนอก
ชาวดัตช์ไม่นิยมอวดรวย
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าคนดัตช์ขี้เหนียว ประโยคนี้ฟังแล้วไม่ไกลเกินความเป็นจริง คนที่นี่ไม่นิยมแสดงสถานะทางการเงินของตัวเองให้คนอื่นรู้แล้วก็มีความถ่อมตนในเรื่องความร่ำรวย พูดง่าย ๆ คือรวยแล้วแต่ยังทำตัวเหมือนคนปกติ ใส่เสื้อผ้าปกติ ไม่ใช้สิ่งของแบรนด์เนม และรู้จักวางแผนการเงินของตัวเอง สิ่งนี้สอดคล้องกับประโยคดัตช์ที่ว่า ‘Doe maar gewoon, dan doe je al gek genoeg!’ (Act normal that’s crazy enough!”) แปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ไม่ต้องเยอะ! ทำตัวตามปกติ เราแปลกมากพอแล้ว!”
คนดัตช์เป็นมิตรแต่ยากที่จะเป็นเพื่อนด้วย
ประโยคนี้ฟังแล้วอาจดูเหมือนใจร้ายแต่ในความใจร้ายนั้นมีที่มาที่ไป ชาวดัตช์เป็นมิตรกับชาวต่างชาติและสามารถสร้างบทสนทนาได้ง่าย พวกเขายอมรับผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและสีผิว แต่ยากที่จะเป็นเพื่อนด้วย ในความเป็นจริงนั้นชาวดัตช์มีสังคมเป็นของตัวเองและนิยมไปมาหาสู่เฉพาะกลุ่มเพื่อนของตัวเอง ไม่ค่อยนิยมเปิดรับเพื่อนใหม่มากเท่าไรนัก การที่เราจะเป็นเพื่อนกับชาวดัตช์จึงค่อนข้างใช้เวลา ถ้าหากเราพูดภาษาดัตช์ไม่ได้แล้วอาจจะเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก แต่ถ้าหากได้เป็นเพื่อนแล้วก็เป็นนานเลย
ผู้หญิงดัตช์มีความมั่นใจสูง
หากพวกเธอต้องการอะไรจะทำสิ่งนั้นหรืออธิบายความต้องการของตัวเองออกมาอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องให้อีกฝ่ายเดาใจเอง ความมั่นใจในที่นี่ยังรวมไปถึงความเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้แต่งเติมอะไรมากนัก เช่น โดยส่วนมากมักไม่แต่งหน้าเท่าไร (และหน้าสดยังคงยังคงดูดี) หรือแต่งแบบบาง ๆ แต่พอถึงเวลาออกงานก็จะแต่งหน้าจริงจังเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย ความมั่นใจของผู้หญิงดัตช์ยังรวมถึงการยืนหยัดด้วยตัวเองได้เวลาที่มีแฟนหรือมีครอบครัว พวกเธอจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายว่าต้องดูแลฉันอย่างเดียว ฉันสามารถดูแลตัวเองได้ เราแบ่งปันค่าใช้จ่ายในครอบครัวและดูแลซึ่งกันและกัน
ไม่มีค่านิยมความผอม
ชาวดัตช์ไม่มีค่านิยมเรื่องความผอม มาตรฐานเรื่องความสวยแตกต่างจากเอเชีย พวกเขามั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และไม่สนใจว่าผู้คนจะมองอย่างไร พวกเขาแต่งกายแบบที่ตัวเองชอบ ส่วนมากมักเน้นความเป็นผู้ใหญ่ ความน่ารักแบบใส ๆ หาได้ยากมากที่นี่ เมื่อบวกกับรูปร่างที่สูงของชาวดัตช์แล้วทำให้พวกเขาดูโตและมีความเป็นผู้ใหญ่เกินกว่าอายุ การแต่งกายแบบฉบับวัยรุ่นดัตช์นิยมสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ เสื้อแจ็คเกตและรองเท้าผ้าใบสีขาว สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นเทรนท์ที่มองไปทางไหนก็ต้องเจอ ในช่วงซัมเมอร์พวกเธอนิยมใส่ชุดเดรส (แม้จะต้องปั่นจักรยานก็ยังใส่เดรส)
ผู้คนยังนิยมรูปร่างที่มีสัดส่วนทรวดทรงองค์เอว นั้นอาจมาจากค่านิยมของการมีลูกที่เชื่อว่าผู้หญิงที่มีสะโพกใหญ่จะมีความแข็งแรงในการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ง่าย พวกเขาจึงไม่มีค่านิยมการลดน้ำหนักแต่เน้นการออกกำลังกายให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้แบบมั่นใจโดยไม่มีบรรทัดฐานเรื่องความสวยจากสังคม
การโฆษณาสินค้าตามสื่อต่าง ๆ ยังเน้นนางแบบที่มีความเป็นธรรมชาติคล้ายกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นดาราให้มากที่สุด บางครั้งเราก็จะเห็นว่าโฆษณาครีมทาหน้าไม่ได้ลบริ้วรอยบนใบหน้าของนางแบบและยังคงแสดงให้เห็นถึงสภาพผิวที่แท้จริงด้วยซ้ำ เพราะว่าดูดีเกินความเป็นจริงก็จะแปลกไปจากปกติ พอแปลกไปจากปกติผู้คนก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่เหมือนจริง สื่อโฆษณาก็เลยสะท้อนมุมมองของสังคมที่มีต่อค่านิยมเรื่องรูปร่างและความผอมด้วย
ช่วงเวลาแห่งความสุข (Gezellig)
‘Gezellig’ คำนี้อธิบายความหมายยากมาก แม้กระทั่งในภาษาอังกฤษเองก็ยังแปลความได้หลายความหมาย สำหรับในภาษาไทยเราให้นิยามคำนี้ว่า ‘ช่วงเวลาแห่งความสุข’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น การทานอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวก็ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งความสุข
ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากกิจกรรมกลุ่มเท่านั้น แต่อาจจะเป็นสิ่งเดียวก็ได้ เช่น บ้านที่อบอุ่นก็ทำให้รู้สึกมีความสุขได้ การได้ใช้เวลาร่วมกันมีเสียงหัวเราะก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง หรือเด็ก ๆ เล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนานก็เป็นความสุขได้เช่นกัน ชาวดัตช์เวลาทำอะไรมักจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนเราไปพบปะเพื่อนนั้นแหละเนาะที่อยากจะมีช่วงเวลาดี ๆ และสร้างเสียงหัวเราะให้กันและกัน
ระบบขนส่งสาธารณะในเนเธอร์แลนด์
ระบบขนส่งสาธารณะที่ยอดเยี่ยม
ระบบขนส่งสาธารณะในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็นหลายแบบ หลัก ๆ เลยก็คือ รถไฟ รถราง รถโดยสารประจำทาง รถไฟใต้ดิน และเรือข้ามฟากที่เรามักจะเห็นในอัมสเตอร์ดัม ทั้งหมดนี้ตัวเมืองใหญ่ ๆ มักจะมีครบ ตามตัวเมืองเล็ก ๆ อาจจะไม่มีเรือข้ามฟาก ทั้งหมดนี้มีการจัดการที่ยอดเยี่ยมและสะดวกสบายในการเดินทาง เราสามารถเดินทางจากเหนือไปใต้ เช่น เมืองโกรนิงเงินไปเมืองมาสทริชท์ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง จากอัมสเตอร์ดัมไปเมืองอูเทร็คท์ใช้เวลาเพียง 30 นาที หรือจากเมืองดิเฮกไปอัมสเตอร์ดัมใช้เวลาเพียง 50 นาที ระยะเวลาการเดินทางเหล่านี้เป็นไปได้จริงในเนเธอร์แลนด์
ใช้บัตรโดยสาร OV-chipkaart ใบเดียวจบ!
การเดินทางในเนเธอร์แลนด์นิยมใช้บัตรสามาร์ทการ์ดเรียกว่า OV-chipkaart ซึ่งจะมีสองแบบ คือ Personal OV-chipkaart บัตรโดยสารประเภทส่วนบุคคล (บัตรสีเหลือง) เหมาะสำหรับพลเมืองชาวดัตช์ หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ระยะยาว และ Anonymous OV-chipkaart บัตรโดยสารแบบไม่ระบุข้อมูลส่วนบุคคล (บัตรสีฟ้า) เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งสองแบบมีค่าธรรมเนียม 7.50 ยูโรในการออกบัตรและข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วเที่ยวเดียวบ่อย ๆ
บัตรส่วนบุคคลซื้อได้ทางออนไลน์แล้วจะมีบัตรส่งมาที่บ้าน ส่วนบัตรไม่ระบุข้อมูลส่วนบุคคลสามารถหาซื้อได้ที่เคาน์เตอร์บริการ NS Service ในสถานีรถไฟ ร้านขายหนังสือพิมพ์ ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือจุดบริการใกล้เคียง ก่อนนำไปใช้เดินทางด้วยรถไฟต้องมีเงิน (เครดิต) ในบัตรไม่ต่ำกว่า 20 ยูโร และไม่ต่ำกว่า 4 ยูโรสำหรับการเดินทางด้วยรถราง รถไฟใจ้ดินและรถโดยสารประจำทาง
เราสามารถเติมเงินเข้าไปในบัตรได้จากตู้จำหน่ายตั๋วในสถานีรถไฟ หรือหักจากบัญชีอัตโนมัติ (เฉพาะบัตรส่วนบุคคล) พอมีเงินในบัตรแล้วก็นำไปใช้งานได้เลยด้วยการเช็คอินท์ที่ประตูทางเข้า พอเดินทางถึงที่หมายก็เช็คเอาท์ที่ประตูทางออก ระบบจะคิดค่าโดยสารจากจำนวนกิโลเมตรที่เราเดินทางและคำนวณออกมาเป็นยอดเงินที่เหลือคืนในบัตร
ปัจจุบันผู้ที่ต้องการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะในเนเธอร์แลนด์สามารถใช้โอวีเพย์ (OVpay) เพื่อเช็คอินและเช็คเอาท์ในระบบขนส่งมวลชนดัตช์ได้แล้ว ด้วยบัตรเดบิตแบบไร้สัมผัส บัตรเครดิต หรือโทรศัพท์มือถือตามความสะดวก ซึ่งระบบนี้เป็นตัวเลือกการชำระเงินค่าโดยสารที่เพิ่มมากจากบัตร OV-Chipkaart และยังมีข้อดีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ใช้งานไม่ต้องซื้อตั๋วเดินทางเที่ยวเดียว ไม่ต้องเติมเครดิตขั้นต่ำลงในบัตร หรือสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานให้ยุ่งยาก ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่รองรับการใช้งานแค่พลเมืองดัตช์เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกด้วย เรียนรู้เพิ่มเติม → การใช้งานโอวีเพย์ (OVpay)
ยังมีบัตรโดยสารอะไรอีก?
ถ้าไม่สะดวกซื้อบัตร OV-chipkaart แน่นอนว่ายังมีบัตรโดยสารแบบอื่น ๆ อีก นั้นก็คือ ตั๋วเที่ยวเดียวแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable OV-chipkaart) ซึ่งมักจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 1 ยูโรจากราคาค่าโดยสารปกติ สามารถหาซื้อได้ที่ตู้จำหน่ายตั๋วในสถานีรถไฟ เคาน์เตอร์บริการและร้าน OV-service Tickets Shop
นอกจากบัตรแบบเที่ยวเดียวแล้วยังมีบัตรโดยสารแบบพิเศษที่รวมการเดินทางแบบเหมาจ่ายรายชั่วโมง รายวันและหลายวัน เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวและคนที่ต้องเดินทางเยอะ ๆ แบบประหยัด เช่น
- I Amsterdam City Card (สำหรับเที่ยวอัมสเตอร์ดัมโดยเฉพาะ)
- Amsterdam Travel Ticket (สำหรับเที่ยวและเดินทางในอัมสเตอร์ดัม)
- Amsterdam & Region Travel Ticket (สำหรับเดินทางในอัมสเตอร์ดัมและภูมิภาคใกล้เคียง)
- Holland Travel Ticket (สำหรับเดินทางทั่วเนเอร์แลนด์)
- Rotterdam Welcome Card (สำหรับเที่ยวและเดินทางในรอตเตอร์ดัม)
- Zaanse Schans Card (สำหรับเที่ยวหมู่บ้านกังหันลมซานส์สคันส์)
การเดินทางด้วยจักรยานได้รับความนิยมในเนเธอร์แลนด์ ที่นี่ไม่เพียงแต่มีเส้นทางจักรยานที่อำนวยความสะดวกต่อนักปั่นทุกเพศทุกวัย แต่ยังมีการส่งเสริมให้ใช้จักรยานเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ชาวดัตช์จึงนิยมใช้จักรยานเดินทางใกล้หรือไกล เพราะว่าสามารถพาเราจากจากจุด A ไปถึงจุด B ได้เร็วและสะดวกมากกว่ารถยนต์ ถ้าใครย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ต้องหาซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง ส่วนมากจะมีขายแบบมือสองราคาถูก ตามเมืองใหญ่ ๆ จะมีร้านเช่าจักรยานสำหรับนักท่องเที่ยวแบบรายชั่วโมงหรือรายวัน แวะไปอ่านเพิ่มเติม → วัฒนธรรมการใช้จักรยานของชาวดัตช์
การขับรถในเนเธอร์แลนด์
การขับรถในเนเธอร์แลนด์ต้องมีใบขับขี่ดัตช์ และก่อนที่จะได้ใบขับขี่มาต้องไปเรียนกับโรงเรียนสอนขับรถโดยตรงและสอบให้ผ่านทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ค่าทำใบขับขี่ราคาประมาณ 2,450 ยูโร พอค่าทำใบขับขี่แพงแบบนี้เราจึงเห็นว่าคนที่นี่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพราะถ้าฝ่าฝืนกฎขึ้นมาไม่คุ้มกับค่าปรับแสนแพงและอาจเสี่ยงต่อการโดนยึดใบขับขี่ด้วย
การใช้รถใช้ถนนที่นี่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะว่าคนดัตช์ขับรถเว้นระยะห่างใกล้กันมาก และใช้เลนขวาในการขับรถ มีการจำกัดความเร็วบนท้องถนนไม่เกิน 100 กม./ชม. ตั้งแต่เวลา 06:00-19:00 น. และไม่เกิน 130 กม./ชม. หลังเวลา 19:00-06:00 น. ถ้าเป็นถนนสายรองบางสายจะจำกีดความเร็วน้อยกว่านี้ระหว่าง 80-50 กม./ชม. ส่วนโซนพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็กจำกัดความเร็วที่ 30 กม./ชม. ป้ายบอกทางและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ยังคงเป็นภาษาดัตช์ เส้นทางด่วนมีประมาณ 4-5 เลนเพื่อกระจายการจราจรไม่ให้ติดขัด ในช่วงเช้าหรือเลิกงานการจราจรจะหนาแน่นเป็นพิเศษ ยิ่งถ้ามีเหตุขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุรถจะติดยาวจากการปิดเส้นทางบางส่วน
การโดยสารรถยนต์ที่มีเด็ก ๆ รวมอยู่ด้วยยังมีข้อบังคับว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีความสูงน้อยกว่า 1.35 เมตรจะต้องเดินทางโดยใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรป หรือเบาะนั่งสำหรับเด็กแบบบูสเตอร์พร้อมเข็มขัดนิรภัย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบต้องนั่งคาร์ซีทแบบหันหน้าไปทางเบาะหลังเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ถ้าต้องการเติมน้ำมันไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซลหรือก๊าซธรรมชาติ สามารถเติมได้ที่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ บนทางด่วนหรือทางหลวงปั๊มน้ำมันอาจจะตั้งอยู่ห่างกันหลายกิโล บนทางด่วนราคาน้ำมันอาจจะแพงกว่าสถานีจ่ายน้ำมันตามตัวเมืองเล็กน้อย ที่ปั๊มน้ำมันไม่มีพนักงานเติมน้ำมันคอยบริการ เราต้องบริการตัวเองและเดินไปจ่ายเงินกับพนักงานที่เคาน์เตอร์ซึ่งส่วนใหญ่จะมีประมาณหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น
อีกหนึ่งอย่างคือที่เนเธอร์แลนด์ไม่มีค่าทางด่วน ยกเว้นค่าผ่านทางอุโมงค์และสะพานบางแห่งเท่านั้น เพราะว่าผู้ที่มีรถยนต์ต้องจ่ายภาษีรถยนต์และถนนนั้นทำให้พวกเขาไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และไม่มีพนักงานเก็บค่าทางด่วนหรือช่องทางด่วนที่นี่ และถ้าต้องการจอดรถอาจจะหาที่จอดรถฟรีค่อนข้างยาก อัตราค่าที่จอดรถตามตัวเมืองใหญ่จะแพงเป็นพิเศษ ที่เป็นแบบนี้เพราะรัฐบาลพยายามรณรงค์ให้คนใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จึงสร้างที่จอดรถราคาแพงในเมืองเพื่อไม่ผู้ใช้รถนำรถไปจอดที่นั่นแต่ให้ไปจอดนอกเมืองที่มีราคาถูกกว่า (P+R) แล้วนั่งรถไฟเข้าไปในเมืองแทน ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็ต้องยอมจ่ายค่าที่จอดรถแพง ๆ ไปตามระเบียบ
สำหรับนักท่องเที่ยวถ้าอยากขับรถที่เนเธอร์แลนด์ต้องมีใบขับขี่สากล มีร้านสำหรับเช่ารถหลายแห่ง เช่น ในสนามบินสคิปโฮล หรือตามตัวเมืองอื่น ๆ การเช่ารถต้องมีหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ ประกันการเดินทาง ฯลฯ ควรตรวจสอบรถและถ่ายรูปเป็นหลักฐานก่อนรับรถเพื่อไม่ให้มีปัญหาในตอนที่ส่งรถคืน
ค่าครองชีพและความเป็นอยู่ในเนเธอร์แลนด์
ค่าครองชีพสูง
ตอนมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์แรก ๆ เราคำนวณทุกอย่างเป็นเงินไทยหมดเลย แต่หลัง ๆ ไม่คำนวณแล้วเพราะว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ค่าเงินต่างกัน แล้วบางทีคำนวณไปก็เครียดด้วยเพราะตีเป็นเงินไทยจะแพงกว่าสุดท้ายไม่ได้ซื้อซะงั้นก็เลยเลิกทำ เอาเป็นว่าอย่างราคาวัตถุดิบพื้นฐานในการประกอบอาหาร เช่น ผักผลไม้ เนื้อสด ฯลฯ ถ้าแต่ละอย่างประมาณ 50 เซ็นต์หรือไม่เกิน 5 ยูโรอันนั้นน่าจะเป็นราคาพื้นฐานของที่นี่ เราก็เลือกประหยัดโดยการทำอาหารทานเองที่บ้าน หรือทำทีละเยอะ ๆ แล้วใส่ช่องแช่แข็งไว้อุ่นกินได้นาน
ถ้าเป็นราคาซื้อบ้าน ราคาเช่าบ้าน รวมไปถึงการเดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะขึ้นอยู่กับว่าเลือกไปอาศัยอยู่เมืองไหน ถ้าเมืองใหญ่ ๆ หน่อยค่าครองชีพโดยรวมก็จะสูงขึ้น แต่ถ้าขยับออกมานิดหนึ่งนอกเมืองค่าครองชีพก็จะลดลงระดับหนึ่ง หรือถ้าเป็นเมืองเล็ก ๆ เลยค่าครองชีพก็อาจจะถูกกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าไลฟ์สไตล์เป็นแบบไหน รับได้แค่ไหนกับการเดินทาง พอพูดถึงค่าครองชีพที่นี่แล้วต้องดูหลาย ๆ อย่างรวมกันโดยไม่ตีเป็นเงินไทยอย่างเดียว เพราะคนละประเทศคนละสถานการณ์
ราคาสิ่งของอุปโภคและบริโภคโดยประมาณ
- น้ำเปล่าขวดเล็ก 50 มล. ราคาเริ่มต้น 50 เซน
- เนื้อหมูเนื้อไก่กิโลกรัมละ 10 ยูโร
- ผักผลไม้สดเริ่มต้นที่ 50 เซน
- ค่าเครื่องดื่มทั่วไปเริ่มต้นที่ 1 ยูโร
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เริ่มต้นที่ 5 ยูโร
- ค่าอาหารนอกบ้านต่อมื้อ 20-30 ยูโร (ยังไม่รวมทิป)
- ค่าเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะคิดเป็นเงินต่อกิโลเมตร
- ค่าอาหารไทยประมาณ 5-10 ยูโรต่อหนึ่งเมนู
- ค่าประกันสุขภาพพื้นฐานประมาณ 100-150 ยูโรต่อเดือน
- ค่าซื้อบ้านราคาพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 308,000 ยูโร (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่)
- ค่าเช่าบ้านประมาณ 1,600 ยูโรต่อเดือน
การจ่ายทิป
การจ่ายทิปในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เป็นเรื่องบังคับ แต่ถ้าอาหารอร่อยการบริการดีและอยากให้ทิปควรให้ประมาณ 10% ของค่าอาหารทั้งหมด และควรให้เป็นเงินสดแทนที่จะจ่ายชาร์จในบัตร เพราะบางทีเงินอาจจะไปไม่ถึงพนักงาน (ขึ้นอยู่กับร้าน)
การบริการในร้านอาหารอาจไม่เป็นที่พึงพอใจเท่าไรนัก
การบริการลูกค้าในเนเธอร์แลนด์อาจไม่เป็นไปตามความคาดหวังเท่าไรนัก อย่างเช่นตัวเมืองเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ ผู้คนเดินทางมาเที่ยวกลับประเทศของตน การบริการสำหรับนักท่องเที่ยวจึงมักเป็นแบบพื้นฐาน อีกอย่างพนักงานส่วนมากเป็นวัยรุ่นพวกเขาได้รับค่าจ้างพื้นฐาน และนั้นอาจไม่มีเหตุผลว่าทำไมต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น และถ้าหากจะคอมเพลนการบริการในร้านอาหารอาจใช้เวลานานในการตอบกลับ หรืออาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าการคอมเพลนเหล่านั้นจะเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามผู้คนที่นี่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และยินดีช่วยเหลือเมื่อนักท่องเที่ยวสอบถามเส้นทางหรือการเดินทางต่าง ๆ
รสชาติอาหารอาจไม่ถูกปากมากนัก
หลายคนที่มาจากเอเชียอาจจะมีความคิดเหมือนกันว่าอาหารดัตช์ไม่ถูกปาก ไม่ถูกปากในที่นี่คือรสชาติจะเป็นกลาง ๆ ถ้าเพิ่มเกลือลงไปนั้นคือคิดว่าเป็นการเพิ่มรสชาติอาหารของคนที่นี่แล้ว (แล้วแต่คน) อย่างอาหารเย็นของคนดัตช์จะไม่ได้พิถีพิถันมากนัก เช่น ทำจากมันฝรั่งหรือบล็อกโครี ลวกอกไก่ในน้ำเดือดและราดหน้าด้วยซอสที่ทำจากมันฝรั่ง โรยพริกไทยและเกลือเล็กน้อยก็ทานได้แล้ว บางทีก็ทานสปาเก็ตตี้ หรืออาหารจากวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น อาหารซูเรนาเม อาหารอินโดนีเซีย อาหารจีน อาหารไทย ฯลฯ ซึ่งรสชาติจัดจ้านและเผ็ดร้อนกว่าอาหารดัตช์
มีอาหารเย็นหนึ่งอย่างที่ชาวดัตช์นิยมรับประทานในฤดูหนาวเรียกว่า ‘Stamppot’ ทำจากมันฝรั่งบดและของเหลือหรือส่วนผสมอื่น ๆ เช่น คะน้าเอนไดฟ์ กะหล่ำปลี หรือกะหล่ำปลีดอง มักเสิร์ฟพร้อมเนื้อด้านข้าง (ไส้กรอกรมควัน) และน้ำเกรวี่ รสชาติไม่ได้แย่แต่มันจะออกจืด ๆ โชคดีที่กินกับไส้กรอกเลยเพิ่มรสชาติมาบ้าง ใครที่เที่ยวมาเนเธอร์แลนด์ต้องลองให้รู้ว่ารสชาติเป็นยังไง
เราพยายามหาข้อมูลรวมถึงสอบถามชาวดัตช์เองว่าทำไมอาหารดัตช์ถึงไม่มีรสชาติ ส่วนใหญ่จะพูดไปในแนวเดียวกันว่าแต่ก่อนประเทศเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปลูกพืชเมืองร้อนได้ง่ายเนื่องจากอากาศหนาว พืชที่ปลูกมากที่สุดคือมันฝรั่ง (ปัจจุบันมีการใช้โรงเรือนกระจกสำหรับปลูกพืชเมืองร้อนโดยเฉพาะ) ทำให้ต้องรับประทานมันฝรั่งที่มีราคาถูกและช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายได้ดี ความยากลำบากในอดีตจากสงครามก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อวิถีแนวคิดในการดำรงชีวิตมาถึงปัจจุบัน
ขนมดัตช์อร่อย
ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ทำให้ชื่นใจอย่างหนึ่งก็คือขนมดัตช์นี้แหละเพราะอร่อยและมีให้เลือกหลายอย่าง เช่น ขนมสโตรปวาเฟิล (Stroopwafel) ขนมแพนเค้กชิ้นเล็ก (Poffertjes) ขนมแป้งทอดกรอบ (Oliebol) ขนมปังผสมลูกเกด (Krentenbollen) ขนมคุกกี้ (Kruidnoten) เค้กสีน้ำตาลแต่งกลิ่นด้วยเครื่องเทศ (Ontbijtkoek) ผงโรยช็อกโกแลต (Hagelslag) ทั้งหมดนี้รสชาติจะออกหวาน ๆ บางอย่างจะเพิ่มอบเชยไปด้วยถ้าใครไม่ชอบทานต้องเลือกดูดี ๆ
นอกจากขนมดัตช์ที่มีรสชาติหวานแล้วจะมีขนมดัตช์ที่ไว้ทานเป็นเครื่องเคียงกับเครื่องดื่ม เช่น ปลาเฮร์ริง (Hering Fish) ขนมคบเคี้ยว (Bitterballen) ขนมครอแก็ตทรงกลมกระบอก (Kroket) ปลาทอดกรอบชื่อดัง (Kibbeling) เฟรนช์ฟรายส์ชิ้นใหญ่ (Patat) รวมไปถึง Drop ลูกอมขบเคี้ยวเนื้อสัมผัสคล้ายกับเยลลี่รสชาติคล้ายอบเชยมีทั้งรสชาติหวานและเค็ม อันนี้เหมาะสำหรับเอาไว้ซื้อเป็นของฝากเซอร์ไพร์เพราะรสชาติเซอร์ไพร์จริงๆ
น้ำประปาในประเทศเนเธอร์แลนด์สะอาดและปลอดภัยสามารถดื่มได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เราจะพบก๊อกน้ำดื่มฟรีได้ทั่วเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ น้ำพุ ส่วนใหญ่ทาด้วยสีเขียว มีปุ่มกดสำหรับดื่มน้ำโดยตรงหรือเติมน้ำในขวด หรือสถานีเติมน้ำขวดหรือก๊อกน้ำ มักมีคำว่า Drinking Water และโลโก้ของบริษัทน้ำหรือองค์กรต่าง ๆ มีปุ่มกดสำหรับดื่มน้ำโดยตรงหรือเติมน้ำในขวด เรายังสามารถใช้แอป Refill เพื่อค้นหาสถานีเติมน้ำดื่มในเนเธอร์แลนด์ได้อีกด้วย
การชอปปิงในเนเธอร์แลนด์
ร้านค้าเปิดปิดเป็นเวลา
การชอปปิงในเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องที่สะดวกมาก ร้านค้าส่วนใหญ่เปิดทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 09:00-18:00 น. บางแห่งเปิดถึงเวลา 22:00 น. ซึ่งปกติมักจะเป็นวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์เพื่อผู้คนได้มีเวลาชอปปิงช่วงดึกหลังเลิกงาน (ภาษาดัตช์เรียกว่า ‘Koopavonden’) ในวันจันทร์อาจจะเปิดตอนบ่ายส่วนวันอาทิตย์เวลาเปิดแตกต่างออกไป ซูเปอร์มาร์เก็ตมักจะเปิดเวลา 08:00-22:00 น. ในวันธรรมดาและวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์มีเวลาเปิดที่แตกต่างกันออกไป
การจ่ายเงินผู้คนนิยมใช้บัตรเดบิต ระบบชำระเงินอีคอมเมิร์ช (iDeal) หรือ Apple Wallet ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่รับจ่ายด้วยตัวเลือกดังกล่าวรวมไปถึงเงินสดด้วยธนบัตรใบเล็กและเหรียญ ส่วนธนบัตรใบ €200 หรือ €500 ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กอาจจะไม่รับ ถ้าต้องการจ่ายบัตรเครดิตควรถามทางร้านให้แน่ใจก่อน และควรมีเหรียญพกติดตัวไว้บ้างเพื่อนำไปจ่ายค่าเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้เมื่อซื้อสินค้าราคาและบริการรวมภาษีเสมอ (VAT) ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและการบริการอยู่ที่ 21% และ 9% สำหรับอาหารยาและอื่น ๆ
จับจ่ายซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตดัตช์
ที่เนเธอร์แลนด์มีซูเปอร์มาร์เก็ตมากถึง 6,730 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและซูเปอร์มาร์เก็ตลดราคา แบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงและเรามักพบเห็นบ่อยในย่านใกล้เคียง คือ Albert Heijn และ Jumbo ในขณะที่ Lidl และ Aldi เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตลดราคาจากเยอรมนี ตามภูมิภาคต่าง ๆ และเมืองขนาดเล็กยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตรายย่อยจำนวนมาก เช่น Plus (รวมกับ Coop ภายใต้ชื่อ Plus ในปี 2021) Dirk, Hoogvliet, Spar, DekaMarkt, Deen, Jan Linders, Vomar, Ekoplaza และ Nettorama
ตามซูเปอร์มาร์เก็ตข้างต้นเราสามารถเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสด ผักและผลไม้ รวมไปถึงเครื่องดื่มและอื่น ๆ เรายังสามารถพบวัตถุดิบและเครื่องปรุงสำหรับทำอาหารไทยในซูเปอร์มาร์เก็ต Albert Heijn และ Jumbo ซึ่งจัดแยกไว้เป็นแผนกอย่างเรียบร้อย จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขา
ซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้านำเข้าจากเอเชีย
นอกจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและลดราคาที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้านำเข้าจากเอเชียแบบครบครัน เรียกได้ว่าสามารถจับจ่ายซื้อของมาทำอาหารไทยได้เต็มอิ่มเลยทีเดียว ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านั้นมักตั้งอยู่ตามตัวเมืองใหญ่ ๆ และมีชื่อเรียกเฉพาะ เจ้าที่มีชื่อเสียงคือ The Amazing Oriental Supermarket มีสาขากระจายอยู่มากถึง 20 แห่งทั่วประเทศ ตามภูมิภาคเราอาจจะพบซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ เช่น Wah Nam Hong supermarkt รวมไปถึงร้านขายของชำเอเชียขนาดเล็กที่รู้จักกันดีในชื่อ Toko ที่นั่นยังมีอาหารร้อนแบบทำใหม่ ๆ ให้เราได้เลือกซื้อทานหรือหิ้วกลับบ้านได้อีกด้วย
ในซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้านำเข้าจากเอเชียเราสามารถเลือกซื้อสินค้าจากประเทศไทยได้หลายอย่าง สินค้าที่มักพบโดยส่วนใหญ่ คือ ซอสปรุงรส เครื่องแกงสำเร็จรูป ผักและผลไม้กระป๋อง ขนม อาหารแห้ง ข้าวสาร ชากาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารแช่แข็ง ราคาแตกต่างกันออกไปแต่ละแบรนด์ ส่วนอาหารแช่แข็งอาจจะมีราคาสูงตามจำนวนกิโล
โปรโมชั่นและคำศัพท์น่ารู้
- Korting หมายถึง ส่วนลด เช่น 40% Korting (ลดราคา 40%)
- Gratis หมายถึง ฟรีหรือไม่คิดมูลค่า เช่น 1+1 Gratie (ซื้อ 1 แถม 1)
- Halve prijs หมายถึง ครึ่งราคา เช่น 2e Halve prijs ซื้อชิ้นที่สองลดครึ่งราคา
- Stuks หมายถึง ชิ้น เช่น 2 Stuks (2 ชิ้น)
- Artikel หมายถึง ชิ้นหรือสิ่งของในรายการ เช่น 2e Artikel
- Op = Op หมายถึง หมดแล้วหมดเลย
ตลาดนัดประจำสัปดาห์
ในแต่ละเมืองมีตลาดนัดประจำสัปดาห์เป็นของตัวเองซึ่งมักจะจัดที่จัตุรัสกลางเมือง (Grote markt) ตลาดเหล่านั้นคล้ายกับตลาดนัดที่ไทยและมักจะเปิดสัปดาห์ละหนึ่งถึงสองวัน เช่น วันพุธ วันศุกร์ หรือวันเสาร์แตกต่างกันออกไปแต่ละเมือง เวลาเปิดปิดโดยทั่วไปคือระหว่าง 08:00-16:00 น. บางแห่งอาจจะเปิดนานถึงเวลา 18:00 น.
ที่ตลาดนัดมีแผงขายสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ สามารถหาเลือกซื้อสินค้าได้หลายอย่าง เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ขนมปัง ชีส เสื้อผ้า รองเท้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ ราคาถูกกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปเล็กน้อย เรายังสามารถหาซื้อขนมดัตช์ เช่น ขนมสโตรปวาเฟิลและปลาเฮร์ริงได้ที่นั่นอีกด้วย
นอกจากตลาดนัดประจำสัปดาห์แล้วในแต่ละเมืองแล้วยังมีตลาดดอกไม้เช่นกัน ที่นั่นรวมดอกไม้หลายชนิด พืชในกระถางขนาดเล็ก ต้นไม้ขนาดปานกลางสำหรับซื้อไปประดับตกแต่งบ้าน เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ก็มีจำหน่าย รวมไปถึงช่อดอกไม้แบบจัดสำเร็จ ใครที่ชอบดอกไม้หรือต้นไม้ไปที่นี่แล้วอาจจะได้ติดไม้ติดมือกลับมาบ้านสักต้น
เรื่องความสวยความงามเป็นของคู่กันกับสาว ๆ สามารถหาซื้อเครื่องสำอางและสกินแคร์ดูแลผิวได้สะดวกตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายเครื่องสำอางและน้ำหอมที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น De Bijenkorf, Skins Cosmetics, Douglas, ICI Paris XL, Etos และ Kruidvat นอกจากร้านค้าที่มีสาขาตั้งอยู่ตามตัวเมืองต่าง ๆ แล้ว ยังมีเว็บไซต์สำหรับสั่งซื้อเครื่องสำอางออนไลน์ เช่น Lookfantastic รวมเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และน้ำหอมจากอังกฤษ และเว็บไซต์ Yesstyle แหล่งชอปเครื่องสำอางและสกินแคร์เอเชียชื่อดังจากฮ่องกงที่มีให้เลือกกันอย่างจุใจไปเลย
ศิลปะวัฒนธรรมในเนเธอร์แลนด์
ประเทศของศิลปินและจิตรกรระดับโลก
ประเทศเนเธอร์เนเธอร์แลนด์เป็นบ้านเกิดของศิลปินและจิตกรที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน เช่น วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent Van Gogh) เจ้าของผลงานภาพเขียนดอกทานตะวัน และผลงานภาพเขียนตัวเอง แร็มบรันต์ (Rembrandt) หนึ่งในศิลปินทัศนศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะ Jan Vermeer หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงจากยุคทองดัตช์ Piet Mondrian ผู้บุกเบิกศิลปะเน้นเรื่องนามธรรมและลดองค์ประกอบของรูปแบบและสี ที่ยังคงมีอิทธิพลในการออกแบบมาจนถึงทุกวันนี้ นั้นยังไม่รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์มากกว่า 21 คนที่ได้รับรางวัลโบเบลในสาขาต่าง ๆ ประเทศเนเธอร์แลนด์จึงเรียกได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน
มีพิพิธภัณฑ์มากถึง 438 แห่งทั่วประเทศ
พิพิธภัณฑ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล มีระบบการจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแผนผังพิพิธภัณฑ์ที่สวยงามและง่ายต่อการเดินชม การจัดหาข้อมูลเพื่ออธิบายที่มาและความหมายของผลงานศิลปะแต่ละชิ้น มีเครื่องออดิโอเสียงขนาดเล็กสำหรับรับฟังเสียงบรรยายเป็นภาษาต่าง ๆ ฟรี การสร้างความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมเพื่อจัดนิทรรศการ และเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้มีพื้นที่แสดงผลงานของตัวเอง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างทั่วถึงเพื่อเชิญชวนผู้เข้าชมอย่างต่อเนื่อง ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์พิพิธภัณฑ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ราคาประมาณ 15-20 ยูโร (ซึ่งแพงพอสมควร) อย่างไรก็ตามสามารถใช้บัตร Museumkaart สำหรับเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์แบบรายปีได้ฟรี
ฤดูกาลและสภาพอากาศในเนเธอร์แลนด์
ประเทศเนเธอร์แลนด์มี 4 ฤดู
ฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม–มิถุนายน)
ฤดูร้อน (ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน)
ฤดูใบไม้ร่วง (ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม)
ฤดูหนาว (ระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม)
อาการแปรปรวน (โดยส่วนมากมีฝนตกชุ่มช่ำ)
เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่ออาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ก็คือสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนึ่งปีมีฝนตกมากกว่า 140 วัน ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพแบบเข้าใจง่ายก็คือ ลองจินตนาการว่าตอนเช้ามีแสงแดดจ้าประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มและมีฝนตกกระหน่ำลงมา ผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมงฝนหยุดตกและมีแดดออกอีกครั้ง แล้วก็อาจจะวนลูปไปแบบนี้ทั้งวัน
หรืออีกแบบหนึ่งคือฝนตกตลอดทั้งวัน แล้วไม่ได้ตกแรง ๆ แบบ 1-2 ชั่วโมงแล้วหยุด แต่อารมณ์แบบตกปรอย ๆ ฉันอยากตกฉันก็ตก ตกไปเรื่อย ๆ บางทีก็ตกแบบนี้ทั้งวัน ในช่วงหน้าร้อนก็ยังคงมีฝนตก และอาจเป็นไปได้ว่าในหนึ่งอาทิตย์มีแต่ฝนตกทุกวัน ร่มในประเทศเนเธอร์แลนด์จึงไม่ได้มีกันแดดแต่มีไว้กันฝนแทน
แอปช่วยพยากรณ์สภาพอากาศในเนเธอร์แลนด์
เนื่องจากสภาพอากาศในเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างเดาใจ ผู้คนที่นี่ก็เลยต้องเช็คสภาพอากาศอยู่เป็นประจำก่อนวางแผนทำอะไร แอปพยากรณ์อากาศยอดนิยมของชาวดัตช์ คือ Buienradar (เรดาร์ฝน) และ Weatheronline (เรดาร์ปริมาณน้ำฝน) ทั้งสองแอปพลิเคชันนี้มีผลที่แม่นยำ แนะนำให้โหลดติดมือถือกันไว้
พระอาทิตย์ตกช้าในหน้าร้อน
ฤดูร้อนที่เนเธอร์แลนด์นอกจากจะเป็นฤดูแห่งกาลท่องเที่ยวแล้วยังเป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับแสงแดดในเวลากลางคืนอย่างยาวนาน พระอาทิตย์ช่วงหน้าร้อนจะตกช้าเป็นพิเศษประมาณเวลาห้าทุ่ม เรียกได้ว่ามีเวลาเที่ยวหรือทำอะไรนานขึ้นกว่าในฤดูอื่น ๆ สำหรับใครที่วางแผนมาเที่ยวเนเธอร์แลนด์ หรือนอนหลับยากควรเตรียมผ้าปิดตามาเผื่อด้วย
หน้าร้อนในเนเธอร์แลนด์เป็นฤดูกาลที่ชาวดัตช์ตั้งหน้าตั้งตารอคอย และเมื่อถึงฤดูร้อนพวกเขาจะดีใจมาก ชาวดัตช์นิยมออกมานั่งนอกบ้านเพื่อรับแสงแดด บ้างก็ชวนกันไปปิกนิกหรือเดินเล่นที่ชายหาด การแต่งกายที่นี่จึงเป็นฤดูแห่งสีสันได้ดีทีเดียว และเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ชาวดัตช์มีความสุขมาก ๆ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูหนาวไม่ได้หมายความว่าอากาศจะร้อนเหมือนที่ไทย บางครั้งอากาศยังคงหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส แม้ในวันที่มีแสงแดดแต่ก็ยังคงหนาวอยู่ ดังนั้นถ้าวางแผนมาเที่ยวที่นี่อย่าลืมเตรียมเสื้อแจ็คเกตมาเผื่อด้วย
ข้อมูลเบื้องต้นน่ารู้เกี่ยวกับเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแบน
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และไม่มีภูเขาเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ด้วยความที่เป็นประเทศแบนและอยู่ติดทะเลเหนือทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้งในอดีต โดยเฉพาะจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์และจังหวัดเซลันด์ รัฐบาลจึงหาทางจัดการกับปัญหานี้ โครงการ “Delta Works” จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1954 เพื่อช่วยแก้ปัญหานำท่วมในเนเธอร์แลนด์ระยะยาว โดยมีโครงการย่อย ๆ เพิ่มขึ้นอีกกว่า 16 โครงการ
อีกหนึ่งโครงการที่ยิ่งใหญ่ของชาวดัตช์ก็คือเขื่อนอัพสเลาไดก์ (The Afsluitdijk) ความยาวกว่า 32 กิโลที่ช่วยป้องคลื่นพายุที่ซัดเข้าชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ โดยปิดกั้นเส้นทางน้ำเซาเดอร์เซจากทะเลเหนือทำให้เกิดทะเลสาบน้ำจืดแห่งใหม่ที่เรียกว่า Ijsselmeer ตัวเขื่อนยังกลายมาเป็นเส้นทางหลวงหมายเลข A7 จากเมืองเดนโอเวอร์ (Den Oever) ในจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ไปยังหมู่บ้านซูริกช์ (Zurich) ในจังหวัดฟรีสลันด์ (Friesland)
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยส่วนมากถูกสร้างขึ้น
อุทยานแห่งชาติที่เราเห็นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่ถูกสร้างขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ มีการถมดินให้พื้นที่ที่เคยเป็นทะเลกลายมาเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยเพื่อรองรับจำนวนจำนวนครอบครัวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าสามารถสร้างพื้นที่ได้แล้วจะไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา ประเนเธอร์แลนด์ยังมีการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวไว้ เช่น ทุ่งหญ้า ป่าไม้และพื้นที่การเกษตรยังคงอยู่ เราจึงเห็นพื้นที่นอกเมืองส่วนใหญ่เต็มไปด้วยพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงโรงเพาะชำสำหรับปลูกพืชผักเมืองร้อนโดยเฉพาะ
เกือบทั่วทุกเมืองในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เหมือนอัมสเตอร์ดัม
นอกเมืองอัมสเตอร์ดัมเรามักจะเห็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตรที่ค่อนข้างแตกต่างจากอัมสเตอร์ดัมอย่างสิ้นเชิง ชาวดัตช์เวลาเริ่มต้นสร้างครอบครัวมักจะย้ายไปอยู่นอกเมืองที่มีพื้นที่สำหรับการเติบโตของเด็กในอนาคตและยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย นอกอัมสเตอร์ดัมจึงไม่ค่อยมีบ้านเรือนที่ตกแต่งและจั่วหัวคล้ายมงกุฎหรือลำคลองน่ารักไปเสียหมด ส่วนเส้นทางสำหรับจักรยานยังคงมีเหมือนเดิมที่เพิ่มเติมมาคือธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวขจีจำนวนมาก
มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก
เนเธอร์แลนด์มีอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ต่ำมากและเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว เรือนจำมากกว่า 20 แห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีจำนวนนักโทษ อัตราการก่อเหตุซ้ำขอนักโทษที่ออกจากเรือนจำไปก็ลดลง มีหลาย ๆ ประเทศนำระบบการจัดการนักโทษในเรือนจำจากเนเธอร์แลนด์ไปใช้ เรือนจำบางแห่งที่ปิดตัวลงถูกสร้างเป็นโรงแรมหรือใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
กัญชาและการค้าประเวณีถูกกฎหมาย
สำหรับกัญชาในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ถูกกฎหมายในเนเธอร์แลนด์ (แต่ถูกลดทอนความเป็นอาชญากรรมสำหรับการใช้งานส่วนตัว) แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจหรือไม่ทราบในรายละเอียดนี้ ร้านกาแฟที่เราพบเห็นในประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นไม่ถูกกฎหมายทางเทคนิค แต่อนุญาตให้ค้าวัชพืชได้
กล่าวคือร้านกาแฟได้รับอนุญาตให้เก็บกัญชาได้สูงสุด 500 กรัมในสถานที่นั้น ๆ ต่อครั้ง สำหรับบุคคลทั่วไปมีไว้ครอบครองได้ไม่เกิน 5 กรัม นอกจากนี้ถ้าใครที่ซื้อกัญหาห้ามสูบนอกร้าน หรือถ้าจะสูบควรเป็นที่เป็นทาง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบได้กลิ่นเจ้าสิ่งนี้ และบางครั้งก็มักจะไปรบกวนนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ที่เดินผ่าน
บ้านเรือนที่นี่สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ถนนหนทางราบเรียบไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะ พร้อมป้ายบอกทางที่ชัดเจน มองดูแล้วเป็นระเบียบสบายตา ด้วยการจ่ายภาษีที่สูงของผู้คนในประเทศรัฐบาลได้นำมาเงินดังกล่าวมาพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ถนนหนทางเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในบางครั้งพวกเขาก็ยอมรื้อถนนที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในสร้าง เพื่อสร้างถนนอุโมงค์ใต้ดินที่สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น และนำพื้นถนนด้านบนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
การแยกขยะ
ในแต่ละพื้นที่ตามเขตเทศบาลต่าง ๆ จะมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นจุดแยกขยะโดยเฉพาะ ประชาชนมีหน้าที่ในการแยกขยะให้ถูกต้อง อย่างเช่น สำหรับครัวเรือนที่มีถังขยะเป็นของตัวเอง เมื่อถังขยะเต็มแล้วต้องลากถังขยะมาไว้ที่หน้าบ้าน เจ้าหน้าที่จากเทศบาลจะมารับขยะไปกำจัดทุก ๆ สัปดาห์ ส่วนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์มักจะมีจุดทิ้งขยะแยกไว้ชัดเจน ทั้งสองแบบต้องมีการจ่ายภาษีบำรุงท้องถิ่น เพราะว่าคนที่มาเก็บขยะก็ต้องได้รับเงินเดือน ที่ทิ้งขยะก็ไม่ใช่ของเราคนเดียวเมื่อใช้งานก็ต้องจ่ายภาษีเพื่อส่วนรวม
ส่วนการเก็บขยะไม่ต้องใช้แรงงานคน แต่อาศัยเครื่องยกขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่กับรถบรรทุกขยะ มันสามารถยกถังขยะขึ้นได้อย่างง่ายดาย แล้วนำขยะไปปล่อยในช่องเก็บขยะในรถบรรทุก กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่นาน ประหยัดทั้งแรงงานคนและเวลา
การสร้างบ้านต้องขออนุญาตจากเทศบาลก่อน
ที่สำคัญจะสร้างแบบตามใจไม่ได้เพราะต้องคำนึงถึงสีสันและทำให้มีความใกล้เคียงกับบ้านในบริเวณนั้น ๆ มากที่สุด (แต่ส่วนมากคนจะซื้อบ้านที่สร้างไว้แล้ว น้อยมากที่สร้างบ้านใหม่เพราะราคาแพง) บ้านเรือนที่เราเห็นในเนเธอร์แลนด์จึงมีรูปแบบและสีที่คล้ายกัน ส่วนบ้านเก่าจะถูกดัดแปลงให้เป็นบ้านใหม่ แต่อาจจะยกเว้นส่วนหน้าของบ้าน (ถ้ามีเหตุต้องอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย) และต่อเติมด้านในแทน ตัวบ้านก็ได้รับการปรับปรุงให้มีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น
จ่ายเงินเข้าห้องน้ำ
ห้องน้ำสาธารณะในเนเธอร์แลนด์หายากมาก ส่วนมากจะอยู่ตามสถานีรถไฟ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ก่อนเข้าห้องน้ำต้องจ่ายเงินก่อนประมาณ 50-70 เซน จ่ายได้ทั้งเหรียญและบัตรเดบิตที่ประตูทางเข้า เรายังสามารถใช้แอป HogeNood เพื่อค้นหาห้องน้ำในเนเธอร์แลนด์ได้อีกด้วย
ครอบครัวและการแต่งงานในเนเธอร์แลนด์
ครอบครัวเดี่ยว
ชาวดัตช์เมื่อแต่งงานมีลูกหรือสร้างความครอบครัวจะแยกออกมาอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวแบบพ่อแม่ลูกโดยไม่มีข้อผูกมัดเรื่องศีลธรรมเรื่องการดูแลสมาชิกในครอบครัวขยายหรือพ่อแม่ที่สูงอายุ ส่วนปู่ย่าตายายก็อยู่เป็นครอบครัวของตัวเอง ส่วนพี่น้องยังคงไปมาหาสู่กันโดยเฉพาะในช่วงวันเกิดหรือวันแต่งงาน
ชาวดัตช์หากได้คบกับใครจะคบแบบจริงจัง
ชาวดัตช์ก่อนที่จะคบกับใครจะมีการออกเดตกันก่อน และสามารถออกเดตได้หลายคน (แล้วแต่คนด้วย) การออกเดตไม่ใช่แบบไปกินข้าวดูหนังอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนสองฝ่ายได้รู้จักกันมากขึ้น เช่น ปั่นจักรยาน เดินป่า ปิกนิก ฯลฯ ขึ้นอยู่ไลฟ์สไตล์สองแต่ละคู่ หากเดตกันแล้วรู้สึกไม่โอเคก็จะบอกให้อีกฝ่ายรู้แบบไม่หายไปเฉย ๆ แต่ถ้าไปเดตแล้วโอเคถึงขั้นคบเป็นแฟน พวกเขาจะคบแบบมุ่งมั่นจริงใจและยาวนานจนถึงขั้นแต่งงานกัน
การคบกันเป็นแฟนของชาวดัตช์อาจจะต่างจากทางเอเชียนิดหนึ่งตรงที่บางคู่ก็ไม่ได้เอ่ยปากขอเป็นแฟนโดยตรง (และถ้าอยากเอ่ยปากขอเป็นแฟนเพื่อความชัดเจนทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำได้เช่นกัน) แต่ก็รู้แหละว่าเป็นแฟนกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน พาไปเจอพ่อกับแม่ หรือใช้ชีวิตด้วยกัน แต่กว่าจะพาไปเจอพ่อกับแม่ได้ต้องใช้เวลาพอสมควร ประโยชน์ที่ว่า “ชาวดัตช์ยากที่จะคบใคร แต่ถ้าได้คบแล้วคบแบบจริงจัง” ก็อาจไม่ไกลเกินความเป็นจริง แฟนในภาษาดัตช์เรียกว่า ‘De Vriendin’ (Girlfriend) แต่ถ้าเป็นแฟนผู้ชายจะเรียกว่า ‘Het Vriendje’ ส่วนเพื่อนเรียกว่า ‘Vriend’ อย่าจำสับสนกันนะคะ
วัฒนธรรมอยู่ก่อนแต่ง
เรื่องนี้อาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในสังคมเอเชียหรือสังคมที่ยังเป็นแบบอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตามผู้คนที่นี่มีค่านิยมอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเพื่อศึกษาดูใจและเรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร คนคนนี้จะเป็นคนที่เราอยากใช้ชีวิตไปด้วยไหมในอนาคต มีเรื่องไหนที่ต้องยอมรับและปรับปรุงไปด้วยกัน น้อยมากที่คนที่นี่จะแต่งงานกันโดยที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน ยกเว้นก็แต่มาจากครอบครัวที่มีความเคร่งครัดทางศาสนาจริง ๆ
การแต่งงานของชาวดัตช์
การแต่งงานมีค่าใช้จ่ายพอสมควรนั้นทำให้บางคู่ก็ตัดสินใจอยู่ด้วย (ถึงขั้นมีลูก) โดยไม่แต่งงานกัน แต่อาจจะจดทะเบียนสมรสอย่างเดียวก็พอ หรืออาจจะมาแต่งงานอีกครั้งเมื่อลูกโตแล้วก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามความรักเป็นสิ่งสวยงามเสมอ หากพวกเขาตกลงแต่งงานกันแล้ว งานจะเริ่มโดยการจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตเทศบาลเพื่อรับใบทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นจะมีพิธีแต่งงานทางศาสนาในโบสถ์หรือสถานที่อื่น ๆ
ในตอนเย็นจะมีการทานอาหารร่วมกันกับแขกที่มาร่วมงาน หากแขกอยากจะกล่าวความรู้สึกอะไรก็สามารถกล่าวได้ในช่วงนี้ หลังจากนั้นก็จะเป็นงานปาตี้ที่มีการเต้นรำและดื่มอย่างสนุกสนานและก็เลิกงาน ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวและอาจมาจากเงินของทั้งสองฝ่ายที่ช่วยกันออก
การเข้าร่วมงานแต่งงานในเนเธอร์แลนด์จะต่างจากไทย เจ้าของงานจะไม่ได้เชิญแขกให้เข้าร่วมทุกพิธี แต่อาจจะเชิญให้เข้าร่วมเฉพาะบางพิธีเท่านั้น หรืออาจจะเชิญทั้งหมดเลยก็ได้ เช่น งานจดทะเบียนสมรสที่อำเภอเชิญเฉพาะครอบครัวคนสนิท งานพิธีเชิญทุกคน ส่วนดินเนอร์เชิญครอบครัวและเพื่อนสนิท
สิทธิมนุษยชนน่ารู้ในเนเธอร์แลนด์
เพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย
สิทธิ์ความเป็นผู้ปกครองอัตโนมัติสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน
การการุณยฆาตถูกกฎหมาย
การทำแท้งในเนเธอร์แลนด์ถูกกฎหมาย
การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอย่างที่คิด ในทางตรงกันข้ามถ้าเราเปิดใจเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวดัตช์ รวมไปถึงตั้งใจเรียนภาษาดัตช์ให้เร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ระยะยาวได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์มากขึ้น และมองเห็นภาพชัดเจนว่าถ้าย้ายมาที่นี่แล้วต้องเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรบ้างในอนาคต