“ออแพร์เนเธอร์แลนด์” หลายคนคงได้ยินชื่อนี้มาก่อนและอาจสงสัยว่า “ออแพร์” คืออะไร มีคุณสมบัติและหน้าที่อะไรบ้าง และทำอย่างไรเราถึงจะได้มาเป็นออแพร์ที่เนเธอร์แลนด์ บทความนี้จะพาทุกคนไปร่วมไขข้อสงสัยและเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการออแพร์ไปพร้อม ๆ กัน ครอบคลุมถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร ขั้นตอนการค้นหาครอบครัวอุปถัมภ์ คำถามและการเตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์กับโฮสต์ เอกสารที่ต้องจัดเตรียม การแปลใบเกิดและรับรองเอกสารด้วยตัวเอง ตลอดจนการตรวจสุขภาพออแพร์ รวมถึงสิ่งสำคัญที่ต้องทำเมื่อเดินทางถึงเนเธอร์แลนด์ อ่านบทความนี้แล้วน้อง ๆ จะมีข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อเตรียมพร้อมการเป็นออแพร์ด้วยตัวเองได้ไม่ยากเลย
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติเนเธอร์แลนด์ (IND) ได้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้สมัครโครงการออแพร์เนเธอร์แลนด์จากเดิมอายุไม่เกิน 30 ปี เป็นอายุไม่เกิน 25 ปี
ออแพร์เนเธอร์แลนด์ คืออะไร?
“ออแพร์เนเธอร์แลนด์” เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจอายุระหว่าง 18-25 ปี และมีความประสงค์ที่จะมาใช้ชีวิตในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ชาวดัตช์ และมีหน้าที่หลักคือดูแลเด็ก ๆ และทำงานบ้านเล็กน้อย โดยทำงานสูงสุด 8 ชั่วโมงต่อวัน และสูงสุดไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีวันหยุดอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 300-340 ยูโรต่อเดือน พร้อมทั้งได้รับวันหยุดพักร้อนจำนวน 2 สัปดาห์โดยที่ยังได้รับค่าตอบแทน และยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาดัตช์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้ท่องเที่ยวประเทศในทวีปยุโรปอีกด้วย
คุณสมบัติออแพร์เนเธอร์แลนด์
- อายุระหว่าง 18-25 ปี (สำหรับผู้ที่ส่งใบสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565)
- สถานภาพโสด (ไม่เคยแต่งงานหรือมีบุตรบุญธรรม)
- มีประสบการณ์ในการดูแลเด็ก
- สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษหรือภาษาดัตช์ได้
- ไม่เคยมีใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยในประเทศเนเธอร์แลนด์มาก่อน
- มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการออแพร์ผ่านตัวแทนเอเจนซี่ที่ได้รับการรับรองจาก IND
- ค่าใช้จ่ายสำหรับพักอาศัยในเนเธอร์แลนด์ไม่เกิน 34 ยูโร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าแปลและรับรองเอกสาร ค่าดำเนินการวีซ่า และค่าซื้อของใช้ส่วนตัว)
- กดเพื่ออ่านคุณสมบัติออแพร์เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ทางการ
ทำอย่างไรจะได้มาเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์?
ศึกษาข้อมูลออแพร์ของประเทศที่สนใจ
อายุระหว่าง 18-26 ปี
มีประสบการณ์การดูแลเด็ก (อย่างน้อย 200 ชั่วโมง)
เตรียมเอกสารและใบสมัครเข้าร่วมโครงการออแพร์
มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเพื่อสื่อสารกับโฮสต์และเด็ก ๆ
สามารถขับรถและมีใบขับขี่รถยนต์
เตรียมความพร้อมเรื่องเงิน
ต้องมีครอบครัวอุปถัมภ์
การค้นหาครอบครัวอุปถัมภ์ (Host family) ออแพร์เนเธอร์แลนด์
สำหรับผู้ที่สนใจและอยากมาเป็นออแพร์ประเทศเนเธอร์แลนด์สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ 2 วิธี คือ
- สมัครผ่านเอเจนซี่
- สมัครผ่านเว็บไซต์ AuPairWorld
สมัครผ่านเอเจนซี่ ออแพร์เนเธอร์แลนด์
มีหลายเอเจนซี่ในประเทศไทยที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเรื่องเอกสาร การหาครอบครัวอุปถัมภ์ และดำเนินการเรื่องวีซ่า โดยมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป
สมัครผ่านเว็บไซต์ AuPairWorld ออแพร์เนเธอร์แลนด์
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาโฮสต์ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ต้องมีเอเจนซี่ที่ไทยก็ได้ แต่โฮสต์ต้องลงทะเบียนเป็นครอบครัวอุปถัมภ์กับเอเจนซี่เนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการรับรองจาก IND โดยเอเจนซี่จะให้คำแนะนำเรื่องเอกสารและดำเนินการเรื่องวีซ่าให้เรา
เราเองก็เป็นอีกคนที่เลือกค้นหาโฮสต์จากเว็บไซต์ AuPairWorld ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและมีความน่าเชื่อถือ ข้อดีของเว็บนี้คือสามารถสร้างบัญชีผู้ใช้งานได้ฟรี รวมถึงเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา ระบุข้อมูลเกี่ยวกับออแพร์ประเทศที่เราสนใจ เช่น ช่วงอายุของเด็ก ๆ ที่เรามีความถนัดในการดูแล เราสามารถขับรถได้ไหม สามารถดูแลเด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวผู้ปกครองเดี่ยวได้ไหม ระยะเวลาที่เราสามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากนั้นเราก็เริ่มต้นค้นหาโฮสต์ และส่งข้อความพูดคุยกับโฮสต์ได้เลย
ขั้นตอนการสมัครสมาชิกเว็บไซต์ AuPairWorld
- ไปยังเว็บไซต์ AuPairWorld
- เลือกคำว่า Log in to AuPairWorld
- จากนั้นเลือก Not yet registered? และ Register as an au pair
- กรอกข้อมูลให้ครบทั้ง 3 ส่วน คือ About Me, My Search และ My Profile
- กำหนดรหัสผ่านและกดยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงการใช้งาน จากนั้นกดลงทะเบียน
- ระบบจะส่งข้อมูลไปยังอีเมล์ของเรา กดที่ลิงก์ในอีเมล์เพื่อยืนยันการสมัครสมาชิก
- ลงชื่อเข้าใช้งานในเว็บไซต์ AuPairWorld
- อัพเดตข้อมูลโปรไฟล์และรูปภาพเพิ่มเติม
- เริ่มต้นค้นหาครอบครัวอุปถัมภ์
ข้อดีของเว็บไซต์ AuPairWorld
ข้อดีของออแพร์เวิลด์นอกจากจะสมัครใช้งานได้ฟรีแล้ว ยังมีโฮสต์จากหลายประเทศให้เลือกอีกด้วย ทำให้ง่ายต่อการค้นหาโฮสต์และส่งข้อความพูดคุยได้ง่าย อย่างไรก็ตามจำนวนของผู้ที่ต้องการเป็นออแพร์เยอะ โฮสต์แต่ละคนก็มีการกำหนดช่วงเวลาที่ออแพร์สามารถเริ่มงานได้แตกต่างกันออกไป อาจทำให้แมทกับโฮสต์ช้า
เอาจริง ๆ เราไม่รู้เลยว่าจะได้แมทกับโฮสต์ตอนไหน ถ้าโฮสต์ชอบเราก็อาจจะได้แมทเร็ว หรือถ้าพูดคุยกับโฮสต์แล้วเรายังไม่โอเคกับเงื่อนไขของบ้านนั้น ๆ ก็อาจจะยังไม่ตอบตกลงก็ได้ ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบรอบและไม่ต้องรีบตอบตกลงเพราะกลัวว่าจะหาโฮสต์ไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อไปอยู่ที่นู้นแล้ว คำแนะนำก็คือควรเตรียมตัวหาโฮสต์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เผื่อเวลาไว้ประมาณ 3-6 เดือน สำหรับใครที่ทำงานแล้ว ระหว่างหาโฮสต์ก็ออนไลน์โปร์ไฟล์ไว้ อย่าเพิ่งลาออกจากงานจนกว่าจะได้แมทกับโฮสต์ รอลาออกทีเดียวตอนวีซ่าผ่านแล้ว
สำหรับโปร์ไฟล์ควรเขียนข้อมูลให้ครบถ้วนชัดเจนและครอบคลุม เขียนให้เป็นตัวเราและแสดงให้โฮสต์เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะไปใช้ชีวิตที่ต่างเมือง เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าและดูแลลูกของโฮสต์ให้ปลอดภัยได้ จากนั้นเตรียมตัวให้ดีก่อนสัมภาษณ์กับโฮสต์ ค้นหาข้อมูลเมืองที่โฮสต์อาศัยอยู่ การเดินทาง เตรียมคำถามที่ต้องการถามโฮสต์ รวมถึงฝึกตอบคำถามให้คล่อง การเตรียมตัวที่ดีมีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง ที่เหลือก็ไปดูว่าตอนที่เราสัมภาษณ์กับโฮสต์แล้วถูกชะตากันมากน้อยแค่ไหน โอเคกับเงื่อนไขกับบ้านนั้น ๆ ไหม
อย่าลืมแวะไปอ่าน → คำถามและการเตรียมตัวสำหรับสัมภาษณ์กับโฮสต์ เพื่อช่วยสร้างความประทับใจแรกพบและทำให้การสนทนาระหว่างน้อง ๆ กับโฮสต์มีความราบรื่นและเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ผลการสัมภาษณ์กับโฮสต์มีหลายแบบ เช่น สัมภาษณ์ครั้งเดียวแล้วผ่านเลย สัมภาษณ์หลายครั้งเพราะโฮสต์พ่อและโฮสต์แม่ไม่ว่างสัมภาษณ์พร้อมกันแล้วมาตัดสินใจร่วมกันอีกครั้งว่าจะแมทไหม สัมภาษณ์เพิ่มเติมในกรณีที่ยังมีคำถามอื่น ๆ อีก หรือสัมภาษณ์แล้วรอแจ้งผลเพราะโฮสต์ต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครคนอื่น ๆ ให้ครบก่อน ฯลฯ
ถ้าสัมภาษณ์ครั้งเดียวแล้วผ่านเลยก็เตรียมเอกสารสำหรับขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป หรือถ้าโฮสต์ปฏิเสธหลังจากสัมภาษณ์แล้วอย่ายอมแพ้ ค้นหาและพูดคุยกับโฮสต์บ้านอื่น ๆ จนกว่าจะได้แมทกับโฮสต์ที่เหมาะกับเรา และเราก็เหมาะที่จะเป็นออแพร์บ้านเขา เมื่อสบายใจทั้งสองฝ่ายก็สามารถอยู่ร่วมกับโฮสต์ได้อย่างราบรื่น
ประสบการณ์สัมภาษณ์กับครอบครัวอุปถัมภ์
เราใช้เวลาในการหาโฮสต์เองเกือบหกเดือน ส่งข้อความพูดคุยกับโฮสต์หลายบ้าน มีทั้งโดนปฏิเสธจนเกือบยอมแพ้ และมีโฮสต์ตอบรับจนได้สัมภาษณ์กันทางวิดีโอคอล เป็นโฮสต์จากเมืองเล็ก ๆ ชื่อว่า “Voorschoten” อยู่ใกล้กับเมืองไลเด้น (Leiden) และกรุงเฮก (The Hague) โฮสต์แม่เป็นพยาบาล โฮสต์พ่อเป็นทนาย มีลูกสองคน น้องผู้ชายอายุ 9 ขวบ และน้องผู้หญิงอายุ 12 ขวบ ไม่มีสัตว์เลี้ยง และไม่จำเป็นต้องมีใบขับขี่รถยนต์
วันที่สัมภาษณ์ได้พูดคุยกับโฮสต์แม่และน้องผู้ชาย โฮสต์พาดูบ้านว่ามีอะไรบ้าง อธิบายเรื่องตารางการทำงาน หน้าที่ในการดูแลน้อง ๆ รวมถึงถามคำถามที่เราเตรียมมา ซึ่งโฮสต์เปิดโอกาสให้ถามได้อย่างเต็มที่จนเข้าใจตรงกัน ใช้เวลาพูดคุยประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง หลังจากสัมภาษณ์เสร็จผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมงโฮสต์ก็ขอแมทเลย เราก็ตอบตกลงเพราะโอเคกับเงื่อนไขของบ้านนี้ ตอนนั้นดีใจมากเพราะไม่คิดว่าโฮสต์จะขอแมทเร็วขนาดนี้ ระยะเวลาหกเดือนกับความพยายามในการหาโฮสต์คือหายเหนื่อยเลย พอได้แมทกับโฮสต์แล้วขั้นตอนต่อไปก็คือเตรียมเอกสาร
เอกสารที่ต้องเตรียม ออแพร์เนเธอร์แลนด์
หลังจากที่ตกลงแมทกับโฮสต์แล้ว โฮสต์ได้แจ้งอีเมล์ของเราไปยังเอเจนซี่เนเธอร์แลนด์ จากนั้นเอเจนซี่จะนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์กับเรา ขั้นตอนนี้เป็นการสกรีนประวัติและคุณสมบัติของผู้สมัครเพิ่มเติม จากนั้นเอเจนซี่จะส่งรายการเอกสารที่ต้องเตรียมมาให้กรอก (รายชื่อเอกสารอาจแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละเอเจนซี่) ดังรายการ
- ใบสมัครเข้าร่วมโครงการ (Au pair application form)
- สแกนพาสปอร์ตทุกหน้า (Scanned passport)
- ใบรับรองการดูแลเด็ก (Childcare reference form)
- ใบรับรองประวัติส่วนบุคคล (Antecedents declaration)
- ใบแสดงเงื่อนไขและข้อตกลงการเป็นออแพร์ (Au pair agreement)
- ใบยอมรับข้อตกลงการเข้าร่วมโครงการออแพร์ (Declaration of awareness)
- ใบแสดงข้อมูลโฮสต์และตารางการทำงาน (Placement information including schedule)
- แบบฟอร์มใบรับรองแพทย์และผลตรวจโรค ได้แก่ ผลตรวจเลือด ผลตรวจเอกซเรย์ปอด ผลตรวจโรคเอดส์ ผลตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบี และผลตรวจการตั้งครรภ์ อ่านคำแนะนำการตรวจสุขภาพออแพร์และค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม
- ใบรับรองรายงานการเคลื่อนไหวทางบัญชี โดยมีเงินในบัญชีไม่ต่ำกว่า 500 ยูโร เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างที่เป็นออแพร์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ (สำหรับผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการผ่านเอเจนซี่ในไทยไม่ต้องใช้ใบรับรองรายงานการเคลื่อนไหวทางบัญชี ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละเอเจนซี่ที่เนเธอร์แลนด์ด้วย บางเอเจนซี่ไม่ต้องใช้ใบรับรองการเคลื่อนไหวทางบัญชี)
- แปลใบเกิดและรับรองเอกสาร (ภาษาอังกฤษหรือภาษาดัตช์) สำหรับใช้ลงทะเบียนผู้พำนักอาศัย ณ เทศบาลเมืองที่ไปอาศัยอยู่หลังจากเดินทางไปถึงประเทศเนเธอร์แลนด์
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วให้สแกนเป็นไฟล์ PDF และส่งกลับไปให้เอเจนซี่ตรวจสอบ จากนั้นเอเจนซี่จะทำการยื่นขอวีซ่า MVV ให้เพื่อนำไปใช้เดินทางเข้าประเทศเนเธอร์แลนด์ ระยะเวลารอผลอนุมัติ 90 วัน อย่าลืมอ่านคำแนะนำ → การแปลใบเกิดและรับรองเอกสาร เพื่อนำไปขอตราประทับกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในไทยตอนที่ไปยื่นขอสติ๊กเกอร์วีซ่า MVV บนพาสปอร์ต
การยื่นขอสติ๊กเกอร์วีซ่า MVV บนพาสปอร์ต
เมื่อวีซ่าผ่านแล้ว ออแพร์ต้องเตรียมเอกสารเพื่อนำไปยื่นขอสติ๊กเกอร์วีซ่า MVV บนพาสปอร์ต ซึ่งเอกสารที่ต้องใช้ คือ
- ปริ้นจดหมายยืนยันผลวีซ่า MVV จาก IND
- รูปถ่ายพื้นหลังสีขาว ขนาด 2 นิ้ว (ไกด์ไลน์ขนาดรูปภาพ)
- พาสปอร์ตตัวจริงของเรา (มีอายุอย่างน้อย 6 เดือนและมีหน้าวีซ่าว่าง 2 หน้า)
- สำเนาพาสปอร์ต (รวมถึงสำเนาวีซ่าที่เคยได้รับและตราประทับทั้งหมด)
- ดาวน์โหลดและปริ้น ใบการยื่นคำร้อง MVV Issue form จากนั้นกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน
- นัดหมายสถานทูตเนเธอร์แลนด์เพื่อยื่นขอสติ๊กเกอร์ MVV บนพาสปอร์ต
ขั้นตอนการออกสติ๊กเกอร์วีซ่า MVV ใช้เวลาประมาณ 2-5 วันทำการ (สามารถเลือกได้ว่าจะให้ส่งมาที่บ้านหรือไปรับเอง ถ้าส่งมาที่บ้านมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และควรเตรียมจดหมายจ่าหน้าซองไปด้วย)
การจองตั๋วเครื่องบินและเก็บกระเป๋าเดินทาง
เมื่อได้รับพาสปอร์ตกลับมาพร้อมกับสติ๊กเกอร์วีซ่า MVV แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการจองตั๋วเครื่องบินและเก็บกระเป๋าเดินทาง ซึ่งตั๋วเครื่องบินบางเอเจนซี่อาจจะให้ซื้อตั้งแต่ก่อนยื่นวีซ่าเลย หรือบางเอเจนซี่แนะนำให้ซื้อหลังวีซ่าผ่านแล้ว อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ตรงเราจองกับสายการบิน EVA Air เพราะมีเที่ยวบินตรงเลย อีกสายการบินหนึ่งที่บินแบบไม่ต้องแวะพักก็คือ KLM ทั้งสองสายบริการดี
เราจองแบบทั้งขาไปและขากลับ (ออกค่าตั๋วเครื่องบินเอง บางครอบครัวโฮสต์ใจดีอาจจะออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ ขึ้นอยู่กับการพูดคุยและตกลงกันกับโฮสต์) ตอนที่จองเป็นช่วงโปรโมชั่นพอดี และเป็นการจองตั๋วข้ามปีทำให้ได้ตั๋วเที่ยวบินตรงแบบไปกลับในราคาที่ไม่แพงมากประมาณ 21,000 บาท) แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนวันเดินทางกลับทีหลัง เพราะระบบมีให้จองไม่ถึง 1 ปี
อ่านคำแนะนำ → การจัดเตรียมกระเป๋าเดินทาง รวมถึงการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ก่อนออกเดินทางบินลัดฟ้าสู่แดนกังหันลม
สิ่งที่ออแพร์ต้องทำเบื้องต้นหลังจากเดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์
หลังจากเดินทางมาถึงประเทศเนเธอร์แลนด์แล้วออแพร์มีการนัดหมายที่ต้องไปทำ ดังรายการ
- รับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (Residence permit)
- ลงทะเบียนผู้พำนักอาศัยเพื่อแจ้งชื่อของเราไปยังที่อยู่บ้านของโฮสต์
- สมัครประกันสุขภาพ (Health insurance)
- เปิดบัญชีธนาคารที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ตรวจเอกซเรย์ปอด (Tuberculosis test)
รับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (Residence permit) ออแพร์เนเธอร์แลนด์
ออแพร์สามารถรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยในเนเธอร์แลนด์ได้ที่เคาน์เตอร์ของ IND ในเมืองตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของเรา ต้องเก็บรักษาและนำติดตัวไปด้วยตลอดเวลา หากสูญหายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 146 ยูโร เพื่อดำเนินการออกบัตรใหม่
ลงทะเบียนผู้พำนักอาศัยเพื่อแจ้งชื่อของเราไปยังที่อยู่บ้านของโฮสต์
สามารถลงทะเบียนผู้พำนักอาศัยได้ที่ที่ว่าการอำเภอเมืองที่เราไปอาศัย โดยเอเจนซี่แจ้งวันและเวลาทางอีเมล์ของเรา จากนั้นเตรียมเอกสารได้แก่
- หนังสือเดินทางของเรา
- บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย
- ใบเกิดฉบับจริง และใบเกิดที่แปลพร้อมตราประทับรับองที่นำมาจากไทย
ในกรณีที่โฮสต์ไม่สามารถเดินทางไปที่เทศบาลเมืองกับเราได้ โฮสต์ต้องเซ็นต์ใบอนุญาตการให้เข้าพักอาศัยในบ้านของโฮสต์ (Authorisation for lodging) และนำเอกสารนี้ไปด้วยพร้อมสำเนาหนังสือเดินทางของโฮสต์
เมื่อถึงสถานที่นัดหมายก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามานำชื่อของเราเข้าทะเบียนบ้านของโฮสต์ เจ้าหน้าที่จะให้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มพร้อมตอบคำถามส่วนบุคคลประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลทุกอย่างเพื่อลงทะเบียนในฐานข้อมูลบันทึกส่วนบุคคล (BRP) เสร็จเรียบร้อยเราจะได้รับหมายเลขบริการพลเมือง (BSN) ซึ่งเป็นหมายเลขส่วนตัวที่ไม่ซ้ำใครสามารถนำไปใช้ในการเปิดบัญชีธนาคารและซื้อประกันสุขภาพ รวมถึงทำธุรกรรมด้านอื่น ๆ
หากต้องการหลักฐานว่าได้ทำการลงทะเบียนผู้พำนักอาศัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว (ซึ่งเอเจนซี่อาจจะขอ) สามารถขอให้เจ้าหน้าที่ออกใบ BRP-Extract ให้ ซึ่งแสดงข้อมูลส่วนบุคคลของเราและหมายเลข BSN ในส่วนนี้อาจมีธรรมเนียมเพิ่มเติม
ตรวจเอกซเรย์ปอด (Tuberculosis test) ออแพร์เนเธอร์แลนด์
สำหรับออแพร์ที่มาจากไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องตรวจเอกซเรย์ปอด ดังนั้นเราต้องไปตรวจเอกซเรย์ปอดอีกครั้ง และต้องทำภายในระยะเวลาสามเดือนนับตั้งแต่เดินทางถึงเนเธอร์แลนด์ โดยเอเจนซี่จะทำการนัดหมายวันที่และเวลากับทาง GGD ในเทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่ จากนั้นก็เดินทางไปตรวจตามนัดหมายพร้อมพาสปอร์ตและแบบฟอร์มตรวจเอกซเรย์ปอด (Appendix TB test referral form) ที่กรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว
วิธีตรวจเอกซเรย์ปอดเจ้าหน้าที่จะให้ถอดเสื้อรวมถึงชุดชั้นในออกหมด และสวมชุดคลุมที่เตรียมไว้ให้ จากนั้นก็ไปยืนอยู่หน้าเครื่องสแกน ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็ตรวจเสร็จ ผลการเอกซเรย์ปอดถ้าไม่มีอะไรผิดปกติจะไม่มีเอกสารส่งกลับมาที่บ้าน แต่ถ้าผลตรวจผิดปกติจะมีเอกสารแจ้งกลับมาที่บ้านเพื่อนัดหมายให้กลับไปตรวจอีกครั้ง หรือดำเนินการตามขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป
สมัครประกันสุขภาพ (Health insurance) ออแพร์เนเธอร์แลนด์
ประกันสุขภาพในเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับออแพร์มาก ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่นี่ค่อนข้างสูง หากไม่มีประกันสุขภาพถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร ดังนั้นออแพร์ต้องสมัครประกันสุขภาพภายในสี่เดือนนับตั้งแต่เดินทางถึงเนเธอร์แลนด์
การสมัครประกันสุขภาพต้องมีบัญชี DigiD กับเลขโค้ด SMS หรือ DigiD app ถ้ายังไม่มีบัญชี DigiD สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ทางการเพื่อสมัครและสร้างบัญชีการใช้งานก่อน เมื่อสมัครแล้วบัญชีจะยังใช้งานไม่ได้ทันที ต้องรอเอกสารที่มี Passcode ส่งมาที่บ้านภายในสามวันทำการ จากนั้นนำ Passcode ที่ได้มาเปิดใช้งานบัญชี DigiD หลังจากนั้นก็สามารถใช้งานได้เลย
รายละเอียดในการสมัครประกันสุขภาพเป็นภาษาดัตช์และค่อนข้างซับซ้อน ในส่วนนี้อาจจะขอให้โฮสต์ช่วยสมัครให้ และควรตกลงกับโฮสต์เรื่องค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องถูกเรียกเก็บทุกเดือนให้เข้าใจทั้งสองฝ่าย (บางบ้านโฮสต์อาจจะออกค่าสมัครประกันสุขภาพ ถ้าไม่อย่างนั้นควรเตรียมเงินไว้ประมาณ 100-120 ยูโรต่อเดือน)
เมื่อสมัครประกันสุขภาพแล้วจะมีอีเมล์หรือจดหมายจากบริษัทประกันสุขภาพส่งมาที่บ้าน เราสามารถเข้าไปเช็คข้อมูลประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันคงที่ รวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์บริษัทผู้ให้บริการโดยตรง โดยใช้หมายเลข DigiD ในการลงชื่อเข้าใช้งาน ภายใน 1 อาทิตย์ออแพร์จะได้รับบัตรประกันสุขภาพที่ส่งมาถึงบ้าน เก็บบัตรนั้นไว้และพกติดตัวเพื่อใช้เป็นข้อมูลในกรณีฉุกเฉิน หากไม่ได้รับบัตรนี้สามารถส่งอีเมล์ไปขอกับบริษัทประกันสุขภาพ
เงินช่วยเหลือประกันสุขภาพเมื่อจบโครงการออแพร์แล้วอย่าลืมยกเลิกก่อนเดินทางกลับไทย ไม่เช่นนั้นระบบจะยังโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีของเราและอาจถูกเรียกคืนย้อนหลังได้ การยกเลิกเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพสามารถใช้ DigiD ของเราในการล็อกอินที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรดัตช์ จากนั้นเลือกคำว่า Toeslag stoppen (Ik wil mijn toeslag stopzetten) กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนในระบบและกดยืนยันข้อมูล ระบบจะไม่ยกเลิกเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพในทันที อาจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนในการดำเนินการ และนับวันที่เราออกเดินทางออกจากเนเธอร์แลนด์เป็นวันยกเลิก
การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน DigiD
บัญชีผู้ใช้งาน DigiD คือระบบดิจิตอลที่อนุญาตให้ระบุตัวตนของเราเมื่อใช้งานอินเทอร์เนตเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของรัฐบาลดัตช์ สถาบันการศึกษา การสอบบูรณาการพลเมือง การสมัครประกันสุขภาพ เช็คกองทุนบำเหน็จบำนาญ ฯลฯ ออแพร์สามารถใช้งานบัญชีนี้ได้ผ่านเว็บไซต์ทางการ และรอรับจดหมายที่บ้านภายใน 3-5 วันทำการเพื่อนำรหัสมาเปิดใช้งานบัญชี
เปิดบัญชีธนาคารที่เนเธอร์แลนด์ ออแพร์เนเธอร์แลนด์
ที่เนเธอร์แลนด์มีธนาคารให้เลือกเปิดบัญชีตามความสะดวกสบาย การเปิดบัญชีกับธนาคารดัตช์ต้องใช้เอกสารประกอบ เช่น หนังสือเดินทาง ใบแสดงข้อมูลส่วนตัวและหมายเลขบริการพลเมือง (BRP-Extract) บัตรอนุญาติผู้พำนักอาศัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ (Residence Permit) และใบข้อตกลงการเป็นออแพร์ระหว่างเราและโฮสต์ โดยมีลายเซ็นทั้งสองฝ่าย
การเปิดบัญชีธนาคารดัตช์สามารถทำได้ทั้งแบบออนไลน์และสาขาใกล้บ้าน เมื่อยื่นคำร้องแล้วรอประมาณหนึ่งอาทิตย์ธนาคารจะดำเนินการส่งบัตรเอทีเอ็มมาให้ที่บ้าน และสามารถเปิดใช้งานบัตรผ่านเว็บไซต์ทางการหรือแอปพลิเคชันของธนาคารนั้น ๆ เพียงเท่านี้ออแพร์ก็มีบัญชีธนาคารดัตช์และบัตรเอทีเอ็มไว้ใช้ซื้อของต่างๆ ได้แล้ว
สรุปประสบการณ์โครงการออแพร์เนเธอร์แลนด์
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการใช้ชีวิตเนเธอร์แลนด์ในฐานะการเป็น “ออแพร์” และยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ออแพร์ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งการดูแลเด็ก ๆ การใช้ชีวิตกับครอบครัวอุปถัมภ์ดัตช์ผ่านวัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่าง การเรียนภาดัตช์ รวมไปถึงการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์และพัฒนาให้น้อง ๆ ให้เติบโตขึ้นในหลาย ๆ ด้าน พอใกล้จะจบโครงการมานั่งคิดย้อนดูอีกทีเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในแต่ละวันและจะพบว่าเราจะกลายเป็นคนใหม่ไปเลย คนที่แข็งแกร่งและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองไปยังบทบาทใหม่แม้ว่าจะจบโครงการออแพร์ไปแล้วก็ตาม
เราขอเป็นกำลังใจให้กับออแพร์ทุกคนที่เริ่มต้นการใช้ชีวิตในประเทศในฝันของตัวเอง อาจจะไม่ใช่แค่ในเนเธอร์แลนด์ แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา การได้ผจญภัยไปในโลกกว้างเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินตอบแทนที่ได้รับ บางครั้งการเรียนรู้ก็เกิดในช่วงเวลาที่เรามีปัญหา เรียนรู้และทำทุก ๆ วันให้ตัวเองมีความสุขที่สุด
คนที่จะภูมิใจเมื่อจบโครงการออแพร์ไปก็คือตัวเราที่ได้พาตัวเองมายังเส้นทางนี้ และแน่นอนว่ามันจะคุ้มค่ากับการตัดสินใจในการมาเป็นออแพร์ในต่างแดน ขอให้ทุกคนสนุกกับการเป็นออแพร์ในเนเธอร์แลนด์ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในครั้งนี้และพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด หวังว่าทุกคนจะพร้อมแล้วสำหรับการเป็นออแพร์ในเนเธอร์แลนด์ค่ะ