เมื่อเดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าระยะยาว MVV แล้วแน่นอนว่ามีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมายเพื่อรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย การแจ้งนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน การตรวจเอกซเรย์ปอด การสมัครประกันสุขภาพ การลงทะเบียนกับคลินิกหมอบ้าน การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน DigiD รวมไปถึงการเปิดบัญชีธนาคาร เราจะมาเล่าในรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เพื่อทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
การนัดหมายเพื่อรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย
บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยคือหลักฐานอย่างเป็นทางการจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติแสดงว่าเราได้รับอนุญาตให้พักอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างถูกกฎหมาย โดยทั่วไปมักมีระยะเวลา 5 ปี เมื่อครบ 3 ปี หรือ 5 ปี สามารถยื่นขอบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยถาวร หรือแปลงสัญชาติเพื่อกลายเป็นพลเมืองดัตช์ หากมีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ที่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ควรขอรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยเป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากการทำธุรกรรมด้านอื่น ๆ ต้องแนบหลักฐานนี้ประกอบ
การขอรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยสามารถทำได้หลังจากที่ได้รับจดหมายแจ้งจาก IND ในบางกรณีก็สามารถทำได้ก่อนที่จะได้รับจดหมายฉบับจริง โดยเข้าไปตรวจสอบสถานะเอกสารได้ที่เว็บไซต์ของ IND ถ้ามีการออกบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยแล้ว สถานะในระบบจะเปลี่ยนเป็น Collect residence document (ดูรูปภาพถัดไปประกอบ) จากนั้นสามารถนัดหมายออนไลน์ในระบบโดยกดปุ่มสีม่วงที่มีคำว่า Make an appointment (แนะนำให้ทำไว้เลยเนื่องจากคิวค่อนข้างเยอะ)
กรณีของเราเข้าไปตรวจสอบสถานะเอกสารแล้วพบว่ามีการออกบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยแล้วตั้งแต่ตอนอยู่ที่ไทย ดังนั้นเลยขอนัดหมายวันที่สะดวกเข้าไปรับบัตรนี้ไว้ล่วงหน้าเลย ขั้นตอนมีดังนี้
- กดเข้าไปยังลิงก์นี้ Make appointment at IND desk
- เลือกสถานที่รับบัตรใกล้บ้าน วันและเวลาที่สะดวก และเอกสารที่ต้องการขอรับ
- กรอกหมายเลข BSN (ถ้ามี) ถ้าไม่มีให้เว้นไว้ เพิ่มชื่อนามสกุล อีเมล์และหมายเลขโทรศัพท์
- จากนั้นก็กดนัดหมาย
เมื่อนัดหมายสำเร็จจะได้รับอีเมล์ยืนยันพร้อมหมายเลขอ้างอิงการนัดหมาย เก็บอีเมล์ฉบับนี้ไว้และนำไปแสดงพร้อมกับเอกสารในการรับบัตรในวันนัดหมาย ได้แก่ หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ เมื่อไปถึงสถานที่นัดหมายแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามารับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยพร้อมยื่นหนังสือเดินทาง เจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิวเพื่อนั่งรอเรียกตามคิว เมื่อถึงคิวของเราแล้วก็ไปที่เคาน์เตอร์ตามหมายเลขที่ปรากฏบนหน้าจอ เจ้าหน้าที่จะขอดูหนังสือเดินทางเพื่อตรวจเช็คข้อมูลจากนั้นเราจะได้รับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยซึ่งเป็นบัตรสีชมพู บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยเปรียบเสมือนบัตรประชาชนของเรา ต้องเก็บรักษาและนำติดตัวไปด้วยตลอดเวลา หากสูญหายต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 146 ยูโร เพื่อดำเนินการออกบัตรใหม่
ข้อมูลที่แสดงบนบัตรอนุญาตผู้พำนัก
- ชื่อ: นามสกุลและชื่อตัวของผู้ถือบัตร
- วันหมดอายุ: ใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยสามารถใช้งานได้จนถึงวันนี้
- สถานที่และวันที่ในการออกบัตร: สถานที่และวันที่ที่ได้บัตรรับอนุญาตผู้พำนักอาศัย
- ประเภทของเอกสาร: I, II, III, IV, V, EU/EEA หรือสมาชิกในครอบครัว EU/EEA
- ข้อมูลระบุประเภทการพำนักอาศัยของผู้ถือบัตร
- วันที่และสถานที่เกิด: สัญชาติและเพศของผู้ถือบัตร
- ข้อมูลระบุวัตถุประสงค์ของการพำนักอาศัยในเนเธอร์แลนด์
- วันที่เริ่มต้นพำนักอาศัย: ผู้ถือบัตรมีมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันนี้
- หมายเลข V: หมายเลข V 10 หลักของผู้ถือบัตรจะระบุไว้ที่ด้านล่างของบัตรอนุญาตผู้พำนักซึ่งอยู่หลังจากตัวอักษร VNR หมายเลข V ยังใช้สำหรับการระบุลงบนจดหมายที่ได้รับจาก IND
การแจ้งนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน
สามารถทำได้ที่เทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่ โดยต้องนัดหมายออนไลน์ก่อนหรือโทรไปนัดหมายกับเทศบาลโดยตรง จากนั้นก็เตรียมหลักฐานไปด้วยในวันนัดหมาย ได้แก่
- บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (ถ้าได้มาแล้ว)
- หนังสือเดินทางตัวจริงของเรา
- ใบเกิดตัวจริงและฉบับที่รับรองเอกสารแล้ว
- หนังสือรับรองสถานภาพโสดฉบับที่แปลและรับรองเอกสารแล้ว
- ในกรณีที่แฟนไม่สามารถเดินทางไปกับเราได้ในวันนัดหมายต้องเซ็นต์ใบอนุญาตการให้เข้าพักอาศัยในบ้านของแฟน รวมถึงแนบสัญญาการเช่า/ซื้อที่อยู่อาศัยดังกล่าวของแฟน พร้อมสำเนาหนังสือเดินทางของแฟน
เมื่อถึงเทศบาลแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามานำชื่อของเราเข้าทะเบียนบ้านของแฟน เจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิวมาเพื่อนั่งรอเรียกชื่อ ถึงคิวของเราแล้วก็ไปตามเคาน์เตอร์ที่ขึ้นบนหน้าจอ เจ้าหน้าที่จะให้กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มพร้อมตอบคำถามส่วนบุคคลประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ และนำไปบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูลบันทึกส่วนบุคคล (BRP) เสร็จเรียบร้อยเราจะได้รับหมายเลขบริการพลเมือง (BSN) ซึ่งเป็นหมายเลขส่วนตัวที่ไม่ซ้ำใคร และสามารถนำไปประกอบการทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ รวมถึงสมัครประกันสุขภาพ ถ้าต้องการเอกสารรับรองการนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน (BRP-Extract) ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ (อาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม)
เมื่อแจ้งนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านเรียบร้อยแล้วข้อมูลอาจจะยังไม่อัพเดตทันที ต้องรอประมาณ 1-2 วัน แนะนำให้เข้าไปเช็คข้อมูลในเว็บไซต์ MijnOverheid จากนั้นรออีกประมาณ 1 อาทิตย์จะมีจดหมายยืนยันส่งมาที่บ้าน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการแจ้งนำชื่อเข้าทะเบียนบ้าน
การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน DigiD
บัญชีผู้ใช้งาน DigiD คือระบบดิจิตอลที่อนุญาตให้ระบุตัวตนของเราเมื่อใช้งานอินเทอร์เนตเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ของรัฐบาลดัตช์ สถาบันการศึกษา การสอบบูรณาการพลเมือง การสมัครประกันสุขภาพ เช็คกองทุนบำเหน็จบำนาญ ฯลฯ ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อทำธุรกรรมข้างต้นได้ทุกที่อย่างง่ายดายและปลอดภัยผ่านการล็อคอินโดยใช้แอปพลิเคชัน DigiD การเข้าสู่ระบบด้วยรหัสยืนยัน SMS การเข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน รวมไปถึงการเข้าสู่ระบบด้วยบัตรประจำตัวประชาชน
วิธีการสมัครบัญชีผู้ใช้งาน DigiD
- ไปยังเว็บไซต์ DigiD
- เลือกคำว่า Apply for or activate
- จากนั้นเลือกปุ่มสีส้มที่มีคำว่า DigiD application form
- กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและกดยืนยันเพื่อสมัครใช้งานบัญชี DigiD
- ระบบจะส่งจดหมายที่มีรหัสเปิดใช้งานไปตามที่อยู่ของเรา รอประมาณ 2-3 วันจะได้รับจดหมาย จากนั้นนำรหัสดังกล่าวมาเปิดใช้งานบัญชี DigiD
วิธีการเปิดใช้งานบัญชี DigiD ด้วยรหัสที่ได้รับมาในจดหมาย
- ไปยังเว็บไซต์ DigiD
- เลือกคำว่า Apply for or activate
- จากนั้นเลือกปุ่มสีส้มที่มีคำว่า Enter activation code
- ใส่ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านจากนั้นเลือก Log in
- เราจะได้รับ SMS กับโค้ด ใส่เลขโค้ดจากนั้นกด Next
- ใส่รหัสเปิดใช้งานที่ได้รับมาในจดหมายเพื่อเปิดใช้งานบัญชี DigiD
การตรวจเอกซเรย์ปอด
สำหรับผู้ที่มาจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องตรวจเอกซเรย์ปอด ดังนั้นต้องเดินทางไปตรวจเอกซเรย์ปอดกับทาง GGD เมืองที่เราอาศัยอยู่ภายในระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์
วิธีการตรวจปอดต้องนัดหมายวันและเวลาก่อนผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ หรือโทรไปนัดกับเจ้าหน้าที่โดยตรงจากนั้นรอจดหมายยืนยันประมาณ 1-3 อาทิตย์ ในส่วนของการตรวจปอดสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าทางหน่วยงานบริการสาธารณสุขเทศบาล (GGD) จะให้ตรวจแบบไหน และควรเตรียมบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย หนังสือเดินทาง รวมถึงใบ Appendix TB test referral form ที่กรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว และค่าใช้จ่ายในการตรวจไว้ประมาณ 30-50 ยูโร ผลการปอดถ้าปกติจะไม่มีเอกสารส่งมาที่บ้าน แต่ถ้าไม่ปกติจะมีจดหมายส่งมานัดให้ไปตรวจซ้ำและอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ยกตัวอย่างของเราต้องตรวจเอกซ์เรย์ปอดที่ศูนย์สาธารณสุขอัมสเตอร์ดัม การเดินทางนั่งรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานี Weesperplein จากนั้นเดินอีก 4 นาทีไปยังออฟฟิตของสำนักงานตรวจวัณโรค (Department of TB-control) จะอยู่ติดกับคลอง Nieuwe Achtergracht เมื่อไปถึงสำนักงานแล้วกดหมายเลขบัตรคิวที่หน้าห้องจากนั้นนั่งรอเรียกคิวเพื่อตรวจเอกสารและแบบฟอร์มในการตรวจปอด (ถ้าไม่ได้นำติดตัวไปด้วยจะมีแบบฟอร์มให้กรอกที่หน้าห้องนั่งรอเรียกคิว แนะนำให้เตรียมไปด้วยเพื่อความรวดเร็ว) เมื่อตรวจเอกสารเสร็จแล้วก็จ่ายเงินค่าตรวจ 46.50 ยูโร
จากนั้นรับแบบฟอร์มในการตรวจและนั่งรอในห้องรอตรวจตามหมายเลขที่ได้มา (ระหว่างนี้ถ้าใส่สร้อยคอไปด้วยก็ถอดออก มัดผมขึ้นแบบดังโงะ) ประมาณ 1-2 นาทีจะมีเจ้าหน้าที่เปิดประตูเข้ามาเรียกให้เข้าไปในห้องตรวจปอด เพื่อตรวจเอกสารและจัดท่าทางเราให้พร้อมในการเอกซ์เรย์ โดยแนบคางให้ตรงกับตำแหน่งที่กำหนดไว้แล้วก็แนบลำตัวให้ชิดกับเครื่องเอกซ์เรย์ จากนั้นก็บอกให้เราหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นไว้ประมาณ 3-5 วินาที ทำแบบนี้สองรอบก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยในการเอกซ์เรย์ปอด ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที
การสมัครประกันสุขภาพ
ทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์มีหน้าที่ตามกฎหมายในการทำประกันสุขภาพมาตรฐานเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เช่น การปรึกษาแพทย์ทั่วไป การรักษาในโรงพยาบาลและยาตามใบสั่งแพทย์ เราสามารถเลือกทำประกันเสริมได้ตามความสมัครใจเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมอยู่ในแพ็คเกจมาตรฐาน
การสมัครประกันสุขภาพต้องทำภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ ราคาเบี้ยประกันสุขภาพพื้นฐานรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 100-150 ยูโร ผู้สมัครสามารถเลือกค่าความเสี่ยงที่ต้องรับเอง (eigen risico) ตามแพ็คเกจมาตรฐานได้ตั้งแต่ 385-885 ยูโร และสามารถเปลี่ยนประกันสุขภาพได้ทุกปีระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม ที่สำคัญอย่าลืมเปรียบเทียบแพ็คเกจประกันสุขภาพและตัวเลือกต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนเพื่อผลประโยชน์ที่คุ้มค่าของผู้ถือกรมธรรม์
การสมัครประกันสุขภาพต้องใช้หมายเลข BSN และบัญชี DigiD เพื่อลงชื่อเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ของบริษัทผู้ให้บริการประกันสุขภาพโดยตรง เช่น Zilveren Kruis, ONVZ, FBTO, OHRA, United Consumers, Univé Verzekeringen, VGZ, DSW ฯลฯ หรือสมัครผ่านทางเว็บไซต์เปรียบเทียบประกัน เมื่อสมัครเรียบร้อยแล้วรออีเมล์ยืนยันจากบริษัทผู้ให้บริการประกันสุขภาพประมาณ 1-3 วัน สามารถเข้าไปเช็คข้อมูลประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันคงที่ รวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์บริษัทผู้ให้ประกันโดยตรง ภายใน 1 อาทิตย์เราจะได้รับบัตรประกันสุขภาพที่ส่งมาถึงบ้าน เก็บบัตรนั้นไว้และพกติดตัวเพื่อใช้เป็นข้อมูลในกรณีฉุกเฉิน
ถ้าไม่สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือนจะได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากสถาบันดูแลสุขภาพแห่งชาติดัตช์ (CAK) ให้สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือน ถ้าไม่ได้ทำประกันสุขภาพภายในช่วงเวลาดังกล่าว CAK จะออกค่าปรับที่สูงถึง 437.25 ยูโร (ตัวเลขปี 2022) และถ้ายังไม่สมัครประกันสุขภาพท้ายที่สุดจะถูกหักเบี้ยประกันรายเดือนจากเงินเดือน เพราะฉะนั้นการมีประกันสุขภาพในต่างแดนดีกว่าการต้องทนรับความเสี่ยงที่จะตามมา ช่วยให้อุ่นใจในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูง
สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานรวมแล้วไม่เกิน 38,520 ยูโรต่อปี (ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงทุกปี) สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าประกันสุขภาพ (Zorgtoeslag) ได้สูงสุด 155 ยูโรต่อเดือน ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรดัตช์ อ่านเพิ่มเติม → รอบรู้เรื่องสวัสดิการและเงินช่วยเหลือในเนเธอร์แลนด์ ผลประโยชน์ที่ควรศึกษาทำความเข้าใจ
การลงทะเบียนกับคลินิกหมอ
หลังจากที่สมัครประกันสุขภาพเรียบร้อยแล้วก็มาถึงอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการลงทะเบียนกับคลินิกหมอบ้าน หรือในภาษาดัตช์เรียกว่า huisarts (ภาษาอังกฤษเรียกว่า GP doctors) ความสำคัญของหมอบ้านก็คือเมื่อเราเกิดการเจ็บป่วยใด ๆ สามารถไปหาหมอบ้านหรือเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกใกล้บ้านที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งหมอบ้านจะเป็นด่านแรกของการรักษาในเบื้องต้น หากอาการเจ็บป่วยเกินกว่าที่จะรักษาได้ที่คลินิกนั้น ๆ หรือจำเป็นต้องส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง หมอบ้านจะดำเนินการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่น ๆ ตามลำดับ
วิธีการลงทะเบียนกับคลินิกหมอบ้าน
การลงทะเบียนกับคลินิกหมอบ้านอาจใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากบางคลินิกอาจไม่รับคนเพิ่ม หรือจำนวนคนลงทะเบียนเต็มแล้ว อย่างไรก็ตามคลินิกอาจให้ความสำคัญในการลงทะเบียนสำหรับคนที่ไม่เคยมีประวัติกับคลินิกหมอบ้านในเนเธอร์แลนด์มาก่อน เช่น ผู้ที่ย้ายมาอยู่ใหม่ หรือผู้ที่ย้ายที่อยู่ไปต่างเมือง ส่วนผู้ที่ต้องการเปลี่ยนคลินิกหมอบ้านในพื้นที่เดียวกันอาจจะต้องรอจนกว่าจะมีคิวว่าง ทั้งนี้ควรติดต่อหาคลินิกใกล้บ้านไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
การสมัครบัญชีผู้ใช้งาน MijnOverheid
MijnOverheid คือเว็บไซต์ทางการของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ผู้ใช้งานสามารถเช็คข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา ครอบคลุมถึงการลงทะเบียนผู้พำนักอาศัยครั้งแรกเมื่อไร การย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่เมืองไหนบ้าง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเคยลงทะเบียนไว้ในฐานข้อมูลบันทึกส่วนบุคคล (BRP) เงินบำนาญ บ้าน รถยนต์ การศึกษา เป็นต้น
ภายในเว็บไซต์ MijnOverheid ยังมีกล่องข้อความ Berichtenbox ซึ่งเป็นช่องทางการรับจดหมายแบบดิจิทัลจากหน่วยงานรัฐบาลดัตช์ เช่น IND, DUO, Belastingdienst ฯลฯ เมื่อมีจดหมายส่งมาตามที่อยู่ที่บ้านจะมีจดหมายฉบับดังกล่าวปรากฎในรูปแบบดิจิจัลอยู่ในกล่องข้อความด้วย
ก่อนสมัครใช้งาน MijnOverheid ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ ผู้ใช้งานต้องมีอายุมากกว่า 14 ปี มีหมายเลข BSN มีสัญชาติดัตช์หรืออาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ และมีบัญชีใช้งาน DigiD ถ้ามีคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถสมัครใช้งานได้
การเปิดบัญชีธนาคารที่เนเธอร์แลนด์
ที่เนเธอร์แลนด์มีธนาคารให้เลือกเปิดบัญชีตามความสะดวกสบาย การเปิดบัญชีกับธนาคารดัตช์ต้องใช้เอกสารประกอบ เช่น หลักฐานประจำตัวประชาชน (บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง) หลักฐานแสดงที่อยู่อาศัยอย่างเป็นทางการ เช่น ข้อตกลงการเช่า หมายเลขบริการพลเมือง (BSN) ถ้าหากมาจากประเทศนอกสหภาพยุโรปใช้บัตรใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยประกอบด้วย
การเปิดบัญชีธนาคารดัตช์สามารถทำได้ทั้งแบบออนไลน์และสาขาใกล้บ้าน เมื่อยื่นคำร้องแล้วรอประมาณหนึ่งอาทิตย์ธนาคารจะดำเนินการส่งบัตรเอทีเอ็มมาให้ที่บ้าน และสามารถเปิดใช้งานบัตรผ่านเว็บไซต์ทางการหรือแอปพลิเคชันของธนาคารนั้น ๆ เพียงเท่านี้เราก็มีบัญชีธนาคารดัตช์และบัตรเอทีเอ็มไว้ใช้ซื้อของต่างๆ ได้แล้ว
การซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเนเธอร์แลนด์
สำหรับซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเนเธอร์แลนด์เราใส่ไว้เป็นหัวข้อลำดับสุดท้ายเนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายทั้งช่องทางออนไลน์และตามร้านค้าจำหน่ายซิมการ์ดใกล้บ้าน ในเนเธอร์แลนด์มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือได้แก่ KPN, T-mobile, Tele2, Vodafone, Lebara, Simyo ฯลฯ มาพร้อมผลิตภัณฑ์ที่ให้ผู้ใช้งานเลือกได้ตามความต้องการ เช่น ซิมการ์ดแบบเติมเงิน ซิมการ์ดอย่างเดียวพร้อมแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตการโทรและข้อความ หรือซิมการ์ดพร้อมแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตแบบไม่จำกัดการโทรและข้อความ ซึ่งแพ็คเกจเหล่านี้สามารถเลือกความเร็วได้ทั้งแบบ 4G/5G มีระยะเวลาของสัญญาในการใช้งานแบบรายเดือน รายปี หรือมากกว่า 1 ปี ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 10-40 ยูโรต่อเดือน
ขั้นการซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือเนเธอร์แลนด์
- เปรียบเทียบซิมการ์ดและแพ็คเกจของแต่ละเครือข่ายได้ที่เว็บไซต์ Pricewise หรือเข้าไปเช็คข้อมูลโดยตรงที่เว็บไซต์ของผู้ให้บริการเครือข่ายนั้น ๆ เมื่อเจอซิมการ์ดที่ต้องการแล้วสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์
- จ่ายเงินด้วยบัญชีธนาคารดัตช์ จากนั้นรอประมาณ 1-2 วันจะมีซิมการ์ดส่งมาที่บ้าน
- เมื่อได้รับซิมการ์ดแล้วทำตามคำแนะนำในเอกสารที่ได้รับมาเพื่อเปิดใช้งานซิมการ์ด
- รอสัญญาณประมาณ 15 นาที หรือปิดเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อรีเซตสัญญาณ เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือเนเธอร์แลนด์ได้แล้ว
สำหรับการเรียกเก็บเงินบิลค่าโทรศัพท์ในแต่ละเดือนจะมีเอกสารส่งมาตามที่อยู่ที่บ้าน ผู้ใช้งานยังสามารถจ่ายเงินได้โดยตรงผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติ หรือสแกนจ่ายผ่านระบบ iDEAL
โดยส่วนตัวใช้ซิมการ์ดของ Budget Mobil แบบเปิดเบอร์ใหม่ ค่ายนี้มีซิมอยู่สองแบบ คือ แบบสัญญา 1 ปี (20 ยูโรต่อเดือน รวม 255 ยูโรต่อปี) กับสัญญา 2 ปี (20 ยูโรต่อเดือน พิเศษสามเดือนแรกจ่าย 15 ยูโรต่อเดือน รวม 240 ยูโรต่อปี) ทั้งสองแบบใช้เครือข่ายของ KPN จากที่ใช้งานมาถือว่าโอเคเลย ใช้อินเทอร์เนตได้ไม่จำกัด 4 GB ต่อวันในเนเธอร์แลนด์ (ถ้าหมดขอเพิ่มได้ครั้งละ 1 GB ฟรีทาง SMS) ถ้าไปเที่ยวในสหภาพยุโรปใช้อินเทอร์เนตได้ 17 GB (ถ้าใช้หมดก็ซื้อเพิ่มได้ 2 GB ในราคา 5 ยูโร) โดยรวมเรื่องอินเทอร์เน็ตไม่มีปัญหา ส่วนการโทรออกและส่งข้อความไม่ได้ใช้เท่าไร ใครที่สนใจก็ลองไปตามต่อกันได้
สิ่งสำคัญที่ต้องทำหลังมาถึงเนเธอร์แลนด์ ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นของใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ และยังมีอีกหลายอย่างที่รอให้เราเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตระยะยาวในดินแดนกังหันลม เช่น การสอบบูรณาการพลเมืองให้ผ่านภายในสามปี อย่าลืมแวะไปอ่าน → การสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 กฎใหม่ของผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2022 ต้องรู้ เพื่อวางแผนเตรียมตัวสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ หวังว่าทุกคนจะพร้อมแล้วสำหรับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ค่ะ