การทำงานและอัตราภาษีเงินได้ในเนเธอร์แลนด์ เมื่อเราทำงานที่เนเธอร์แลนด์เรามีเงินเดือน เมื่อเรามีเงินเดือนนายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างงาน เมื่อเราได้รับเงินเดือนมาแล้วต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วยังมีเงินอะไรอีกที่เราต้องจ่ายเพื่อรับผลประโยชน์เพิ่มเติมตอนเกษียณ บทความนี้จะพาคุณไปเรียนรู้ การทำงานและอัตราภาษีเงินได้ในเนเธอร์แลนด์ แบบละเอียด อ่านบทความนี้แล้วคุณจะพร้อมสำหรับการหางานและทำงานในเนเธอร์แลนด์ รวมถึงรอบรู้ผลประโยชน์และสวัสดิการที่ตัวเองควรจะได้รับในฐานะพนักงาน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำงานในเนเธอร์แลนด์
วันพักร้อนขั้นต่ำ 4 สัปดาห์
เวลาเริ่มงานส่วนใหญ่ 09.00– 17.00 น.
สัญญาการจ้างงาน
เงินเดือนขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย
อัตราภาษีเงินได้และการเสียภาษี
การหางานในเนเธอร์แลนด์
งานในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ยังคงใช้ภาษาดัตช์ อาจจะยกเว้นบริษัทต่างชาติในตัวเมืองใหญ่ ๆ ถ้าภาษาดัตช์ยังไม่แข็งแรงอาจจะสมัครงานบริษัทต่างชาติ หรือเรียนภาษาดัตช์ให้ดีก่อนเพื่อสมัครงานดัตช์ ซึ่งจะมีการสอบภาษาดัตช์ระดับ B1-B2 ที่เรียกว่า Nt2 เพื่อรับใบประกาศอย่างเป็นทางการมาใช้สมัครงานดัตช์ ลิงก์ด้านล่างรวมเว็บไซต์ที่เป็นประโยชน์สำหรับการหางานในเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมลูกจ้างเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิและเงินชดเชยในกรณีต่าง ๆ
- การทำงานและอัตราภาษีเงินได้เบื้องต้น
- เว็บไซต์หางานของ UWV
- สำนักงานประกันพนักงาน (UWV)
- ธนาคารประกันสังคม (SVB)
- หน่วยงานด้านแรงงานของเนเธอร์แลนด์
- JOB DD in NL งานสำหรับคนไทยในเนเธอร์แลนด์
- Stap Budget เงินช่วยเหลือหลักสูตรฝึกอบรมภาษาและอื่น ๆ
- LinkedIn ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Indeed ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Glassdoor ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Randstad บริษัทช่วยหางานชื่อดังในเนเธอร์แลนด์
- Accenture บริษัทช่วยหางานของในเธอร์แลนด์
- Unique บริษัทช่วยหางานในเนเธอร์แลนด์
- Youngcapital หางานในเนเธอร์แลนด์ใช้ภาษาอังกฤษ
- English Job Search หางานภาษาอังกฤษในเนเธอร์แลนด์
- Dutch Tech Jobs แพลตฟอร์มงานเทคโนโลยีในเนเธอร์แลนด์
- Job Fair For Internationalsตลาดงานแฟร์ในเนเธอร์แลนด์
- The Hague International Centre หางานในกรุงเฮก
- Jooble เว็บไซต์ค้นหางานนานาชาติ
- Joblift แพลตฟอร์มค้นหางานเนเธอร์แลนด์
- Lintberg แพลตฟอร์มรับสมัครงานเนเธอร์แลนด์
- Locanto ค้นหางานในเนเธอร์แลนด์
- Vacatures Website Verzameling ไดเรกทอรีงานว่างในเนเธอร์แลนด์
- Vacatures Jouw Verzamelaar ไดเรกทอรีงานว่างในเนเธอร์แลนด์
- Werken in het buitenland หางานต่างประเทศ
- ENGINEERING ไดเรกทอรีหางานวิศวกรรมทั่วโลก
- Careers in Holland หางานด้านด้านไอที วิศวกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
- Michael Page, Ogilvy หางานการตลาด
- IT Vacatures Online หางานด้านไอที
- Euro Legal Jobs หางานด้านกฎหมาย
- One World หางานด้าน NGO
- Uitzendbureau หางานตำแหน่งชั่วคราว
- Jobs Online ค้นหางานตามหมวดหมู่
- Museumvereniging งานพิพิธภัณฑ์
- Werken in een hotel, Hotel Professionals ค้นหางานโรงแรม
- Werkenindehoreca งาน Horeca
- AH, Jumbo, Oriental งานซูเปอร์มาร์เก็ต
- Picnic, Thuisbezorgd, Flinkงานส่งอาหาร
- Inditex Careers, Uniqlo, Primark, Cotton Club, Fashion United งานร้านขายเสื้อผ้า
- Douglas, Etos, ICI Paris KL, Kruidvat, HEMA, Bijenkorf งานร้านขายเครื่องสำอางและร้านสะดวกซื้อ
- McDonald’s, Burger King, KFC, Subway, Dunkin Donuts, Starbucks งานตามแบรนด์
- Zorgselect, Florence, Nationale Vacature Bank, Werken in zorgen wel zijn งานด้านดูแลสุขภาพ
สัญญาการจ้างงานในเนเธอร์แลนด์
สัญญาการจ้างงานในเนเธอร์แลนด์ (ภาษาดัตช์: Arbeidsovereenkomst) เมื่อนายจ้างตกลงรับเราเข้าทำงานจะได้รับสัญญาจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย สัญญาการจ้างงานมักครอบคลุมชื่อและที่อยู่ของนายจ้างและลูกจ้าง สถานที่ที่พนักงานทำงาน ตำแหน่งของลูกจ้างหรือประเภทของงาน พนักงานทำงานกี่ชั่วโมง (ต่อวันหรือต่อสัปดาห์) จำนวนเงินเดือนและวันที่จ่ายเงินเดือน วันที่ของการจ้างงาน ระยะเวลาของสัญญา (ถ้ามี) ระยะเวลาทดลองงาน (ถ้ามี) โบนัส สิทธิการลาและวันหยุด ระยะเวลาแจ้งและการเลิกจ้าง โครงการบำเหน็จบำนาญ (ถ้ามี) ข้อตกลงแรงงานร่วม (ถ้าใช้กับบริษัทที่คุณทำงาน) รวมไปถึงกฎระเบียบการปฏิบัติของพนักงาน
นอกจากสัญญาจ้างงานปกติแล้วบางบริษัทอาจมีการทำทำข้อตกลงพิเศษเพิ่มเติม เช่น รถยนต์หรือรถจักรยานของบริษัท อุปกรณ์ทำงาน ชุดทำงาน รวมไปถึงเงื่อนไขเฉพาะของบริษัท เช่น การรักษาความลับของบริษัท การห้ามทำกิจกรรมเสริม หรือว่าลาออกแล้วไม่สามารถทำงานร่วมกับลูกค้าที่เป็นของบริษัทเดิมได้ภายในกี่ปี เป็นต้น
เนื้อหาในสัญญาการจ้างงานมักเป็นภาษาอังกฤษถ้าเป็นบริษัทต่างชาติ แต่ถ้าเป็นบริษัทดัตช์เนื้อหาจะเป็นภาษาดัตช์ทั้งหมด นายจ้างจะให้มาสองฉบับเราสามารถนำสัญญากลับไปอ่านทำความเข้าใจที่บ้านให้ชัดเจนก่อนเซ็น ไม่แนะนำให้เซ็นสัญญาทันทีถ้าหากไม่เข้าใจรายละเอียดในสัญญา
เงินเดือนที่ระบุในสัญญาการจ้างงานจะรวมค่าจ้างวันหยุดพักร้อน (Vakantiegeld) และวันหยุดพักร้อน 4 สัปดาห์นอกเหนือจากวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเนเธอร์แลนด์ บริษัทต้องดูแลพนักงานและการจ่ายเงินที่เท่าเทียมกันโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของศาสนา ความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ เพศ อายุ ความทุพพลภาพ หรือเหตุผลอื่นใด
สัญญาการจ้างงานในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็นหลายประเภท คือ
- สัญญาถาวร (Vast contract)
- สัญญาชั่วคราว (Tijdelijk contract)
- สัญญาเป็นโมฆะ (Nulurencontract)
- สัญญาขั้นต่ำสุดสูงสุด (Min-max contract)
- สัญญาข้อตกลงการโทร (Oproepovereenkomst)
- สัญญาตัวแทน (Uitzendovereenkomst)
- สัญญาข้อตกลงรอง (Detacheringsovereenkomst)
- สัญญาเงินเดือน (Payrollcontract)
- สัญญาข้อตกลงต้นแบบ (Modelovereenkomst)
สัญญาถาวร (Vast contract)
ไม่มีระเวลาที่สิ้นสุดการทำงาน มีผลบังคับใช้เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลาทดลองงาน สัญญามักสิ้นสุดเมื่อพนักงานลาออกหรือนายจ้างบอกเลิกสัญญาที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์การเลิกจ้าง
สัญญาชั่วคราว (Tijdelijk contract)
มักมีระยะเวลาที่แน่นอนและกำหนดวันที่สิ้นสุดการทำงาน เว้นแต่มีการระบุไว้ว่าจะขยายสัญญาออกไป ซึ่งนายจ้างจะต้องแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ บางครั้งนายจ้างก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้เร็วกว่ากำหนดหากมีการตกลงกันล่วงหน้า สัญญาชั่วคราวมักมีระยะเวลา 6 เดือน หรือที่นิยมกันมักมีระยะเวลา 1 ปี
สัญญาเป็นโมฆะ (Nulurencontract)
มักรู้จักกันดีในชื่อสัญญาศูนย์ชั่วโมงแต่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมง พนักงานจะทำงานก็ต่อเมื่อตอนที่นายจ้างโทรให้ไปทำงานเท่านั้น
สัญญาขั้นต่ำสุดสูงสุด (Min-max contract)
คล้ายกับสัญญาศูนย์ชั่วโมงแต่ต่างกันที่มีการประกันชั่วโมงขั้นต่ำการโทรให้ไปทำงาน ถ้าโทรเรียกให้ไปทำงานน้อยกว่านี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงตามชั่วโมงขั้นต่ำที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้ามีงานเพิ่มเติมนายจ้างสามารถโทรเรียกให้ไปทำงานได้สูงสุดตามชั่วโมงขั้นสูงสุดเรียกว่า ‘เกินชั่วโมงขั้นต่ำ’ เช่น พนักงานตกลงกับนายจ้างว่าจะได้รับชั่วโมงการทำงานอย่างน้อย 20 ชั่วโมงและสูงสุด 30 ชั่วโมง นายจ้างต้องจ่ายค่าแรง 20 ชั่วโมงเสมอตามที่ได้ประกันไว้ ส่วนระหว่าง 20-30 ชั่วโมงต้องจ่ายเมื่อพนักงานได้ไปทำงานจริง
สัญญาข้อตกลงการโทร Oproepovereenkomst)
นายจ้างจะเป็นคนโทรหาคุณและคุณสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำงานดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเลือกรับงานก็สามารถเริ่มสัญญาชั่วคราว เมื่อสัญญาหมดอายุและนายจ้างโทรหาอีกครั้งและถ้าคุณเลือกรับงานสัญญาใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้น
สัญญาตัวแทน (Uitzendovereenkomst)
เป็นสัญญาการจ้างงานชั่วคราวที่มาจากหน่วยงานจัดหางานชั่วคราวทำหน้าที่เป็นนายจ้างอย่างเป็นทางการ รวมถึงรับผิดชอบจ่ายค่าแรงพนักงานและดูแลการจ่ายเงินในกรณีเจ็บป่วย
สัญญาข้อตกลงรอง (Detacheringsovereenkomst)
เป็นสัญญาการจ้างงานจากบริษัทอื่นชั่วคราวเหมือนกับการยืมพนักงานที่ทำงานในบริษัทอื่นมาทำงานให้กับบริษัทของตน ซึ่งพนักงานจะได้รับสัญญาจากบริษัทรองที่ให้ยืมพนักงาน
สัญญาเงินเดือน (Payrollcontract)
เป็นสัญญาการจ้างงานชั่วคราวที่บริษัทบัญชีเงินเดือนจ้างคุณและรับผิดชอบในการจ่ายเงินเดือนให้คุณ ซึ่งทำงานได้เฉพาะกับผู้ว่าจ้างเป็นที่เป็นลูกค้าของบริษัทบัญชีเงินเดือนเท่านั้นไม่สามารถทำให้กับผู้ว่าจ้างรายอื่นได้
สัญญาข้อตกลงต้นแบบ (Modelovereenkomst)
เป็นสัญญาการจ้างงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งจะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างถูกมองว่าเป็นลูกจ้างประจำ คุณสามารถขอตัวอย่างข้อตกลงที่เป็นทางการและได้รับการอนุมัติจากกรมสรรพากร สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา สัญญาจ้างประเภทนี้ค่าแรงจะหมดลงระหว่างการเจ็บป่วย และอาจเป็นไปได้ที่จะยุติข้อตกลงก่อนเวลาอันควร
สัญญาการจ้างงานถ้าไม่ใช่สัญญาถาวรนายจ้างสามารถต่อสัญญาได้สามครั้งภายในระยะเวลาสามปี นั้นหมายความว่าถ้าเกินสามปีไปแล้วถ้ายังทำงานกับที่เดิมจะได้รับสัญญาถาวรโดยอัตมัติ เพราะนายจ้างจะไม่มีสิทธิต่อสัญญาชั่วคราวไปเรื่อย ๆ การเปลี่ยนจากสัญญาชั่วคราวไปเป็นสัญญาถาวรสามารถทำได้หลายกรณี:
- เมื่อพนักงานมีสัญญาจ้างงานชั่วคราวติดต่อกัน 3 ฉบับ เช่น นายจ้างให้สัญญาชั่วคราวมาหนึ่งปีและต่อสัญญาออกไปอีกหนึ่งปี และอาจทำไปจนครบสามครั้ง พอครั้งที่สี่นายจ้างจะไม่ให้สามารถให้สัญญาชั่วคราวได้อีกแล้วแต่ต้องเปลี่ยนมาเป็นสัญญาถาวรแทน
- เมื่อพนักงานมีสัญญาจ้างงาน 3 ปีหรือนานกว่านั้น เช่น นายจ้างให้สัญญาชั่วคราวมาสามปี พอครบสามปีแล้วนายจ้างสามารถต่ออายุสัญญาได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น จากนั้นนายจ้างต้องให้สัญญาถาวร
- เมื่อพนักงานมีสัญญาจ้างงานที่สองหรือต่อมาคือ 3 ปีหรือนานกว่านั้น เช่น นายจ้างให้สัญญาชั่วคราวมาหนึ่งปีและต่อสัญญาที่สองออกไปสามปีหรือนานกว่านั้น ครั้งที่สามนายจ้างต้องให้สัญญาถาวร
การเปลี่ยนจากสัญญาชั่วคราวไปเป็นสัญญาถาวรตามกรณีข้างต้นเรียกว่าการจัดเรียงแบบลูกโซ่ (ภาษาดัตช์: Ketenregeling) ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับลูกโซ่ตามพระราชบัญญัติตลาดแรงงานในดุลยภาพ (WAB) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 ช่วยปกป้องพนักงานไม่ให้โดนเอาเปรียบจากนายจ้างและสร้างความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับสัญญาจ้างงานของทั้งสองฝ่าย
การจัดเรียงแบบลูกโซ่สามารถจำง่ายตามกฎ 3x3x6
- สามรายการแรกเป็นสัญญาชั่วคราว หลังจากนั้นสัญญาที่สี่จะกลายเป็นสัญญาถาวร
- สามอันที่สองหมายถึงสามปี เพราะหลังจาก 36 เดือน สัญญาจะได้รับการแก้ไขโดยอัตโนมัติ
- หกหมายถึงหกเดือนซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดโดยไม่มีการหักโซ่
การจัดเรียงแบบลูกโซ่ไม่สามารถใช้ได้กับพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งทำงานเฉลี่ยน้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ห่วงโซ่จะเริ่มต้นเมื่อพนักงานอายุ 18 ปีขึ้นไปนอกจากนี้การต่อสัญญาชั่วคราวไปเป็นสัญญาถาวรอาจนอกเหนือไปจากรณีข้างต้น หากลูกจ้างมีการทำข้อตกลงแรงงานร่วมกับนายจ้าง
การต่ออายุสัญญาจ้างงานมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ คุณสามารถศึกษาต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: Veranderingen toepassing ketenbepaling
มีหลายเว็บไซต์ที่จัดทำตัวอย่างสัญญาจ้างงาน ลิงก์ด้านล่างเป็นตัวอย่างสัญญาการจ้างงานประเภทต่าง ๆ ที่คุณสามารถดาวน์โหลดเพื่อศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติม
- ตัวอย่างสัญญาชั่วคราว (Werk)
- ตัวอย่างสัญญาถาวร (Penrose)
- ตัวอย่างสัญญาทำงานสำหรับ Horeca (KHN)
- ตัวอย่างสัญญาสำหรับงานก่อสร้าง (Bouwend Nederland)
- ตัวอย่างสัญญาศูนย์ชั่วโมง (Performa HR)
- ตัวอย่างสัญญาข้อตกลงต้นแบบสำหรับฟรีแลนซ์ (Hoofdkraan)
การบอกเลิกสัญญาจ้างนายจ้างอาจสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าสัญญาจ้างที่ให้มาเป็นแบบไหน เช่น สัญญาชั่วคราวสามารถเลิกจ้างในกรณีช่วงทดลองงาน ไม่ต่ออายุสัญญาหรือยกเลิกสัญญา เลิกจ้างก่อนกำหนด (ถ้ามีเงื่อนไขรวมอยู่ในสัญญาจ้างงาน) เลิกจ้างงานผ่านทางสำนักงานประกันสังคมพนักงานหรือศาลแขวง เลิกจ้างโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย หรือเลิกจ้างทันที
ส่วนสัญญาถาวรการเลิกจ้างคล้ายกับสัญญาชั่วคราว ทั้งสองกรณีมีเพียงผู้พิพากษาเท่านั้นที่สามารถให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงและต้องเป็นไปตามเหตุสมควรในการเลิกจ้าง หรืออีกประการหนึ่งก็คือลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกันไว้
เงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อน (Vakantiegeld)
พนักงานที่ทำงานในเนเธอร์แลนด์หรือได้รับเงินชดเชยมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนอย่างน้อย 8% ของรายได้รวมต่อปี ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติค่าจ้างขั้นต่ำและเบี้ยเลี้ยงขั้นต่ำ (WML) นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าจ้างวันหยุดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและมักทำในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน หรือตามที่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงแรงงานร่วมหรือสัญญาจ้างงาน
เงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนจะไม่ได้เฉพาะคนที่เป็นลูกจ้างถาวรเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงลูกจ้างชั่วคราว นายจ้างอาจจะจ่ายเงินส่วนนี้ทุกเดือนแทนที่จะจ่ายเป็นรายปี และถ้าหากคุณได้รับเงินสวัสดิการสังคมด้วยอาจจะได้รับเงินวันหยุดพักร้อน 5% จำนวนเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับเงินเดือนในหนึ่งปี รายได้พิเศษ เช่น โบนัสสิ้นปีจะไม่รวมอยู่ในเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อน ส่วนค่าล่วงเวลาอาจนับรวมได้ถ้ามีการระบุไว้ในข้อตกลงแรงงานร่วมหรือสัญญาจ้างงาน
นางสาวเอทำงานและมีเงินเดือน 2,000 ยูโรต่อเดือน นางสาวเอต้องได้รับเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อน 8% นางสาวเอจะได้รับเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนเท่าไร?
- จำนวนเดือนที่ทำงานใน 1 ปี x เงินเดือนต่อเดือน x €2,200 x เงินวันหยุด 8% (0.08)
- 12 x 2,000 x 0.08 = 1,920 ยูโร
อย่างไรก็ตามเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนรวมจำนวน 1,920 ยูโร ยังคงไม่ใช่เงินสุทธิที่นางสาวเอจะได้รับเพราะเอาไปหักภาษีก่อน ดังนั้นเงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนรวมที่คำนวณได้ต้องเอาไปบวกเงินเดือนรวมประจำปีเพื่อนำไปคำนวณภาษี (เงินเดือนรวมประจำปี + เงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนรวม) คือ (2,000 X 12) + 1,920 = 24,000 + 1,920 = 25,900 ยูโร
- เงินเดือนรวมจำนวน 25,900 ยูโร อยู่ในเรตภาษีเงินได้ 0-69,399 ยูโร ต้องจ่ายภาษีอยู่ที่ 37.07 เปอร์เซ็นต์
- 37.07% ของ 25,900 ยูโร = 9,601.13 ยูโร (800.09 ยูโร ต่อเดือน)
อย่างไรก็ตามจำนวนภาษีที่นางสาวเอต้องจ่าย 651.02 ยูโร ต่อเดือนนั้น ในความเป็นจริงอาจจ่ายน้อยกว่า เนื่องจากผู้เสียภาษีทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีทั่วไป (ภาษาดัตช์: algemene heffingskorting) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยจำนวนเงินขึ้นอยู่กับระดับรายได้ นางสาวเอได้รับเงินเดือน 25,900 ยูโร ต่อปี อยู่ที่ระดับเงินเดือนระหว่าง € 21,044 - € 68,507 จึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ € 2,837 - 5,977% x (รายได้จากที่ทำงานและที่บ้านของคุณ - € 21,043) (กดลิงก์เพื่อดูว่ารายได้จากที่ทำงานและที่บ้านมีอะไรบ้าง?)
- € 2,837 – 5.977% x (รายได้จากที่ทำงานและที่บ้านของคุณ- € 21,043)
- € 2,837 – 5.977% x (€ 25,900- € 21,043)
- € 2,837 – 5.977% x (€ 4,857)
- € 2,837 – 290.30 = 2,546.69 ยูโร
- นางสาวจึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ 2,546.69 ยูโร (212.22 ยูโรต่อเดือน)
เงินค่าจ้างวันหยุดพักร้อนสุทธิ:
- เงินเดือนก่อนหักภาษี - ภาษีเงินได้ - เครดิตภาษีแรงงาน
- 2,000 - 800.09 - 22 = 987.69 ยูโร
- ดังนั้นนางสาวเอจะได้รับเงินค่าจ้างวันวันหยุดพักร้อนสุทธิ 987.69 ยูโรเข้าบัญชี
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (Reiskostenvergoeding)
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเรียกอีกหนึ่งอย่างว่าเบี้ยเลี้ยงค่าเดินทาง เป็นเงินที่บริษัทส่วนใหญ่จ่ายให้กับพนักงานเพื่อเดินทางไปทำงานด้วยพาหนะส่วนตัว รถร่วมโดยสาร หรือระบบขนส่งสาธารณะ พนักงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงในส่วนนี้ตามข้อตกลงด้านแรงงานร่วม สัญญาการจ้างงานหรือตามโครงสร้างของบริษัท ซึ่งมีจำนวนเงินที่สูงสุด 0.23 ยูโรต่อกิโลเมตร (ตัวเลขปี 2024) ถ้าเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะคิดจากค่าเดินทางที่เกิดขึ้นจริง (ปกตินายจ้างมักจะจัดหาบัตรเดินทางให้เป็นรายปี)
เงินเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 0.23 ยูโรต่อกิโลเมตรไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สกู๊ตเตอร์หรือจักรยาน ถ้าเบี้ยเลี้ยงการเดินทางสูงกว่านี้จะนับเป็นค่าจ้างและต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนั้น หากเป็นการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ เรือหรือเครื่องบินสามารถขอคืนเงินได้ตามค่าใช้จ่ายจริงโดยไม่ต้องเสียภาษี
ค่าล่วงเวลา (Overuren uitbetalen)
ค่าล่วงเวลาปกติกฎหมายไม่ได้กำหนดการทำงานล่วงเวลา พนักงานควรตรวจสอบข้อตกลงแรงงานร่วมว่าได้ทำสัญญาข้อตกเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ถ้าใช่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างพิเศษรายชั่วโมงหรือค่าจ้างรายชั่วโมงปกติให้กับพนักงาน แต่ถ้าไม่ใช่นายจ้างอาจจะไม่จ่ายเงินในส่วนนั้น ในบางสถานการณ์พนักงานอาจจะต้องทำงานล่วงเวลาเป็นครั้งคราวตามสมควร
เงินสมทบประกันสังคม (Premies volksverzekeringen)
เงินสมทบประกันสังคมเป็นเงินที่บริษัทหักจากเงินเดือนของพนักงานทุกเดือนและนำจ่ายในนามพนักงานให้กับโครงการประกันระดับชาติทุกเดือนเพื่อนำไปสมทบประกันสังคมภาคบังคับ พนักงานมีสิทธิ์ได้รับเมื่อถึงเวลา เช่น ในกรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ว่างงานหรือบำเหน็จบำนาญ
ประกันสังคมในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- ประกันระดับชาติ (Volksverzekeringen) เช่น AOW, Anw, Wlz, AWBZ, AKW ดำเนินงานโดยธนาคารประกันสังคม (SVB)
- ประกันพนักงาน (Werknemersverzekeringen) เช่น Ziektewet-uitkering, WW, WIA ดำเนินงานโดยสำนักงานประกันสังคม (UVW)
เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพทั่วไป (AOW)
เป็นเงินบำนาญของรัฐบาลขั้นพื้นฐาน ทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์จะได้รับเงินบำนาญนี้ตั้งแต่อายุบำนาญของรัฐ (AOW-leeftijd) ในปี 2024 อายุบำนาญของรัฐจะอยู่ที่ 67 ปี หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อไปได้นั่นเป็นเพราะว่าโดยเฉลี่ยแล้วชาวดัตช์มีอายุมากขึ้น พนักงานที่เกษียณจะได้รับเงิน AOW โอนเข้าบัญชีทุกเดือนไปตลอดชีวิตจากธนาคารประกันสังคม (SVB)
สำหรับผู้ประกอบการอิสระหรือเคยเป็นอดีตพนักงานสามารถทำโครงการบำเหน็จบำนาญของนายจ้างเดิมต่อไปโดยสมัครใจในกรณีที่พวกเขาเสนอตัวเลือกนี้ เบี้ยประกันความต่อเนื่องโดยสมัครใจสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 10 ปีหลังจากการเลิกจ้าง
สำหรับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์มาตลอดชีวิต เช่น ย้ายมาอยู่ที่นี่ตามคู่ครองหรือพาร์ทเนอร์หรือทำงานในภายหลังยังสามารถได้รับเงิน AOW แต่ผลประโยชน์จะลดต่ำลง คุณจะได้เงิน AOW เต็มจำนวนหากอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ในช่วง 50 ปีก่อนที่การรับเงิน AOW จะเริ่มต้นขึ้น ทุกปีที่พลาดไปเงิน AOW จะลดลง 2% ซึ่งในแต่ละปีที่ขาดไปนั้นสามารถซื้อประกัน AOW ได้ตามความสมัครใจ (AOW-verzekeringsjaren) ที่เว็บไซต์ SVB ในส่วนนี้อาจมีเงื่อนไขบางประการ เช่น
- มาอาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรกในช่วง 50 ปีก่อนอายุบำนาญของรัฐและยังไม่ถึงอายุบำนาญของรัฐในขณะที่สมัคร
- ขอซื้อประกัน AOW ภายใน 10 ปีหลังจากที่มาอาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก
- มีประกันภาคบังคับในเนเธอร์แลนด์ ณ เวลาที่ซื้อเท่านั้น
- ประกันภาคบังคับต้องมีอายุอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาต่อเนื่องห้าปี สามารถนำระยะเวลาที่ตรงตามเงื่อนไขมารวมกันได้
- สามารถซื้อได้เฉพาะปีที่ไม่ได้ทำประกันการชราภาพตามกฎหมายในต่างประเทศเท่านั้น
เบี้ยประกัน AOW โดยสมัครใจจะคิดจากเปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมในหนึ่งปี คุณสามารถใช้เครื่องมือคำนวณเบี้ยประกัน AOW ขั้นต่ำ
ยกตัวอย่างเช่นเราลองคำนวณจากปีที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์และอายุของตนเองแล้ว จะพบเบี้ยประกัน AOW โดยสมัครใจอยู่สองแบบ คือ
- ถ้ายังไม่มีแผนเงินบำนาญ AOW และใช้ชีวิตหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์ เบี้ยประกัน AOW จะอยู่ที่ 1,055 ยูโรต่อเดือน (สำหรับคนโสด) และ 694.75 ต่อเดือน (หากแต่งงาน มีหุ้นส่วนที่จดทะเบียนหรืออยู่ด้วยกัน)
- ถ้ามีแผนเงินบำนาญ AOW แล้วและใช้ชีวิตหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์ เบี้ยประกัน AOW จะอยู่ที่ 1,334.94 ยูโรต่อเดือน (สำหรับคนโสด) และ 914.15 ต่อเดือน (หากแต่งงาน มีหุ้นส่วนที่จดทะเบียนหรืออยู่ด้วยกัน)
คุณสามารถสมัครทำประกัน AOW ภาคสมัครใจได้สูงสุด 10 ปีหลังจากวันที่คุณเป็นผู้ประกันตนในโครงการบำนาญ AOW เป็นครั้งแรก โดยมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ
- สมัครออนไลน์ผ่าน My SVB (ลงชื่อเข้าใช้ด้วยบัญชี DigiD)
- กรอกแบบฟอร์มออนไลน์ จากนั้นพิมพ์และส่งไปยังสำนักงานตามที่อยู่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม
- หรือใช้แบบฟอร์มกระดาษ สามารถดาวน์โหลดและพิมพ์แบบฟอร์มคำขอซื้อประกัน AOW ภาคสมัครใจ และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน จากนั้นส่งทางไปรษณีย์ไปยังสำนักงานตามที่อยู่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม
เงินบำนาญเสริม (Aanvullend pensioen)
เงินบำนาญเสริมรู้จักอีกชื่อหนึ่งว่าเงินสำรองเลี้ยงชีพ ทุกคนที่ทำงานในเนเธอร์แลนด์สามารถสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านนายจ้าง ซึ่งจะมีการหักเงินเดือนของคุณบางส่วนและนายจ้างสมทบให้อีกบางส่วนจากนั้นก็ส่งไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อเกษียณคุณสามารถรับผลประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงิน AOW ไปตลอดชีวิต สามารถศึกษาภาพรวมเงินบำนาญออนไลน์ได้ที่ Mijnpensioenoverzicht.nl
สลิปเงินเดือน (Loonstrook)
เมื่อพนักงานทำงานมีเงินเดือนจะได้รับเงินเดือนจากนายจ้างรวมไปถึงสลิปเงินเดือนที่ระบุรายละเอียดทั้งหมดในการจ่าย ปกตินายจ้างจะให้สลิปเงินเดือนเป็นแบบกระดาษ แต่ก็สามารถให้เป็นแบบดิจิทัลได้เช่นกัน ซึ่งพนักงานต้องยินยอมในส่วนนี้ และนายจ้างมีการจัดเตรียมระบบสลิปเงินเดือนดิจิทัลเพื่อให้พนักงานสามารถลงชื่อเข้าใช้งานไปดูด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา
รายละเอียดในสลิปเงินเดือนอาจจะแตกต่างกันออกไปตามบริษัท แต่เบื้องต้นควรมีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อพนักงาน ระยะเวลาในการจ่ายเงินและค่าจ้างรายชั่วโมง เงินเดือนขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงเงินเดือนก่อนหักภาษี (Brutoloon) เงินเดือนหลังหักภาษี (Nettoloon) ภาษีเงินเดือน (Loonheffing) เครดิตภาษีเงินเดือน (Loonheffingskorting) เปอร์เซ็นต์ที่ต้องเสียภาษีสำหรับรถยนต์ของบริษัท (Auto van de zaak %) มูลค่าภาษีรถยนต์ (Fiscale waarde) ชั่วโมงวันหยุดตามกฎหมายสะสม (Vakantie-uren Wettelijk) วันหยุดนอกเหนือจากวันหยุดตามกฎหมายสะสม (Vakantie-uren Bovenwettelijk) เปอร์เซ็นต์อัตราพิเศษ (BT) ค่าใช้จ่ายในการทำงานจากที่บ้าน (Thuiswerk Kostenvergoeding) ค่าเดินทาง เงินสงเคราะห์ ฯลฯ ท้ายสลิปเงินเดือนอาจจะยังระบุวันและเวลาในการชำระเงินเดือนจากธนาคารใด เข้าบัญชีหมายเลขใดและจำนวนเงินสุทธิ
นอกจากสลิปเงินเดือนแล้วพนักงานยังจะได้รับใบแจ้งยอดประจำปี (Jaaropgave) จากนายจ้างในช่วงต้นปีเพื่อนำไปใช้สำหรับการแสดงขอคืนภาษีออนไลน์ประจำปี การคำนวณภาษีมีความซับซ้อนมากเพราะต้องเอาไปบวกลบเงินลดหย่อนของพนักงานและสถานการณ์อื่น ๆ ท้ายที่สุดเราอาจจะได้เงินบางส่วนคืนมาหรือไม่ได้เลย รายละเอียดทั้งหมดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ Belastingdienst.nl
นางสาวเอ ทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 1,756.20 ยูโร เนื่องจากเธอทำงานเธอจึงมีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีของผู้มีงานทำนอกเหนือจากเครดิตภาษีทั่วไป เธอจ่ายภาษีทั้งหมดต่อปี:
- รายได้ของนาวสาวเอ 1,756.20 ยูโร ต่อเดือน รวมเป็นรายได้ต่อปีทั้งหมด 21,074.4 ยูโร
- ในประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 0 - 69,399 ยูโร ต้องจ่ายภาษีอยู่ที่ 37.07 เปอร์เซ็นต์
- 37.07% ของ 21,074.4 ยูโร = 7,812.28 ยูโร
- นางสาวเอต้องจ่ายภาษีเงินได้ 7,812.28 ยูโร ต่อปี ประมาณ 651.02 ยูโร ต่อเดือน
อย่างไรก็ตามจำนวนภาษีที่นางสาวเอต้องจ่าย 651.02 ยูโร ต่อเดือนนั้น ในความเป็นจริงอาจจ่ายน้อยกว่า เนื่องจากผู้เสียภาษีทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีทั่วไป (ในภาษาดัตช์: algemene heffingskorting) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยจำนวนเงินขึ้นอยู่กับระดับรายได้ นางสาวเอได้รับเงินเดือน 21,074.4 ยูโร ต่อปี อยู่ที่ระดับเงินเดือนระหว่าง 0-21,317 ยูโร จึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ 2,888 ยูโร
นอกเหนือไปกว่านั้นคนทำงานทุกคนในเนเธอร์แลนด์มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีแรงงาน (ภาษาดัตช์ arbeidskorting หรือ loonheffingskorting) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนจากภาษีเงินเดือนได้ (แต่ไม่สามารถขอเงินคืนได้) มูลค่าของเครดิตภาษีแรงงานขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้รับ นางสาวเอได้เงินเดือน 21,074.4 ยูโร ต่อปี อยู่ที่ระดับเงินเดือนระหว่าง 10,351-22,357 ยูโร จึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ €470 + 28.461% x (รายได้ - €10,350) (สำหรับคนที่ยังไม่ถึงอายุบำนาญของรัฐในปี 2565)
- เครดิตภาษีทำงาน = €470 + 28.461% x (รายได้- €10,350)
- €470 + 28.461% x (€21,074.4- €10,350)
- €470 + 28.461% x (€10,724.4)
- €470 + €3,052.27
- €3,522.27
- นางสาวเอได้รับเครดิตภาษีทำงาน 3,522.27 ยูโร
- ภาษีที่นางสาวเอต้องจ่าย = (ภาษีเงินเดือน ลบ เครดิตภาษีทั่วไป ลบ เครดิตภาษีทำงาน)
- 7,812.28 ลบ 2,888 ลบ 3,522.27 = 1,402.01 ยูโร (116.83 ยูโร ต่อเดือน)
- นางสาวเอต้องจ่ายภาษีทั้งหมดรวม 116.83 ยูโร ต่อเดือน
- ดังนั้นเงินเดือน 1,756.20 ยูโร ถูกหักภาษีไปแล้ว 116.83 ยูโร เหลือเงินอยู่ 1,639.37 ยูโร
ประกันสุขภาพในเนเธอร์แลนด์
ทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์มีหน้าที่ตามกฎหมายในการทำประกันสุขภาพมาตรฐานเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เช่น การปรึกษาแพทย์ทั่วไป การรักษาในโรงพยาบาลและยาตามใบสั่งแพทย์ เราสามารถเลือกทำประกันเสริมได้ตามความสมัครใจเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมอยู่ในแพ็คเกจมาตรฐาน
การสมัครประกันสุขภาพต้องทำภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ ราคาเบี้ยประกันสุขภาพพื้นฐานรายเดือนอยู่ที่ 100-150 ยูโร สามารถเลือกค่าความเสี่ยงที่ต้องรับเอง (eigen risico) ตามแพ็คเกจมาตรฐานได้ตั้งแต่ 385-885 ยูโร และสามารถเปลี่ยนประกันสุขภาพได้ทุกปีระหว่างวันที่ 12 พ.ย. ถึง 31 ธ.ค. ที่สำคัญอย่าลืมเปรียบเทียบแพ็คเกจประกันสุขภาพและตัวเลือกต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนเพื่อผลประโยชน์ที่คุ้มค่าของผู้ถือกรมธรรม์
ถ้าไม่สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือนจะได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากสถาบันดูแลสุขภาพแห่งชาติดัตช์ (CAK) ให้สมัครประกันสุขภาพภายใน 3 เดือน ถ้าไม่ได้ทำประกันสุขภาพภายในช่วงเวลาดังกล่าว CAK จะออกค่าปรับที่สูงถึง 496.74 ยูโร (ตัวเลขปี 2024) และถ้ายังไม่สมัครประกันสุขภาพท้ายที่สุดจะถูกหักเบี้ยประกันรายเดือนจากเงินเดือน เพราะฉะนั้นการมีประกันสุขภาพในต่างแดนดีกว่าการต้องทนรับความเสี่ยงที่จะตามมา ช่วยให้อุ่นใจในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูง
สวัสดิการและเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์
สวัสดิการและเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์ มักรู้จักกันในภาษาดัตช์ว่า ‘Toeslagen’ เป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่มอบให้กับพลเมืองและผู้อยู่อาศัยในเนเธอร์แลนด์ โดยมีกรมสรรพากร (Belastingdienst) เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่าย ผู้ที่จะรับเงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์ได้ต้องมีข้อกำหนดที่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ เช่น อายุ รายได้รวม ทรัพย์สินที่มี รวมถึงสถานการณ์อื่น ๆ เงินสงเคราะห์ในเนเธอร์แลนด์แบ่งออกเป็นประเภท เช่น
- เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าประกันสุขภาพ (Zorgtoeslag)
- เงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน (Huurtoeslag)
- เงินสงเคราะห์บุตร (Kinderbijslag)
- เงินสงเคราะห์บุตรสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Kindgebonden budget)
- เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร (Kinderopvangtoeslag)
นอกจากเงินสงเคราะห์แล้วยังมีสวัสดิการอีกหนึ่งอย่างที่เรียกว่าเงินชดเชย (ภาษาดัตช์: Uitkering) เป็นเงินผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามกฎหมายแรงงานในกรณีต่าง ๆ ที่ส่งผลเกี่ยวกับการทำงาน การเจ็บป่วยทำให้ขาดรายได้ รวมไปถึงการตั้งครรภ์และลาคลอด เงินชดเชยจะไม่ได้เฉพาะพนักงานที่มีนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงพนักงานที่ต้องกลายมาเป็นผู้ว่างงานโดยไม่มีนายจ้าง และผู้ประกอบการอิสระอีกด้วย แบ่งออกเป็นหลายแบบ คือ
- เงินชดเชยการว่างงาน (WW-uitkering)
- เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติสวัสดิการเจ็บป่วย (Ziektewet-uitkering)
- เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยเกิน 2 ปี (WIA- uitkering)
- เงินชดเชยการตั้งครรภ์และการลาคลอด (Zwangerschapsuitkering)
- เงินสวัสดิการสังคม (Bijstandsuitkering)
เงินเหล่านี้มาจากจ่ายภาษีตามกฎหมายของพลเมืองที่อาศัยและทำงานในเนเธอร์แลนด์และนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือให้พลเมืองตามสมควรที่จะได้รับ คนทำงานได้เงินเยอะจ่ายภาษีเยอะ คนทำงานได้เงินน้อยจ่ายภาษีน้อย คนมีรายได้น้อยได้รับสวัสดิการสนับสนุน ‘เราดูและกันและกัน รัฐบาลช่วยเหลือเมื่อจำเป็น’ สิ่งนี้ทำให้ไม่เกิดความเลื่อมล้ำในสังคม
สิทธิลาเพื่อคลอดบุตร (Zwangerschapsverlof)
ตามพระราชบัญญัติการทำงานและการดูแล (WAZO) พนักงานที่ตั้งครรภ์มีสิทธิได้รับวันลาคลอดบุตรและลาคลอดบุตรอย่างน้อย 16 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นการลาคลอดเริ่มต้น 4–6 สัปดาห์ก่อนวันครบกำหนดคลอด และหลังคลอดบุตรอย่างน้อย 10 สัปดาห์ ส่วนในกรณีที่ท้องลูกแฝดมีสิทธิได้รับวันลาคลอดบุตรและลาคลอดบุตรอย่างน้อย 20 สัปดาห์ แบ่งออกเป็นการลาคลอดเริ่มต้น 10-8 สัปดาห์ก่อนวันครบกำหนดคลอด และหลังคลอดบุตรอย่างน้อย 10 สัปดาห์
หากคุณกำลังตั้งครรภ์ คุณมีสิทธิ์ที่จะลาคลอดและลาเพื่อคลอดบุตรในสถานการณ์เหล่านี้:
- คุณเป็นลูกจ้างของนายจ้าง
- คุณทำงานเป็นพนักงานชั่วคราว
- คุณทำงานเป็นอาชีพอิสระ
- คุณมีผลประโยชน์การว่างงาน ผลประโยชน์ ZW หรือผลประโยชน์ WGA ที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง
การขอลาคลอดบุตรควรทำอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มการลาจริงเพื่อความพร้อม มีหลักฐานที่ต้องเตรียม เช่น คำแถลงการตั้งครรภ์จากแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ที่มีวันครบกำหนดการคลอดพร้อมกับใบสมัครสำหรับยื่นให้นายจ้างนำไปขอเงินชดเชยการตั้งครรภ์และการลาคลอดให้กับคุณ ส่วนคนที่เป็นผู้ประกอบการอิสระหรือรับเงินชดเชยอื่น ๆ สามารถยื่นขอเงินชดเชยการคลอดบุตรได้ที่ UWV โดยตรง
เมื่อคุณตั้งครรภ์และต้องลาคลอดคู่ครองของคุณก็มีบทบาทความเป็นพ่อที่สำคัญไม่แพ้กัน คู่ของคุณมีสิทธิลาฉุกเฉิน (Calamiteitenverlof) ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงหรือ 2-3 วันเพื่อเข้าร่วมการคลอดบุตรของคุณ หลังคลอดคู่ของคุณสามารถลาคลอด (Geboorteverlof) ได้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์และยังคงได้รับค่าจ้างตามที่ลา รวมไปถึงการลาคลอดเพิ่มเติม (Aanvullend geboorteverlof) สำหรับภรรยาที่คลอดบุตรหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ได้เป็นเวลา 5 สัปดาห์ (ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด) ในส่วนนี้คุณจะได้รับจ้าง 70% ของค่าจ้างรายวัน
เมื่อคุณมีลูกแน่นอนว่าคุณอยากใช้เวลาไปกับลูกให้มากที่สุด คุณสามารถขอรับสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ในช่วง 8 ปีแรก ซึ่งการลาในส่วนนี้จะไม่ได้รับค่าจ้าง คุณอาจได้รับสิทธิลาเพื่อดูแล (Zorgverlof) ลูกที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องได้รับการดูแล ซึ่งแบ่งออกเป็นการลาเพื่อดูแลระยะสั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ต่อปี ในส่วนนี้คุณยังจะได้รับค่าจ้าง 70% ส่วนการลาเพื่อดูแลระยะยาวไม่เกิน 6 สัปดาห์ต่อปี ซึ่งคุณจะไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนนี้ การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรคุณจะได้รับสิทธิสูงสุด 26 เท่าของชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์
เงื่อนไขการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร
เงื่อนไขหลักสำหรับการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรคือ:
- คุณเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของบุตรโดยแท้จริง บุตรบุญธรรม เด็กที่ถูกอุปถัมภ์ หรือลูกเลี้ยง
- เด็กมีอายุไม่เกิน 8 ปี
- หากคุณเป็นผู้ดูแลเด็กจะต้องลงทะเบียนตามที่อยู่ของคุณ
คุณสามารถขอลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรจากนายจ้างได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน โดยที่ไม่เกี่ยวว่าจะทำงานให้กับนายจ้างมานานแค่ไหน หรือมีสัญญาชั่วคราวหรือสัญญาถาวร ในบางครั้งต้องใช้แบบฟอร์มการสมัครลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรจากนายจ้าง หรือแจ้งให้นายจ้างทราบทางจดหมายหรืออีเมล์ การยื่นลาเพื่อดูแลนายจ้างอาจปฏิเสธการลาได้ก็ต่อเมื่อบริษัทประสบปัญหาร้ายแรงเนื่องจากการลาของคุณ
หากนายจ้างปฏิเสธการลา (อาจมีน้อยมาก) คุณควรปรึกษากับนายจ้างถึงความเป็นไปได้ในการลาเพื่อดุแลบุตร เช่น เพื่อนร่วมงานอาจทำงานแทนคุณได้ในช่วงวันดังกล่าว แต่ถ้าหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับนายจ้างได้ คุณอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ไกล่เกลี่ยอิสระ หรือถ้ายังไม่เป็นผลคุณอาจต้องไปร้องศาลเพื่อขอความช่วยเหลือ คุณสามารถขอความช่วยเหลือกับทนายหรือประกันค่าใช้จ่ายทางกฎหมายหรือสหภาพการค้า
การลาพิเศษแบบอื่น Bijzonder (Buitengewoon)
นอกเหนือจากการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแล้วยังมีการลาพิเศษแบบอื่น Bijzonder (Buitengewoon) ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงด้านแรงงานร่วม สัญญาการจ้างงาน หรือข้อบังคับของบริษัทที่ระบุไว้ว่าเมื่อใดคุณจะได้รับวันลาพิเศษนี้ เมื่อตกลงลาแบบนี้แล้วใช้เวลานานแค่ไหน? จะได้รับค่าจ้างหรือไม่ได้รับค่าจ้าง? ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายบุคคลจะแจ้งให้ทราบ เช่น การแต่งงานของคุณหรือของสมาชิกในครอบครัว วันครบรอบของคุณ การย้ายบ้าน การสอบ ไปพบแพทย์ (ต้องมีเงื่อนไข เช่น ไปพบแพทย์นอกเวลาทำการไม่ได้) กิจกรรมของสหภาพแรงงาน ลาไปสมัครสมัครหรือสัมภาษณ์งาน (ไม่ได้รับค่าจ้าง) และงานศพ เป็นต้น
ทำงานอาสาสมัคร (Vrijwilliger)
เป็นงานสำหรับคนที่มีจิตใจอาสาและอยากช่วยเหลือสังคมหรือพัฒนาทักษะโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน งานอาสาบางงานอาจจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำถ้าระบุไว้มีการจ่ายค่าตอบแทน แต่ส่วนมากจะไม่ได้รับค่าจ้าง บางคนก็ทำงานอาสาสมัครเพื่อเสริมประวัติการทำงานในเรซูเม่ให้ครบรอบด้าน หรือทำงานอาสาสมัครในช่วงที่ว่างงานหรือกำลังหางานใหม่
คุณสามารถค้นหางานอาสาสมัครได้ที่สำนักงานเขตเทศบาล สำนักงานประกันสังคม ค้นหาในกูเกิ้ลด้วยการคำว่า Vrijwilliger ตามด้วยประเภทงานที่สนใจและชื่อเมืองที่คุณอาศัยอยู่ หรือในเว็บไซต์ Access-nl.org ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่บริหารงานโดยอาสาสมัคร
ระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของพนักงาน (GDRP)
ที่เนเธอร์แลนด์เมื่อสมัครงานแล้วไม่ได้งานนั้น ๆ บริษัทจะเก็บข้อมูลของผู้สมัครไว้ประมาณ 4 สัปดาห์และทำลายข้อมูล ถ้าผู้สมัครได้งานทำและลาออกจากงานบริษัทจะเก็บข้อมูลลูกจ้างไว้ 2 ปีหลังเลิกจ้าง ในบางครั้งอาจมีการเก็บข้อมูลของลูกจ้างไว้มากถึง 5 ปี เช่น ใบกำกับภาษีเงินเดือนหรือสำเนาบัตรประชาชน และอาจจะมากถึง 7 ปีสำหรับข้อมูลพื้นฐาน รวมไปถึงการบริหารเงินเดือน ข้อมูลส่วนตัว อดีตพนักงาน วันที่ของการจ้างงาน สัญญาจ้างงาน (หากมีสัญญาจ้างงาน) และสภาพการทำงาน เป็นต้น
สรุปการทำงานและอัตราภาษีเงินได้ในเนเธอร์แลนด์ เป็นเรื่องที่พนักงานควรศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อความพร้อมสำหรับการเริ่มต้นเป็นพนักงานทำงานในเนเธอร์แลนด์ และวางแผนการเกษียณระยะยาวในเนเธอร์แลนด์อย่างครอบคลุม
ลิงก์ภายนอก: Belastingdienst, UWV, SVB, CNV, Loket, Juridisch Loket และ Consumentenbond