ระดับการสอบภาษาดัตช์ ในเนเธอร์แลนด์ ถูกแบ่งออกเป็นหลายระดับเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นการขอวีซ่า MVV ที่ต้องมีผลสอบภาษาดัตช์ประกอบ การสอบเพื่อให้เสร็จสิ้นกระบวนการบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงการสอบภาษาดัตช์ในระดับสูงเพื่อนำใบประกาศทางการไปใช้สำหรับการสมัครเรียน การทำงาน รวมถึงการยื่นขอใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยถาวรและแปลงสัญชาติเพื่อกลายเป็นพลเมืองดัตช์ในอนาคต บทความนี้จะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับระดับการสอบภาษาดัตช์ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าต้องสอบแบบไหน วิชาไหนไม่ต้องสอบบ้าง ช่วยให้มีพร้อมสำหรับการสอบมากที่สุด
ระดับการสอบภาษาดัตช์ มีทั้งหมดกี่แบบ
ระดับการสอบภาษาดัตช์ ในเนเธอร์แลนด์ แบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ
- การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน (A0-A1)
- การสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ (A2-B1)
- การสอบภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง Nt2 (B1-B2)
การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน (Basic Civic Integration Examination Abroad)
ผู้ที่กำลังวางแผนย้ายมาอยู่กับคู่ครองที่เนเธอร์แลนด์มากกว่า 90 วัน รวมถึงคู่ครองที่ไม่ได้เป็นชาวดัตช์แต่อาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องมีผลการสอบภาษาดัตช์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อการสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้ประกอบการสมัครวีซ่าระยะยาว (MVV) จากนั้นเมื่อย้ายมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าตัวนี้แล้วต้องไปรับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยอย่างเป็นทางการและย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านในเนเธอร์แลนด์กับเทศบาล การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐานเป็นกฎที่มีผลบังคับใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 18-65 ปี ถ้าไม่แน่ใจว่าต้องสอบข้อสอบตัวนี้ไหมหรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและข้อกำหนดในการสมัครได้ที่เว็บไซต์ทางการของ IND
การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐานออกแบบมาเพื่อวัดระดับความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารภาษาดัตช์เบื้องต้นที่ระดับ A0-A1 แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- ทักษะการพูด (Speaking proficiency)
- ทักษะการอ่าน (Reading proficiency)
- และความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNS)
ทั้งสามพาร์ทเป็นการทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ สามารถลงทะเบียนสอบได้ที่เว็บไซต์ DUO จากนั้นติดต่อไปยังสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในไทยเพื่อนัดหมายวันสอบ ในวันสอบจริงอย่าลืมนำหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุและรูปถ่ายพื้นหลังสีขาวไปด้วย
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ข้อสอบวัดระดับความสามารถในการอ่านจะต่างไปจากเดิม โดยเหลือเพียงการอ่านเนื้อเรื่องและตอบคำถาม จำนวน 19 ข้อ และให้เวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที กดเพื่อดูตัวอย่างข้อสอบอ่าน A1 แบบใหม่
การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐานมีค่าใช้จ่าย
- Speaking proficiency (ทักษะการฟัง) 50 ยูโร
- Reading proficiency (ทักษะการอ่าน) 50 ยูโร
- KNS 50 ยูโร
- รวม 150 ยูโร
ผู้เข้าสอบจะต้องได้คะแนน 6 หรือมากกว่า (จากคะแนนเต็ม 10) ทั้งสามพาร์ทถึงจะสอบผ่าน ถ้าสอบไม่พาร์ทสามารถลงทะเบียนสอบใหม่ได้ เมื่อสอบผ่านจะได้รับใบผลคะแนนทางอีเมล์ภายในแปดสัปดาห์หลังสอบ (จากประสบการณ์ตรงประมาณสองอาทิตย์ก็ได้รับผลสอบ)
- ไปที่เว็บไซต์ Naar Nederland
- จากนั้นเลือก Apply for exam
- เลือก Application form Integration Abroad จากนั้นเลือก Continue
- เลือกสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในไทยสำหรับการสอบ
- กรอกข้อมูลส่วนบุคคลให้เรียบร้อย
- กดจ่ายเงิน สามารถจ่ายผ่าน iDEAL บัญชีธนาคารในเนเธอร์แลนด์
- เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยระบบจะส่งข้อมูลการสมัครพร้อมหมายเลขผู้สมัครไปยังอีเมล์ของเรา
- เมื่อได้รับอีเมล์จาก DUO แล้วให้นัดหมายสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในไทยเพื่อเลือกวันสอบ
คุณสามารถฝึกฝนด้วยตัวเองเพื่อสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน หรือจะเรียนตามโรงเรียนสอนภาษาดัตช์ก็ได้ ในเว็บไซต์ Naar Nederland จะมีคำอธิบายการสอบและตัวอย่างข้อสอบทั้ง 3 พาร์ทอย่างละเอียด รวมไปถึงสื่อการเรียนการสอน (ฉบับภาษาไทย) ให้โหลดมาฝึกทำฟรี นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่เหมาะสำหรับการเตรียมตัวเพื่อสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน เช่น Naar Nerderland (ฉบับภาษาไทย) หรือ Inburgering A1 (Ad Appel) รวมถึงฝึกทำแบบฝึกหัดออนไลน์เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนไปสอบได้ตามลิงก์ด้านล่าง
ทักษะการพูด
- ดาวน์โหลดแนวข้อสอบประโยคคำถามภาษาดัตช์ จำนวน 432 ข้อ
- วิดีโอแนวข้อสอบทักษะประโยคคำถามและคำตอบ
- วิดีโอแนวคำตอบประโยคภาษาดัตช์ 1
- วิดีโอแนวคำตอบประโยคภาษาดัตช์ 2
ทักษะการอ่าน
ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNS)
ระยะเวลาในการเตรียมตัวเพื่อสอบภาษาดัตช์ A1 (MVV) ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าไม่มีพื้นฐานมาก่อนอาจจะเรียนและฝึกฝนจนแน่ใจว่ามีความพร้อมเต็มที่ประมาณ 2-3 เดือนแล้วค่อยไปสอบ สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานแล้วอาจจะใช้เวลาฝึกน้อยกว่านี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความขยันและความตั้งใจที่อยากจะสอบผ่าน ข้อสอบทั้ง 3 ส่วนสามารถสอบได้ทั้งหมดในวันเดียว สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาอาจจะเลือกสอบทีละพาร์ทก่อนก็ได้
เดินทางไปสอบที่สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ 15 ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 เดินทางด้วย BTS ไปลงที่สถานีชิดลม (ทางออกที่ 4) จากนั้นเดินไปยังซอยต้นสน (ติดกับอาคารธนาคารกรุงศรีฯ) และเดินเข้าไปในซอยต้นสนประมาณ 5 นาที สถานทูตอยู่ทางซ้ายมือ หรือจะนั่งวินมอเตอร์ไซต์เข้าไปก็ได้
ผลสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐานมีอายุ 1 ปี สามารถนำไปใช้ประกอบการขอวีซ่าระยะยาว MVV ภายใน 1 ปี หากเกินหนึ่งปีต้องทำการสมัครและสอบใหม่
การสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ (Civic Integration Examination)
การสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์เป็นภาระผูกพันธ์สำหรับผู้ที่ย้ายมาอาศัยอยู่กับคู่ครองที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าระยะยาว (MVV) ที่ต้องสอบให้ผ่านภายใน 3 ปี มิเช่นนั้นอาจต้องจ่ายค่าปรับและมีผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาตผู้พำนักอาศัย รวมไปถึงการขอสัญชาติเนเธอร์แลนด์ในอนาคต ซึ่งการสอบนี้จะมีข้อสอบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปีที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ รายละเอียดจะแบ่งออกตามตารางด้านล่างเพื่อให้เห็นภาพกันชัดเจน
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่าคนที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 จะต้องสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ตามแผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) ที่ต้องจัดทำร่วมกับเทศบาล การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเลยก็คือระดับภาดัตช์ที่เพิ่มจาก A2 เป็น B1 ซึ่งเราจะมาขยายความกันในหัวข้อถัดไปเกี่ยวกับการสอบภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง (Nt2) ส่วนคนที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2022 จะต้องสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ในระดับ A2 ดังรายละเอียด
การสอบพลบูรณาเมืองเนเธอร์แลนด์ระดับ A2
การสอบพลบูรณาเมืองเนเธอร์แลนด์ระดับ A2 ในที่นี่ขอเรียกว่า การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 เพื่อให้เข้าใจตรงกัน แบ่งออกเป็น 7 ส่วนด้วยกัน คือ
- ทักษะการอ่าน (Reading)
- ทักษะการฟัง (Listening)
- ทักษะการพูด (Speaking)
- ทักษะการเขียน (Writing)
- ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNM)
- การเข้าร่วมอบรมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์
- ปฐมนิเทศเกี่ยวกับตลาดแรงงานของเนเธอร์แลนด์ (ONA)
เป็นการทำข้อสอบอ่านในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องอ่านข้อความและตอบคำถามแบบปรนัยเกี่ยวกับเนื้อหาในอีเมล์ จดหมาย ข่าวประกาศ โฆษณา ฯลฯ มีทั้งหมด 25 ข้อ ใช้เวลา 65 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 19 ข้อจึงจะผ่าน ซึ่งเนื้อหาในข้อความเหล่านั้นอยู่ในระดับการอ่าน A2 มีทั้งข้อที่ง่ายและยากสลับกันไป
ถ้าไม่สามารถตอบคำถามได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่านสามารถกดไปทำข้อสอบข้อต่อไปและกลับมาอ่านเรื่องราวข้อที่ไม่เข้าใจซ้ำจนกว่าจะเข้าใจหรือตอบคำถามได้ ทั้งนี้ผู้ทำข้อสอบควรบริหารเวลาในการทำข้อสอบให้เพียงพอ และตรวจทานคำตอบให้แน่ใจก่อนที่จะกดส่งคำตอบก่อนหมดเวลา
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์อ่าน
เป็นการทำข้อสอบฟังในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะตอบคำถามแบบปรนัยเกี่ยวกับภาพยนตร์สั้น บทสัมภาษณ์ ข่าวทางโทรทัศน์ การประกาศ มีทั้งหมด 25 ข้อ ใช้เวลา 45 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 18 ข้อจึงจะผ่าน ซึ่งแต่ละข้อมีเรื่องราวให้ฟังความยาวประมาณ 20-30 วินาที และต้องตอบคำถาม 2-3 ข้อต่อหนึ่งเรื่องราว คนพูดพูดชัดและพูดไม่เร็วอยู่ในระดับการฟัง A2
ถ้าฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจในรอบแรกก็สามารถกดฟังซ้ำจนกว่าจะเข้าใจหรือตอบคำถามได้ ทั้งนี้ควรบริหารเวลาในการทำข้อสอบให้เพียงพอ และตรวจทานคำตอบให้แน่ใจก่อนที่จะกดส่งคำตอบก่อนหมดเวลา
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทฟัง
เป็นการทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องฟังคำถามและบนสนทนาสั้น ๆ และตอบคำถามทั้งหมด 24 ข้อ มีเวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที
ซึ่งข้อสอบแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ
- ตอบคำถาม 1-2 ประโยคจำนวน 10 ข้อ
- ตอบคำถามจากรูปภาพที่กำหนดให้ (1-3 รูป) จำนวน 2 ข้อ
- และตอบคำถามจากบทสนทนาสั้นจำนวน 12 ข้อ (มีตัวเลือก A, B และ C)
ในส่วนแรกต้องตอบคำถามให้ถูกระหว่าง 82-84 คะแนน (จาก 144 คะแนน) และในส่วนที่สอบต้องตอบคำถามให้ถูก 9 ข้อ (จาก 12 ข้อ) หากคะแนนผ่านทั้งสองส่วนก็ผ่านการสอบพูด
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทพูด
เป็นการสอบด้วยปากกาและกระดาษ มีทั้งหมด 4 หัวข้อ เกี่ยวข้องกับการเขียนจดหมายสั้นและกรอกแบบฟอร์ม การสอบใช้เวลา 40 นาที
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทเขียน
- PDF Oefenexamen schrijven 1-3 (Inburgeren)
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 1
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 2
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 3
- Schrijfvaardigheid A2 1-5 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 1 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 2 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 3 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 4 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 5 (Adappel)
การสอบ KNM หรือ Kennis Nederlandse Maatschappij เป็นการทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องฟังและตอบคำถามแบบปรนัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการหางาน การเช่าบ้าน การศึกษา ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การเมืองและประวัติศาสตร์ ฯลฯ มีทั้งหมด 40 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 45 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 26 ข้อจึงจะผ่าน
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ท KNM
การสอบ ONA หรือ Oriëntatie op de Nederlandse Arbeidsmarkt เป็นการเตรียมสอบเข้าสู่ตลาดแรงงานดัตช์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ที่ผู้สมัครต้องกรอกข้อมูลในการ์ดผลลัพธ์ให้ครบทั้ง 8 ส่วน และรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานในเนเธอร์แลนด์ประกอบกันเป็นแฟ้มสะสมผลงาน รวมไปถึงการเทียบวุฒิการศึกษาดัตช์เพื่อนำมาประกอบการสอบวิชา ONA เพื่อสมัครให้ทาง DUO พิจารณา ถ้าแฟ้มสะสมผลงานก็เลือกได้ว่าจะเข้าสอบสัมภาษณ์ไฟนอล หรือเรียนหลักสูตร ONA 64 ชั่วโมง คนที่เลือกสัมภาษณ์รอผลสอบประมาณ 6 สัปดาห์ ส่วนคนที่เลือกเรียนหลักสูตรไม่ต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ไฟนอล แต่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนเพิ่มเติม
เอกสารที่ใช้ในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน
เตรียมเอกสารดังรายการ บันทึกไฟล์เอกสารทั้งหมดเป็นแบบ PDF เพื่อนำไปอัพโหลดในเว็บไซต์ inburgeren
- การ์ดผลลัพธ์ทั้ง 8 ส่วนที่กรอกข้อมูลครบถ้วน จำนวน 15 หน้า
- เรซูเม่ภาษาดัตช์ 1 ฉบับ
- ใบเทียบวุฒิการศึกษาดัตช์ 1 ฉบับ
- จดหมายสมัครงานภาษาดัตช์ 1 ฉบับ
- งานที่ต้องการสมัคร 2 งาน 2-3 ฉบับ
- แบบฟอร์มสมัครงาน 2 งาน 2-3 ฉบับ (หากงานที่ต้องการสมัครไม่มีแบบฟอร์มสมัครงานให้กรอก)
การสมัคร Orientation on the Dutch Labor Market
- ลงชื่อเข้าใช้งานใน Mijn Inburgering
- เลือก Oriëntatie op de Nederlandse Arbeidsmarkt
- ส่งข้อมูลการ์ดผลลัพธ์ (Resultaatkaarten)
- จ่ายเงินค่าสมัครผ่านระบบ iDeal
- จากนั้นเลือกว่าจะร่วมหลักสูตรอบรม ONA 64 ชั่วโมง หรือการสัมภาษณ์รอบสุดท้าย
ในบางกรณีสามารถยื่นยกเว้นไม่ต้องสอบ ONA ถ้าเป็นพนักงานเงินเดือนที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และทำงานอย่างน้อย 48 ชั่วโมงต่อเดือน เช่นเดียวกับผู้ที่เริ่มต้นบูรณาการพลเมืองก่อนวันที่ 1 มกราคม 2015 ผู้ที่ต้องสอบบูรณาการพลเมืองภายใต้กฎ Inburgering Act 2021 หรือมีใบประกาศนียบัตร MBO ระดับ 1 รวมถึงได้รับการยกเว้นเนื่องจากทำงานในเนเธอร์แลนด์
สามารถเตรียมตัวเพื่อสอบ ONA ได้ตามลิงก์เอกสารด้านล่าง
การเข้าร่วมการอบรม Participation statement มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ได้เร็วที่สุด และต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี นับระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เราย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน (สามารถดูระยะเวลาเริ่มต้นของการอบรมนี้ได้ที่เว็บไซต์ inburgeren เลือกหัวข้อ Exam และกดคำว่า Participation statement)
วิธีการเข้าร่วมอบรมจะต้องติดต่อกับทางเทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่เพื่อลงทะเบียน หากทางเทศบาลไม่ได้เป็นผู้อบรมโดยตรงก็จะประสานงานไปทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอบรมให้ ทั้งนี้อาจต้องรอจดหมายแจ้งเข้าร่วมการอบรมประมาณ 1-2 เดือน หากไม่มีจดหมายมาแนะนำให้รีบโทรไปสอบถามทางเทศบาลเกี่ยวกับรายละเอียดที่แน่ชัด (บางครั้งก็ต้องติดต่อกระตือรือร้นด้วยตัวเอง)
การอบรมโดยปกติจะจัดขึ้นตามสถานที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบประมาณ 1-2 วัน ภาษาที่ใช้ในการอบรมคือภาษาดัตช์และภาษาอังกฤษ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 150 ยูโร
การอบรม Participation statement เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ
- ทุกคนในเนเธอร์แลนด์เท่าเทียมกัน
- ทุกคนอาจเลือกคู่ของตัวเอง
- ทุกคนอาจเลือกศาสนาของตนเอง
- ทุกคนได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน
- ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่พวกเขาคิดแต่ไม่อนุญาตให้เลือกปฏิบัติกับบุคคลอื่น
- เราดูแลตัวเองแต่เรายังดูแลซึ่งกันและกัน รัฐบาลช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
เมื่อเราได้เข้าร่วมอบรมและเรียนรู้เกี่ยวกับส่วนสำคัญต่าง ๆ ดังหัวข้อข้างต้นแล้ว เราจะต้องลงนามลายมือชื่อในกระดาษที่เรียกว่า the participation statement จากนั้นเทศบาลจะแจ้งข้อมูลไปยัง DUO ประมาณ 3 อาทิตย์หลังจากนั้นใบที่เราลงนามไปจะแสดงใน Mijn Inburgering
หากไม่ลงนามในคำชี้แจงการมีส่วนร่วมให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีอาจจะต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 340 ยูโร หรือไม่สามารถกู้เงินทางการศึกษาจาก DUO ได้ ดังนั้นการเข้าร่วมอบรมนี้จึงเป็นภาระผูกพันธ์สำหรับผู้ที่ย้ายมาอาศัยอยู่กับคู่ครองที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าระยะยาว (MVV) ที่ต้องทำให้ครบตามกำหนดเวลา
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 มีค่าใช้จ่าย
- ทักษะการอ่าน 50 ยูโร
- ทักษะการพูด 60 ยูโร
- ทักษะการฟัง 50 ยูโร
- ทักษะการเขียน 50 ยูโร
- KNM 40 ยูโร
- ONA 40 ยูโร
- Participation statement 150 ยูโร
- คะแนนเต็ม 10
- คะแนนที่ผ่านคือ 6
- หลังสอบเสร็จจะได้รับผลการสอบภายใน 8 สัปดาห์
- หรือสามารถเช็คผลสอบได้ที่เว็บไซต์ Inburgeren
- สมัครโดยตรงที่เว็บไซต์ Inburgeren
- เลือกปุ่มสีเขียวที่มีคำว่า Log in to Mijn Inburgering
- ลงชื่อเข้าใช้งานด้วยบัญชี DigiD
- เลือกหัวข้อ Exam จากนั้นเลือก View
- เลือกหัวข้อการสอบที่ต้องการจากนั้นกดคำว่า More information
- กดคำว่า Register เพื่อไปยังหน้าค้นหาสถานที่และเวลาในการสอบ
- เลือกสถานที่และเวลาในการสอบ จากนั้นกดคำว่า Continue ไปยังหน้าจ่ายเงิน
- กดจ่ายเงิน สามารถจ่ายผ่าน iDeal บัญชีธนาคารในเนเธอร์แลนด์
- เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยระบบจะส่งข้อมูลการสมัครไปยังอีเมล์ของเรา
- หากต้องการเปลี่ยนวันสอบสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ Inburgeren 14 วันล่วงหน้าก่อนวันสอบจริง
- บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (Verblijfstitel)
- จดหมายยืนยันการลงทะเบียนการสอบจาก DUO
- ควรไปถึงสถานที่สอบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที
- ห้ามนำสิ่งของเข้าห้องสอบ เช่น กระดาษปากกา หนังสือเรียน เสื้อคลุม นาฬิกาหรือโทรศัพท์มือถือ ต้องเก็บสิ่งของเหล่านี้ต้องเก็บไว้ในตู้เก็บของ
สามารถเลือกสอบได้ตามเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น Amsterdam, Eindhoven, Rijswijk, Rotterdam, Utrecht และ Zwolle
การสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 (Nt2)
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 จะต้องสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์แบบใหม่ตามพระราชบัญญัติบูรณาการพลเมือง พ.ศ. 2564 (ภาษาดัตช์; Inburgering Act 2021 คำย่อ Wi2021, ภาษาอังกฤษ; Civic Integration Act 2021) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเลยคือการสอบภาษาดัตช์ที่เพิ่มขึ้นจากระดับ A2 เป็น B1 อ่านต่อ: การสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 กฎใหม่ของผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2022 ต้องรู้
พระราชบัญญัติบูรณาการพลเมือง พ.ศ. 2564 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้มาอยู่อาศัยใหม่ในเนเธอร์แลนด์ที่อยู่ภายใต้ภาระผูกพันบูรณาการพลเมืองสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมดัตช์และพัฒนาระดับภาษาการพูดและเขียนภาษาดัตช์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (B1) นอกจากนี้พวกเขายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดแรงงานดัตช์และการเข้าร่วมอบรมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ผ่านแผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) โดยมีเทศบาลเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและสนับสนุนให้กระบวนการบูรณาการพลเมืองนี้ประสบความสำเร็จตามความสามารถของผู้เข้าร่วมภายในระยะเวลาปี
นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการสอบภาษาดัตช์ในระดับ A2 เป็น B1 แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของแผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกนำมาใช้สำหรับผู้ที่ต้องเข้าร่วมกระบวนการบูรณาการพลเมืองแบบใหม่ โปรแกรมนี้ประกอบด้วยแผนส่วนบุคคลสำหรับการเรียนรู้ภาษาร่วมกับการทำงาน (งานอาสาสมัคร) รวมถึงการเรียนหรือการฝึกงาน มักมีข้อตกลง ดังรายการ
- เส้นทางการเรียนรู้
- ระยะเวลาที่ต้องบรรลุเป้าหมาย
- คำแนะนำและการสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จในเส้นทางการเรียนรู้ที่ตั้งไว้
- ความเข้มข้นของตลาดแรงงานและโมดูลการมีส่วนร่วม (MAP)
- กระบวนการประกาศการมีส่วนร่วม (PVT)
- วิธีการที่เทศบาลติดตามความคืบหน้า เช่น การสัมภาษณ์
แผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) จะระบุไว้ว่าเราต้องเตรียมสอบวิชาใดบ้าง วิชาต่อไปนี้อาจรวมอยู่ในการสอบบูรณาการพลเมือง
- Reading (ทักษะการอ่าน)
- Listening (ทักษะการฟัง)
- Speaking (ทักษะการพูด)
- Writing (ทักษะการเขียน)
- ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNM)
- โมดูลตลาดแรงงานและการมีส่วนร่วม (MAP) (เดิมคือ ONA)
- การประกาศการมีส่วนร่วม (PVT) หรือที่รู้จักในชื่อ Participation statement
ผู้ที่ต้องเข้าร่วมบูรณาการพลเมืองแบบใหม่มีเส้นทางการเรียนรู้ 3 เส้นทางเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัดในการเรียนรู้ และสถานการณ์ส่วนบุคคล คือ
- B1-route (เส้นทาง B1): เส้นทางสู่การเรียนรู้ภาษาและการทำงาน (อาสาสมัคร) หรือการฝึกอบรม ผู้ที่เข้าร่วมเส้นทางนี้จะต้องสอบบูรณาการพลเมืองภาษาดัตช์ในระดับ B1 รวมถึงมีส่วนร่วมในงานอาสมัครหรือการฝึกอบรมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
- O-route (เส้นทางการศึกษา): เป็นเส้นทางของเยาวชนและคนหนุ่มสาว (ไม่มีข้อจำกัดอายุที่เป็นทางการ) มุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้ภาษาดัตช์ในระดับสูงสุด B1 (หรือมากกว่า) เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การศึกษาสายอาชีวศึกษาหรือการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยตามปกติเช่น MBO, HBO หรือ WO ซึ่งเส้นทางนี้มีระยะเวลาที่เร่งรัดหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี มีชั่วโมงการสอนประมาณ 1,500 ชั่วโมง โดย 1,000 ชั่วโมงนั้นสงวนไว้สำหรับบทเรียนภาษาดัตช์ และ 500 ชั่วโมง สำหรับวิชาอื่น ๆ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์
- Z-route (เส้นทางการพึ่งพาตนเอง): เป็นเส้นทางของผู้ที่มีความสามารถแตกต่างและไม่สามารถเรียนรู้ภาษาดัตช์ในระดับ B1 (อาจจะยากเกินไป) ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้ภาษาดัตช์ในระดับภาษาสูงสุดที่เป็นไปได้ (ระดับเป้าหมายคือ A1) ประกอบไปด้วยโปรแกรมประกอบ 2 ส่วน คือ การเรียนภาษาดัตช์ขั้นต่ำ 800 ชั่วโมงภายใต้การดูแลของครู NT2 และกิจกรรมการมีส่วนร่วมขั้นต่ำ 800 ชั่วโมง (รวมถึงชั่วโมงสำหรับตลาดแรงงานและโมดูลการมีส่วนร่วมและการประกาศการมีส่วนร่วม)กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการโดยเทศบาล
โมดูลตลาดแรงงานและการมีส่วนร่วม (MAP) เป็นองค์ประกอบใหม่ที่ถูกนำมารวมและแทนที่การสอบ ONA หากในแผน PIP ที่คุณตกลงร่วมกับเทศบาลระบุว่าต้องใช้โมดูลนี้ คุณจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดแรงงานดัตช์และการหางานในประเทศเนเธอร์แลนด์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเข้าอบรมและทำงานให้เสร็จ และประสบการณ์การทำงานจริง ทางเทศบาลเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโมดูล MAP รวมไปถึงการจัดหาสถานที่และเงินสนับสนุนที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้เข้าร่วม
สำหรับคนที่ต้องเข้าร่วมบูรณาการพลเมืองฉบับใหม่หลังย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 วันที่เริ่มต้นกระบวนการจะระบุไว้ในจดหมายจาก DUO สามารถรอรับจดหมายนี้ได้หลังจากที่ลงทะเบียนย้ายชื่อเข้าทะเบียนในเนเธอร์แลนด์กับทางเทศบาลประมาณ 1 เดือน ถ้ายังไม่ได้รับจดหมายหรือต้องการเข้าร่วมบูรณาการโดยสมัครใจ สามารถเช็คขั้นตอนการเข้าร่วมบูรณาการพลเมืองแบบใหม่ได้ดังนี้
- ไปที่เว็บไซต์ Inburgeren
- เลือกปุ่มสีเขียวที่มีคำว่า Start step-by-step plan
- เลือกสถานการณ์ของคุณจากหนึ่งในสามตัวเลือกและกด Next
- ระบุเดือนและปีที่ต้องเริ่มกระบวนการและกด Next
- ระบบจะบอกข้อมูลว่ามีขั้นตอนและวิชาไหนที่เราต้องสอบบ้าง
ถ้าเราค้นหาขั้นตอนการเข้าร่วมบูรณาการพลเมืองแบบใหม่ในเว็บไซต์ Inburgeren จากคำอธิบายข้างต้น โดยระบุสถานการณ์ที่มาอาศัยอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ เช่น กับคู่รักชาวดัตช์ รวมไปถึงเดือนและปีที่ต้องเริ่มกระบวนแล้ว จะพบกับขั้นตอนการเข้าร่วมบูรณาการพลเมืองแบบใหม่ที่ระบุไว้อย่างครอบคลุม ดังหัวข้อ
- จดหมายจาก DUO: หลังจากที่ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านในเนเธอร์แลนด์กับเทศบาลแล้ว ประมาณ 1 เดือนจะได้รับจดหมายจาก DUO ในจดหมายฉบับนี้จะแจ้งเกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการบูรณาการในเนเธอร์แลนด์ การสอบบูรณาการพลเมือง รวมถึงวันที่เริ่มต้นบูรณาการ
- คำเชิญจากเทศบาล: เทศบาลจะเชิญเราเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเรียกว่า 'brede intake' เพื่อรับรู้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวเรา เรายังต้องทำแบบทดสอบความสามารถที่เรียกว่า 'the 'leerbaarheidstoets' ด้วย หลังจากนั้นเทศบาลจะรู้ว่าเรามีทักษะอะไรบ้าง ซึ่งการทำแบบทดสอบนี้ทางเทศบาลจะเป็นคนนัดหมายเอง และเราไม่จำเป็นต้องฝึกฝนเพื่อการสัมภาษณ์หรือทำแบบทดสอบ
- แผนส่วนบุคคล (PIP): หลังจากที่เทศบาลมีข้อมูลของเราจากการสัมภาษณ์และผลทดสอบแล้ว เทศบาลจะจัดทำแผนส่วนบุคคลกับเราเรียกว่าแผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) ซึ่งแผนนี้จะบอกว่าเราต้องทำอะไรเพื่อบูรณาการบ้าง เส้นทางการเรียนรู้คือเส้นทางไหน และยังบอกด้วยว่าต้องสอบบูรณาการพลเมืองวิชาไหนหรือไม่ต้องสอบวิชาไหน แผนนี้มักจะถูกร่างขึ้นภายในสิบสัปดาห์ของการลงทะเบียนในเขตเทศบาล
- การเริ่มต้นภาคเรียนบูรณาการพลเมืองอย่างเป็นทางการ: เราจะได้รับจดหมายจาก DUO ระบุช่วงเวลาเริ่มต้นบูรณาการพลเมืองอย่างเป็นทางการ มักเรียกสิ่งนี้ว่า 'ช่วงเริ่มต้นบูรณาการ' (start of the integration period) เราต้องเข้าร่วมเรียนภาษาดัตช์รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมดัตช์เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ
- เงินกู้จาก DUO: การสอบบูณาการพลเมืองมีค่าใช้จ่ายพอสมควรและไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความพร้อมทางด้านการเงิน ถ้าไม่สะดวกที่จะจ่ายค่าสอบด้วยตัวเอง สามารถยืมเงินจาก DUO ได้สูงสุดถึง 10,000 ยูโรเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับหลักสูตรได้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการบูรณาการแล้วต้องชำระคืนเงินกู้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Mijn Inburgering หรือสมัครกู้เงินโดยใช้แบบฟอร์มใบสมัครขอสินเชื่อ
- คำแนะนำจากเทศบาล: การสอบบูรณาการพลเมือง DUO เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลเหล่านั้น ส่วนกระบวนการบูรณาการพลเมืองทางเทศบาลจะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ถ้ามีข้อสงสัยใด ๆ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อทางเทศบาลที่อาศัยอยู่ (ปกติจะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นคนดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ)
- ค้นหาโรงเรียนสอนภาษาดัตช์: ถ้าในแผน PIP ระบุว่าเราต้องสอบภาษาดัตช์ เราสามารถเลือกโรงเรียนสอนภาษาดัตช์ที่มีเครื่องหมายคุณภาพ Blik op Werk ได้ที่เว็บไซต์ Zoekinburgerchool โรงเรียนดังกล่าวมักมีหลักสูตรสอนภาษาดัตช์รวมถึงจำนวนชั่วโมงให้เลือกหลายหลาย หรือสามารถเลือกโรงเรียนได้ด้วยตัวเอง หรือเลือกที่จะเรียนภาษาด้วยตัวเองก็ได้หากต้องการ
- เตรียมตัวสอบบูรณาการพลเมือง: ในแผนบูรณาการและการมีส่วนร่วม (PIP) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเราต้องเตรียมสอบวิชาไหนบ้าง วิชาต่อไปนี้อาจรวมอยู่ไหนการสอบบูรณาการพลเมือง คือ โมดูลตลาดแรงงานและการมีส่วนร่วม (MAP) (เดิมคือวิชา ONA) ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNM) การประกาศการมีส่วนร่วม (PVT) Reading (ทักษะการอ่าน) Listening (ทักษะการฟัง) Speaking (ทักษะการพูด) และ Writing (ทักษะการเขียน)
- เข้าสอบบูรณาการพลเมือง: หลังจากที่รู้ว่าต้องสอบวิชาอะไรบ้างจากแผน PIP เราต้องลงทะเบียนสอบวิชานั้น ๆ รวมไปถึงทำข้อสอบตลาดแรงงานและการมีส่วนร่วม (MAP) และการประกาศการมีส่วนร่วมที่เทศบาล สามารถลงทะเบียนได้ในเว็บไซต์ DUO เลือกวิชาที่ต้องการสอบ วันเวลาและสถานที่สอบที่สะดวก จ่ายเงินค่าสอบด้วยตัวเองหรือเงินกู้จาก DUO
- ผลสอบบูรณาการพลเมือง: หลังจากสอบเสร็จประมาณ 8 สัปดาห์เราจะได้รับจดมายแจ้งผลสอบจาก DUO ถ้าสอบไม่ผ่านจะต้องลงทะเบียนอีกครั้งเพื่อสอบซ่อมให้ผ่าน
- ประกาศนียบัตรบูรณาการพลเมือง: เมื่อสอบบูรณาการพลเมืองผ่านทุกวิชาแล้ว เราจะได้รับประกาศนียบัตรทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน สำหรับผู้ที่เลือกเส้นทางพึ่งพาตนเองจะไม่ได้รับประกาศนียบัตร แต่จะได้รับเป็นเป็นใบรับรองจากเทศบาลแทน
- บูรณาการพลเมืองเสร็จสิ้น: เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการบูรณาการพลเมืองแล้วถือได้ว่าเรามีส่วนร่วมที่ดีในสังคมดัตช์ ถ้าต้องการที่จะทำให้เป็นระบบมากขึ้นสามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยถาวร (stronger residence permit) หรือการแปลงสัญชาติเพื่อกลายเป็นพลเมืองดัตช์ (naturalise)
- ชำระคืนเงินกู้: ถ้ายืมเงินจาก DUO จะได้รับจดหมายจาก DUO จดหมายฉบับนี้ระบุว่าต้องชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยเท่าไร ซึ่งจะเริ่มชำระคืนเงินกู้ 6 เดือนหลังจากได้รับประกาศนียบัตร และมีเวลา 10 ปีในการชำระคืนเงินกู้ทั้งหมด สามารถตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยได้ที่ Mijn Inburgering
การสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 (Nt2) คืออะไร?
การสอบภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง (Nt2: Nederlands als tweede taal) เป็นการสอบวัดระดับความสามารถการใช้ภาษาดัตช์ของผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาเพื่อรับใบประกาศอย่างเป็นทางการ (Diploma of the State Examens Nt2) ซึ่งใบประกาศนี้สามารถนำไปใช้สมัครเรียนหรือประกอบการทำงานในเนเธอร์แลนด์ หรือใช้เป็นหลักฐานเพื่อยื่นขอใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยถาวร หรือการแปลงสัญชาติเป็นพลเมืองดัตช์หลังจากที่เสร็จสิ้นการบูรณาการพลเมือง
การสอบ Nt2 มีอยู่สองระดับด้วยกัน คือ
- Programme I: มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานหรือเรียนในระดับอาชีวศึกษา (MBO 3 หรือ 4) ระดับภาษาของโปรแกรมนี้คือ B1 เทียบเท่ากับระดับภาษา B1 ตามมาตรฐานสากลของ (CEFR) เนื้อหาข้อสอบจะมุ่งไปที่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตประจำวันในระดับ MBO 3 หรือ MBO 4
- Programme II: มีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานหรือเรียนในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น (HBO) หรือระดับมหาวิทยาลัย (WO) ระดับภาษาของโปรแกรมนี้คือ B2 เทียบเท่ากับระดับภาษา B2 ตามมาตรฐานสากลของ (CEFR) เนื้อหาข้อสอบจะมุ่งไปที่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตประจำวันในระดับขั้นสูง
การสอบ Nt2 ไม่จำเป็นว่าต้องสอบโปรแกรม 1 ก่อนแล้วค่อยไปสอบโปรแกรม 2 แต่ถ้าสามารถข้ามไปสอบโปรแกรม 2 ได้เลยถ้ามีความพร้อม สามารถเลือกได้ตามสถานการณ์และระดับที่เหมาะสมกับตัวเรา อย่าลืมนำบัตรประจำตัวประชาชน (ใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยไปด้วย) ติดตัวไปด้วย ผู้เข้าสอบยังได้รับอนุญาตให้ใช้พจนานุกรม Van Dale Pocket Dictionary Dutch as a second language สำหรับการสอบพาร์ทเขียนและพาร์ทอ่าน และต้องนำมาเองไม่อนุญาตให้ยืมจากผู้เข้าสอบคนอื่น ๆ
การสอบNt2 ประกอบด้วย 4 พาร์ท คือ การอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด ทั้งสี่พาร์ทเป็นการทำข้อคอมในคอมพิวเตอร์ สามารถลงทะเบียนสอบได้ในเว็บไซต์ของ DUO ซึ่งมีการจัดสอบปีละ 8 ครั้ง ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเนเธอร์แลนด์ คือ Amsterdam, Eindhoven, Rijswijk, Rotterdam, Zwolle และ Utrecht
ค่าสอบทั้งสองโปรแกรมเท่ากันคือพาร์ทละ 50 ยูโร รวมทั้งหมด 200 ยูโร หลังจากสอบผ่านในแต่ละพาร์ทจะได้รับใบรับรองในส่วนนั้น หลังจากสอบผ่านทั้งสี่พาร์ทจะได้รับใบประกาศนียบัตร Diploma State Exams Nt2 ถ้าสอบไม่ผ่านสามารถลงทะเบียนเพื่อสอบซ่อมใหม่ได้
เกณฑ์การสอบผ่าน Nt2 สำหรับพาร์ทอ่านและพาร์ทฟังจะถูกประเมินโดยคอมพิวเตอร์และแปลงออกมาเป็นคะแนนอยู่ระหว่าง 100-900 คะแนน ผู้สอบจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 500 คะแนนเพื่อผ่านในสองส่วนนี้ ส่วนพาร์ทเขียนและพาร์ทพูดเจ้าหน้าที่สองจะเป็นคนให้คะแนน เราต้องได้คะแนนอย่างน้อย 500 คะแนนเพื่อผ่านในสองส่วนนี้
ผู้ที่กำลังวางแผนสอบ Nt2 สามารถฝึกฝนด้วยตัวเองหรือเรียนตามโรงเรียนสอนภาษาดัตช์ก็ได้ ค้นหารายชื่อโรงเรียนสอนภาษาทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ ดาวน์โหลดแบบฝึกหัดทั้งสี่พาร์ท สื่อการเรียนการสอน เพื่อฝึกฝนให้เกิดความมั่นใจก่อนไปสอบจริง
มาตรฐานสากลการวัดความสามารถทางภาษาของ CEFR
ระดับการสอบภาษาดัตช์ข้างต้นสอดคล้องกับมาตรฐานสากลการวัดความสามารถทางภาษาของ CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในยุโรป ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ระดับด้วยกัน คือ A1, A2, B1, B2, C1 และ C2 ดังแสดงในรูปภาพด้านล่าง
ซึ่งระดับภาษาทั้ง 6 ระดับนั้น สามารถแยกออกเป็น 3 หมวดหมู่หลัก คือ A, B และ C และ 2 ระดับย่อย คือ
- Basic User ผู้ใช้งานพื้นฐาน (A1/A2)
- Independent User ผู้ใช้งานอิสระ (B1/B2)
- Proficient User ผู้ใช้งานที่เชี่ยวชาญ (C1/C2)
ผู้เรียนสามารถใช้ตารางการประเมินตนเองของ CEFR เพื่อดูว่าทักษะความสามารถในการฟัง การพูด การเขียนและการอ่านของตัวเองอยู่ในระดับใด CERF ยังมีการจัดทำตารางประเมินระดับความเข้าใจในภาษาในระดับสากลเพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพชัดเจนสำหรับการพัฒนาระดับภาษาของตนเองไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต้องมีคำศัพท์มากน้อยเพียงใดสำหรับการสอบภาษาดัตช์?
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสงสัยว่าถ้าต้องการพัฒนาระดับภาษาดัตช์ของตัวเองให้ไปถึงในระดับ A2 หรือ B1 ต้องรู้คำศัพท์มากน้อยเพียงใด?
CERF ไม่ได้กล่าวถึงจำนวนคำศัพท์ที่เราต้องมีเพื่อนำไปใช้ในการสอบภาษาดัตช์แต่ละระดับ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับจำนวนคำศัพท์อยู่หลายเรื่อง หนึ่งในงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องนี้และผู้เขียนขอยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นภาพกันชัดเจนดังตารางด้านล่าง
Source: Milton, J., & Alexiou, T. (2009). Vocabulary size and the common European framework of reference for languages. In Vocabulary studies in first and second language acquisition (pp. 194-211). Palgrave Macmillan, London. (กดเพื่อดูลิงก์งานวิจัย)
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่าระดับ A2-B1 ต้องรู้คำศัพท์ประมาณ 1500-3750 คำ และถ้าจะพัฒนาระดับภาษาไปให้ถึงระดับเชี่ยวชาญต้องรู้คำศัพท์มากถึง 5000 คำ นอกจากนี้ยังมีหลายเว็บไซต์ที่ประมาณจำนวนคำศัพท์ที่เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวเพื่อพัฒนาไปยังระดับถัดไป ดังรายการ
- A1 = 500 คำ
- A2 = 1,000 คำ
- B1 = 2,000 คำ
- B2 = 4,000 คำ
- C1 = 8,000 คำ
- C2 = 16,000 คำ
Source: Languagelearning, 2017. What are estimates of vocabulary size for each CEFR level?
เรียนรู้คำศัพท์ให้เพียงพอสำหรับการสอบภาษาดัตช์
การที่จะรู้คำศัพท์ประมาณ 2,000-5,000 คำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและทบทวนพอสมควร การฝึกเขียนคำศัพท์วันละ 10 คำเป็นเวลาติดต่อกันหกเดือนจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ มากถึง 3,000 คำ
ผู้เรียนยังสามารถใช้ลิสต์รวม 5,000 คำศัพท์ในภาษาดัตช์ที่ใช้บ่อย ของ Hazenberg และ Hulstijn รวมไปถึงพจนานุกรม Van Dale Pocket Dictionary Dutch as a Second Language (NT2) ที่มีคำหลักที่สำคัญที่สุด 15,000 คำและสำนวนในภาษาดัตช์มากถึง 2,300 สำนวน เพื่อฝึกฝนให้พร้อมสำหรับการสอบ Nt2 Program I
นอกจากนี้ยังมีหลายเว็บไซต์ที่คุณสามารถเพิ่มจำนวนคำศัพท์ของตัวเองเพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการสอบภาษาดัตช์ หรือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำได้อย่างคล่องแคล้ว ดังลิสต์ด้านล่าง
- de 0-2000 meest frequente woorden op alfabetisch volgorde
- Woordenlijst Nederlands – Engels 1
- Woordenlijst Nederlands – Engels 2
- Derde Ronde Nederlands voor buitenlanders
- Woordenlijst / Glossary TaalCompleet A1
- Dutch Vocabulary List Masterpost
- Basic Dutch
การสอบภาษาดัตช์ทั้ง 3 ระดับสามารถเตรียมตัวสอบด้วยตัวเองหรือจะเรียนกับโรงเรียนสอนภาษาดัตช์ก็ได้ ระดับความยากง่ายไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบถ้ามีความตั้งใจจริงและมั่นใจว่าตัวเองจะสอบผ่าน บทความนี้ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะเตรียมตัวสอบภาษาดัตช์ได้เข้าใจเกี่ยวกับระดับภาษาดัตช์ที่ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ช่วยให้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการสอบภาษาดัตช์ในอนาคต
สรุประดับการสอบภาษาดัตช์ ในเนเธอร์แลนด์มีทั้งหมด 3 แบบ คือ การสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐาน (A0-A1) การสอบบูรณาการพลเมืองเนเธอร์แลนด์ (A2-B1) และการสอบภาษาดัตช์เป็นภาษาที่สอง Nt2 (B1-B2) ซึ่งการสอบภาษาดัตช์แบบพื้นฐานจะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่า MVV เพราะต้องใช้ผลสอบประกอบการสมัคร เมื่อย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์แล้วมีภาระผูกพันธ์ที่ต้องสอบบูรณาการพลเมืองให้ครบภายในสามปี ซึ่งระดับภาษาที่ต้องสอบไม่ว่าจะเป็น A2 หรือ B1 ขึ้นอยู่กับปีที่ย้ายมานั้นเอง