การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 (inburgering examen) คือการสอบบูรณาการพลเมืองเพื่อวัดระดับความรู้ความเข้าใจในการสื่อสารภาษาดัตช์ที่ระดับ A2 ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Civic Integration Examination ซึ่งเป็นภาคต่อของการสอบบูรณาการพลเมืองขั้นพื้นฐานระดับ A0-A1 ที่ใครหลายคนสอบผ่านมาแล้วเพื่อใช้ในการสมัครวีซ่าระยะยาว (MVV) และแน่นอนว่าในบทความฉบับนี้จะครอบคลุมเนื้อหาการสอบทั้ง 7 พาร์ท รวมถึงแบบฝึกหัดข้อสอบและคำแนะนำในการสอบให้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรก อย่าลืมแวะไปอ่านระดับการสอบภาษาดัตช์ เพื่อเตรียมความพร้อมการสอบภาษาดัตช์ B1 ในระดับต่อไป
ทำอย่างไรจะได้สอบภาษาดัตช์ระดับ A2
หลังย้ายมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่า MVV (ก่อนปี 2022) รับบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยและย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านเรียบร้อยแล้ว ทางหน่วยงานบริหารการศึกษา (DUO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนของการจัดสอบบูรณาการพลเมืองจะส่งจดหมายที่มีชื่อว่า HH01 Kennisgeving inburgeringsplicht มาที่บ้านเพื่อแจ้งให้รู้ว่าต้องสอบบูรณาการพลเมืองระดับ A2 ให้ผ่านภายใน 3 ปี การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 จึงเป็นภาระผูกพันสำหรับผู้ที่ย้ายมาอาศัยอยู่กับคู่ครองที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องสอบให้ผ่านตามกำหนด มิเช่นนั้นอาจต้องจ่ายค่าปรับและมีผลต่อการพิจารณาต่อใบอนุญาตผู้พำนักอาศัย รวมไปถึงการขอสัญชาติเนเธอร์แลนด์ในอนาคต
พระราชบัญญัติบูรณาการพลเมือง พ.ศ. 2564 (Inburgering Act 2021) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไปต้องเข้าร่วมกระบวนการบูรณาการพลเมืองนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเลยคือการสอบภาษาดัตช์ที่เพิ่มขึ้นจากระดับ A2 เป็น B1 อ่านต่อ → การสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 กฎใหม่ของผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2022 ต้องรู้
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 มีอะไรบ้าง
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 แบ่งออกเป็น 7 ส่วนด้วยกัน คือ ทักษะการอ่าน (Lezen) ทักษะการฟัง (Luisteren) ทักษะการพูด (Spreken) ทักษะการเขียน (Schrijven) ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNM) การเข้าร่วมอบรมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (Participation statement) และปฐมนิเทศเกี่ยวกับตลาดแรงงานของเนเธอร์แลนด์ (Orientation on the Dutch Labor Market) ทั้ง 7 ส่วนมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน และสามารถลงทะเบียนสอบในแต่ละพาร์ทได้ตามความถนัด และรอผลสอบประมาณ 8 สัปดาห์
ทักษะการอ่าน (Lezen)
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 พาร์ทอ่าน เป็นการทำข้อสอบอ่านในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องอ่านข้อความและตอบคำถามแบบปรนัยเกี่ยวกับเนื้อหาในอีเมล์ จดหมาย ข่าวประกาศ โฆษณา ฯลฯ มีทั้งหมด 25 ข้อ ใช้เวลา 65 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 19 ข้อจึงจะผ่าน ค่าสอบอ่าน 50 ยูโร
ทักษะการฟัง (Luisteren)
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 พาร์ทฟัง เป็นการทำข้อสอบฟังในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะตอบคำถามแบบปรนัยเกี่ยวกับภาพยนตร์สั้น บทสัมภาษณ์ ข่าวทางโทรทัศน์ การประกาศ มีทั้งหมด 25 ข้อ ใช้เวลา 45 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 18 ข้อจึงจะผ่าน ซึ่งแต่ละข้อมีเรื่องราวให้ฟังความยาวประมาณ 20-30 วินาที และต้องตอบคำถาม 2-3 ข้อต่อหนึ่งเรื่องราว คนพูดพูดชัดและพูดไม่เร็วอยู่ในระดับการฟัง A2 หากฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจในรอบแรกก็สามารถกดฟังซ้ำจนกว่าจะเข้าใจหรือตอบคำถามได้ ค่าสอบฟัง 50 ยูโร
ทักษะการพูด (Spreken)
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 พาร์ทพูด เป็นการทำข้อสอบการพูดในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องฟังคำถามและบทสนทนาสั้น และตอบคำถามทั้งหมด 24 ข้อ มีเวลาในการทำข้อสอบ 35 นาที
ข้อสอบพูดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ตอบคำถาม 1-2 ประโยคจำนวน 10 ข้อ ตอบคำถามจากรูปภาพที่กำหนดให้ (1-3 รูป) จำนวน 2 ข้อ และตอบคำถามจากบทสนทนาสั้นจำนวน 12 ข้อ (มีตัวเลือก A, B และ C) ในส่วนแรกต้องตอบคำถามให้ถูกระหว่าง 82-84 คะแนน (จาก 144 คะแนน) และในส่วนที่สอบต้องตอบคำถามให้ถูก 9 ข้อ (จาก 12 ข้อ) หากคะแนนผ่านทั้งสองส่วนก็ผ่านการสอบพูด ค่าสอบพูด 60 ยูโร
ทักษะการเขียน (Schrijven)
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 พาร์ทเขียน เป็นการสอบด้วยปากกาและกระดาษ มีทั้งหมด 4 หัวข้อ เกี่ยวข้องกับการเขียนจดหมายสั้นและกรอกแบบฟอร์ม การสอบใช้เวลา 40 นาที ค่าสอบเขียน 50 ยูโร
ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ (KNM)
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 พาร์ท KNM หรือ Kennis Nederlandse Maatschappij เป็นการทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าสอบจะต้องฟังและตอบคำถามแบบปรนัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการหางาน การเช่าบ้าน การศึกษา ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การเมืองและประวัติศาสตร์ ฯลฯ มีทั้งหมด 40 ข้อ ให้เวลาในการทำข้อสอบ 45 นาที ต้องตอบคำถามให้ถูกต้อง 26 ข้อจึงจะผ่าน ค่าสอบ KNM 40 ยูโร
ข้อสอบพาร์ท KNM มีความยากกว่าการสอบ KNS ที่ใช้ขอวีซ่า MVV การฝึกแบบจำคำตอบไปสอบอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากต้องอาศัยความเข้าใจในการวิเคราะห์คำตอบที่ถูกต้อง ผู้ที่เตรียมสอบสามารถซื้อหนังสือ Welkom in Nederland หรือ TaalCompleet KNM มาฝึกอ่าน ทำแผนผังเนื้อหาของเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงจำคำศัพท์เฉพาะ เมื่อทำความเข้าใจอย่างครบถ้วนแล้วสามารถสอบผ่านในพาร์ทนี้ได้ไม่ยาก
การสอบปฐมนิเทศเกี่ยวกับตลาดแรงงานดัตช์ (ONA)
การสอบ ONA หรือ Oriëntatie op de Nederlandse Arbeidsmarkt เป็นการเตรียมสอบเข้าสู่ตลาดแรงงานดัตช์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ที่ผู้สมัครต้องกรอกข้อมูลในการ์ดผลลัพธ์ให้ครบทั้ง 8 ส่วน และรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานในเนเธอร์แลนด์ประกอบกันเป็นแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อสมัครให้ทาง DUO พิจารณา (มีค่าสอบ 40 ยูโร) ถ้าแฟ้มสะสมผลงานก็เลือกได้ว่าจะเข้าสอบสัมภาษณ์ไฟนอล หรือเรียนหลักสูตร ONA 64 ชั่วโมง คนที่เลือกสัมภาษณ์รอผลสอบประมาณ 6 สัปดาห์ ส่วนคนที่เลือกเรียนหลักสูตรไม่ต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ไฟนอล แต่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนเพิ่มเติม
ในบางกรณีสามารถยื่นยกเว้นไม่ต้องสอบ ONA ถ้าเป็นพนักงานเงินเดือนที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และทำงานอย่างน้อย 48 ชั่วโมงต่อเดือน เช่นเดียวกับผู้ที่เริ่มต้นบูรณาการพลเมืองก่อนวันที่ 1 มกราคม 2015 ผู้ที่ต้องสอบบูรณาการพลเมืองภายใต้กฎ Inburgering Act 2021 หรือมีใบประกาศนียบัตร MBO ระดับ 1 รวมถึงได้รับการยกเว้นเนื่องจากทำงานในเนเธอร์แลนด์
การเข้าร่วมอบรม Participation statement
สำหรับผู้ที่ต้องสอบบูรณาการพลเมืองตั้งแต่หรือหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2017 เป็นต้นไป จะต้องเข้าร่วมการอบรม Participation statement เพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ และต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี นับระยะเวลาเริ่มต้นตั้งแต่วันที่เราย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน (สามารถดูระยะเวลาเริ่มต้นของการอบรมนี้ได้ที่เว็บไซต์ inburgeren เลือกหัวข้อ Exam และกดคำว่า Participation statement)
วิธีการเข้าร่วมอบรมจะต้องติดต่อกับทางเทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่เพื่อลงทะเบียน หากทางเทศบาลไม่ได้เป็นผู้อบรมโดยตรงก็จะประสานงานไปทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอบรมให้ ทั้งนี้อาจต้องรอจดหมายแจ้งเข้าร่วมการอบรมประมาณ 1-2 เดือน หากไม่มีจดหมายมาแนะนำให้รีบโทรไปสอบถามทางเทศบาลเกี่ยวกับรายละเอียดที่แน่ชัด เมื่อเข้าร่วมอบรมเสร็จแล้วจะได้ลงนามในใบคำชี้แจงที่เรียกว่า The Participation Statement การเข้าร่วมอบรมนี้มีค่าใช้จ่าย 150 ยูโร

ผลสอบภาษาดัตช์ระดับ A2

วิธีฝึกเพื่อไปสอบภาษาดัตช์ระดับ A2
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทฟัง
- แบบฝึกหัดฟัง 1-5 (Inburgeren)
- Luisteren oefening 1-4 (NT2taalmenu)
- Luisteren Examen Luistervaardigheid
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์อ่าน
- แบบฝึกหัดการอ่าน 1-5 (Inburgeren)
- Leesvaardigheid A2 1-5 (Adappel)
- Lezen Oefenexamen (NT2taalmenu)
- PDF Lezen Oefenexamen (NT2taalmenu)
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทพูด
- แบบฝึกหัดการพูด 1-4 (Inburgeren)
- Spreekvaardigheid A2 1-7 (Adappel)
- Spreken oefening (NT2taalmenu)
- PDF Spreken oefening (NT2taalmenu)
- Spreken A2 oefenexamen 1
- Spreken A2 oefenexamen 2
- Spreken A2 oefenexamen 3
- Spreken A2 oefenexamen 4
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ทเขียน
- PDF Oefenexamen schrijven 1-3 (Inburgeren)
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 1
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 2
- DUO Schrijven A2 goede antwoorden 3
- Schrijfvaardigheid A2 1-5 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 1 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 2 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 3 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 4 (Adappel)
- Schrijven A2 goede antwoorden 5 (Adappel)
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ท KNM
รวมลิงก์ฝึกภาษาดัตช์ A2 พาร์ท ONA

การฝึกพาร์ทอ่าน
เริ่มแรกฝึกทำแบบฝึกหัดออนไลน์ในเว็บไซต์ของ Inburgeren ทั้งหมด 5 แบบฝึกหัด ข้อสอบจริงจะคล้ายในแบบฝึกหัด แต่จะเปลี่ยนเรื่องมีทั้งง่ายและยากสลับกันไป ตอนฝึกอย่าลืมจับเวลาว่าแต่ละข้อใช้ไปกี่นาที พยายามบริหารเวลาให้เหลือพอสำหรับการตรวจคำตอบในรอบสุดท้าย ถ้ามีคำศัพท์ไหนที่ไม่เข้าใจให้จดใส่ในกระดาษไว้แล้วนำไปค้นหาความหมาย ซึ่งคำศัพท์เหล่านั้นอาจจะพบบ่อยในข้อสอบ และเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
หลังจากฝึกทำข้อสอบอ่านในเว็บไซต์ของ Inburgeren จนคุ้นชินแล้ว ก็ไปฝึกต่อจากเว็บไซต์อื่น ๆ เช่น Nt2taalmenu และAdappel ทั้งสองเว็บนี้มีความยากกว่าแบบฝึกหัดในเว็บไซต์ Inburgeren ถ้าทำแบบฝึกหัดดังกล่าวได้ก็มั่นใจได้ว่าเราจะทำข้อสอบจริงได้ด้วย ซึ่งการฝึกทั้งแบบง่ายและยากสลับไปกันไปจะทำให้เรามีทักษะการอ่านที่พร้อมและมีคลังคำศัพท์เยอะ พอเวลาไปทำข้อสอบจริงจะช่วยให้การสอบง่ายขึ้น ทั้งนี้ควรฝึกให้ครบทุกแบบฝึกหัดแม้ว่าจะมีความยากง่ายเพียงใดก็ตาม
เทคนิคการทำข้อสอบอ่านภาษาดัตช์ A2 → อ่านคำถามก่อนแล้วกวาดสายตาหาคีย์เวิร์ดในเนื้อหา บ้างข้อสามารถตอบคำถามจากคีย์เวิร์ดที่มีได้เลย บ้างข้อต้องใช้การวิเคราะห์คำตอบ การมีคลังคำศัพท์ในหัวเยอะ ๆ ช่วยในการทำข้อสอบอ่านได้ดีมาก (ย้ำว่ามากจริง ๆ) เมื่อได้คำตอบแล้วให้กดไปยังคำถามข้อต่อไปเลย ไม่ต้องรออ่านเนื้อหาจนจบเพื่อช่วยประหยัดเวลา ถ้าไม่แน่ใจคำตอบอาจจะเลือกช้อยส์ที่ใกล้เคียงไว้ก่อน พอทำเสร็จทุกข้อแล้วให้กลับมาทบทวนซ้ำข้อที่ยังไม่แน่ใจ
การฝึกพาร์ทฟัง
ฝึกจากแบบฝึกหัดในเว็บไซต์ของ Inburgeren ซึ่งมีทั้งหมดห้าแบบฝึกหัดด้วยกัน ข้อสอบจะคล้าย ๆ กับแบบฝึกหัด แต่จะเปลี่ยนเรื่องราวมีทั้งง่ายและยากสลับกันไป ถ้าใครยังไม่รู้จะเริ่มฝึกจากตรงไหนก่อนดีอาจจะลองฝึกจากแบบฝึกหัดในเว็บไซต์ของ Inburgeren ก่อน จับเวลาว่าแต่ละข้อเราใช้ไปกี่นาที พยายามบริหารเวลาให้เหลือเพียงพอสำหรับการตรวจทานคำตอบในรอบสุดท้าย
ถ้ามีคำศัพท์ไหนที่ไม่เข้าใจให้จดใส่ในกระดาษไว้แล้วนำไปค้นหาความหมาย คำศัพท์เหล่านั้นอาจจะพบบ่อยในข้อสอบ และเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากฝึกทำข้อสอบฟังในเว็บไซต์ของ Inburgeren จนคุ้นชินแล้ว ลองฝึกทำข้อสอบต่อจากเว็บไซต์ Nt2taalmenu, Adappel และช่องยูทูปโดยพิมพ์คำว่า ‘Luisteren Examen Luistervaardigheid A2’
อีกหนึ่งวิธีการฝึกที่ทำแล้วรู้สึกว่าได้ผลจริงก็คือ การฟังข่าวภาษาดัตช์ทุกวัน เริ่มจากรายการข่าวสำหรับเด็ก เช่น Jeugdjournaal และ Zapp ก่อน จากนั้นก็ขยับไปเป็นข่าวผู้ใหญ่ปกติ คำศัพท์ไหนที่ไม่รู้ความหมายก็จดไว้เหมือนเช่นเคย (ถ้าฟังทางออนไลน์สามารถกดหยุดได้) แล้วก็ไปค้นหาความหมายและจำการออกเสียงจากเจ้าของภาษา รวมไปถึงการดูซีรีย์หรือหนังภาษาดัตช์ ช่วงแรกอาจจะเปิดคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษก่อน พอดูไปเรื่อย ๆ เริ่มชินก็เปลี่ยนเป็นคำบรรยายภาษาดัตช์
เทคนิคการทำข้อสอบฟังภาษาดัตช์ A2 → อ่านคำถามก่อนแล้วค่อยกดฟังข้อความเสียง พยายามฟังคีย์เวิร์ดที่มีจากคำถาม เมื่อได้คำตอบแล้วให้กดไปยังคำถามข้อต่อไปเลย ถ้าไม่แน่ใจคำตอบอาจจะเลือกคำตอบที่ใกล้เคียงไว้ก่อน เมื่อทำข้อสอบเสร็จทุกข้อให้กลับมาทวนซ้ำข้อที่ยังไม่แน่ใจ บ้างข้อมีคำตอบหลอกและต้องใช้การวิเคราะห์คำตอบ ส่วนบางข้อฟังแล้วสามารถตอบได้เลย
การฝึกพาร์ทพูด
การเตรียมตัวเพื่อไปสอบพาร์ทพูดอยากให้ทุกคนได้ใช้เวลากับส่วนนี้มาก ๆ เนื่องจากการออกเสียงภาษาดัตช์ค่อนข้างสำคัญ ต้องออกเสียงพยัญชนะและสระทุกตัว เช่น เสียง K, G, CH, CHT, S, R, L, OU เป็นต้น ยิ่งออกเสียงชัดมากเท่าไรเราก็จะยิ่งมีโอกาสได้คะแนนมากเท่านั้น และที่สำคัญเวลาตอบคำถามต้องเรียงประธาน กิริยา และกรรมให้ถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ยากเกินความพยายามของคนที่กำลังใจฝึกเพื่อไปสอบอย่างแน่นอน
แนะนำให้ดาวน์โหลดเนื้อหาคำถามที่เป็นไปได้ว่าอาจจะออกในข้อสอบมาจากเว็บไซต์ Inburgeren และ Adappel และตอบคำถามที่เป็นของเราเอง ก่อนที่จะลงมือฝึกพูดทุกวัน (ทั้งพูดกับตัวเองและพูดกับแฟน) คำตอบอาจจะเน้นคำศัพท์ที่ออกเสียงง่ายและง่ายต่อความเข้าใจไว้ก่อน เช่น ชื่อเมือง ประเทศ หนังสือ รายการโทรทัศน์ที่ชอบ กีฬาที่ชอบ อาหารที่ชอบ ชื่ออาชีพ รวมไปถึงชื่อผักและผลไม้ ฯลฯ โดยเลือกไว้อย่างละหนึ่งคำตอบในใจ และใช้คำศัพท์เดิมเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ยกตัวอย่างเช่น คุณชอบกินผลไม้อะไร? เราก็จะตอบว่าชอบกินกล้วย (banaan) คุณไปซื้อผลไม้อะไรมา? เราก็จะตอบว่าซื้อกล้วย จะไม่พยายามเปลี่ยนไปใช้คำศัพท์อื่น ๆ
ทั้งนี้วิธีการดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน ไม่มีถูกผิด การมีคำศัพท์ที่หลากหลายก็ดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกเฉพาะคำศัพท์ที่ตัวเองออกเสียงง่ายอย่างเดียว พยายามฝึกออกเสียงคำศัพท์อื่น ๆ ไปด้วยก็ดี การมีคำศัพท์เยอะ ๆ ก็เพิ่มโอกาสในการตอบคำถามที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
เมื่อฝึกพูดจนคุ้นชินและเกิดความมั่นใจแล้วเราก็ย้ายไปฝึกกับแบบฝึกหัดจริงที่มีในเว็บไซต์ Inburgeren ซึ่งมีทั้งหมด 4 แบบฝึกหัดด้วยกัน เราฝึกวนไปเรื่อย ๆ ให้พอดีตามเวลาที่กำหนดให้ จากนั้นก็ไปทำแบบฝึกหัดของ Adappel ในเว็บไซต์ยูทูปกันต่อ มีแบบฝึกหัดรูปภาพแบบใหม่ให้ทำเยอะมาก รวมไปถึงช่องอื่น ๆ โดยพิมพ์คำว่า “spreekvaardigheid inburgering examen oefenen” แล้วก็กดฝึกพูดทุกวัน
เทคนิคในการทำข้อสอบพูดภาษาดัตช์ระดับ A2 → ทำข้อสอบในส่วนบทสนทนาสั้นก่อน (สามารถกดข้ามคำอธิบายได้เลย) คนพูดพูดช้าในระดับ A2 และมีความยาวไม่มาก ทั้งนี้ควรฟังบทสนทนาให้เข้าใจเพราะบางตัวเลือกก็หลอก และตอบผิดได้แค่ 3 ข้อเท่านั้น จากนั้นก็กลับมาทำข้อสอบในพาร์ทแรกเพื่อคำถาม 12 ข้อ ค่อย ๆ พูดและออกเสียงให้ชัด จากนั้นกดฟังคำตอบ ถ้ายังไม่พอใจก็กดอัดเสียงใหม่ อย่าลืมเช็คด้วยว่าคำตอบที่เราพูดไปยังอยู่ในระบบไหม เพราะบางครั้งอาจจะเผลอไปกดปุ่มอัดเสียงใหม่แล้วลืมอัดเสียงอีกก็เป็นได้ ดังนั้นพยายามวางเม้าท์ไกล ๆ จากปุ่มกดอัดเสียง เมื่อทำข้อสอบครบทั้ง 24 ข้อแล้ว ถ้ามีเวลาเหลืออย่าลืมเช็คคำตอบให้แน่ใจก่อนกดส่งข้อมูล
การฝึกพาร์ทเขียน
ดาวน์โหลดแบบฝึกหัดมาจากเว็บไซต์ Inburgeren และ Adappel เพื่อฝึกเขียนทุกวัน ตอนเขียนก็จับเวลาด้วย พยายามใช้เวลาข้อละไม่เกิน 10 นาที และเผื่อเวลาไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อมาเช็คคำตอบที่เขียนไป สำหรับใครที่กลัวว่าจะสับสนอาจจะฝึกเขียนด้วยประโยคที่เข้าใจง่ายก่อน เช่น
- Ik kan morgen niet meer met jou afspreken, (ฉันไม่สามารถไปตามการนัดหมายของคุณพรุ่งนี้ได้) want ik ben ziek. (เพราะว่าฉันป่วย) want dan ga ik naar de tandarts (เพราะว่าฉันต้องไปหาหมอฟัน) Kunnen wij op 1 juli een afspraak maken? (เราสามารถนัดหมายวันที่ 1 กรกฎาคมแทนได้ไหม) Kunnen wij op een andere dag afspreken? (เราสามารถนัดหมายวันอื่นแทนได้ไหม)
พยายามหาเหตุผลข้อแก้ตัวเตรียมไว้สักสองถึงสามอย่าง เช่น ฉันต้องไปพบหมอฟัน ต้องไปหาแม่ที่ต่างเมือง ต้องไปพิพิธภัณฑ์กับเพื่อน หรือต้องไปต่างจังหวัด เป็นต้น จะได้เอาไปเขียนแก้ตัวได้ ซึ่งประโยคข้างต้นมีประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้ในหลายสถานการณ์
เวลาเขียนแนะนำให้เขียนประโยคสั้น ๆ และเริ่มต้นประโยคใหม่เมื่อเข้าเนื้อหาใหม่ และเขียนให้ครอบคลุมคำถามที่โจทย์ถาม เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เราก็ต้องตอบให้ครบตามนี้ อย่าลืมเช็คเครื่องหมายจุลภาค (,) เครื่องหมายจุด (.) รวมไปอักษรตัวใหญ่เมื่อขึ้นประโยคใหม่
ควรฝึกการเขียนประโยคคำถาม ประโยคข้อร้อง และการนัดหมายให้เยอะ ๆ เช่น
- Ik kan, Ik heb, Ik wil graag, Ik vind, Mag ik
- Kan je, Kan jij, Kan hij, Kunt u
- Kunnen jullie, Kunnen wij, Kunnen zij
หัวข้อที่แนะนำสำหรับการฝึกเขียน
- การทำงาน อาชีพที่อยากทำในอนาคต เพราะอะไรถึงอยากทำอาชีพนั้น
- การแจ้งขอลาหยุด ลากี่วัน ลาไปที่ไหน จะให้ใครทำงานแทน
- การยืมหนังสือหรือสิ่งของต่าง ๆ ยืมอะไร ทำไมถึงต้องยืม จะคืนเมื่อไร
- การนัดหมาย นัดเพื่อนมาที่บ้าน หรือนัดหมายใหม่ในกรณีที่ไปไม่ได้
- การซื้อของ สิ่งของที่อยากซื้อ ทำไมถึงอยากซื้อ ราคาเท่าไร
- การขอร้องให้ทำอะไรบางอย่าง ทำไมถึงขอร้อง วันเวลาที่ต้องการให้ช่วย
- การฉลองงานวันเกิด ฉลองกับใคร ฉลองที่ไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง
- การร้องเรียน ร้องเรียนเรื่องอะไร ทำไมถึงร้องเรียน นัดหมายเวลาที่ต้องการพูดคุย
- การท่องเที่ยว ชอบไปเที่ยวที่ไหน ไปกับใคร เพราะอะไร
- กิจกรรมที่ชอบทำ เพราะอะไรถึงชอบ
เมื่อฝึกเขียนจนเกิดความมั่นใจแล้วให้ลองทำแบบฝึกหัดทั้ง 4 ข้อและจับเวลาจริง ดูว่าแต่ละข้อใช้เวลาไปเท่าไร เพื่อให้เกิดความคุ้นชินและพร้อมสำหรับการสอบจริงมากที่สุด ทั้งนี้สามารถดูแนวข้อสอบได้ที่เว็บไซต์ Inburgeren แล้วเอามาปรับใช้ในการฝึกเขียน พยายามเขียนทุกวัน วันละ 1-2 หัวข้อก็ยังดี ให้แฟนช่วยตรวจคำตอบให้รวมไปถึงแกรมม่า การฝึกฝนทุกวันจะทำให้เกิดความคุ้นชินและรู้แนวในการเขียนที่เป็นแบบของตัวเอง พอถึงเวลาไปทำข้อสอบจริง ๆ จะได้ลดความตื่นเต้นและมีกำลังใจในการสอบเขียนแบบไม่ลังเล
เทคนิคในการทำข้อสอบเขียนภาษาดัตช์ระดับ A2 → อ่านคำถามของโจทย์ทั้ง 4 ข้อว่าโจทย์ถามอะไร จากนั้นเลือกทำข้อที่ง่ายที่สุดก่อน หรือเลือกกรอกแบบฟอร์มก่อนเพราะเป็นข้อที่ใช้เวลาไม่นาน และกลับมาทำข้ออื่น ๆ จนครบ ข้อไหนที่ไม่แน่ใจสามารถร่างคำตอบไว้ก่อนได้ในหน้ากระดาษเปล่าแล้วค่อยนำมาเขียนลงในช่องคำตอบ พยายามอ่านโจทย์ให้ครบคลุมและตอบให้ตรงคำถาม อย่าลืมเช็คเรื่องแกรมม่า การผันกิริยา เครื่องหมายจุลภาค (,) เครื่องหมายจุด (.) รวมถึงอักษรตัวใหญ่เมื่อขึ้นประโยคใหม่
การฝึกพาร์ท KNM
อ่านเนื้อหาในหนังสือ Welkom in Nederland ประกอบกับการฟังวิดีโอและแปลซับภาษาไทยในยูทูปไปด้วย (KNM examen boek inburgering A2 Audio) ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันก็อ่านจบทั้ง 10 บท จากนั้นก็ทำแผนสรุปเนื้อหาแต่ละเรื่อง รวมไปถึงคำศัพท์เฉพาะ วิธีการนี้ทำให้จำเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น หรือถ้าไม่อยากลืมคำศัพท์สามารถเขียนโน้ตแปะไว้ตามที่ต่าง ๆ ในบ้าน เวลาเดินผ่านไปผ่านมาอย่างน้อยจะได้เห็นและซึมซับทุกวัน
หลังจากฝึกอ่านเนื้อหาในหนังสือ Welkom in Nederland จนมั่นใจในระดับหนึ่งแล้วก็ฝึกทำข้อสอบต่อในเว็บไซต์ของ Inburgeren ซึ่งมีทั้งหมด 2 แบบฝึกหัดด้วยกัน พอทำเสร็จก็สามารถตรวจคำตอบและดูคะแนนได้ด้วย รวมถึงเว็บไซต์อื่น ๆ เช่น Mediatheek Steunpuntvluchtelingendebilt และทำแบบฝึกหัดในยูทูปช่องต่าง ๆ โดยพิมพ์คำว่า “KNM inburgering examen oefenen” ซึ่งกดฝึกได้ทุกวันเลย
การอ่านหนังสือ Welkom in Nederland ถ้าไม่ถนัดเนื้อหาในส่วนไหนแนะนำให้อ่านและทำความเข้าใจเยอะ ๆ เพราะเมื่อเวลาไปทำข้อสอบจริงแล้วเราไม่เข้าใจในเรื่องนั้นจริง ๆ เราจะเกิดความสับสน เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องบ้าน บ้านที่เนเธอร์แลนด์มีกี่แบบ การเช่าบ้านหรือการซื้อบ้านทำได้อย่างไร สามารถค้นหาบ้านเช่าได้ที่ไหน ต้องไปติดต่อหน่วยงานไหนในการช่วยหาบ้าน ถ้าค่าเช่าบ้านแพงไปจ่ายไม่ไหวต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน เมื่อเช่าบ้านแล้วมีอุปกรณ์ในบ้านเสียหายควรทำอย่างไร จำเป็นต้องมีประกันเกี่ยวกับบ้านไหม เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาพวกนี้เราสามารถหาอ่านเพิ่มเติมในอินเทอร์เนตหรือฟังในยูทูปเพิ่มเติมได้ เช่น เว็บไซต์ NPO Kennis แพลตฟอร์มความรู้เรื่องต่าง ๆ สำหรับการใช้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ มีวิดีโออธิบายเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อ ซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับการสอบ KNM
เทคนิคในการทำข้อสอบพาร์ท KNM → อ่านคำถามก่อน จากนั้นดูคำตอบและรูปภาพประกอบ แล้วเปิดฟังวิดีโอในแต่ละข้อ (ถ้าข้อไหนตอบได้โดยที่ไม่ต้องฟังวิดีโอก็ตอบเลย ช่วยประหยัดเวลา) เมื่อได้คำตอบแล้วให้กดไปทำข้อต่อไปเลยไม่ต้องฟังวิดีโอให้จบ เพราะเวลาอาจจะไม่พอถ้าคิดนานเกินกว่าข้อละ 1 นาที สำหรับตัวเลือก 3 ข้อที่โจทย์ให้มา ถ้าไม่รู้คำตอบที่ถูกต้องให้ใช้วิธีการตัดตัวเลือกที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดออกไป และถ้ามีเวลาเหลืออย่าลืมทบทวนคำตอบอีกรอบ ใช้เวลาทุกนาทีให้มีค่าที่สุด จะมีการแจ้งเตือนเวลา 15 นาทีที่เหลือ และก่อนหมดเวลา 1 นาที
การสมัครสอบภาษาดัตช์ระดับ A2
- สมัครโดยตรงที่เว็บไซต์ Inburgeren
- เลือกปุ่มสีเขียวที่มีคำว่า Log in to Mijn Inburgering
- ลงชื่อเข้าใช้งานด้วยบัญชี DigiD
- เลือกหัวข้อ Exam จากนั้นเลือก View
- เลือกหัวข้อการสอบที่ต้องการจากนั้นกดคำว่า More information
- กดคำว่า Register เพื่อไปยังหน้าค้นหาสถานที่และเวลาในการสอบ
- เลือกสถานที่และเวลาในการสอบ จากนั้นกดคำว่า Continue ไปยังหน้าจ่ายเงิน
- กดจ่ายเงิน สามารถจ่ายผ่าน iDeal บัญชีธนาคารในเนเธอร์แลนด์
- เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยระบบจะส่งข้อมูลการสมัครไปยังอีเมล์ของเรา
- หากต้องการเปลี่ยนแปลงวันที่สอบสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ Inburgeren 14 วันล่วงหน้าก่อนวันสอบจริง








เอกสารที่นำติดตัวไปสอบภาษาดัตช์ระดับ A2
- บัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (Verblijfstitel)
- จดหมายยืนยันการลงทะเบียนการสอบจาก DUO
- ควรไปถึงสถานที่สอบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 นาที
- ห้ามนำสิ่งของเข้าห้องสอบ เช่น กระดาษปากกา หนังสือเรียน เสื้อคลุม นาฬิกาหรือโทรศัพท์มือถือ ต้องเก็บสิ่งของเหล่านี้ต้องเก็บไว้ในตู้เก็บของ
สถานที่สอบภาษาดัตช์ระดับ A2
สามารถเลือกสอบได้ตามเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น Amsterdam, Eindhoven Centre, Eindhoven, Kastelenplein, Rijswijk, Rotterdam, Utrecht และ Zwolle
การสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 สามารถเลือกสอบได้ความถนัด หรือฝึกฝนจนมั่นใจแล้วเลือกไปพร้อมกันในวันเดียวเลยก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่ามีวิธีการเรียนภาษาดัตช์แบบไหน สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือให้นึกอยู่เสมอว่าการฝึกฝนวันละเล็กวันละน้อย เป็นการเพิ่มพูนความรู้และความมั่นใจในภาษาดัตช์ได้ดี ควรเริ่มต้นพูดภาษาดัตช์ทุกวัน เพราะเมื่อเราสอบผ่านแล้วก็ยังต้องนำไปใช้ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน หวังว่ารายละเอียดทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในการสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 มากยิ่งขึ้น และขอให้ทุกคนโชคดีกับการสอบและสอบผ่านทุกพาร์ทค่ะ Succes!