สำหรับออแพร์ที่กำลังย้ายไปอยู่เนเธอร์แลนด์ เมื่อวีซ่าและตั๋วเครื่องบินพร้อมแล้ว ต่อไปก็มาถึงขั้นตอนการจัดกระเป๋าเดินทางกันบ้าง สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเลยก็คือ นำไปเฉพาะของใช้ที่จำเป็นแล้วค่อยไปหาซื้อของใช้อื่น ๆ ที่เนเธอร์แลนด์แทน วิธีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและน้ำหนักกระเป๋าไปได้เยอะเลย และแน่นอนว่าจากประสบการณ์ตรงที่ลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการจัดกระเป๋าเดินทางเพื่อไปใช้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์มาแล้วหลายรอบ เราจะมาบอกทุกอย่างที่ช่วยให้การจัดกระเป๋าออแพร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น
การจัดกระเป๋าเดินทางออแพร์เนเธอร์แลนด์
น้ำหนักกระเป๋าเดินทาง
ก่อนวางแผนจัดกระเป๋าเดินทางอยากให้ถามตัวเองก่อนว่าต้องการเอาของไปด้วยมากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือมาก แนะนำให้จองตั๋วกับสายการบินที่อนุญาตให้โหลดน้ำหนักกระเป๋าได้เยอะ ๆ เช่น EVA Air สามารถโหลดน้ำหนักกระเป๋าใต้เครื่องได้ฟรี 40 กิโลกรัม แต่ถ้าแบบเอาไปไม่เยอะก็ได้ค่อยไปหาซื้อทีหลัง น้ำหนักกระเป๋าประมาณ 30 กิโลกรัมก็เพียงพอที่จะขนของใช้จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ 1 ปี
ขนาดกระเป๋าเดินทาง
จากน้ำหนักกระเป๋าเดินทางต่อไปก็มาถึงขนาดกระเป๋าเดินทางกันบ้าง ถ้าไม่อยากลากกระเป๋าใบใหญ่ ๆ อาจจะเลือกซื้อขนาดเล็กสองใบแล้วเฉลี่ยน้ำหนักให้พอดีสำหรับการโหลดใต้เครื่องฟรี แต่ถ้ากระเป๋าสองใบดูเหมือนจะไม่สะดวกอาจจะเลือกซื้อแบบใบใหญ่ขนาด 28 นิ้วไปเลย พอถึงเนเธอร์แลนด์แล้วส่วนใหญ่โฮสต์จะไปรอรับที่สนามบิน ทำให้ไม่ต้องลำบากเข็นกระเป๋าหนัก ๆ ขึ้นรถไฟ
ถุงสุญญากาศ
ช่วยประหยัดพื้นที่กระเป๋าและสามารถใส่เสื้อแจตเกตหนา ๆ ลงไปในกระเป๋าเดินทางได้หลายตัว ถุงสุญญากาศมีหลายแบบ เช่น แบบมีช่องดูดลม แบบพับไล่ลม และแบบแถบเลื่อน ราคาชิ้นละประมาณ 60 บาท แนะนำให้เลือกแบบเหนียวทนทานไม่ขาดง่าย และสามารถนำมาใช้งานได้ซ้ำ กดเพื่อค้นหาถุงสุญญากาศราคาประหยัดพร้อมเครื่องสูบไฟฟ้าคุณภาพสูงตอนนี้
อ่านคำแนะนำ → การเตรียมตัวก่อนย้ายไปอยู่เนเธอร์แลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในแดนกังหันลม
อย่าลืมเช็คฤดูกาลในเนเธอร์แลนด์
ฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม–มิถุนายน)
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 10-22 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่ดอกไม้กำลังบาน ใบไม้กลับมาผลิใบอีกครั้ง สภาพอากาศส่วนใหญ่ยังคงแปรปรวนและหนาวสำหรับคนไทย ควรเตรียมเสื้อแจ็คเกตมาด้วยอย่างน้อยหนึ่งตัว บางวันมีแสงแดดจัด บางวันมีเมฆครึ้มและฝนตกตลอดทั้งวัน เนื่องจากที่เนเธอร์แลนด์มีความชื้นสูงและฝนตกตลอดทั้งปี ส่วนแสงแดดเริ่มหมดเวลาประมาณสามทุ่มครึ่งหรืออาจจะช้ากว่านั้น ถ้าใครมาเที่ยวช่วงนี้จะตรงกับเทศกาลดอกทิวลิปพอดี
ฤดูร้อน (ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน)
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส เป็นฤดูกาลที่อบอุ่นและคึกคักที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ผู้คนมีช่วงวันหยุดยาวและวางแผนท่องเที่ยว ชาวดัตช์ส่วนใหญ่ชอบออกมานั่งรับแสงแดดนอกบ้านหรือไปปิคนิคที่สวนสาธารณะ ตามชายหาดร้านค้าและร้านอาหารส่วนใหญ่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
ฤดูใบไม้ร่วง (ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม)
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 5-15 องศาเซลเซียส ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีและร่วงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเอาตัวรอดในหน้าหนาว อากาศเริ่มเย็นลงและมีฝนตกโดยส่วนมาก อย่างไรก็ตามเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่สวยงาม นักท่องเที่ยวชอบเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศใบไม้เปลี่ยนสี
ฤดูหนาว (ระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม)
อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณลบ 5-15 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่หนาวจัดและอาจมีหิมะตก พระอาทิตย์ขึ้นช้ากว่าปกติ แสงแดดเริ่มหมดตอนประมาณสี่โมงเย็น บรรยากาศโดยทั่วไปเงียบและหนาวจัด ร้านค้าและร้านอาหารปิดประมาณหกโมงเย็น ใครที่อยากเดินทางมาชมหิมะตกในช่วงนี้อาจจะต้องคอยติดตามดูสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหิมะตกไม่ทุกปี (บางปีก็ตกปีเว้นปี) ส่วนอุณหภูมิจะลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในบางครั้งเท่านั้น
เสื้อผ้าที่ควรจัดเตรียม
- ชุดชั้นใน 7 ชุด เสื้อซับในและกางเกงซับใน 2 ชุด
- ชุดออกกำลังกาย 1 ชุด รองเท้าออกกำลังกาย 1 คู่
- ชุดนอน 2 ชุด เสื้อแขนสั้น 3 ตัว กางเกงวอร์ม 2 ตัว
- กางเกงยีนส์ 5 ตัว กางเกงขาสั้น 2 ตัว
- เสื้อ Sweater 2 ตัว เสื้อ Hoodie 1 ตัว เสื้อ Heattech ของยูนิโคล 2 ตัว
- เสื้อแจ็คเกตสำหรับหน้าหนาว 1 ตัว เสื้อแจ็คเกตแบบกันลม 1 ตัว
- ชุดเดรส (เอาไปเผื่อเวลาไปทานอาหารเย็นนอกบ้าน) 1 ชุด รองเท้าส้นสูง 1 คู่
- ถุงเท้าแบบยาวสำหรับหน้าหนาว 5 คู่ และถุงเท้าแบบสั้นสำหรับใส่ในบ้าน 5 คู่
- รองเท้า Sneaker 1 คู่ รองเท้าแตะ 1 คู่ (เอาไว้ใส่หน้าร้อน)
- ผ้าขนหนู 1 ผืน ถุงมือหน้าหนาว 1 คู่ และผ้าพันคอ 1 ผืน
เสื้อผ้าตามลิสต์ข้างต้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามไฟล์สไตล์ของแต่ละบุคคล อย่างเช่นเสื้อแจ็คเกตสำหรับหน้าหนาว ถ้ายังไม่มีมากก่อนสามารถมาหาซื้อที่นี่ได้ และที่สำคัญราคาไม่แพงมาก เช่นเดียวกับรองเท้า Sneaker กางเกงยีนส์ เสื้อ Heattech มีขายในร้านยูนิโคลที่นี่เช่นกัน ในแต่ละฤดูกาลก็มีเสื้อผ้าลดราคาให้เลือกมากมาย ราคาถูกกว่าที่ไทยประมาณ 15-30%
ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่าร้านค้าในประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นอย่างไร แวะไปอ่านข้อมูลและรูปภาพก่อนได้ที่ → คู่มือการชอปปิงในเนเธอร์แลนด์
ร้านขายเครื่องสำอางและสกินแคร์ในเนเธอร์แลนด์
เรื่องความสวยความงามเป็นของคู่กันกับสาว ๆ ถ้าอยากซื้อเครื่องสำอางและสกินแคร์ดูแลผิวในเนเธอร์แลนด์สามารถเลือกได้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายเครื่องสำอางและน้ำหอมที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น De Bijenkorf, Skins Cosmetics, Lookfantastic, Douglas, ICI Paris XL, Etos และ Kruidvat ที่สำคัญเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่ขายในเนเธอร์แลนด์มีมาตรฐานความปลอดภัย ใช้แล้วคุ้มคุณภาพและยังมีโปรโมชั่นที่หลากหลายให้เลือกอีกด้วย
อย่ารอช้าที่จะดูแลตัวเอง Lookfantastic International รวมแบรนด์เครื่องสำอาง สกินแคร์ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและความงามในราคาประหยัด มาพร้อมโปรโมชั่นหลากหลายทุกเดือน พิเศษ! ใช้ลิงก์นี้หรือโค้ด MONTIRA-RE เพื่อรับส่วนลด 5% เมื่อสั่งซื้อสินค้าครั้งแรกตั้งแต่ 25 ยูโรขึ้นไป
ผ้าอนามัย
สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตดัตช์ มีให้เลือกหลายแบบสำหรับใช้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่อาจจะไม่มีแบบหนามากหรือยาวมากเหมือนที่ไทย สามารถเตรียมแบบที่ใช้ประจำมาจากไทยเผื่อใช้ประมาณ 1-2 เดือน และมาซื้อใช้สลับกับของที่นี่
คอนแทคเลนส์
สำหรับคนที่ต้องใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำแนะนำเตรียมมาให้ครบหนึ่งปี หรือเตรียมมาบางส่วนสำหรับใช้ประมาณ 1-3 เดือนไปก่อน แล้วค่อยมาหาซื้อเพิ่มเติมจากที่นี่ได้ตามร้านค้าและร้านขายยา เช่น Etos, Kruidvat, HEMA มีทั้งแบบรายเดือนและรายวัน และส่วนมากเป็นคอนแทคเลนส์แบบใส
ครีมกันแดด
แดดเนเธอร์แลนด์อาจจะไม่ร้อนแรงเท่าแดดที่ไทย แต่ครีมกันแดดยังคงมีความจำเป็นเสมอ สำหรับใครที่มีครีมกันแดดที่ใช้อยู่เป็นประจำและหาซื้อยากที่นี่ เช่น Biore แนะนำให้เตรียมมาเผื่อ 1-3 เดือน และค่อยหาซื้อแบรนด์อื่น ๆ เพิ่มเติมทีหลัง ส่วนครีมกันแดดสำหรับผิวกายของที่นี่มีให้เลือกหลากหลาย
ครีมทาผิว
แนะนำให้เตรียมแบบที่ใช้ประจำมาประมาณ 1-2 ขวด เพราะว่าครีมทาผิวของที่นี่ส่วนมากเป็นแบบช่วยสร้างความชุ่มชื่นให้กับผิว (โดยเฉพาะหน้าหนาวผิวแห้งง่าย) และยังเน้นส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวกระจ่างใส หรือเน้นความขาวเหมือนของบ้านเรา
อาหารแห้งและผงปรุงรส
เราซื้อมาเยอะมากแต่สุดท้ายต้องเอาออกเพราะน้ำหนักกระเป๋าเกิน พอมาถึงที่นี่แล้วค้นพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตขายสินค้าเอเชีย (Amazing Oriental Supermarket) ที่รวมเครื่องปรุงและอาหารแห้งจากไทยไว้เยอะมาก ย้ำว่ามากจริง ๆ ในส่วนของราคานั้นอาจจะแพงกว่าไทยเท่าตัว โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งราคาจะสูงเป็นพิเศษ แต่ข้อดีก็มีหลายอย่างคือมีสินค้าหายากให้เลือกซื้อ เช่น หมูยอ เต้าหู้ไข่ มะขามเปียก น้ำพริกเผา ใบกะเพรา ซอสปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าไปชอปปิงที่นี่ได้วัตถุดิบและเครื่องปรุงมาทำอาหารไทยเพียบเลย
อาหารแห้งและผงปรุงรสที่เตรียมมาจากไทยควรซื้อแบบที่บรรจุในซองสุญญากาศ หรือซองสำเร็จรูปที่ยากต่อการฉีกขาด หรือการแตกหัก เช่น ผงปลาแห้ง ปลากรอบ กุ้งแห้ง หมูเส้น หมูฝอยทอดกรอบ น้ำพริกต่าง ๆ รวมถึงเครื่องดื่มสำเร็จรูปเตรียมรสชาติที่ชอบมาเยอะ ๆ
ประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้แรงดันไฟฟ้ามาตรฐาน 230 โวลต์ ความถี่มาตรฐาน 50 เฮิรตซ์ ใช้เต้าเสียบปลั๊กไฟประเภท C และ F นักเดินทางที่มาจากประเทศนอกยุโรป ควรเตรียมหัวปลั๊กแปลงไฟรอบโลกสำรองมาด้วย 1-2 ชิ้น
เอกสารสำคัญที่ควรเตรียมเช่นกัน
รวบรวมทุกอย่างใส่ในแฟ้มเพื่อความสะดวกในการค้นหา
พาสปอร์ต
ตรวจเช็ควันที่พาสปอร์ตจะหมดอายุ (ควรใช้เดินทางได้ก่อนถึงวันหมดอายุประมาณ 1 ปี) อย่าลืมถ่ายเอกสารไปเผื่อประมาณ 5 ชุดเผื่อใช้ในกรณีจำเป็น และควรแยกจัดเก็บระหว่างกระเป๋าเดินทางที่นำขึ้นเครื่องและกระเป๋าเดินทางที่โหลดใต้เครื่อง เพราะถ้าเกิดกรณีกระเป๋าเดินทางมาถึงล่าช้าหรือสูญหายจะได้มีชุดเอกสารสำรองไว้กับตัว
ตั๋วเครื่องบิน
เช็ควันที่และเวลาในการเดินทางให้มั่นใจ ควรเช็คอินออนไลน์และเดินทางไปถึงสนามบินก่อนเวลาเดินทางจริงประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น น้ำหนักกระเป๋าเดินทางเกิน หรือลืมเอกสารจะได้มีเวลาแก้ไขทัน
บัตรและเอกสารที่แปลและรับรองเอกสารแล้ว
รวมถึงใบเกิดตัวจริง ใบเกิดที่แปลและรับรองเอกสารแล้ว ตลอดจนบัตรประชาชน บัตรเครดิตสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และเงินสำรองเผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เนเธอร์แลนด์
เอกสารการทำงาน
ครอบคลุมถึงเอกสารข้อตกลงและตารางเวลาการทำงานของออแพร์ คู่มือออแพร์ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เอเจนซี่ส่งให้ (ถ้ามี) และคู่มือและแผนที่เที่ยวในเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
ข้อมูลติดต่อ
เช่น ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อโฮสต์ ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อสถานทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์
ยาที่ควรเตรียมมา
นอกจากเรื่องอาหารและผงปรุงรสแล้ว ยาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ในเนเธอร์แลนด์มีร้านขายยากระจายอยู่ทั่วประเทศ ยาสามัญประจำบ้านส่วนใหญ่สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ส่วนยาบางประเภทต้องมีใบสั่งยาประกอบ
คนที่มียาทานเป็นประจำอยู่แล้วแนะนำให้เตรียมมาด้วย รวมถึงยาสามัญอื่น ๆ ที่อาจได้ใช้ในกรณีจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ ยาธาตุน้ำขาว ยาแก้ปวดท้องประจำเดือน (ที่นี่มีขายเรียกว่า ibuprofen) ยาแก้ท้องเสีย เกลือแร่ แอนตาซิล ยาแก้เจ็บคอ ยาหม่อง ยาดม และเคาน์เตอร์เพนครีมทาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ของฝากสำหรับโฮสต์
เราเลือกซื้อที่ตลาดนัดจตุจักร มีสินค้าแบบไทย ๆ ให้เลือกซื้อมากมาย เช่น ผ้าพันคอสำหรับโฮสต์แม่ ผ้าขาวม้าคาดเอวสำหรับโฮสต์พ่อ กางเกงนักมวยสำหรับน้องผู้ชาย รวมถึงต่างหูและที่คาดผมสำหรับน้องผู้หญิง
ธุรกรรมทางการเงินและมือถือ
เตรียมความพร้อมธุรกรรมทางการเงินเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเมื่อไปอยู่เนเธอร์แลนด์
จัดการบัญชีธนาคารและค่าธรรมเนียมบัตร ATM รายปี
ที่อาจจะมีค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 200-300 บาทต่อปี และถ้าคาดว่าจะไม่ได้ใช้งานบัญชีธนาคารเหล่านั้นแล้ว อาจจะยกเลิกบัตร ATM และคงไว้แค่บัญชีธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์แทน หรือเหลือบัตร ATM ไว้ประมาณ 1-2 ใบกับธนาคารที่ใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อเอาไว้ใช้กดเงินในกรณีที่เราต้องเดินทางกลับมาไทยในอนาคต
จัดการค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตและช่องทางการรับหมายเลข OTP
ถ้ามีค่าใช้จ่ายหรือยอดเงินบัตรเครดิตที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ควรจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้หมดก่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระเมื่อย้ายไปอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ รวมถึงช่องทางรับหมายเลข OTP เมื่อต้องใช้บัตรเครดิตซื้อของออนไลน์ (ปกติจะเป็นทางหมายเลขโทรศัพท์) ควรติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งเปลี่ยนช่องทางการรับหมายเลข OTP เป็นทางอีเมล์แทน หรืออีกวิธีก็คือเปิดรับ Dual SIM (SIM ปกติ + eSIM) เพื่อตั้งค่าให้เบอร์ไทยสามารถรับ SMS จากต่างประเทศได้
รักษาเบอร์มือถือ
ซิมการ์ดไทยเมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นประจำอาจทำให้เบอร์ถูกยกเลิกได้ สำหรับใครที่ต้องการเก็บเบอร์มือถือไว้ทำได้โดยติดต่อบริษัทเครือข่ายที่ใช้งานอยู่เพื่อสอบถามข้อมูลการรักษาซิมการ์ด ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีแพ็คเกจและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป หรืออีกหนึ่งวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายก็คือการเปลี่ยนแพ็คเกจมือถือจากแบบรายเดือนเป็นแบบเต็มเงินแทน และเต็มเงินเข้าไปจนมีวันครบหนึ่งปี (หรือมากกว่านั้นตามความต้องการ) เพื่อให้มีวันเหลือครอบคลุมระยะเวลาที่เราจะไปใช้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อกลับมาที่ไทยเบอร์มือถือของเราจะยังสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม
การเดินทางไปเนเธอร์แลนด์เที่ยวบินตรงใช้เวลาประมาณ 11-12 ชั่วโมง แนะนำให้เตรียมเสื้อกันหนาวสำหรับใส่บนเครื่อง ผ้าปิดตา ที่อุดหูสำรอง รวมถึงหนังสือสำหรับอ่าน 1-2 เล่ม เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วอย่าลืมเตรียมความมั่นใจที่จะออกเดินทางไปใช้ชีวิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในหนึ่งปีต่อจากนี้จะเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของน้อง ๆ ไปไม่มากก็น้อย และมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รอให้เราไปค้นหาและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เจอกันที่แดนกังหันลมนะคะ Tot Ziens!