เมื่อย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์และต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ หลายคนอาจจะได้เรียนรู้ลักษณะพื้นฐานของชาวดัตช์ในมุมที่หลากหลายและชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านการทำงาน การใช้ชีวิตกับครอบครัวที่บ้าน รวมถึงการพบปะผู้คนในสังคม หรือแม้กระทั่งการสอบบูรณาการพลเมืองเธอร์แลนด์ที่รวมวิชาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถปรับตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมดัตช์มากที่สุด เช่นเดียวกับในบทความนี้ที่จะมาเล่าถึงความเป็นดัตช์ จะไม่กล่าวถึงเฉพาะการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาของชาวดัตช์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงในส่วนของสังคมความเสมอภาค ที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของชาวดัตช์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติทางการเมืองและการทำธุรกิจ รวมถึงวัฒนธรรมแปลกใหม่ที่หลายคนจะได้สัมผัสด้วยตัวเองเมื่อมาอยู่ที่นี่
นิสัยของชาวดัตช์ (ผู้คนและวัฒนธรรม)
การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา
ชาวดัตช์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาทั้งในชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน เวลาที่คิดอะไรจะพูดออกมาชัดเจนโดยไม่ประดิษฐ์คำพูด เช่น ถ้าสวยก็บอกว่าสวย ถ้าดีก็บอกว่าดี จะไม่ตอบอะไรที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง บางครั้งความตรงไปตรงมาเหล่านี้ก็อาจดูเหมือนหยาบคายหรือขวานผ่าซาก
พวกเขายังให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างและความโปร่งใส ซึ่งเป็นค่านิยมที่สะท้อนให้เห็นในแนวปฏิบัติทางธุรกิจและการเมือง ความตรงไปตรงมาของชาวดัตช์ยังรวมไปถึงการแสดงออกโดยตรงทางภาษากายและสีหน้า เช่น การสบตากับผู้พูด ยืนใกล้กับผู้อื่น และใช้ท่าทางมือที่แสดงความรู้สึกเพื่อเน้นย้ำประเด็น
การใช้คำพูดที่อ้อมค้อมเพื่อสารกับชาวดัตช์อาจถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์หรือไม่จริงใจ และอาจถูกตีความหมายทางอ้อมว่าเป็นการขาดความเคารพหรือขาดความมั่นใจ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ชาวดัตช์ทุกคนจะพูดตรงเหมือนกันหมด บางคนอาจปรับรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะกับผู้คนจากวัฒนธรรมอื่น ทั้งนี้การตระหนักเรื่องความตรงไปตรงเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นสามารถช่วยลดช่องว่างของรูปแบบการสื่อสารที่แตกต่างได้ดี
ผู้คนมีความคิดแบบปัจเจกชน (เอาตัวเองเป็นหลักก่อน)
ชาวดัตช์มีแนวโน้มที่จะเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง กล้าที่จะแสดงออกและมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมีแนวทางการใช้ชีวิตแบบปฏิบัติจริงโดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือหลักการ ใขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนและเสรีภาพส่วนบุคคล โดยใส่ใจกับความต้องการและเป้าหมายของตัวเองมากกว่าครอบครัวหรือสังคม
เวลาที่จะทำอะไรทุกคนจะมีตารางเวลาเป็นของตัวเองและดูเหมือนว่าพวกเขาจะยุ่งอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นพอมาอยู่ในเรื่องการนัดหมายหรือวางแผนอะไรจะคิดถึงตารางเวลาของตัวเองก่อนว่าทำได้ไหม ถ้าตกลงเรื่องวันนัดหมายไม่ได้พวกเขามักจะใช้เว็บไซต์ Datumprikker เพื่อเลือกวันที่ทุกคนว่างตรงกัน
ความเป็นปัจเจกชนยังรวมไปถึงเวลามีครอบครัวเดี่ยวที่แยกออกจากครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าตายาย (ในภาษาดัตช์เรียกว่า ‘gezin’) และไม่มีภาระผูกพันหรือโดนกดดันจากสังคมว่าต้องเลี้ยงดูแลพ่อแม่ ฟังดูแล้วอาจจะแตกต่างจากค่านิยมทางเอเชีย แต่ที่นี่เป็นแบบนี้จริงๆ นั้นอาจเป็นเพราะว่ามีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กรวมไปถึงสวัสดิการในการดูแลเด็ก ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะลำบากในอนาคต
ชาวดัตช์ไม่นิยมอวดรวย
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าคนดัตช์ขี้เหนียว ประโยคนี้ฟังแล้วไม่ไกลเกินความเป็นจริง คนที่นี่ไม่นิยมแสดงสถานะทางการเงินของตัวเองให้คนอื่นรู้แล้วก็มีความถ่อมตนในเรื่องความร่ำรวย พูดง่าย ๆ คือรวยแล้วแต่ยังทำตัวเหมือนคนปกติ ใส่เสื้อผ้าปกติ ไม่ใช้สิ่งของแบรนด์เนม และรู้จักวางแผนการเงินของตัวเอง สิ่งนี้สอดคล้องกับประโยคดัตช์ที่ว่า ‘Doe maar gewoon, dan doe je al gek genoeg!’ (Act normal that’s crazy enough!”) แปลเป็นภาษาไทยก็คือ “ไม่ต้องเยอะ! ทำตัวตามปกติ เราแปลกมากพอแล้ว!”
คนดัตช์เป็นมิตรแต่ยากที่จะเป็นเพื่อนด้วย
ประโยคนี้ฟังแล้วอาจดูเหมือนใจร้ายแต่ในความใจร้ายนั้นมีที่มาที่ไป ชาวดัตช์เป็นมิตรกับชาวต่างชาติและสามารถสร้างบทสนทนาได้ง่าย พวกเขายอมรับผู้คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและสีผิว แต่ยากที่จะเป็นเพื่อนด้วย ในความเป็นจริงนั้นชาวดัตช์มีสังคมเป็นของตัวเองและนิยมไปมาหาสู่เฉพาะกลุ่มเพื่อนของตัวเอง ไม่ค่อยนิยมเปิดรับเพื่อนใหม่มากเท่าไรนัก การที่เราจะเป็นเพื่อนกับชาวดัตช์จึงค่อนข้างใช้เวลา ถ้าหากเราพูดภาษาดัตช์ไม่ได้แล้วอาจจะเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก แต่ถ้าหากได้เป็นเพื่อนแล้วก็เป็นนานเลย
ผู้หญิงดัตช์มีความมั่นใจสูง
ถ้าพวกเธอต้องการอะไรจะทำสิ่งนั้นหรืออธิบายความต้องการของตัวเองออกมาอย่างชัดเจนแบบไม่ต้องให้อีกฝ่ายเดาใจเอง ความมั่นใจในที่นี่ยังรวมไปถึงความเป็นธรรมชาติที่ไม่ได้แต่งเติมอะไรมากนัก (และหน้าสดยังคงยังคงดูดี) หรือแต่งแบบบาง ๆ แต่พอถึงเวลาออกงานก็จะแต่งหน้าจริงจังเปลี่ยนเป็นคนละคนเลย
ความมั่นใจของผู้หญิงดัตช์ยังรวมถึงการยืนหยัดด้วยตัวเองได้เวลาที่มีแฟนหรือมีครอบครัว พวกเธอจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายว่าต้องดูแลฉันอย่างเดียว ฉันสามารถดูแลตัวเองได้ เราแบ่งปันค่าใช้จ่ายในครอบครัวและดูแลซึ่งกันและกัน
ไม่มีค่านิยมความผอม
ชาวดัตช์ไม่มีค่านิยมเรื่องความผอม มาตรฐานเรื่องความสวยแตกต่างจากเอเชีย พวกเขามั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และไม่สนใจว่าผู้คนจะมองอย่างไร พวกเขาแต่งกายแบบที่ตัวเองชอบ ส่วนมากมักเน้นความเป็นผู้ใหญ่ ความน่ารักแบบใส ๆ หาได้ยากมากที่นี่ เมื่อบวกกับรูปร่างที่สูงของชาวดัตช์แล้วทำให้พวกเขาดูโตและมีความเป็นผู้ใหญ่เกินกว่าอายุ การแต่งกายแบบฉบับวัยรุ่นดัตช์นิยมสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ เสื้อแจ็คเกตและรองเท้าผ้าใบสีขาว สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นเทรนท์ที่มองไปทางไหนก็ต้องเจอ ในช่วงซัมเมอร์พวกเธอนิยมใส่ชุดเดรส (แม้จะต้องปั่นจักรยานก็ยังใส่เดรส)
ผู้คนยังนิยมรูปร่างที่มีสัดส่วนทรวดทรงองค์เอว นั้นอาจมาจากค่านิยมของการมีลูกที่เชื่อว่าผู้หญิงที่มีสะโพกใหญ่จะมีความแข็งแรงในการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ง่าย พวกเขาจึงไม่มีค่านิยมการลดน้ำหนักแต่เน้นการออกกำลังกายให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีกล้ามเนื้อที่ชัดเจน และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้แบบมั่นใจโดยไม่มีบรรทัดฐานเรื่องความสวยจากสังคม
การโฆษณาสินค้าตามสื่อต่าง ๆ ยังเน้นนางแบบที่มีความเป็นธรรมชาติคล้ายกับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นดาราให้มากที่สุด บางครั้งเราก็จะเห็นว่าโฆษณาครีมทาหน้าไม่ได้ลบริ้วรอยบนใบหน้าของนางแบบและยังคงแสดงให้เห็นถึงสภาพผิวที่แท้จริงด้วยซ้ำ เพราะว่าดูดีเกินความเป็นจริงก็จะแปลกไปจากปกติ พอแปลกไปจากปกติผู้คนก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่เหมือนจริง สื่อโฆษณาก็เลยสะท้อนมุมมองของสังคมที่มีต่อค่านิยมเรื่องรูปร่างและความผอมด้วย
ตรงต่อเวลา (เพราะเวลาคือเงิน)
การตรงต่อเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมของชาวดัตช์ การพบปะกับชาวดัตช์ถ้านัดเวลาไว้ที่สิบโมงเช้าควรไปถึงเวลาสิบโมงเช้า ไม่ควรไปก่อนเวลาหรือไปสาย การไม่ตรงต่อเวลาแสดงถึงความไม่รับผิดชอบและความไม่เป็นมืออาชีพ ถ้าไม่สามารถไปตามเวลานัดหมายได้ควรโทรไปแจ้งให้อีกฝ่ายรู้ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะรออยู่ที่นั้น
ชาวดัตช์ยังมีมีคำกล่าวที่ว่า “tijd is geld” (เวลาคือเงิน) ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเคารพเวลาของผู้อื่น ค่านิยมนี้สะท้อนให้เห็นในแง่มุมต่างๆ ของสังคมดัตช์ เช่น ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อถือได้ และแนวโน้มในการประชุมและทำกิจกรรมต่างๆ ที่มักระบุเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดตรงเวลา
หลากหลายผิวพรรณและเชื้อชาติ
พอพูดถึงชาวดัตช์หลายคนอาจจะนึกถึงคนที่มีผมสีทอง ตาสีฟ้า ผิวขาวและสูง แต่จริง ๆ แล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องมีลักษณะดังกล่าวก็สามารถเป็นคนดัตช์ได้ กว่า 23% ของประชากรที่ถือพาสปอร์ตดัตช์ไม่ได้เกิดในเนเธอร์แลนด์ หรือพ่อแม่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวตุรกี โมร็อคโค ซูรินาม อินโดนีเซีย เยอรมัน และโปแลนด์ โดยไม่รวมถึงชาวดัตช์เชื้อสายอินโดนีเซียรุ่นแรกและรุ่นที่สอง ประเทศเนเธอร์แลนด์เปิดรับผู้อพยพเข้ามาอาศัยและทำงาน ซึ่งสามารถสามารถขอสัญชาติดัตช์ได้เมื่อมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน ผู้คนที่นี่จึงเต็มไปด้วยหลากหลายผิวพรรณและเชื้อชาติ
รัฐบาลยังมีการส่งเสริมสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับพลเมืองทุกคน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังหรือความแตกต่างทางวัฒนธรรม และให้ความสำคัญเกี่ยวกับเอกลักษณ์ประจำชาติที่อยู่เหนือเชื้อชาติและวัฒนธรรม
ผู้คนส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา
ประชากรเกินกว่าครึ่งในไม่นับถือศาสนาใด ๆ เลย รองลงมาคือชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ซึ่งแยกออกเป็นคริสตจักรปฏิรูป คริสตจักรโปรเตสแตนต์ และลัทธิคาลวิน ที่มีขนบธรรมเนียมการปฏิบัติบางอย่างเป็นของตัวเอง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นศาสนาอิสลามและศาสนาอื่น เช่น ฮินดู พุทธศาสนาและยิว
ถ้าจะพูดกันให้เห็นภาพก็คือที่เนเธอร์แลนด์จะไม่ปิดกั้นเรื่องศาสนา ไม่จำเป็นว่าถ้าพ่อแม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งแล้วลูกต้องนับถือศาสนานั้นตาม ตอนเด็ก ๆ ลูกอาจจะยังไปทำกิจกรรมในศาสนานั้นตามพ่อแม่ แต่พอโตขึ้นอายุ 18 ปีถ้ามีความเห็นต่างเรื่องศาสนาแล้วไม่กลายมาเป็นคนศาสนานั้นก็ได้ อันนี้จะสอดคล้องกับค่านิยมหลัก (Core values) ในสังคมดัตช์ที่ทุกคนมีอิสระในเรื่องความเชื่อและสามารถเลือกศาสนาของตัวเองได้หรือไม่เลือกก็ได้ หลายคนที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์จะได้เรียนรู้เรื่องนี้ในการอบรมเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมดัตช์ (Participation statement)
ชาวดัตช์สร้างประเทศ (ทุกอย่างถูกจัดเตรียมไว้หมดแล้ว)
หลายคนคงได้ยินประโยคที่ว่า “God created the world but the Dutch created the Netherlands” ประโยคนี้ฟังแล้วไม่ได้ไกลเกินความเป็นจริงเลย เพราะชาวดัตช์สร้างประเทศของตัวเองจริง ๆ กล่าวคือพื้นที่ในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศราบลุ่ม พื้นที่กว่าครึ่งมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและเคยประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมในอดีต ชาวดัตช์จึงวางแผนและจัดการเรื่องน้ำ เขื่อนถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยลดระดับน้ำออกจากพื้นที่อยู่อาศัย และสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนที่เราเห็นในปัจจุบันยังถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระเบียบ รวมไปถึงถนนหนทาง ลำคลอง แม้กระทั่งอุทยานแห่งชาติล้วนแล้วแต่ถูกวางแผนและสร้างขึ้นทั้งหมด
ช่วงเวลาแห่งความสุข (Gezellig)
‘Gezellig’ คำนี้อธิบายความหมายยากมาก แม้กระทั่งในภาษาอังกฤษเองก็ยังแปลความได้หลายความหมาย สำหรับในภาษาไทยเราให้นิยามคำนี้ว่า ‘ช่วงเวลาแห่งความสุข’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น การทานอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวก็ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งความสุข
ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากกิจกรรมกลุ่มเท่านั้น แต่อาจจะเป็นสิ่งเดียวก็ได้ เช่น บ้านที่อบอุ่นก็ทำให้รู้สึกมีความสุขได้ การได้ใช้เวลาร่วมกันมีเสียงหัวเราะก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง หรือเด็ก ๆ เล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนานก็เป็นความสุขได้เช่นกัน ชาวดัตช์เวลาทำอะไรมักจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนเราไปพบปะเพื่อนนั้นแหละเนาะที่อยากจะมีช่วงเวลาดี ๆ และสร้างเสียงหัวเราะให้กันและกัน
คนดัตช์ส่วนใหญ่ชอบแคมป์ปิ้ง
ช่วงหน้าร้อนอากาศดีเป็นพิเศษทำให้ชาวดัตช์มักจะไปออกแคมป์ปิ้งกับครอบครัว ประเทศที่เรามักจะพบเห็นพวกเขาคือฝรั่งเศสและอิตาลีเพราะว่าอากาศดีและเหมาะกับการแคมป์ปิ้ง เวลาไปแต่ละครั้งก็จะพาลูก ๆ ไปด้วย ส่วนคนที่อายุเยอะแล้วก็ไปกันแบบสองคนตายาย กิจกรรมระหว่างแคมป์ปิ้งคือการพักผ่อนอย่างเต็มที่ นอนอาบแดด อ่านหนังสือ ไปเดินป่าหรือปีนเขา ซึ่งแคมป์ปิ้งส่วนใหญ่ก็จะมีสิ่งอำนวยครบรวมไปถึงสนามเด็กเล่นที่ทำขึ้นมาเพื่อเด็ก ๆ โดยเฉพาะ
ชาวดัตช์ไม่นิยมใช้บัตรเครดิต
บัตรเครดิตในเนเธอร์แลนด์มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12-14% ต่อปี (แพงเลยทีเดียว) ผู้คนที่นี่จึงไม่นิยมซื้อของด้วยบัตรเครดิต แต่ส่วนมากจะใช้จองตั๋วเครื่องบินหรือเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็ไม่รับจ่ายด้วยบัตรเครดิต หากต้องการจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็มีค่าธรรมเนียม ตัวเลขการใช้จ่ายบัตรเครดิตที่นี่จึงต่ำมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป
การแต่งกายไม่ค่อยมีสีสันฉูดฉาด
ชาวดัตช์มีค่านิยมความเป็นผู้ใหญ่รวมไปถึงการแต่งกาย พวกเขาไม่ค่อยแต่งกายด้วยสีสันที่ฉูดฉาดมากนัก แต่กลับเป็นสีเข้ม เช่น สีน้ำเงิน สีดำ สีเทา หรือขาวแทน และพวกเขาดูดีแบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องพยามอะไรมาก เช่น แต่งกายเสื้อยืดกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ แต่ในขณะเดียวกันเวลาที่ต้องออกงานแบบจริงจัง พวกเขาจะแต่งกันแบบจัดเต็ม บริษัทบางแห่งอนุญาตให้พนักงานแต่งชุดธรรมดาไปทำงานได้แทนที่จะเป็นชุดแบบทางการ เช่น การสวมสูททุกวัน ยกเว้นหน่วยงานราชการที่ยังคงมีการแต่งกายแบบเรียบร้อยเป็นทางการ
ชาวดัตช์สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
ที่เนเธอร์แลนด์ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการ (ภาษาดัตช์: Nederlands) ทุกอย่างที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทาง ฉลากสินค้า จดหมายราชการ หนังสือพิมพ์ยังคงเป็นภาษาดัตช์ คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามตัวเมืองใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ตามตัวเมืองเล็ก ๆ เราอาจจะไม่ได้ยินภาษาอังกฤษมากเท่าไรนัก แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่มักใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนท้องถิ่น เว้นก็แต่ถ้ามาอยู่ในระยะยาวต้องเรียนภาษาดัตช์เพิ่มเติม
ภาษาดัตช์แบ่งออกเป็น 6 ระดับ คือ A1, A2, B1, B2, C1 และ C2 ระดับความยากง่ายไล่จากมากไปน้อย เริ่มตั้งแต่ก่อนย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ด้วยวีซ่าระยะยาว (MVV) ต้องมีผลสอบภาษาดัตช์ A1 ประกอบการขอวีซ่า (ขึ้นอยู่กับประเภทวีซ่าที่สมัคร) พอมาอยู่ที่เนเธอร์แลนด์แล้วมีภาระผูกพันธ์ตามกฎหมายในการสอบบูรณาการพลเมืองให้ภายผ่านใน 3 ปี ส่วนต้องสอบระดับไหนขึ้นอยู่กับปีที่ย้ายมา เช่น คนที่ย้ายมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2022 สอบภาษาดัตช์ระดับ A2 ส่วนคนที่ย้ายมาหลังจากนี้ สอบภาษาดัตช์ระดับ B1 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการมีส่วนร่วมที่ดีในสังคมดัตช์และสามารถใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ระยะยาวได้แบบไม่ลำบาก
สังคมและวัฒนธรรมของชาวดัตช์
สังคมที่เท่าเทียมกัน
เรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเนเธอร์แลนด์ สถานะทางสังคมและความเคารพเกิดจากการขัดเกล้าผ่านระบบการศึกษาและการทำงาน ไม่ได้ผ่านทางความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือวัยชรา เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีลำดับชั้นในการทำงาน อย่างไรก็ตามเรากล่าวในมุมมองของชาวดัตช์ตามประสบการณ์ที่ได้เจอมาในการทำงานที่นี่
การประกอบอาชีพในสายงานต่าง ๆ ไม่มีใครกล่าวว่าอาชีพที่ได้รับเงินเดือนน้อยเป็นอาชีพที่ด้อยค่า อาชีพทุกอาชีพมีความหมาย อาชีพคนเก็บขยะก็มีความหมาย เพราะเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้พื้นที่เกิดความสะอาด หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ขยะอาจจะเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง
ผู้คนที่นี่มองว่าคนเราได้เพิ่มประโยชน์อะไรให้กับสังคมมากไหม ไม่ได้มองจากความร่ำรวยหรือไม่ร่ำรวย หัวหน้าสามารถเดินมาหาลูกน้องโดยที่ไม่ต้องให้ลูกน้องเดินไปหาอย่างเดียว หรือลูกน้องมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการเป็นสังคมที่มีความเสมอภาค ตำแหน่งส่วนตัวและตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ถูกพิมพ์ลงไปในนามบัตร มีเพียงชื่อและนามสกุล ซึ่งบางครั้งเราแทบไม่รู้เลยว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยนั้นอาจจะมีตำแหน่งที่สำคัญก็เป็นไปได้
ในส่วนของความสัมพันธ์ไม่ได้มองว่าฝ่ายหญิงต้องทำงานบ้านอย่างเดียว แล้วฝ่ายชายไม่ทำงานบ้านเลย หรือฝ่ายชายทำคนเดียวฝ่ายหญิงไม่ช่วยแบ่งเบา ในทางตรงกันข้ามต่างคนต่างช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกัน เพราะหน้าที่ในครอบครัวไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ความเท่าเทียมในครอบครัวจากพ่อแม่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาแนวความคิดพื้นฐานของลูก พอโตไปพวกเขาจะไม่เอาเปรียบคนในความครอบครัวรวมไปถึงสังคมเมื่อต้องออกเผชิญโลกภายนอก
จูบทักทายสามครั้ง
ตามธรรมเนียมชาวดัตช์การทักทายแรกพบคือการจูบแก้มสามครั้ง โดยแนบแก้มของเราไปยังแก้มของอีกฝ่ายและทำเสียงจุ๊บเบา ๆ เริ่มจากแก้มซ้ายไปแก้มขวาและวนกลับมาที่แก้มซ้ายอีกครั้ง ฝ่ายหญิงสามารถจูบทักทายสามครั้งได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนฝ่ายชายนิยมทักทายแบบจับมือกับฝ่ายชายด้วยกันเองและจูบทักทายสามครั้งกับฝ่ายหญิง
ครั้งแรกที่เราต้องทักทายเพื่อนชาวดัตช์ด้วยการจูบสามครั้งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเคอะเขินพอสมควร เนื่องจากไม่รู้ว่าต้องทำจากแก้มฝั่งไหนก่อนดี การทักทายแบบจูบสามครั้งครั้งแรกจึงตะกุกตะกักพอสมควร จากนั้นมาเราเริ่มสังเกตเพื่อน ๆ ชาวดัตช์ที่ทำกันและทำตาม และนั้นทำให้เราเริ่มจับจุดได้ว่าควรมองอีกฝ่ายว่าเขาเริ่มเอียงแก้มไปฝั่งไหน เราก็เอียงแก้มรับพร้อมทำเสียงจุ๊บเบา ๆ ความเคอะเขินก็ลดลงเรื่อยและเปลี่ยนเป็นความคุ้นเคยในที่สุด
รับโทรศัพท์ต้องแนะนำตัวก่อน → ที่เนเธอร์แลนด์การรับโทรศัพท์อันดับแรกต้องพูดว่า Hallo, Met… ตามด้วยชื่อผู้รับโทรศัพท์เพื่อบอกให้รู้ว่าโทรมาถูกไหม
นั่งเป็นวงกลมในงานวันเกิด
การฉลองงานวันเกิดตามธรรมเนียมดัตช์คือนิยมนั่งเป็นวงกลม วงกลมที่ว่าอาจจะไม่ได้เป็นวงกลมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะเป็นวงกลมที่จัดในห้องนั่งเล่นหรือที่ที่ได้รับการจัดเตรียมไว้เฉพาะ โดยนำเก้าอี้หรือโซฟาหรือเก้าอี้จากห้องอื่น ๆ มาวางล้อมกันเป็นวงกลม และวงกลมจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเมื่อแขกคนอื่น ๆ ทยอยเข้ามาในงาน
เราต้องทักทายแขกทุกคนที่มาร่วมงานและพูดคำว่า “Gefeliciteerd” ตามด้วยชื่อเจ้าของงานวันเกิด (ขอแสดงความยินดีกับ…) กับทุกคน ยกตัวอย่างเช่น แขกผู้ร่วมงาน: “Gefeliciteerd.” เรา: “Yaovy. Nice to meet you Mr. and Mrs. Gefeliciteerd met…”
อาหารภายในงานวันเกิดเราอาจจะจินตนาการว่าเต็มไปด้วยกับข้าวเต็มโต๊ะ รวมถึงขนมนมเนย และเครื่องดื่มมากมายเหมือนกับการฉลองงานวันเกิดในเมืองไทยเรา แต่นั้นอาจไม่ได้มีให้เห็นในเนเธอร์แลนด์มากนัก เพราะอาหารส่วนมากในงานวันเกิดที่นี่คือเค้กและเครื่องดื่มชากาแฟ
การเชิญครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนไปร่วมงานวันเกิด ชาวดัตช์ยังนิยมระบุวันที่ในการจัดงานและเวลาเลิกงานอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเวลาหลังอาหารเย็นเสร็จสิ้นแล้ว หรือช่วงบ่ายก่อนทานอาหารเย็น ถ้าเราสงสัยว่าใครเป็นเจ้าของงานวันเกิดอาจจะสังเกตได้จากคนที่เสิร์ฟชาและเค้กให้เรา ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนเดียวกับคนที่รับผิดชอบต่อการจัดงานวันเกิดทั้งหมด รวมถึงหาซื้อเค้กวันเกิดด้วยตัวเอง นอกจากนี้ในวันเกิดของตัวเองชาวดัตช์นิยมนำเค้กไปแบ่งปันเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานจะไม่ซื้อเค้กวันเกิดให้เราในงานวันเกิด
เปิดของขวัญต่อหน้าผู้ให้
งานวันเกิดแบบชาวดัตช์เมื่อได้รับของขวัญต้องเปิดของขวัญต่อหน้าผู้ให้ เพื่อแสดงถึงการให้เกียรติและทำให้ผู้ให้รู้ว่าของขวัญที่ตนเองให้ไปนั้นถูกใจคนรับหรือเปล่า หากผู้รับไม่ถูกใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ หรือมอบของขวัญชิ้นนั้นให้กับคนอื่นแทน ของขวัญที่ชาวดัตช์นิยมมอบให้กันมีหลากหลาย เช่น หนังสือ เสื้อผ้า ของเล่น ชุดกิ๊ฟเซ็ทเครื่องสำอาง การ์ดแทนเงินสด หรือแม้กระทั่งการ์ดพร้อมเงินสดที่แปะอยู่ข้างใน เพื่อที่ผู้รับจะได้นำไปซื้อของขวัญที่ตัวเองชอบแทนการมอบของขวัญด้วยสิ่งของ
ผู้คนยังนิยมส่งดอกไม้และการ์ดอวยพร
ในเทศกาลสำคัญหรือโอกาสต่าง ๆ ชาวดัตช์ยังนิยมส่งดอกไม้และการ์ดอวยพรให้กัน ดอกไม้ที่ว่าอาจจะไม่ได้มีการจัดแต่งแบบพิถีพิถันมากมาย อาจจะเป็นช่อดอกไม้ที่สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หรือตลาดขายดอกไม้โดยเฉพาะ ส่วนการ์ดอวยพรก็สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นกัน นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำหรือร้านค้าเล็ก ๆ ยังคงมีโปสการ์ดขายแบบจริงจัง
เวลามีเด็กในครอบครัวที่เพิ่งเกิดชาวดัตช์ยังนิยมส่งการ์ดไปหาญาติเพื่อแนะนำเด็กที่เกิดใหม่ ในการ์ดจะมีรูปภาพของเด็กพร้อมวันเดือนปีเกิด เวลาที่เกิด รวมถึงน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อให้ครอบครัวใหญ่รับรู้ว่าเด็กน้อยได้ลืมตาขึ้นมาดูโลกอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ เช่นเดียวกับการประดับรูปนกกระสาหน้ากระจกบ้าน เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการคลอดลูกในเนเธอร์แลนด์ และเป็นสัตว์นำโชคที่นำเด็ก ๆ มาให้กับครอบครัว
การแยกขยะ
ในแต่ละพื้นที่ตามเขตเทศบาลต่าง ๆ จะมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นจุดแยกขยะโดยเฉพาะ ประชาชนมีหน้าที่ในการแยกขยะให้ถูกต้อง อย่างเช่น สำหรับครัวเรือนที่มีถังขยะเป็นของตัวเอง เมื่อถังขยะเต็มแล้วต้องลากถังขยะมาไว้ที่หน้าบ้าน เจ้าหน้าที่จากเทศบาลจะมารับขยะไปกำจัดทุก ๆ สัปดาห์ ส่วนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์มักจะมีจุดทิ้งขยะแยกไว้ชัดเจน ทั้งสองแบบต้องมีการจ่ายภาษีบำรุงท้องถิ่น เพราะว่าคนที่มาเก็บขยะก็ต้องได้รับเงินเดือน ที่ทิ้งขยะก็ไม่ใช่ของเราคนเดียวเมื่อใช้งานก็ต้องจ่ายภาษีเพื่อส่วนรวม
ส่วนการเก็บขยะไม่ต้องใช้แรงงานคน แต่อาศัยเครื่องยกขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่กับรถบรรทุกขยะ มันสามารถยกถังขยะขึ้นได้อย่างง่ายดาย แล้วนำขยะไปปล่อยในช่องเก็บขยะในรถบรรทุก กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่นาน ประหยัดทั้งแรงงานคนและเวลา
Bikes, bikes, bikes! (เมืองแห่งจักรยาน)
เนเธอร์แลนด์ขึ้นชื่อเรื่องการใช้จักรยาน เกือบทั่วทุกเมืองมีเส้นทางจักรยาน (เส้นทางสีแดง) ที่สร้างขึ้นเฉพาะเพื่อรองรับการปั่นจักรยานสำหรับทุกเพศทุกภัย และมีป้ายและสัญลักษณ์บอกอย่างชัดเจน ชาวดัตช์นิยมใช้จักรยานเดินทางใกล้หรือไกล เพราะว่าสามารถพาเราจากจากจุด A ไปถึงจุด B ได้เร็วและสะดวกมากกว่า ระบบขนส่งมวลชนยังอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถนำจักรยานขึ้นรถไฟหรือรถใต้ดินได้ในช่วงเวลาไม่รีบเร่ง ถ้าใครที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ต้องหาซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง และก็มีจักรยานมือสองราคาถูกวางขายตามช่องทางต่าง ๆ ให้เลือกเช่นกัน ส่วนนักท่องเที่ยวสามารถเช่าจักรยานแบบรายชั่วโมงหรือรายวันเพื่อปั่นสำรวจเมือง
ฮอลแลนด์ไม่ใช่คำเหมารวมของประเทศเนเธอร์แลนด์
ถ้าเราถามชาวดัตช์ว่าเขามาจากไหนแล้วเขาตอบว่ามาจากฮอลแลด์ ให้เราเดาไว้ก่อนว่าเขามาจากภูมิภาคฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของสองจังหวัดรวมกัน คือ จังหวัดนนอร์ทฮอลแลนด์และเซาท์ฮอลแลนด์ ในอดีตฮอลแลนด์เป็นจังหวัดที่สำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมของประเทศ เป็นผลให้ชื่อฮอลแลนด์มีความหมายเหมือนกันกับเนเธอร์แลนด์ และมักใช้สลับกับชื่อทางการของประเทศ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าฮอลแลนด์จะเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ แต่ก็มีจังหวัดอื่นๆ ในประเทศที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เช่นกัน ดังนั้นการใช้คำว่า “ฮอลแลนด์” เพื่อกล่าวถึงประเทศเนเธอร์แลนด์ อาจถูกตีความหมายทางอ้อมได้ว่าไม่รวมจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการเกื้อหนุนต่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมของชาวดัตช์ด้วยเช่นกัน
วัฒนธรรมแปลกใหม่ของชาวดัตช์ (Culture shock)
ทานช็อกโกแลตเป็นอาหารเช้า
ใส่มายองเนสจำนวนมากบนของทอด
เรียกชื่อเฟรนช์ฟรายส์ต่างกัน
ทุกอย่างทำผ่านธนาคารออนไลน์
สังคมบัตรเดบิต
จ่ายเงินเข้าห้องน้ำ
การจ่ายทิป
เติมน้ำมันรถด้วยตัวเอง
พกถุงไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต
น้ำประปาสะอาดกว่าน้ำดื่มในขวด
การบริการในร้านอาหาร
Coffee Shop ไม่ใช่ร้านกาแฟ
เกือบทั่วทุกเมืองในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เหมือนอัมสเตอร์ดัม
ทิ้งกระดาษชำระในชักโครก
ใส่รองเท้าในบ้าน
จุดประทัดทั้งวันในวันสงท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
นิสัยของชาวดัตช์ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ในเบื้องต้นผู้คนมาจากต่างครอบครัว ต่างการเรียนรู้ ลักษณะที่ว่าอาจจะไม่ได้มีให้เห็นร้อยเปร์เซ็นต์ แต่แน่นอนว่าผู้คนส่วนใหญ่พูดตรงไม่อ้อมค้อม และวางแผนการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา ใครที่มาอยู่ที่นี่จะได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง