เวลาของการเป็นออแพร์ที่เนเธอร์แลนด์หนึ่งปีผ่านไปเร็วมาก จำได้ว่าเมื่อวานเหมือนเราเพิ่งมาถึงที่นี่เลย แต่ตอนนี้ต้องเตรียมกลับไทยแล้ว และแน่นอนว่าในบทความนี้จะมาแนะนำสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อนเดินทางกลับไทย เผื่อเป็นข้อมูลที่ออแพร์หลายคนกำลังตามหา และที่สำคัญจะได้มีเวลาเตรียมตัวจัดการเอกสารได้ทันเวลาก่อนกลับไทย
การเตรียมตัวก่อนกลับไทย
แจ้งตั๋วเครื่องบินขากลับไปยังเอเจนซี่
ตั๋วเครื่องบินที่ซื้อจากไทยเป็นแบบบินไปกลับ และมีระยะเวลาหนึ่งปี แต่วันที่เกิดทางกลับจะไม่ใช่วันจริง แนะนำให้เปลี่ยนวันที่เดินทางกลับให้เรียบร้อย (อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับสายการบิน) เมื่อได้วันเดินทางจริงแล้วอย่าลืมส่งข้อมูลเหล่านั้นไปให้เอเจนซี่
นำชื่อของเราออกจากทะเบียนบ้านโฮสต์
ต้องดำเนินการภายใน 4 สัปดาห์ก่อนวันเดินทางออกนอกประเทศ (แจ้งด้วยตัวเองภายใน 5 วันก่อนออกเดินทาง) สามารถทำได้ 3 แบบ คือ ผ่านอีเมล์ ผ่านเว็บไซต์ทางการของเทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่ หรือด้วยตัวเองที่เคาน์เตอร์สำนักงานเทศบาลเมือง การแจ้งผ่านอีเมล์ ต้องแนบสำเนาพาสปอร์ตและใบอนุญาตผู้พำนักอาศัย รวมถึงที่อยู่ในไทย หรือที่อยู่ใหม่ของโฮสต์ (ถ้าย้ายไปเป็นออแพร์ประเทศอื่นต่อ) รวมถึงวันเดินทางออกนอกประเทศ การแจ้งแบบนี้ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 วัน
การแจ้งผ่านระบบออนไลน์ โดยลงชื่อเข้าใช้ผ่านเว็บไซต์ทางการของเทศบาลเมืองที่เราอาศัยอยู่ (ใช้บัญชี DigiD) จากนั้นระบุข้อมูลตามที่ระบบกำหนด พร้อมวันเดินทางออกนอกประเทศ ที่อยู่ในไทยหรือที่อยู่ของโฮสต์บ้านใหม่ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 วัน
การแจ้งด้วยตัวเอง อย่าลืมนำพาสปอร์ตและใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยตัวจริงไปด้วย เจ้าหน้าที่จะให้กรอกเอกสารเพื่อทำการนำชื่อออกจากทะเบียนบ้านของโฮสต์ (ชื่อของเราจะไม่ถูกนำออกจากที่อยู่ของโฮสต์ทันที ต้องรอประมาณ 30 วัน)
เมื่อแจ้งนำชื่อออกจากทะเบียนบ้านโฮสต์เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมขอใบรับรองการนำชื่อออกจากทะเบียนบ้านของโฮสต์ (Proof of deregistration) ทางเอเจนซี่อาจจะขอ (อาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม) เมื่อได้ใบนี้มาแล้วสแกนส่งให้เอเจนซี่ จากนั้นทางเทศบาลจะดำเนินการยกเลิกการลงทะเบียนของเราในฐานข้อมูลประวัติส่วนตัว (BRP) และย้ายข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปยังส่วนที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ (RNI) ส่วนหมายเลขบริการพลเมือง (BSN) จะยังคงไว้เหมือนเดิม
ยกเลิกประกันสุขภาพ
สามารถทำได้ 3 แบบ คือ ผ่านอีเมล์ ผ่านโทรศัพท์ และผ่านเว็บไซต์ทางการของบริษัทประกันสุขภาพ (ใช้ DigiD) และใส่วันที่ที่ต้องการยกเลิกประกันสุขภาพเป็นวันที่เดินทางออกจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบบจะส่งอีเมล์มาแจ้งผล บางแห่งจะไม่ได้ยกเลิกทันที อาจจะต้องรอประมาณ 2-3 อาทิตย์
ยกเลิกเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพ
สำหรับออแพร์ที่ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพต้องยกเลิกก่อนเดินทางกลับไทย ไม่เช่นนั้นระบบจะยังโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีของเรา และอาจถูกเรียกคืนย้อนหลัง
การยกเลิกเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพสามารถโทรไปแจ้งที่หมายเลข 0800-0543 หรือใช้ DigiD ของเราในการล็อกอินที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรดัตช์ (Belastingdienst) จากนั้นเลือกคำว่า Toeslag stoppen (Ik wil mijn toeslag stopzetten) กรอกข้อมูลให้ครบถ้วนในระบบ และยืนยันข้อมูล ระบบจะไม่ยกเลิกเงินช่วยเหลือประกันสุขภาพในทันที อาจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนในการดำเนินการ และนับวันที่เราออกเดินทางจากเนเธอร์แลนด์เป็นวันยกเลิก ในส่วนนี้ควรทำล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือน เพื่อที่ระบบจะยกเลิกข้อมูลได้ทันเวลา
ปิดบัญชีธนาคาร
ติดต่อธนาคารที่เราเปิดบัญชีไว้เพื่อปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งอาจจะต้องแนบหลักฐานสำเนาพาสปอร์ตและใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยเพื่อประกอบการดำเนินการ ถ้ามียอดเงินเหลือในบัญชีต้องถอนออกมาให้หมดก่อน เหลือโอนไปยังบัญชีธนาคารที่ไทยให้ยอดเงินเหลือเป็นศูนย์ และคืนบัตรเดบิต ถ้าไม่ปิดบัญชีธนาคารก่อนเดินทางกลับไทยอาจมีปัญหาภายหลังในเรื่องค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตที่ธนาคารเรียกเก็บทุกเดือน
จัดกระเป๋าเดินทาง ทำความสะอาดห้องนอน
ตรวจสอบน้ำหนักกระเป๋าเดินทางกับสายการบินที่เราจองตั๋วขากลับไทยไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำหนักกระเป๋าเพียงพอสำหรับสิ่งของที่ต้องการขนกลับไทย ก่อนมาบ้านโฮสต์ห้องนอนของเราถูกจัดเตรียมไว้อย่างสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อนที่เราจะเดินทางกลับไทยก็เช่นกัน ทำความสะอาดห้องนอน เก็บข้าวของทุกอย่างให้เรียบร้อย หากมีสิ่งของชำรุดควรรีบแจ้งให้โฮสต์ทราบ
ก่อนกลับไทยอาจจะเตรียมของขวัญให้โฮสต์สักชิ้น ลองแวะไปดู → อัลบั้มรูปภาพ (Photobook) จากร้าน HEMA เพื่อเก็บรวบรวมคำทรงจำตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงเนเธอร์แลนด์ กิจกรรมที่ทำกับน้อง ๆ ช่วงเวลาสำคัญที่เราชอบตลอดการเป็นออแพร์ในเนเธอร์แลนด์ ส่วนใครที่อยากได้ของฝากกลับไทยลองแวะไปอ่าน → รวมร้านขายของฝากในเนเธอร์แลนด์ รวมถึงไอเดียของฝากน่าสนใจที่สามารถหาซื้อได้ก่อนกลับไทย
คืนบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย
สามารถทำได้ 2 แบบ คือ ส่งผ่านจดหมายไปยังสำนักงานของ IND (ทำก่อนเดินทางออกนอกประเทศ) หรือส่งผ่านจดหมายกลับมาที่เนเธอร์แลนด์หลังเดินทาถึงไทยแล้ว (ค่าใช้จ่ายในการส่งอาจจะแพงกว่า)
กรณีแรกแนะนำให้เตรียมซองจดหมายจ่ายหน้าซองที่อยู่ของ IND (IND Bureau Documenten P.O. Box 7025 8007 HA Zwolle The Netherlands) จากนั้นเมื่อถึงเคาน์เตอร์ด่านตรวจผู้โดยสารขาออกที่สนามบิน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการคืนบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัย (ควรตัดบัตรก่อนคืน แต่ไม่ต้องตัดแบบขาดสองท่อน อย่าลืมถ่ายเอกสารหรือรูปภาพบัตรเก็บไว้เป็นหลักฐาน) และส่งผลจดหมายที่เราเตรียมมา (กรณีนี้จริง ๆ อาจจะส่งได้ที่ตู้จดหมายในสนามบินตั้งแต่ก่อนไปถึงด่านตรวจ แต่จากประสบการณ์ตรงเจ้าหน้าที่ถามหาบัตรอนุญาตผู้พำนักอาศัยแต่ส่งจดหมายออกไปแล้ว แต่ยังโชคดีมีรูปถ่ายเป็นหลักฐานให้ดู เลยแนะนำว่าส่งที่ด่านตรวจจะได้มีหลักฐานตัวจริงก่อนคืนบัตร) ส่วนกรณีส่งจากไทยก็ใช้ที่อยู่เดียวกัน แต่ค่าใช้จ่ายอาจจะแพง และใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน (ถ้าส่งด่วน)
ปรับตัวและใช้ชีวิตที่ไทย
หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศเป็นปีพอกลับมาที่ไทยแล้วหลายคนอาจจะมีอาการ Culture shock อีกครั้งที่ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอาการเหล่านี้ และพร้อมที่จะใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดอีกครั้ง
สิ่งที่เรียนรู้จากการเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์
จากสิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนเดินทางกลับไทยกันไปแล้ว ต่อไปก็มาถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นออแพร์กันบ้าง และก็มีอยู่หลายอย่างมาก เช่น
การสื่อสารและพูดคุยกับโฮสต์สำคัญมาก
เพราะแต่ละเรื่องต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้งสองฝ่าย และถ้าเข้าใจตั้งแต่ทีแรกจะช่วยให้เราทำงานหรือดูแลเด็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น บางอย่างที่เราไม่เข้าใจแต่ตอบไปว่าเข้าใจ พอมาทำจริง ๆ ผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ดังนั้นแนะนำให้พูดคุยแบบตรงไปตรงมาด้วยเหตุผล สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้เราและโฮสต์เข้าใจตรงกันแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อีกด้วย
ท้อได้แต่อย่าถอย
ในวันที่แรงบันดาลใจในการทำงานลดลง ให้นึกอยู่เสมอว่ากว่าจะได้มาเป็นออแพร์ต้องแลกอะไรไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเวลาดำเนินเอกสาร ค่าใช้จ่าย รวมถึงความพยายามในการหาโฮสต์ เมื่อได้มาถึงที่นี่แล้วเราอาจจะรู้สึกเศร้าหรือไม่คุ้นชินไปบ้าง แต่นั้นก็เป็นอาการคิดบ้านในช่วงแรกและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้แล้ว และที่สำคัญอย่าลืมให้เวลากับตัวเองในการปรับตัว
ตั้งใจทำหน้าที่ออแพร์ มีสติ และรอบคอบ
บางครั้งปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็มาจากความไม่ตั้งใจ วิธีป้องกันที่จะไม่ให้ปัญหาแบบเดิมเกิดขึ้นอีกคือก่อนลงมือทำสิ่งไหนควรตั้งสติและคิดให้รอบคอบก่อน เช่น ความปลอดภัยของลูกของโฮสต์ หน้าที่ของออแพร์คือดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดี และเตรียมพร้อมอยู่เสมอในทุกสถานการณ์
ภาษาสำคัญมาก
แน่นอนออแพร์เนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับโฮสต์ อย่างไรก็ตามถ้ามีโอกาสควรขอโฮสต์เรียนภาษาดัตช์เพื่อการสื่อสารกับเจ้าของภาษาได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญช่วยให้เรามีโปร์ไฟล์ที่ดีหลังจากจบโครงการออแพร์เนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การเป็นออแพร์ทำให้ได้พัฒนาภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน
ใช้เวลาช่วงวันหยุดให้เป็นประโยชน์
และแข็งแกร่งแบบที่ว่าต้องไปไหนมาไหนคนเดียว ทำอะไรคนเดียว เที่ยวคนเดียว พยายามสื่อสารภาษาดัตช์ และอดทนเพื่อเรียนรู้ที่จะก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากไปให้ได้ เช่น อากาศหนาว หาอาหารไทยทานยาก ทำอาหารทานเอง ค่าครองชีพสูง ผู้คนพูดตรง หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ น้อยที่อาจจะเจอในแต่ละวัน แต่ท้ายที่สุดเราจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง และสามารถไปเป็นออแพร์ประเทศอื่นได้แบบไม่หวั่น (ถ้ายังอยากทำต่อ)
มองโลกเปลี่ยนไป
ไม่ใช่แบบสีขาวหรือสีดำแต่เป็นสีเทา ๆ และทำให้เราเลือกมองด้านที่ส่งเสริมกำลังใจให้ตัวเองมากขึ้น เช่น วันที่ฝนตก อากาศหนาว ไม่มีแสงแดด แต่จริง ๆ แล้วแค่มีก้อนเมฆบังทำให้มองไม่เห็นแสงแดด
วางแผนเรื่องเงิน
เงินเดือนออแพร์ 300-340 ยูโร อาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเนเธอร์แลนด์ การบริหารจัดการเงินและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมในการใช้ชีวิตมากขึ้น สิ่งไหนที่ควรประหยัดก็คือประหยัด สิ่งไหนที่ควรซื้อก็ควรซื้อ สิ่งไหนที่รอได้ก็รอไปก่อน และควรจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อไม่ให้ลำบากทั้งตอนเป็นออแพร์และกลับไทย
เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น
ในแต่ละบ้านมีวิธีการเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกันออกไป และไม่มีวิธีใดที่ถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับพื้นฐานการอบรวมสั่งสอนของแต่ละบ้าน น้อง ๆ ที่เราดูแลโฮสต์เลี้ยงดูแบบเปิดกว้างและให้อิสระเด็ก ๆ ในการตัดสินใจและแสดงความคิดเห็น โดยเลี้ยงลูกแบบเพื่อนแต่ยังมีขอบเขตความเป็นพ่อแม่
เวลาที่เด็ก ๆ อยากได้อะไรจะมาคุยกับพ่อแม่ตรง ๆ และบอกเหตุผลว่าทำไมถึงอยากได้สิ่งนั้น พ่อแม่ก็รับฟัง สิ่งไหนที่เห็นว่าสมควรก็ซื้อให้ สิ่งไหนที่เห็นว่าน้องยังเด็กเกินไปที่จะมีสิ่งของเหล่านั้นพ่อแม่ก็อธิบายว่าทำไมถึงยังซื้อไม่ได้ ทำไมถึงต้องรอ เด็ก ๆ ก็เข้าใจและรับฟังคำตอบนั้น และที่สำคัญไม่มีการลงโทษแบบตี แต่เป็นการใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน การทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างช่วยให้เราใช้ชีวิตที่นี่ได้ง่ายขึ้น และเข้าใจที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง พร้อมทั้งเลือกด้านที่เหมาะกับเราและนำมาปรับใช้ โดยไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกลำบากใจ
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจอยากเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์ และไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน สามารถคอมเม้นท์ หรือถามเข้าไปในข้อความเพจ BeyondYaovy Journey ได้เลยนะคะ จะทยอยตอบข้อสงสัยของน้อง ๆ หรือสามารถติดตามอ่านเรื่องราวการเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์ได้ในบล็อกนี้ รวมถึงการเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ท้ายสุดขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านบทความของเยาว์มาโดยตลอด แม้ว่าจะจบโครงการออแพร์ไปแล้วแต่ก็ยังมีบทความใหม่อัพเดตอยู่เสมอ รอติดตามและฝากเป็นกำลังใจให้กับบล็อกเล็ก ๆ ของเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่า (ไหว้ย่อ)