ชีวิตการเป็นออแพร์ในเนเธอร์แลนด์ผ่านไปเร็วมาก จากตอนแรกยังจำได้เลยว่าเพิ่งจะแมทกับโฮสต์ไปเลย แต่ตอนนี้เดินทางมาถึง 6 เดือนแล้ว และแน่นอนว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นตลอด 6 เดือนแรกของการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ ที่เราอยากจะมาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน
ปรับตัวกับอากาศหนาวได้แล้ว
เรามาถึงเนเธอร์แลนด์ต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิพอดี ทำให้อากาศยังไม่หนาวเท่าไรสำหรับคนที่นี่ แต่สำหรับเราถือว่าหนาวที่สุดในชีวิตที่เคยสัมผัสมาแล้ว สภาพอากาศที่ไม่คุ้ยเคยมากที่สุดก็คือพระอาทิตย์ตกเร็วประมาณสี่โมงเย็น และขึ้นช้าประมาณแปดโมงเช้า เรียกตื่นมาพร้อมกับความมือและเข้านอนไปพร้อมกับความมือเช่นกัน ตลอดช่วงสามเดือนแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่ลำบากสำหรับเราพอสมควร
หลังจากช่วงเวลาของการปรับตัวผ่านไปช่วงเวลาแห่งการเบ่งบานก็มาถึง เพราะเข้าสู่ฤดูดอกไม้บานที่ทำให้เราเห็นถึงสภาพบ้านเมืองและดอกไม้ที่มีสีสันที่แตกต่างต่างจากฤดูหนาวที่ผ่านมาสมควร และแน่นอนว่ายังเป็นโอกาสที่ดีที่จะไปชมสวนดอกทิวลิปเคอเคนฮอฟที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์อีกด้วย แต่ก็ต้องพลาดไปเพราะเป็นช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดพอดี ทำให้สวนดอกทิวลิปปิดและเปลี่ยนมาให้ชมแบบออนไลน์แทน ตอนแรกคิดว่าอาจจะปิดไม่กี่อาทิตย์และกลับมาเปิดอีก แต่ก็ต้องปิดยาวเลยเพราะโควิดระบาดยาว เราก็เลยอดไป (แต่ก็ได้เข้าชมในที่สุดเพราะย้ายกลับมาอยู่เนเธอร์แลนด์หลังจบโครงการแล้ว)
อากาศในฤดูดอกไม้บานไม่หนาวเท่าไรถ้าเทียบกับฤดูหนาว แต่ก็ต้องใส่เสื้อแจ็คเก็ตเวลาออกไปนอกบ้าน บางวันมีแสงแดด บางวันฝนตก หรือบางทีก็ทั้งแดดออกและฝนตกสลับกันไป โดยรวมแล้วอากาศที่นี่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การดูแลตัวเองส่วนใหญ่ในฤดูนี้ก็หนีไม่พ้นทำยังไงก็ให้ตัวเองรู้สึกอุ่นมากที่สุดเวลาไปข้างนอก ทั้งถุงมือ เสื้อโค้ช ผ้าพันคอ ตอนอยู่ในบ้านก็พยายามดื่มน้ำอุ่นและจิบชาเยอะ ๆ พอฤดูหนาวผ่านไปกลับมาย้อนคิดจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ที่สำคัญเราพยายามออกไปข้างนอกเพื่อทำกิจกรรมหลายอย่างช่วยลดอาการคิดถึงบ้านได้เยอะทีเดียว
เรียนภาษาดัตช์
แน่นอนว่าการสื่อสารกับโฮสต์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก น้อง ๆ ที่ดูแลก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี เราไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาดัตช์ แต่หลังจากผ่านไปสามถึงสี่เดือนเรารู้สึกว่ามาถึงประเทศเจ้าของภาษาแล้วก็ต้องได้พัฒนาของที่นี่ เราก็เลยตัดสินใจไปขอโฮสต์เรียนภาษาดัตช์ แล้วโฮสต์ก็ใจดีออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย
คอร์สภาษาดัตช์ที่เลือกเรียน คือ Taalthuis, learning Dutch in small groups ระดับพื้นฐาน A1 ราคาประมาณ 435 ยูโร (มีส่วนลดสำหรับออแพร์ 65 ยูโร) เหลือประมาณ 370 ยูโร ใช้เวลาเรียนสามเดือน ทุกวันจันทร์เวลา 19:00-21:30 น. โดยมีหนังสือเรียนพื้นฐานและไวยากรณ์ให้ด้วยสองเล่ม สถานที่เรียนคือเมืองไลเด้น (Leiden) ใช้เวลาเดินทางไปกลับด้วยรถบัสประมาณ 20 นาที
ในชั้นเรียนมีเพื่อนร่วมห้อง 8 คน มาจากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี บราซิล สหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่มาเรียนและทำงานที่นี่ อาจารย์ผู้สอนเป็นชาวดัตช์ ในคอร์สสอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาดัตช์ เนื้อหาที่เรียนเป็นเนื้อหาพื้นฐาน เช่น ประโยคทักทายพื้นฐาน สรรพนาม การบอกเวลา วันเดือนปี ฤดูกาล การซื้อของ การถามทาง การไปหาหมอ และอื่นๆ หลังเลิกเรียนจะมีการบ้านท้ายบทให้คำ ร่วมถึงบทเรียนออนไลน์ให้ฝึกเพิ่มเติม
หลังจากเรียนภาษาดัตช์ไปประมาณ 1 เดือน ก็เริ่มเข้าใจประโยคพื้นฐาน และประโยคง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเริ่มเดาได้ว่าผู้คนพูดถึงอะไรจากคำศัพท์ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ที่สำคัญเลยก็คือการเรียนภาษาดัตช์ทำให้เรารู้สึกไม่แปลกแยกท่ามกลางบทสนทนาที่บางครั้งมีเราเป็นชาวต่างชาติคนเดียว และมีกำลังใจในการเรียนภาษาที่สามมากขึ้น ในส่วนของไวยากรณ์นั้นต้องบอกเลยว่ายากพอสมควรและมีความซับซ้อนกว่าภาษาอังกฤษ จึงต้องใช้เวลาปรับตัวและทบทวนเนื้อหาที่เรียน รวมถึงพูดภาษาดัตช์ทุกวัน
ภาษาอังกฤษพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด
ผ่านไปเดือนของการเป็นออแพร์ที่เนเธอร์แลนด์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิดที่มาเป็นออแพร์ที่นี่การได้พัฒนาภาษาอังกฤษไปแบบก้าวกระโดด ซึ่งถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่พูดภาษาอังกฤษยังไม่คล่องเลย และอาจต้องหยุดคิดคำศัพท์ที่จะพูด ทำให้การสื่อสารภาษาอังกฤษไม่คล่องตัวในแบบที่อยากให้เป็น แต่พอได้ดูแลน้อง ๆ และสื่อสารภาษาอังกฤษทุกวัน รวมถึงได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ ทำให้การตอบคำถามมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น บางครั้งก็จำประโยคที่เราได้ยินมาให้เข้ากับคำตอบของตัวเองเพื่อนำไปใช้กับสถานการณ์นั้น ๆ ด้วย
อีกแรงบันดาลใจในการพัฒนาภาษาอังกฤษก็คือ เด็ก ๆ ชาวดัตช์เริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ อย่างน้องทิมและน้องเอ็มม่าที่เราดูแล อายุ 10 และ 13 ขวบสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้เราเปลี่ยนทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย รวมถึงเปลี่ยนมุมมองในการเรียนภาษาที่ไม่เพียงแค่มีประโยชน์สำหรับการทำงานในอนาคต แต่ยังเป็นสื่อกลางที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ผู้คนผ่านภาษาที่สอง และช่วยลดช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง รวมถึงกล้าที่จะสื่อสารกับผู้คนใหม่ ๆ และนั้นก็ทำให้เราไม่หยุดที่จะพัฒนาภาษาอังกฤษตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ตารางเวลาการทำงานเปลี่ยน
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าช่วงที่เราเป็นออแพร์ที่นี่โควิดกำลังระบาดพอดี ทางรัฐบาลดัตช์ก็เลยมีมาตรการควบคุมสถานการณ์ โดยผู้คนต้องทำงานจากที่บ้าน โรงเรียนปิดชั่วคราว เด็ก ๆ ต้องอยู่บ้านและเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน โฮสต์และเราก็เลยต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เช่นกัน
ตารางเวลาทำงานของเราเปลี่ยนไปเพราะน้อง ๆ เรียนจากที่บ้าน โฮสต์ก็ทำงานจากที่บ้าน ทำให้เราไม่ต้องตื่นเช้าเพื่อทำอาหารเช้าให้น้อง แต่ยังต้องตื่นเช้ามาเพื่อเตรียมไปจ่ายตลาดเหมือนเดิม แต่เอาจริง ๆ เราไปจ่ายตลาดตอนบ่ายก็ได้แต่อยากทำทุกอย่างให้เรียบร้อยตั้งแต่ตอนเช้า และมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น เช่น ซักผ้า ทำความสะอาดบ้าน และเรียนภาษาดัตช์
ส่วนเรื่องน้องหมาเราไม่ต้องพาออกไปเดินเล่นสามเวลาแล้ว เพราะโฮสต์เป็นคนทำ อีกอย่างปกติตากับยายจะมาที่บ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านและทำอาหารเย็น แต่เพราะด้วยโควิดก็ต้องอยู่บ้าน หน้าที่ทำอาหารเย็นในวันจันทร์ก็เลยตกเป็นของเรา รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และทำความสะอาดห้องของน้อง ๆ เพิ่ม จากปกติที่ทำแค่ล้างห้องน้ำทุกวันพฤหัสบดี ส่วนตารางเวลาอื่น ๆ ไม่มีเปลี่ยน
เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง
ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่าคนดัตช์พูดตรง พอมาอยู่ด้วยจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าตรงจริง ๆ และตรงที่นี่คือพูดแบบไม่อ้อมค้อมและสามารถพูดเรื่องที่ละเอียดอ่อนในที่สาธารณะได้แบบไม่ถูกมองว่าแปลกแยก ซึ่งเราต้องปรับตัวเยอะพอสมควร เพราะการพุดคุยบางประเด็นทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกทำร้ายจิตใจ หรือทำร้ายความรู้สึกเล็ก ๆ แต่เอาจริง ๆ มันคือปกติของที่นี่ พอได้ยินบ่อย ๆ เราก็เลยเริ่มเปลี่ยนมุมมองความคิดตัวเอง และสื่อสารแบบตรงไปตรงมาบ้าง พอคุ้นเคยแล้วก็ถึงรู้ว่าช่วยประหยัดเวลาได้ดีมาก และที่สำคัญไม่ต้องมานั่งคิดเองว่าโฮสต์จะคิดยังไง เพราะถ้ามีอะไรโฮสต์จะบอกให้รู้เลย
อีกอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นก็คือคนที่นี่ไม่ชอบอวดความร่ำรวยให้คนอื่นรู้ และมีความถ่อมตนในเรื่องแสดงสถานะทางการเงินของตัวเองมาก พอลองไปถามโฮสต์แล้วว่าทำไมเป็นแบบนี้โฮสต์ก็ให้คำตอบมาว่าทำตัวปกติ แล้วก็ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะถ้าอวดความร่ำรวยก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ถ้าทำปกติชีวิตก็จะง่ายขึ้น ไม่ต้องสรรหาหรือซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น
มีโอกาสได้เที่ยวทั่วเนเธอร์แลนด์
นอกจากการทำงานเป็นออแพร์แล้วยังได้มีโอกาสท่องเที่ยวทั่วเนเธอร์แลนด์ถึง 16 เมืองด้วยกัน แต่ละเมืองก็เอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และโดดเด่นด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี การเดินทางเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ใช้รถไฟและบัตรเดินทาง OV-chipkaart ปัจจุบันมีระบบเช็คอินและเช็คเอาท์แบบใหม่ที่เรียกว่า OVpay เข้ามาเพิ่ม สามารถตัดเงินในบัตรเครดิตหรือเดบิตรวมถึงสแกนจ่ายค่าเดินทางจากมือถือได้เลย ส่วนเรื่องค่าตั๋วรถไฟค่อนข้างแพง แนะนำให้สมัครสมาชิกเพื่อใช้ตั๋วเดินทางด้วยรถไฟชั้นสองฟรีในวันเสาร์อาทิตย์ ราคาอยู่ที่ประมาณ 35 ยูโรต่อเดือน
พัฒนาตัวเองเมื่อก้าวออกจาก Comfort zone
ในบางครั้งความกลัวที่จะลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ก็ทำให้เราไม่กล้าที่จะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น ความมั่นคงของหน้าที่การงาน ครอบครัวที่ต้องดูแล ภาระและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ปัจจัยทางการเงินก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่แน่นอนว่าครั้งหนึ่งในชีวิตเราต้องก้าวผ่านจากความกลัวเหล่านี้เพื่อออกไปผจญภัยโลกกว้างให้ได้ และเราก็ออกมาเป็นออแพร์ที่เนเธอร์แลนด์ตามความตั้งใจ
การมาใช้ชีวิตต่างแดนในครั้งนี้ต้องยอมรับเลยว่าไม่ได้เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย และมีลำบากพอสมควรในช่วง 2-3 เดือนแรก แต่เมื่อมาแล้วจะยอมแพ้ไม่ได้ การปรับตัวให้สิ่งใหม่ ๆ ก็เลยเป็นคำตอบเดียวที่จะทำให้ใช้ชีวิตที่นี่ได้แบบไม่ลำบาก เช่น เรื่องอาหาร สภาพอากาศ ภาษา ค่าครองชีพและการดำรงชีวิต ที่สำคัญเลยก็คือต้องวางแผนว่าต้องทำยังไงให้เอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างมีความสุข
สิ่งสวยงามผ่านโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ใช่ในชีวิตจริง
เรื่องราวชีวิตในต่างแดนน้อยคนนักที่จะเอ่ยถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือบอกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้เจอผ่านโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับภาพสวย ๆ จากการท่องเที่ยวหรือเรื่องราวในมุมที่ประทับใจกลับถูกกล่าวขานแทน ทำให้มุมมองด้านอื่น ๆ ของการใช้ชีวิตต่างแดนไม่ถูกพูดถึง (หรือพูดถึงน้อยลง)
เราไม่มีทางรู้เลยว่าแต่ละคนต้องพบเจอกับอะไรบ้าง จนกระทั่งประสบกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง บางคนอาจจะต้องทนกับความหนาว ทนกับสภาพอากาศที่ไม่เจอแสงแดดหลายอาทิตย์ บางคนต้องลำบากกับรสชาติอาหารไม่ถูกปาก ต้องเรียนรู้การทำอาหารกินเองจากที่ไม่เคยทำอาหารที่ไทย ต้องปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ต้องเรียนรู้ภาษาที่สาม ต้องสอบภาษาของที่นี่ให้ผ่านเพื่อการใช้ชีวิตในระยะยาว หรือแม้แต่ต้องอดทนกับอาการคิดถึงบ้าน หลาย ๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่หลายคนต้องเผชิญเมื่อย้ายไปอยู่ต่างประเทศและอาจบอกเล่าให้เฉพาะผู้บุคคลใกล้ชิดในครอบครัวได้รู้
ใครหลายคนอาจคิดว่าชีวิตในต่างแดนมีแต่ความสวยงาม มีชีวิตที่ดีและไม่ต้องลำบาก แต่ความเป็นจริงแล้วลำบากมาก ถ้าพูดภาษาที่นี่ไม่ได้ โอกาสในการหางานก็ลดลงไปด้วย รวมถึงค่าครองชีพที่แพงเมื่อเทียบกับเงินไทยที่เคยใช้จ่ายในราคาถูก แต่พอมาที่นี่เงินจำนวนนั้นอาจซื้อของได้ไม่กี่อย่างก็เป็นได้ หลายคนจึงต้องอดทนใช้ชีวิตอย่างประหยัด และวางแผนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพของที่นี่ รวมถึงพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวผ่านความลำบากในช่วงแรกไปให้ได้ ภาพความสวยงามจากสื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่เล่าไม่หมดในอีกมุมของคนที่ใช้ชีวิตในต่างแดน
จุดสมดุลและสนุกกับการใช้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์
ถึงแม้การใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์จะมีความยากลำบากในช่วง 3 เดือนแรก และต้องปรับตัวพอสมควร แต่ในที่สุดก็เดินทางมาถึง “จุดสมดุลของชีวิตการเป็นออแพร์” จุดที่ตัวเองสามารถแบ่งชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของตัวเองเป็นสองส่วนอย่างเท่า ๆ กัน เมื่อตารางงานลงตัวและรู้หน้าที่ของตัวเอง และทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ถึงการวางแผนชีวิตส่วนตัวของตัวเองที่มอบให้ทั้งการพัฒนาภาษาดัตช์ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด ความสมดุลนี้ทำให้เราสนุกกับการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับการผจญภัยในครั้งนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด มันไม่ง่ายเลยที่เราจะได้มาอยู่ที่นี่ มันก็ไม่ยากเหมือนกันที่เราจะซาบซึ้งกับความพยายามและความสามารถของตัวเองที่พาตัวเองมาไกลถึงขนาดนี้
สถานีต่อไป “ฤดูร้อน”
อีกไม่นานฤดูร้อนก็จะเดินทางมาถึงแล้ว เราตั้งหน้าตั้งตาร้อนที่จะได้สัมผัสกับฤดูร้อนในเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก รวมถึงเที่ยวในช่วงหน้าร้อน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตื่นเต้นมากที่สุดคือจะได้เห็นแสงแดดที่เยอะกว่าฤดูร้อน ๆ และนั้นก็คงมีกิจกรรมกลางแจ้งรวมไปถึงเที่ยวที่ชายหาดเนเธอร์แลนด์ให้ได้ทำกันเยอะเลย
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นออแพร์เนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีแค่ในบทความนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่รอให้น้อง ๆ ไปสัมผัสด้วยตัวเอง และเพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนตัดสินใจสมัครโครงการออแพร์อย่าลืมแวะไปอ่าน → คู่มือสมัครออแพร์แบบหาโฮสต์เองที่จะช่วยให้น้อง ๆ เห็นภาพการเป็นออแพร์ชัดเจนขึ้น และมีเวลาเตรียมตัวเพื่อหาโฮสต์ได้ทันเวลา