ถ้าให้เลือกเข้าชมที่เที่ยวเพียงแห่งเดียวในเซวิญ่าก็ต้องบอกว่าขอเลือกเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความสวยงามในสไตล์ผสมระหว่างมูเดคาร์และกอทิกที่ตราตรึงใจแล้ว พระราชวังแห่งนี้ยังเป็นเป็นมรดกโลกในปี 1987 พร้อมด้วยอาสนวิหารแห่งเซวิญ่าและหอจดหมายเหตุแห่งอินดีส และยังปรากฏให้เห็นในซีรีส์โทรทัศน์ชื่อดังอย่าง “Game of Thrones” ของ HBO อีกด้วย นอกจากนี้ถ้าใครเป็นแฟนตัวยงของการถ่ายภาพต้องบอกเลยว่ามาที่นี่แล้วได้รูปสวย ๆ กลับไปแน่นอน ดังนั้นการไปเยือนเซวิญ่าต้องใส่พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าไว้ในลิสต์ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด
ตั๋วเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าราคาเท่าไร
พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเป็นสถานที่สำคัญที่มีชื่อเสียงที่สุดในเซวิญ่าไม่แพ้อาลัมบราในกรานาดา ที่มีความสวยงามคล้ายคลึงกัน เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการต่อคิวยาวและมั่นใจว่าจะได้เข้าชมพระราชวังแห่งนี้อย่างแน่นอน แนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าไว้ก่อน โดยสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าได้สูงสุด 2 เดือน
ราคาตั๋วเข้าชมแบ่งตามประเภทการเข้าชม คือ พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าและสวน 13.50 ยูโร ห้องนอนรอยัล 5.50 ยูโร (ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมตั๋วออนไลน์เพิ่มเติม 1 ยูโร) สำหรับพลเมืองสหภาพยุโรปผู้อาวุโสที่มีอายุมากกว่า 65 ปี นักเรียนอายุ 14-30 ปี หรือผู้ถือบัตรเยาวชนยุโรป ราคาตั๋ว 6 ยูโร (ต้องแสดงบัตรประจำตัวที่ถูกต้องที่สำนักงานขายตั๋ว) นอกจากนี้ยังสามารถเข้าชมพระราชวังได้ฟรี ในวันจันทร์ เวลา 18:00-19:00 น. ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน และเวลา 16:00-17:00 น. ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม
ตอนจองตั๋วออนไลน์ต้องระบุวันที่และเวลาในการเข้าชม รอบแรกเริ่มเวลา 09:30 น. รอบสุดท้ายเวลา 16:30 น. จากประสบการณ์ตรงใช้เวลาเข้าชมพระราชวังและเดินเล่นในสวนรวมประมาณ 2 ชั่วโมง โดยรวมแล้วแนะนำให้เผื่อเวลาเข้าชมไว้ประมาณ 2-3 ชม. กำลังดี
เมื่อได้รับตั๋วเข้าชมทางอีเมล์แล้วสามารถดาวน์โหลดและพิมพ์ หรือใช้คิวอาร์โค้ดเพื่อสแกนตั๋วที่หน้าทางเข้าได้เลย โดยสามารถแสดงตั๋วเพื่อเข้าไปด้านในพระราชวังได้ก่อนเวลา 15 นาที หรือไม่เกิน 30 นาทีหลังจากรอบเวลาที่จองตั๋วไว้ ทางเข้าพระราชวังอยู่ที่ประตูสิงโต (Lion’s Gate) ใกล้กับมหาวิหารเซวิญ่าและหอจดหมายเหตุอินดีส การเดินทาง: นั่งรถรางสาย T1 มาลงที่ป้าย Puerta de Jerez จากนั้นเดินอีก 3 นาทีไปยังทางเข้าพระราชวัง
ตั๋วเข้าชมยังไม่รวมออดิโอไกด์ทางการ ถ้าต้องการเพิ่มเติมสามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว ราคา 6 ยูโร หลังจากจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว จะได้รับโค้ดสำหรับนำไปเปิดใช้งานแอปพลิเคชันชื่อว่า “Artymax” สามารถโหลดได้ทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอยด์ อย่าลืมนำหูฟังไปด้วย ออดิโอไกด์ให้บริการทั้งหมด 6 ภาษา พร้อมทัวร์เสมือนจริงทั้งหมด 30 จุด ด้านในพระราชวังยังมีหมายเลขจุดสแกนเพื่อรับฟังข้อมูลต่าง ๆ เช่นเดียวกับป้ายคำอธิบายเพิ่มเติมและป้ายนำทางในภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ ทั้งหมดนี้นับว่าสะดวกในการเข้าชมมากเลย
ถ้าตั๋วพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเต็มทำยังไง
ตั๋วพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่ามักจะถูกจองเต็มเร็วมาก นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมแนะนำให้ซื้อตั๋วตั๋วออนไลน์ไว้ก่อน อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถหาซื้อตั๋วเข้าชมได้จากเว็บไซต์ทางการ ยังมีอีกหลายวิธีที่เป็นตัวเลือกสำหรับการซื้อตั๋วเข้าชมตั๋วพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า คือ
- ซื้อตั๋วจากตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ: ไม่ว่าจะเป็น GetYourGuide, Tiqets และ Klook ทั้ง 3 เว็บไซต์นี้จองง่ายสะดวก
- เข้าร่วมไกด์ทัวร์พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ตัวเลือกนี้ได้ทั้งความรู้จากไกด์ผู้ชำนาญการและยังได้เข้าชมพระราชวังแบบเจาะลึกอีกด้วย ทัวร์ใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง จองตั๋วเข้าร่วมไกด์ทัวร์พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าล่วงหน้าตอนนี้เลย
ประวัติของพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
ก่อนจะไปเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเรามาทำความรู้จักกับประวัติของที่นี่กันก่อน ซึ่งพระราชวังแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ในเมืองเซวิญ่า สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 10 โดยราชวงศ์อัลโมฮัดเพื่อเป็นป้อมปราการทางทหาร ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของศาสนาอิสลามในสมัยนั้น
ในปี 1248 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 แห่งแคว้นกัสติยาได้พิชิตเมืองเซวิญ่า ทำให้อัลกาซาร์ได้กลายมาเป็นที่ประทับของกษัตริย์ชาวคริสต์ ซึ่งนำไปสู่การผสมผสานองค์ประกอบแบบกอทิกและมูเดคาร์เข้าด้วยกัน ศตวรรษต่อมาได้มีการเพิ่มเติมของสไตล์เรอเนซองส์และบาโรก ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยอาคารแห่งนี้ประกอบด้วยพระราชวังปูนปั้น หอแห่งความยุติธรรม พระราชวังมูเดคาร์ที่สร้างโดยกษัตริย์ปีเตอร์ที่ 1 และพระราชวังแบบกอทิกที่สร้างโดยอัลฟอนโซที่ 10 (ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเฟอร์ดินานด์)
ปัจจุบันพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่ายังคงทำหน้าที่เป็นที่ประทับทางการของราชวงศ์สเปน พระราชวังยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี 1987 พร้อมด้วยอาสนวิหารเซวิญ่าและหอจดหมายเหตุแห่งอินดีส ที่สำคัญได้กลายเป็นตัวอย่างที่งดงามที่สุดของสถาปัตยกรรมอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าอายุหนึ่งพันปีอย่างไม่ต้องสงสัย
การเยี่ยมชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าด้วยตัวเอง จึงไม่เพียงแต่เป็นการเดินทางสู่สถานที่ประวัติศาสตร์และสัมผัสความงดงามของสถาปัตยกรรมที่หลากหลายเท่านั้น แต่ยังได้เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติที่ร่มรื่นของสวนอัลคาซาร์ ตลอดจนเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจของพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าในมุมที่เจาะลึกมากขึ้น และนั้นก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาดเมื่อมาเที่ยวเซวิญ่า
สิ่งที่น่าสนใจในพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าแบ่งออกเป็นหลายส่วน ครอบคลุมถึงพระราชวังปูนปั้นเก่าแก่ที่สุดของอัลคาซาร์และเป็นพื้นที่เดียวที่ยังเหลืออยู่จากยุคมุสลิม พระราชวังมูเดคาร์ที่สร้างโดยกษัตริย์ปีเตอร์ที่ 1 และพระราชวังแบบกอทิกที่สร้างโดยอัลฟอนโซที่ 10 ดังนั้นการเข้าชมพระราชวังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ โดยเริ่มจากพระราชวังจากยุคมุสลิม ตามด้วยพระราชวังมูเดคาร์ และปิดท้ายด้วยพระราชวังแบบกอทิกและสวนอัลคาซาร์ตามลำดับ แต่ละส่วนมีสิ่งที่น่าสนใจตามรายละเอียดปลีกย่อยที่เราจะมากล่าวถึงกันต่อในบทความฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปเริ่มกันที่ส่วนแรกกันเลย
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ประตูสิงโต (Puerta del León)
ประตูสิงโตเป็นทางเข้าพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงอาหรับสมัยศตวรรษที่ 12 ได้รับการตั้งชื่อตามรูปสิงโตที่แกะสลักไว้เหนือประตู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและความกล้าหาญ เมื่อเดินเข้าไปใกล้จะสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมมูเดคาร์ที่ผสมผสานองค์ประกอบของอิสลามและคริสเตียน โดยมีลักษณะโค้งและเสาที่ตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เผยให้เห็นงานปูนปั้นที่ละเอียดอ่อน ลวดลายเรขาคณิต และรายละเอียดหรูหราอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสไตล์นี้
เมื่อเดินผ่านประตูสิงโตไปนักท่องเที่ยวจะพบกับลานสิงโต (Lion’s Courtyard) ซึ่งเคยเป็นโรงละครกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองจากศตวรรษที่ 17 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Corral de la Monteria” หรือโรงละครกลางแจ้งของลานแห่งการล่า (The Courtyard of the Hunt) ถ้าจะพูดกันให้เห็นภาพก็คือลานนี้เป็นห้องโถงด้านหน้าของลานแห่งการล่า และถูกคั่นกลางด้วยกำแพงโค้งสามชั้นจากสมัยอัลโมฮัด โรงละครมีขนาด 810 ตารางเมตร รวมทั้งหมด 4 ชั้น และสามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 1,400 คน น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยเหตุการณ์ไฟไหม้ในปี 1691
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ลานปูนปั้น (The Patio del Yeso)
จากลานสิงโตมองไปทางซ้ายมือจะเป็นประตูทางเข้าไปยังลานปูนปั้น (The courtyard of Plaster) ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่สุดของอัลคาซาร์และยังเป็นพื้นที่เดียวที่เหลืออยู่จากยุคมุสลิมอย่างแท้จริงอีกด้วย พระราชวังนี้ได้รับการสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 12 โดยอัลโมฮัดคอลีฟะห์คนแรกแห่งอัลอันดาลุส เมื่อครั้งคาบสมุทรไอบีเรียเป็นที่รู้จักภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม โดยมีส่วนหลักตั้งอยู่ในจัตุรัส “Patio de Banderas” หรือลานธง (Flag Courtyard) เราจะพาไปชมในตอนท้ายของบทความนี้
เมื่อเข้าไปยืนอยู่ด้านในจะพบว่าลานปูนปั้นประกอบด้วยลานตรงกลางและห้อง 2 ห้องที่อยู่ตรงข้ามกัน โดยห้องที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้คือห้องทางตะวันออกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าอาจรวมถึงห้องนอนยาวที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมมุสลิม
ห้องนี้ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 14 ตามพระประสงค์ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 เพื่อเป็นพระที่นั่งแห่งใหม่ที่เรียกว่าหอผู้พิพากษา (Sala de la Justicia) และยังทำหน้าที่เป็นห้องโถงด้านหน้าของลานปูนปั้นด้วย โดยส่วนเพิ่มเติมที่สร้างขึ้นคือรูปแบบสถาปัตยกรรมมูเดคาร์ ผสมผสานการตกแต่งด้วยงานปูนปั้นละเอียดและงานกระเบื้องเรขาคณิตอันโดดเด่น ตรงกลางห้องมีน้ำพุเชื่อมต่อกับสระน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางในการนำศิลปะและธรรมชาติมารวมกันตามแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ลานแห่งการล่า (Patio de la Montería)
จากหอผู้พิพากษาเดินออกมาทางขวามือจะเป็นส่วนของลานสิงโตที่เราเดินผ่านมาในช่วงแรก ขณะที่ทางซ้ายมือเป็นที่ตั้งของลานแห่งการล่า สามารถเข้าถึงได้ผ่านกำแพงโค้งสามชั้น เมื่อเข้ามาแล้วจะพบกับลานกว้างขวางและโอ่อ่า ทำหน้าที่เป็นลานหลักของอัลคาซาร์ ซึ่งนำไปสู่อาคารต่าง ๆ ในพระราชวัง ได้แก่ พระราชวังมูเดคาร์ พระราชวังสไตล์กอทิก และสภาแห่งการค้า ตามคำอธิบายในออดิไกด์เล่าว่าลานแห่งนี้ได้รับการตั้งชื่อตามการรวมตัวเหล่าขุนนางพร้อมติดอาวุธเพื่อติดตามกษัตริย์ไปล่าสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียงเมืองเซวิญ่า
จุดที่น่าสังเกตุของลานแห่งการล่าก็คือการเปลี่ยนแปลงจากสถาปัตยกรรมกอทิกไปเป็นเรอเนซองส์ได้อย่างลงตัว โดยมีองค์ประกอบจากทั้งสองสไตล์ ประกอบด้วยส่วนโค้งและเสาอันงดงามที่ประดับด้วยรายละเอียดอันสลับซับซ้อน
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: สภาแห่งการค้า (Casa de la Contratación)
ฝั่งขวามือด้านตะวันตกของลานแห่งการล่าเป็นที่ตั้งของสภาแห่งการค้า สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่พระราชวังแต่เป็นห้องสองห้อง คือ ห้องพลเรือเอก (The Admiral’s Room) และห้องผู้ชม (The Audience Chamber) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสภาการค้าแห่งอเมริกา (House of Trade of the Indies) ก่อตั้งในปี 1503 โดยสมเด็จพระราชินีอิซาเบลลาที่ 1 แห่งแคว้นกัสติยา และกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 แห่งอารากอน เพื่อเป็นโกดังศุลกากรสำหรับควบคุมการค้า การเดินเรือ และการสำรวจดินแดนทวีปอเมริกาที่เพิ่งค้นพบ ต่อมาได้ย้ายได้ไปที่หอจดหมายเหตุแห่งอินดีสที่ตั้งอยู่ใกล้กับอาสนวิหารเซวิญ่า
สภาแห่งการค้าทำหน้าที่จนถึงปี 1717 ก่อนจะย้ายไปยังสำนักงานใหญ่ที่เมืองกาดิซของแคว้นอันดาลูเซีย และทำหน้าที่ต่อจนถึงปี 1790 ในที่สุดก็ถูกยุบในศตวรรษที่ 18 เนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรของรัฐบาล รวมถึงความสำคัญของเซวิญ่าในฐานะท่าเรือการค้าที่ลดลง และเปลี่ยนจุดสนใจด้านการบริหารไปยังกรุงมาดริดแทน
รู้หรือไม่: สภาแห่งการค้าเคยเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระราชินีอิซาเบลต้อนรับคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หลังการไปเยือนทวีปอเมริกาครั้งที่สอง แต่เจ้าตัวไม่รู้เลยว่าตัวเองได้ไปถึงอเมริกาแล้ว กลับคิดว่าเป็นญี่ปุ่นหรือหมู่เกาะอินเดียตะวันตก อย่างไรก็ตามเขาออกเดินทางไปยังทวีปอเมริกาถึงสี่ครั้ง และเสียชีวิตโดยไม่ได้ตระหนักถึงความสำเร็จของการค้นพบทวีปใหม่ ร่างของโคลัมบัสถูกฝั่งในอาสนวิหารเซวิญ่าเพื่อแสดงความเป็นเกียรติ และเป็นสถานที่พำนักสุดท้ายของพลเรือเอกที่นักท่องเที่ยวต่างเดินทางไปเยือน จองตั๋วเข้าชมมหาวิหารเซวิญ่ารวมขึ้นหอระฆังล่วงหน้าตอนนี้เลย
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: พระราชวังมูเดคาร์ (Palacio de Pedro I)
เยี่ยมชมสภาแห่งการค้ากันแล้วต่อไปเราจะไปเยือนพระราชวังมูเดคาร์กันบ้าง พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าลานแห่งการล่า หรือที่รู้จักกันในชื่อพระราชวังเปโดรที่ 1 สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 แห่งแคว้นกัสติยา โดยใช้เป็นอาคารส่วนตัวของพระองค์ และมีลักษณะที่เป็นทางการมากกว่าถ้าเทียบกับพระราชวังสไตล์กอทิกที่สร้างโดยอัลฟอนโซที่ 10
พระราชวังมูเดคาร์ได้รับแรงบันดาลใจในการปรับปรุงจากแบบจำลองอันดาลูเซียน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อุทิศให้กับชีวิตการทำงานที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ลานของหญิงสาว (Patio de las Doncellas) และส่วนที่อุทิศให้กับชีวิตส่วนตัวที่อยู่บริเวณลานของตุ๊กตา (Patio de las Muñecas) ทั้งสองส่วนเชื่อมต่อด้วยห้องบัลลังก์ (Salón de Embajadores) ห้องประทับ (The Royal Alcove) ห้องเจ้าชาย (The Prince’s Room) และอื่น ๆ ในขณะที่พระราชวังชั้นบนเป็นสถานที่ประทับอย่างเป็นทางการของราชวงศ์สเปนเมื่อเสด็จมาเยือนเซวิญ่า โดยได้รับการตกแต่งใหม่ในศตวรรษที่ 18
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ลานของหญิงสาว (The Patio de las Doncellas)
ลานของหญิงสาวหรือที่รู้จักกันในชื่อ The Courtyard of the Maidens เป็นไฮไลท์ของพระราชวังมูเดคาร์ที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุดของพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าก็ว่าได้ ลานนี้เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมมูเดคาร์ที่ผสมผสานอิทธิพลการออกแบบของทั้งอิสลามและคริสเตียนเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว
เมื่อไปยืนที่ด้านใดด้านหนึ่งของลานจะพบว่าใจกลางมีสระน้ำที่สะท้อนภาพเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่วยเพิ่มบรรยากาศแห่งความเงียบสงบให้กับพื้นที่ รอบ ๆ สระได้รับการออกแบบส่วนโค้งและเสาอย่างวิจิตรบรรจง ประดับประดาอย่างหรูหราด้วยงานปูนปั้นอันละเอียดอ่อนและลวดลายเรขาคณิตอันประณีต
ว่ากันว่าชื่อของลานหญิงสาวมาจากตำนานที่เล่าว่าครั้งหนึ่งชาวมัวร์เรียกร้องหญิงพรหมจารี 100 คนเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการจากอาณาจักรชาวคริสต์ อย่างไรก็ตามเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ห้องบัลลังก์ (Salón de Embajadores)
ตรงข้ามกับลานของหญิงสาวคือห้องโถงเอกอัครราชทูตหรือห้องบัลลังก์ และนับเป็นห้องที่มีความสวยงามเป็นสองเท่าจากห้องต่าง ๆ ที่เราชมมาก่อนหน้านี้ โดยมีส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือโดมไม้ทรงครึ่งวงกลมจากศตวรรษที่ 15 ล้อมรอบด้วยวงเวียนตามดวงดาวและปิดทองอันวิจิตรงดงาม เดิมจึงเรียกว่าห้องนี้ว่า “Half Orange” และเป็นห้องโถงดั้งเดิมของพระราชวังมุสลิม
ในตอนท้ายของศตวรรษที่ 16 โดมของห้องบัลลังก์ได้รับการต่อเติมระเบียงเหล็กที่หันแล้วจำนวน 4 ระเบียง โดยมีมังกรมีปีกค้ำอยู่ ระเบียงเหล่านี้เชื่อมต่อกับห้อง Royal High Quarter และเป็นงานฝีมืออันงดงามของช่างทำกุญแจ ห้องบัลลังก์ยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีย์ชื่อดังอย่าง “Game of Thrones” อีกด้วย
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ลานของตุ๊กตา (Patio de las Muñecas)
ติดกับห้องบัลลังก์คือลานของตุ๊กตา ซึ่งเป็นลานเล็กๆ ที่ออกแบบมาเพื่อจัดระเบียบห้องต่าง ๆ ในพื้นที่ส่วนตัวของพระราชวัง และเชื่อกันว่าเป็นลานบ้านที่พระราชินีทรงใช้ ชื่อของลานตุ๊กตาได้มาจากหัวตุ๊กตาที่ประดับส่วนโค้ง โดยมีเสาที่สวยงามซึ่งมีต้นกำเนิดจากอาณาจักรอิสลามและโรมัน ส่วนพื้นที่สองชั้นด้านบนถูกเพิ่มเข้ามาด้วยชั้นลอยและแกลเลอรีสูงในช่วงศตวรรษที่ 19 เช่นเดียวกับลานรอบ ๆ ที่ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดในช่วงรัชสมัยของกษัตริย์คาทอลิก โดยปรับให้เข้ากับความต้องการและรสนิยมในยุคนั้น ดังนั้นส่วนที่เป็นของดั้งเดิมจึงมีแค่เฉพาะส่วนล่างเท่านั้น
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ห้องประทับ (The Royal Alcove)
เดอะรอยัลแอลโคฟตั้งอยู่ทางด้านขวามือจากทางเข้าลานของหญิงสาว พื้นที่นี้ประกอบด้วยห้องนอนที่จักรพรรดิเปโดรที่ 1 และราชสำนักของพระองค์ทรงใช้ชั้นล่างของพระราชวังเพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน ส่วนชั้นบนใช้สำหรับฤดูหนาวโดยมีอิฐดินเผาให้ความอบอุ่น และมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์มูเดคาร์ พร้อมส่วนโค้งหลายเหลี่ยม และลวดลายทางเรขาคณิต
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: พระราชวังกอทิก (Patio del Crucero)
ชมความสวยงามของพระราชวังมูเดคาร์กันไปแล้วต่อไปเราจะไปต่อกันที่พระราชวังกอทิกกันบ้าง พระราชวังนี้ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของลานแห่งการล่า สังเกตง่าย ๆ ด้วยอาคารที่มีผนังสีส้มสดใส เมื่อเดินเข้ามาด้านในจะพบกับพระราชวังกอทิก ซึ่งเป็นที่รู้จักในยุคกลางในชื่อ “Caracol” หรือห้องหอยทาก เนื่องจากมีบันไดวนในหอคอยเป็นรูปร่างคล้ายหอยทาก พระราชวังแห่งนี้สร้างโดยอัลฟอนโซที่ 10 ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 กษัตริย์แห่งแคว้นกัสติยาผู้พิชิตเซวิญ่าในปี 1248
สิ่งที่โดดเด่นในพระราชวังกอทิกก็คือลานสองระดับ ซึ่งส่วนล่างมีสระน้ำตรงกลางล้อมรอบด้วยแกลเลอรี่และสวนใต้น้ำ ทำหน้าที่เป็นสวนฤดูร้อน ในขณะที่ส่วนบนมีทางเดินสองทางที่เข้าถึงได้ซึ่งตัดกันใช้สำหรับเป็นสวนฤดูหนาว
ภายในพระราชวังกอทิกประกอบด้วยหลายส่วน ครอบคลุมถึงโบสถ์แห่งพระราชวังกอทิกที่มีสำเนาของแท่นบูชาดั้งเดิมในโบสถ์จากอาสนวิหารเซวิญ่า และห้องโถงแห่งสิ่งทอที่ขึ้นชื่อในเรื่องผ้าม่านที่ใช้ประดับห้อง น่าเสียดายที่ต้นฉบับสิ่งทอได้ถูกทำลายหลังจากแผ่นดินไหวที่ลิสบอนในปี 1755 ก่อนจะถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยแบบจำลองที่เหมือนกันทุกประการในศตวรรษที่ 18
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: สวนแห่งอัลคาซาร์ (The Gardens of the Alcazar)
จากพระราชวังกอทิกเส้นทางการเข้าชมจะนำนักท่องเที่ยวไปยังสวนแห่งอัลคาซาร์ด้านนอก ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมและถูกถ่ายภาพมากที่สุดอีกหนึ่งแห่งของพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า สวนนี้ถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียงและเต็มไปด้วยพืชพรรณดอกไม้และต้นปาล์มที่โดดเด่น โดยมีศาลาสไตล์อิตาลี “Pabellón de Carlos V” ตั้งอยู่ใจกลาง ในขณะที่ฝั่งขวามือเป็นทางเดินไปยังชั้นใต้ดินของพระราชวังกอทิก ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องอาบน้ำสไตล์อาหรับ (The Baths of Doña María de Padilla) ที่ใครหลายคนอาจจะเคยเห็นในฉากหนึ่งของซีรีส์ “Game of Thrones” มาแล้ว
ห้องอาบน้ำสไตล์อาหรับได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยมีต้นกำเนิดย้อนกลับไปในยุคอัลโมฮัด และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากแผ่นดินไหวที่ลิสบอนในศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ตามตำนานเล่าว่าสถานที่ลึกลับและน่าหลงใหลแห่งนี้ โดญญา มาเรีย เด ปาดิลยา ผู้เป็นพระสนมของกษัตริย์ดอนเปโดรผู้งดงาม จะอาบน้ำและพบกับกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของเธอที่นี่
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสวนแห่งอัลคาซาร์ได้โดยใช้ระเบียงทางเดินที่เรียกว่าหอศิลป์กรูเตสโก (The Grutesco Gallery) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับประตูมาร์เชน่า (The Marchena Gate) หอศิลป์นี้ยังปรากฎในซีรีส์ Game of Thrones เช่นกัน เมื่อเดินตามระเบียงไปจนถึงครึ่งทางจะมีบันไดทางลงไปยังสวนด้านใน เหมาะสำหรับการเดินเล่นและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี สวนแห่งอัลคาซาร์ยังมีกลิ่นหอมสดชื่นจากต้นส้มที่ปลูกในสวน นับเป็นความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งเมื่อมาเยือนเซวิญ่า ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบต้นส้มได้ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า: ลานธงดั้งเดิม (The Flag Courtyard)
การเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเดินทางมาถึงส่วนสุดท้ายนั้นก็คือลานธงดั้งเดิม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Patio de Banderas” ซึ่งเคยเป็นลานดั้งเดิมของอัลคาซาร์จากยุคมุสลิม ชื่อของลานธงได้มาจากธงบางอันที่ทาสีบนซุ้มประตูที่ทอดจากจัตุรัส Plaza del Triunfo ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 18 ได้ถูกเรียกว่าปาติโอเดบันเดรัส
ปัจจุบันลานธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเท้าแบบดั้งเดิม รวมถึงต้นส้มสองแถวล้อมรอบจัตุรัส ส่วนกลางได้รับการตกแต่งใหม่ในปี พ.ศ. 2472 มีการติดตั้งน้ำพุใหม่แทนที่น้ำพุเก่าที่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นยืนอยู่ตรงกลางลานสามารถมองเห็นมหาวิหารแห่งเซวิญ่าอย่างงดงาม ในขณะที่ซุ้มประตูเป็นเส้นทางไปสู่ย่านชุมชนชาวยิวในอดีต ซึ่งปัจจุบันเป็นย่านยอดนิยมของเซวิญ่าที่เรียกว่า “ซานตาครูซ” ที่ไม่ควรพลาดไปเดินเล่นเช่นกัน
บทสรุปการเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
การเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าในครั้งนี้นับว่าได้เห็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการปรับปรุงพื้นที่ตามยุคสมัยการปกครอง โดยยังคงเหลือร่องรอยทางวัฒนธรรมจากยุคก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคมุสลิม มูเดคาร์ และสไตล์กอทิก ทั้ง 3 แบบนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พระราชวังแห่งนี้มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงเป็นสถานที่สำคัญของเมืองเซวิญ่าที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก และนั้นก็คุ้มค่าที่จะมาเยือนด้วยตัวเอง
เวลาเปิดพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
พระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปี โดยมีเวลาปิดเปิดที่แตกต่างกัน
- วันที่ 29 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม: วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ 09:30-17:00 น. (ปิดเวลา 18:00 น.)
- วันที่ 1 เมษายน ถึง 28 ตุลาคม: วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ 09:30-19:00 น. (ปิดเวลา 20:00 น.)
- พระราชวังปิด: วันที่ 1 และ 6 มกราคม วันศุกร์ประเสริฐ และวันที่ 25 ธันวาคม
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเวลาไหนดี
ด้วยความที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต้องการเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าเยอะมาก เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงความแออัดแนะนำให้เข้าชมพระราชวังตอนเริ่มเปิดให้บริการระหว่างเวลา 09:30-10:30 น. ของวันธรรมดา ซึ่งเป็นช่วงที่คนกำลังน้อยและสะดวกในการเดินชมอาคารต่าง ๆ และสวน เช่นเดียวกับเวลา 16:00-17:00 น. ก็เหมาะกับการเข้าชมพระราชวัง เพราะใกล้เวลาปิดคนจะเริ่มน้อย และถ้าไปเที่ยวพระราชวังในวันจันทร์จะได้เข้าชมฟรีระหว่างเวลานี้ด้วย ส่วนฤดูที่เหมาะกับการมาเยือนเซวิญ่าคือฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม และฤดูใบไม้ร่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศดี ดอกไม้ในสวนต่าง ๆ ก็บานสะพรั่งเต็มที่
บัตรท่องเที่ยวที่รวมการเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
- Seville Super Combi: ตั๋วคอมโบสุดคุ้มสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าในราคาประหยัด บัตรนี้ยังมาพร้อมตั๋วเข้าชมมหาวิหารแห่งเซวิญ่า รวมออดิโอไกด์สำหรับรับฟังข้อมูลสถานที่เที่ยวกว่า 100 แห่งทั่วเซวิญ่า และส่วนลดอีก 10% สำหรับจองที่เที่ยวอื่น ๆ อีกมากมาย บัตรราคา 36 ยูโร
- The Seville Pass: เหมาะสำหรับคนที่อยากเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าในราประหยัด พร้อมใช้บริการรถบัสนำเที่ยวแบบขึ้นลงได้หลายครั้งเป็นเวลา 48 ชม. บัตรนี้ยังครอบคลุมตั๋วเข้าชมมหาวิหารแห่งเซวิญ่า รวมถึงออดิโอไกด์สำหรับฟังข้อมูลที่เที่ยวกว่า 100 แห่งทั่วเซวิญ่า และส่วนลดอีก 10% สำหรับจองที่เที่ยวอื่น ๆ อีกมากมาย บัตรราคา 87 ยูโร พิเศษเพียง 59 ยูโร
- Seville Highlights Pass: บัตรท่องเที่ยวเซวิญ่าสุดคุ้มไม่แพ้สองบัตรข้างบน โดยรวมการเข้าชมพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าในราคาประหยัด พร้อมตั๋วเข้าชมมหาวิหารแห่งเซวิญ่า และชมการแสดงโชว์ฟลาเมงโกระดับวีไอพี บัตรราคา 69.87 ยูโร พิเศษเพียง 62 ยูโร
การเดินทางไปเซวิญ่าจากอัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่ห่างจากเซวิญ่าประมาณ 2,234 กม. นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวเซวิญ่าสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากเมืองใกล้เคียงได้สะดวก เช่น อัมสเตอร์ดัม บรัสเซลส์ ปารีส บอร์โด บาร์เซโลนาหรือมาดริด ครอบคลุมตัวเลือกด้วยเที่ยวบิน รถไฟ และรถยนต์ ดังรายละเอียด
เรื่องน่ารู้ก่อนไปเที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่า
เที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าใช้งบเท่าไร
ค่าใช้จ่ายสำหรับเที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์แห่งเซวิญ่าอยู่ที่ประมาณ 55 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,040 บาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าที่พัก การเดินทาง อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงค่าที่จอดรถและค่าทางด่วน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน เช็คราคาและจองตั๋วเครื่องบินราคาประหยัดได้ที่นี่
budget
โรงแรม: 68-160 ยูโร
โฮสเทล: 20-110 ยูโร
การเดินทาง: 5-35 ยูโร
ซื้อตั๋วเดินทาง
กิจกรรมและตั๋ว: 10-15 ยูโร/แห่ง
รถเช่า: 18-56 ยูโร
อาหาร: 15-25 ยูโร/มื้อ
ที่จอดรถ: 15-20 ยูโร/วัน
เที่ยวอย่างอุ่นใจไปกับบัตรเดบิต Wise สำหรับใช้จ่ายทั่วโลก สามารถใช้ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มต่างประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยนจริงโดยไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง ใช้ชำระค่าอาหาร จองที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน รวมถึงในร้านค้าออนไลน์ทั่วโลกกว่า 50+ สกุลเงิน ทั้งยังรองรับการชำระผ่าน MasterCard, Apple Pay และ Google Pay โดยไม่ต้องกังวลในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ใช้มานานกว่า 4 ปีไม่ผิดหวัง → สมัครรับบัตรเดบิต Wise ไว้ใช้ประโยชน์ด้วยตัวเองตอนนี้เลย
แหล่งข้อมูลวางแผนเที่ยว
Thank you
การเปิดเผย: บทความนี้มีลิงก์แอฟฟิลิเอทบางส่วน การกดที่ลิงก์ไม่มีค่าใช้จ่าย หากซื้อสินค้าหรือบริการจากลิงก์ดังกล่าว เราอาจได้รับค่ากำลังใจเล็กน้อยสำหรับนำไปพัฒนาบล็อก 🧡