วัฒนธรรมของชาวดัตช์ (Dutch Culture) ในเนเธอร์แลนด์ หนึ่งปีที่ผ่านมาของการใช้ชีวิตในดินแดนกังหันลมมีหลายอย่างเกิดขึ้น บางอย่างเมื่อมองย้อนกลับไปทำให้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของตัวเอง บทความนี้เป็นความรู้สึกเล็ก ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาจากความตั้งใจเกี่ยวกับ วัฒนธรรมของชาวดัตช์ ผ่านมุมมองของชาวดัตช์และคำบอกเล่าของชาวดัตช์รอบข้าง รวมถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากปีที่ผ่านมาของการใช้ชีวิตในประเทศเนเธอร์แลนด์
เรียนรู้ปรับตัวเพื่อเติบโต
กว่าหนึ่งปีที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวในการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ และถึงแม้จะรู้สึกชินกับสิ่งต่าง ๆ ที่นี่แล้ว แต่ในทุก ๆ วันยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอด ทุกวันตื่นมาไม่ใช่แค่เรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นเรื่องของเวลาด้วยที่ต้องวางแผนให้ลงตัว ผู้คนที่นี่วางแผนอยู่ตลอด ในวันว่างไม่ทำอะไรก็ยังต้องวางแผนว่าวันนี้ฉันจะว่างนะ ฉันจะไม่ทำอะไร เราจึงต้องวางแผนอยู่ตลอด ผู้คนที่นี่ยังขึ้นชื่อเรื่องความตรง มีอะไรก็พูดและแสดงความคิดเห็นได้แบบตรงไปตรงมา เรียกได้ว่าไม่มีลำดับชั้นที่ซ้ำซ้อน
บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เรานั่งถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ ทำไมเราต้องพูดและแสดงความคิดเห็น แม้ในบางครั้งเราจะไม่มีประสบการณ์ร่วมกับหัวข้อสนทนานั้น ๆ หรือเราพูดไม่เก่งก็ตาม แต่เมื่อรับวัฒนธรรมนี้มาจากชาวดัตช์ และเปิดใจที่จะรับฟังหรือแสดงความคิดเห็น ได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดการกล่อมเกลาเป็นเราในแบบที่เติบโตขึ้น สิ่งเหล่านี้คงเหมือนกับใครหลายคนที่ต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดน และอาจจะไม่ได้ใช่แค่ในเนเธอร์แลนด์อย่างเดียว ที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับคนท้องถิ่น
อดทนและเชื่อมั่นว่าเราทำได้
บางทีเรื่องอากาศเราก็ยังไม่ชิน ไม่ชอบที่เวลาไปข้างนอก เวลาปั่นจักรยานเวลาหนาว ๆ แล้วมือชา หูชา ถ้าไม่มีถุงมือกว่าจะทำให้มือกลับมาอุ่นได้ก็ใช้เวลาหลายนาที พอบ่น ๆ ไปเราก็ได้เรียนรู้อีกว่าทำยังไงจะทำให้ตัวเองรู้สึกอบอุ่นที่สุด ก็เลยเป็นที่มาของการแต่งตัวให้เข้ากับหน้าหนาวที่นี่ เสื้อผ้าที่ขนมาจากไทยทั้งหลาย โดยเฉพาะหน้าร้อน พอเอาเข้าจริง ๆ ได้ใส่ไม่กี่อาทิตย์ เพราะนอกนั้นคือฝนตกและฟ้ามืดครึ้ม ก็เลยเกิดการเรียนรู้อีกว่าทำไมแสงแดดถึงทำให้ผู้คนที่นี่แฮปปี้ได้แบบสุด ๆ ไปเลย และไม่ว่าจะหนาวแค่ไหนเราก็ต้องอดทน ปรับตัว เรียนรู้ และเชื่อมั่นตัวเองว่าจะใช้ชีวิตที่นี่ได้อย่างมีความสุข
ภาษาสำคัญมาก
ภาษาดัตช์นั้นยากเหลือเกิน แต่ก่อนเราคิดว่าภาษาจีนยากแล้ว พอได้มาเรียนภาษาดัตช์จริง ๆ คือยากขึ้นไปอีก พูดถึงในเรื่องการออกเสียงก่อน ที่นี่อาจจะไม่มีเสียงแบบเอก โท ตรี จัตวา เหมือนบ้านเรา แต่ในเรื่องของการออกเสียง G และ SCH นั้น เป็นเรื่องที่ทุลักทุเลพอสมควรในช่วงแรก
ลองจินตนาการว่าเราต้องออกเสียง G ที่ไม่ใช่ “จี” แต่เป็น “เค” ที่ค่อนข้างไปทาง “คือ” และเพิ่มน้ำหนักเสียงในลำคอเหมือนเราเป็นหวัดหรือมีเสมหะอยู่ คล้าย ๆ กับการเอาน้ำกลั้วคอ ยิ่งออกเสียงหนัก ๆ ยิ่งจะถูกต้อง เช่นเดียวกับ CH ออกเสียงเช่นเดียวกับ ค (G), SCH ออกเสียง ช ควบกับ ค อย่างรวดเร็ว และ J ที่ไม่ใช่ออกเสียงแบบ “เจ” แต่เป็น “เย” เช่น Jurian ต้องออกเสียงว่า “เยอร์ะเรียน / ยืร์อเรียน ไม่ใช่จูเรียน และที่สำคัญภาษาดัตช์ต้องออกเสียงให้ชัด (เกือบทุกตัว)
เรื่องไวยากรณ์ก็ค่อนข้างซับซ้อนเช่นกัน บางเรื่องไม่มีกฎตายตัว อาศัยการจำและพูดให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ภาษาดัตช์สำคัญมาก (ย้ำว่ามากจริง ๆ) ผู้คนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีก็จริง แต่ในทางปฏิบัติเราต้องเรียนภาษาดัตช์เพื่อปรับตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้คนที่นี่
กลับมาอัพเดตบทความนี้หลังจากใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ผ่านไปสามปี จากตอนแรกที่อาจจะบ่นเกี่ยวกับการเรียนภาษาดัตช์ว่ายาก แต่ตอนนี้พัฒนามาถึงระดับ B1 แล้ว ใครที่กำลังวางแผนเรียนภาษาดัตช์หรือกำลังจะสอบภาษาดัตช์ ลองแวะไปอ่าน → ระดับการสอบภาษาดัตช์แบบครอบคลุม รวมถึงคู่มือแนะนำการสอบภาษาดัตช์ระดับ A2 และการสอบภาษาดัตช์ระดับ B1 กฎใหม่ผู้ที่ย้ายมาอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2022 ต้องรู้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับภาษาดัตช์ เช่น ลองนึกภาพในวงสนทนาที่มีชาวต่างชาติอยู่ด้วย พวกเขารู้ว่าภาษาดัตช์ของเรายังไม่แข็งแรง พวกเขาจะพูดภาษาอังกฤษกับเราก่อน แต่ถ้าในขณะนั้นมีชาวดัตช์รวมอยู่ด้วย พวกเขาจะสนทนาเป็นภาษาอังกฤษก่อน พอเวลาผ่านไปสักพักบทสนทนาจะค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนเป็นภาษาดัตช์ เราที่นั่งอยู่ตรงนั้นถ้าเริ่มไม่เข้าใจแล้ว (ยกเว้นบางคำหรือบางประโยคที่เคยได้ยินมาก่อนอาจทำให้พอเดาได้บ้างว่าเขาพูดอะไรกัน) แต่สุดท้ายถ้าเราตามบทสนทนาไม่ได้ คงทำให้รู้สึกอึดอัดและลำบากใจอยู่ไม่น้อย
ในทางกลับกันเราไม่ได้มองว่าจุดนี้ทำให้รู้สึกแปลกแยก แต่กลับเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องพัฒนาภาษาดัตช์มากขึ้น และคิดอยู่เสมอว่าไม่ว่าจะอย่างไรเราจะไปถึงขั้นที่คุยกับคนดัตช์ได้แบบไม่ต้องหยุดคิดคำศัพท์ สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่แค่ในประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างเดียว การไปอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ได้มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ถ้าเราไม่เรียนภาษาบ้านเมืองเขา โอกาสที่เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวหรือกลมกลืนกับผู้คนท้องถิ่นได้อาจจะลดลง แต่ถ้าเราเรียนภาษาบ้านเขาผู้คนที่นี่ก็เปิดรับมากขึ้นว่าอย่างน้อยเราก็เรียนภาษาบ้านเขา ไม่ใช่มาอยู่บ้านเมืองเขาแล้วไม่ยอมปรับตัวหรือเรียนรู้อะไรเลย
อัตราภาษีเงินได้เนเธอร์แลนด์
ค่าครองชีพในเธอร์แลนด์สูงและเป็นสิ่งที่หลายคนจะได้สัมผัสด้วยตัวเองเมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว อย่างไรก็ตามเราจะมาลองเปรียบเทียบในเรื่องนี้เพื่อให้เห็นภาพถึงการใช้ชีวิตในเนเธอร์แลนด์ด้วยเงินเดือนและค่าใช้จ่ายตามสกุลเงินยูโร ลองจินตนาการว่า นางสาวเอทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 1,756.20 ยูโร เธอต้องจ่ายภาษีเงินได้เท่าไร? และท้ายที่สุดเธอจะมีเงินเหลือเท่าไรต่อเดือน?
นางสาวเอ ทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 1,756.20 ยูโร เนื่องจากเธอทำงานเธอจึงมีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีของผู้มีงานทำนอกเหนือจากเครดิตภาษีทั่วไป เธอจ่ายภาษีทั้งหมดต่อปี:
- รายได้ของนาวสาวเอ 1,756.20 ยูโร ต่อเดือน รวมเป็นรายได้ต่อปีทั้งหมด 21,074.4 ยูโร
- ในประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 0 - 69,399 ยูโร ต้องจ่ายภาษีอยู่ที่ 37.07 เปอร์เซ็นต์
- 37.07% ของ 21,074.4 ยูโร = 7,812.28 ยูโร
- นางสาวเอต้องจ่ายภาษีเงินได้ 7,812.28 ยูโร ต่อปี ประมาณ 651.02 ยูโร ต่อเดือน
อย่างไรก็ตามจำนวนภาษีที่นางสาวเอต้องจ่าย 651.02 ยูโร ต่อเดือนนั้น ในความเป็นจริงอาจจ่ายน้อยกว่า เนื่องจากผู้เสียภาษีทุกคนมีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีทั่วไป (ในภาษาดัตช์: algemene heffingskorting) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยจำนวนเงินขึ้นอยู่กับระดับรายได้ นางสาวเอได้รับเงินเดือน 21,074.4 ยูโร ต่อปี อยู่ที่ระดับเงินเดือนระหว่าง 0-21,317 ยูโร จึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ 2,888 ยูโร
นอกเหนือไปกว่านั้นคนทำงานทุกคนในเนเธอร์แลนด์มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีแรงงาน (ภาษาดัตช์ arbeidskorting หรือ loonheffingskorting) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนจากภาษีเงินเดือนได้ (แต่ไม่สามารถขอเงินคืนได้) มูลค่าของเครดิตภาษีแรงงานขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้รับ นางสาวเอได้เงินเดือน 21,074.4 ยูโร ต่อปี อยู่ที่ระดับเงินเดือนระหว่าง 10,351-22,357 ยูโร จึงได้รับเครดิตภาษีแรงงานอยู่ที่ €470 + 28.461% x (รายได้ - €10,350) (สำหรับคนที่ยังไม่ถึงอายุบำนาญของรัฐในปี 2565)
- เครดิตภาษีทำงาน = €470 + 28.461% x (รายได้- €10,350)
- €470 + 28.461% x (€21,074.4- €10,350)
- €470 + 28.461% x (€10,724.4)
- €470 + €3,052.27
- €3,522.27
- นางสาวเอได้รับเครดิตภาษีทำงาน 3,522.27 ยูโร
- ภาษีที่นางสาวเอต้องจ่าย = (ภาษีเงินเดือน ลบ เครดิตภาษีทั่วไป ลบ เครดิตภาษีทำงาน)
- 7,812.28 ลบ 2,888 ลบ 3,522.27 = 1,402.01 ยูโร (116.83 ยูโร ต่อเดือน)
- นางสาวเอต้องจ่ายภาษีทั้งหมดรวม 116.83 ยูโร ต่อเดือน
- ดังนั้นเงินเดือน 1,756.20 ยูโร ถูกหักภาษีไปแล้ว 116.83 ยูโร เหลือเงินอยู่ 1,639.37 ยูโร
มาดูกันต่อว่านางสาวเอยังมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอะไรอีก
- ค่าเช่าห้อง (อพาร์ทเม้นท์ราคาถูกที่สุดอาจจะเป็น Social Housing) ประมาณ 600 ยูโร บวกค่าน้ำไฟประมาณ 200 ยูโร รวมเป็น 800 ยูโร ค่าประกันสุขภาพพื้นฐาน ประมาณ 100 ยูโร นำ 1,639.37 ยูโร ลบ 800 ลบ 100 เหลือเงินอยู่ 739.37 ยูโร
- ยังไม่หมดนะคะ นางสาวเอต้องจ่ายค่าเดินทางโดยสารสาธารณะ (ถ้าไม่ได้ปั่นจักรยานไปทำงาน หรือบ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน) ค่าโดยสารระบบสาธารณะด้วยรถไฟอยู่ที่ประมาณ 200 ยูโร ต่อเดือน (คิดแบบขั้นต่ำ) ดังนั้นเงินจำนวน 739.37 ลบด้วยค่าเดินทาง 200 ยูโร เหลือเงินอยู่ 539.37 ยูโร
นางสาวเอเหลือเงิน 539.37 ยูโร ซึ่งยังไม่รวมค่าอาหารต่อเดือนและค่าใช้จ่ายส่วนตัว ถ้านางสาวเอโสดอยู่คนเดียว จากจำนวนเงิน 539.37 ยูโร เรียกได้ว่าเพียงพอ แต่ก็ต้องประหยัดแบบไม่มีข้อแม้เลยก็ว่าได้ แต่ถ้าอาศัยอยู่กับคู่ครอง ค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์อาจจะถูกลงเมื่อหารสองคน รวมถึงค่าอาหารในแต่ละเดือน อย่างไรก็ตามตัวเลขที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวเลขจำนวนเงินเดือนขั้นต่ำ ถ้ามีวุฒิการศึกษา มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาดัตช์ สามารถหางานที่ทำให้ได้เงินเดือนมากกว่าเงินเดือนขั้นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ไม่ลำบากในการใช้ชีวิตที่นี่
สำหรับผู้ที่ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานรวมแล้วไม่เกิน 38,520 ยูโรต่อปี (ตัวเลขอาจเปลี่ยนแปลงทุกปี) สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าประกันสุขภาพ (Zorgtoeslag) ได้สูงสุด 155 ยูโรต่อเดือน ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรดัตช์ อ่านเพิ่มเติม → รอบรู้เรื่องสวัสดิการและเงินช่วยเหลือในเนเธอร์แลนด์ ผลประโยชน์ที่ควรศึกษาทำความเข้าใจ
เมื่อนางสาวเอได้รับเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือค่าประกันสุขภาพ ทำให้ตัดค่าประกันสุขภาพออกจากเงินเก็บในแต่ละเดือน ทำให้มีเงินเหลือประมาณ 594.37 ยูโร หรือประมาณ 22,000 บาทไทย นี้คือตัวเลขที่ยังไม่รวมค่าอาหารในแต่ละเดือน ค่าบิลโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (ถ้ามีรถยนต์ก็ต้องจ่ายภาษีรถยนต์ จ่ายค่าน้ำมันอีก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ในทุก ๆ อย่างที่เราไม่คิดว่าจะเป็นภาษีได้ก็เป็นภาษีได้ที่นี่)
ถ้านางสาวเอต้องการเก็บเงินในแต่ละเดือนฝากเข้าบัญชีธนาคาร (หากมีเงินฝากในบัญชีธนาคารเยอะ ๆ ก็ต้องจ่ายภาษีเช่นกัน) ก็ต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแทน เรียกได้ว่าใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยไม่ได้ ไปกินอาหารนอกบ้านไม่ได้ ต้องทำอาหารทานเอง ต้องใช้จ่ายแบบประหยัด สำรองเงินไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง ยิ่งการอยู่เมืองนอกต้องประหยัดให้ได้มากที่สุด
ประหยัด ประหยัด และประหยัด
ที่อธิบายมาทั้งหมดเพราะต้องการสื่อว่าชีวิตในเมืองนอก หลายคนอาจจะมองว่าหรูหราหรือมีชีวิตที่สุขสบายแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าค่าใช้จ่ายที่นี่เป็นอย่างไร อัตราภาษีเงินได้ที่นี่สูงแค่ไหน ไหนจะค่าประกันสุขภาพซึ่งมีความสำคัญมาก นั้นยังไม่รวมถึงค่าความเสี่ยงที่ต้องรับเองหากเจ็บป่วย และถ้าทำงานได้เงินเดือนขั้นต่ำ เรียกได้ว่าแทบต้องประหยัดสุด ๆ เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือน ภาษีเกือบครึ่งของเงินเดือนยังถูกหักตามกฎหมาย แต่ก็ได้รับตอบแทนกลับมาในเรื่องเงินช่วยเหลือและสวัสดิการ รวมถึงนำไปพัฒนาประเทศ และสร้างความไม่เลื่อมล้ำในสังคม ชีวิตในต่างแดนจึงไม่ได้สวยหรูไปทุกอย่าง บางอย่างที่เราเห็นผ่านโลกออนไลน์อาจจะเป็นความจริงที่ยังเล่าไม่หมด
ทั้งนี้การใช้ชีวิตในต่างแดนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนด้วยว่าจะเลือกมองด้านไหน แต่โดยส่วนมากแล้วเชื่อได้เลยว่าทุกคนที่ย้ายมาอยู่ต่างประเทศ ต้องทำงานหาเงินกันแทบทุกคน น้อยมากที่จะอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะไม่ใช่วัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ ต่อให้รวยแล้วก็ต้องทำงานหาเงิน ต้องรับผิดชอบกับชีวิต ชีวิตในช่วงแรก ๆ จึงลำบากพอสมควร แต่พอปรับตัวได้ เรียนรู้ภาษาที่แตกต่างให้เข้าใจ คุ้นชินกับการใช้ชีวิตที่นี่แล้ว ชีวิตของเราจะปรับไปในทางที่ดีขึ้น และเมื่อถึงตอนนั้นทุกคนจะขอบคุณตัวเองที่สู้มาตลอด ขอบคุณที่ไม่ยอมแพ้หรือถอดใจไปก่อน
เปิดใจรับฟังมากขึ้น
ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีเราได้พูดคุยกับคนรอบข้างใกล้ตัวบ่อยมาก โดยส่วนมากเป็นการพูดคุยกับโฮสต์ ครอบครัวของแฟน และเพื่อนของแฟน และนั้นทำให้เราได้เรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับเปิดใจรับฟังผู้อื่น แม้ในบางครั้งจะเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัด หรือไม่มีประสบการณ์ร่วมมากนักในหัวข้อนั้น การรับฟังคนอื่นไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ว่าคนคนนั้นคิดอย่างไร แต่ยังเรียนรู้ว่าทำไมเขาคิดแบบนั้น แม้จะเป็นความคิดที่แตกต่างแต่ก็ไม่ได้ความว่าจะเป็นความคิดที่ผิด
ตัวอย่างสำคัญที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับการเปิดใจรับฟังผู้อื่นจากครอบครัวอุปถัมภ์ในการพูดคุยกับลูก ที่นี่มีวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้รู้จักคิด สอนให้รู้จักเหตุผล และกล้าแสดงความคิดเห็น พอเด็กเข้าใจเหตุผลจะทำให้เด็กรู้จักการตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นแบบนี้ เรื่องนั้นถึงไม่เป็นแบบนี้ ทำไมถึงไม่สมเหตุสมผล ถ้าทำแบบนี้แล้วจะมีผลอะไรตามมาบ้าง และจะมีวิธีการรับมือกับเรื่องนั้น ๆ หรือหาวิธีแก้ไขอย่างไร เป็นการคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน นั้นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเด็กที่นี่ถึงกล้าพูดและมีความเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย
อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูลูกของแต่ละบ้านนั้นไม่เหมือนกัน แต่ละครอบครัวมีวิธีการเลี้ยงดูลูกที่แตกต่าง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของครอบครัวนั้น ๆ ในมุมมองของเราเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ความคิดและวิธีการสอนให้เด็กเรียนรู้สิ่งสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กจะช่วยหล่อหลอมให้เป็นบุคคลที่มีความคิดคุณภาพในอนาคต หากผ้าขาวเต็มไปด้วยความมีเหตุผล ก็อาจเป็นไปได้ว่าผ้าขาวเหล่านั้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ให้กับสังคมโดยไม่ถูกปิดกั้นจากสิ่งที่ควรจะเป็น
สังคมที่เท่าเทียมกัน
เรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเนเธอร์แลนด์ สถานะทางสังคมและความเคารพเกิดจากการขัดเกล้าผ่านระบบการศึกษาและการทำงาน ไม่ได้ผ่านทางความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือวัยชรา เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีลำดับชั้นในการทำงาน อย่างไรก็ตามเรากล่าวในมุมมองของชาวดัตช์ตามประสบการณ์ที่ได้เจอมาในการทำงานที่นี่
การประกอบอาชีพในสายงานต่าง ๆ ไม่มีใครกล่าวว่าอาชีพที่ได้รับเงินเดือนน้อยเป็นอาชีพที่ด้อยค่า อาชีพทุกอาชีพมีความหมาย อาชีพคนเก็บขยะก็มีความหมาย เพราะเพิ่มมูลค่าและประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้พื้นที่เกิดความสะอาด หากไม่มีพวกเขาเหล่านี้ขยะอาจจะเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง
ผู้คนที่นี่มองว่าคนเราได้เพิ่มประโยชน์อะไรให้กับสังคมมากไหม ไม่ได้มองจากความร่ำรวยหรือไม่ร่ำรวย หัวหน้าสามารถเดินมาหาลูกน้องโดยที่ไม่ต้องให้ลูกน้องเดินไปหาอย่างเดียว หรือลูกน้องมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการเป็นสังคมที่มีความเสมอภาค ตำแหน่งส่วนตัวและตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้ถูกพิมพ์ลงไปในนามบัตร มีเพียงชื่อและนามสกุล ซึ่งบางครั้งเราแทบไม่รู้เลยว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยนั้นอาจจะมีตำแหน่งที่สำคัญก็เป็นไปได้
ในส่วนของความสัมพันธ์ไม่ได้มองว่าฝ่ายหญิงต้องทำงานบ้านอย่างเดียว แล้วฝ่ายชายไม่ทำงานบ้านเลย หรือฝ่ายชายทำคนเดียวฝ่ายหญิงไม่ช่วยแบ่งเบา ในทางตรงกันข้ามต่างคนต่างช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกัน เพราะหน้าที่ในครอบครัวไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ความเท่าเทียมในครอบครัวจากพ่อแม่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาแนวความคิดพื้นฐานของลูก พอโตไปพวกเขาจะไม่เอาเปรียบคนในความครอบครัวรวมไปถึงสังคมเมื่อต้องออกเผชิญโลกภายนอก
ครอบครัวเดี่ยว
ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีสังคมที่เปิดกว้างก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความคิดแบบปัจเจกชน คือคิดแบบตัวเองเป็นหลักก่อนและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง รวมถึงมีแนวทางการใช้ชีวิตแบบปฏิบัติจริงโดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือหลักการ
ความเป็นปัจเจกชนยังรวมไปถึงเวลามีครอบครัวเดี่ยวที่แยกออกจากครอบครัวใหญ่ที่มีปู่ย่าตายาย (ในภาษาดัตช์เรียกว่า ‘gezin’) สำหรับพี่น้องยังคงไปมาหาสู่กันโดยเฉพาะในช่วงวันเกิด หรือวันแต่งงาน และไม่มีภาระผูกพันหรือโดนกดดันจากสังคมว่าต้องเลี้ยงดูแลสมาชิกในครอบครัวขยาย ฟังดูแล้วอาจจะแตกต่างจากค่านิยมทางเอเชีย แต่ที่นี่เป็นแบบนี้จริงๆ นั้นอาจเป็นเพราะว่ามีการจัดการที่ดีเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กรวมไปถึงสวัสดิการในการดูแลเด็ก ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะลำบากในอนาคต
เมื่อสองวัฒนธรรมมาเจอกันก็ต้องพยายามปรับตัว และรับฟังกันและกัน อาจเป็นความโชคดีอีกหนึ่งอย่างที่แฟนไม่ได้บังคับหรือจำกัดขอบเขตว่าต้องเห็นด้วยกับวัฒนธรรมของเขาเสมอไป สิ่งไหนที่เราเห็นว่าเหมาะสมเราก็นำมาปรับใช้ สิ่งไหนที่เขาชอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยเขาก็นำมาปรับใช้เหมือนกัน สิ่งไหนที่ไม่เห็นด้วยเราก็วางไว้ตรงนั้น โดยไม่ไปตัดสินว่าเป็นเรื่องที่ผิด เพียงเพราะไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจน
เวลาเลิกงานคือเวลาเลิกงาน
ชาวดัตช์ชอบใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ลูก ๆ หรือพักผ่อนอยู่บ้านในวันที่ไม่ได้ทำงาน ครอบครัวที่มีลูกแล้วให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับลูก ๆ บางครั้งพวกเขาทำงานไปสักพักแล้วพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายก็อาจขอขอลดชั่วโมงในการทำงาน เช่น ทำงานสี่วัน และมีเวลาเพิ่มอีกหนึ่งวันที่จะได้อยู่กับลูก ๆ แทนที่จะทำงานหนักเพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น
เช่นเดียวกันเวลาทำงานก็คือทำงาน ปกติเวลาเริ่มงานบริษัทส่วนใหญ่ คือ 09:00-17:00 น. ถ้าเป็นงานพาร์ทไทม์ หรืองานเป็นกะอาจจะต่างไปจากนี้ เวลาทำงานต้องบริหารจัดการงานของตัวเองเสร็จภายในเวลาดังกล่าวเพื่อที่จะได้กลับบ้านได้ตรงเวลา นั้นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมชาวดัตช์จึงนิยมแซนวิซที่โต๊ะทำงาน เพื่อที่จะได้ทำงานเสร็จทันเวลาเลิกงาน แทนที่จะใช้เวลาพักเที่ยงเป็นชั่วโมง
นอกจากนี้ชาวดัตช์ได้รับวันพักร้อนขั้นต่ำประมาณ 4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับสัญญาการจ้างงานของแต่ละบริษัท) เมื่อพนักงานลาพักร้อนจะไม่มีการโทรไปตามหรือถามเรื่องงานเลย เพื่อให้พนักงานได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดพักร้อนได้อย่างเต็มที่
ช่วงเวลาแห่งความสุข (Gezellig)
‘Gezellig’ คำนี้อธิบายความหมายยากมาก แม้กระทั่งในภาษาอังกฤษเองก็ยังแปลความได้หลายความหมาย สำหรับในภาษาไทยเราให้นิยามคำนี้ว่า ‘ช่วงเวลาแห่งความสุข’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น การทานอาหารเย็นร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวก็ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งความสุข
ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากกิจกรรมกลุ่มเท่านั้น แต่อาจจะเป็นสิ่งเดียวก็ได้ เช่น บ้านที่อบอุ่นก็ทำให้รู้สึกมีความสุขได้ การได้ใช้เวลาร่วมกันมีเสียงหัวเราะก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง หรือเด็ก ๆ เล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนานก็เป็นความสุขได้เช่นกัน ชาวดัตช์เวลาทำอะไรมักจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนเราไปพบปะเพื่อนนั้นแหละเนาะที่อยากจะมีช่วงเวลาดี ๆ และสร้างเสียงหัวเราะให้กันและกัน
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวดัตช์ทุก ๆ คน เพราะโดยพื้นฐานของมนุษย์เรามาจากครอบครัวที่แตกต่าง รวมถึงอุปนิสัยใจคอของแต่ละคนด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชาวดัตช์รอบข้างตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปี ช่วงแรก ๆ ยังไม่ชิน ต้องปรับตัวและเรียนรู้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ บางอย่างที่สมเหตุสมผลเราก็นำมาปรับใช้ บางอย่างที่ยังไม่สมเหตุสมผล เราก็พยายามเรียนรู้เพื่อหวังว่าวันหนึ่งเราจะเข้าใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ในหนึ่งปีที่ผ่านมาจึงเป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ในใจยังคงมีความกลัวแต่เหนือสิ่งใดความกล้าที่จะออกมาเผชิญกับโลกกว้างท่ามกลางการใช้ชีวิตสองวัฒนธรรมในดินแดนกังหันลมทำให้ทุกวันเป็นวันแห่งการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา วันนี้มีผู้คนรอบข้างที่เรารัก และผู้คนที่รักเรา ยืนอยู่เคียงข้างเราแม้ในวันที่ยากลำบากก็ยังจับมือกันไว้ และเขายังเชื่อว่าเราจะแข็งแกร่งมากขึ้นในบ้านเกิดของเขาท่ามกลางวัฒนธรรมที่ผู้คนแสดงความคิดแบบตรงไปตรงมา รวมถึงครอบครัวที่เอ็นดูเราเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง การยอมรับจากวัฒนธรรมที่แตกต่างให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวโดยไม่ได้ปิดกั้นเรื่องเชื้อชาติและภาษา นับเป็นความโชคดีตลอดการใช้ชีวิตในแดนกังหันลม และเราก็อยากให้มีความสุขแบบนี้ตลอดไป
บุคลิกพื้นฐานของชาวดัตช์รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมดัตช์ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ สามารถแวะไปอ่าน → เรียนรู้นิสัยของชาวดัตช์รวมถึงสังคมและวัฒนธรรมดัตช์แบบเจาะลึก ที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของชาวดัตช์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติทางการเมืองและการทำธุรกิจ รวมถึงวัฒนธรรมแปลกใหม่ที่หลายคนจะได้สัมผัสด้วยตัวเองเมื่อมาอยู่ที่นี่