เมื่อพูดถึงสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมที่ประดับเมืองบาร์เซโลนา หลายคนอาจจะนึกถึงมหาวิหารซากราดาฟามีเลียและสวนปาร์กเกวย์ ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง “อันตอนี เกาดี” และแน่นอนว่าผลงานการออกแบบของเขายังรวมไปถึงคาซ่าบัตโล่ (Casa Batlló) และคาซ่ามิลา (Casa Milà) อาคารสุดมหัศจรรย์ที่มีรูปร่างแปลกตา บ้างก็ว่าน่ากลัว และซ่อนเรื่องราวน่าสนใจไว้จนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละหลายล้านคนเลยทีเดียว ในบทความฉบับนี้จะพาทุกคนร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมคฤหาสน์สุดมหัศจรรย์ทั้งสองแห่งนี้ด้วยกัน ตลอดจนคู่มือในการเข้าชมฉบับสมบูรณ์
เที่ยวคาซ่าบัตโล่ (Casa Batlló)
คาซ่าบัตโล่เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของบาร์เซโลนา มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าสนใจ อาคารหลังนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1877 โดยสถาปนิกเอมิลี ซาลา คอร์เตส (Emili Sala Cortés) และมีโครงสร้างที่ค่อนข้างธรรมดา อย่างไรก็ตามในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ครอบครัวบัตโล่ได้ซื้อทรัพย์สินแห่งนี้ และพวกเขาก็ตัดสินใจที่จะดำเนินการปรับปรุงครั้งสำคัญ โดยมอบหมายให้เกาดีเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้ และงานปรับปรุงก็เกิดขึ้นระหว่างปี 1904-1906 ภายใต้การดูแลของเกาดี
คาซ่าบัตโล่ได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยพัฒนาจากอาคารอะพาร์ตเมนต์มาตรฐานไปสู่ผลงานชิ้นเอกในสไตล์สมัยใหม่หรืออาร์ตนูโว ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการงานของเกาดี และนั้นก็ทำให้คาซ่าบัตโล่กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาด้วยเช่นกัน
งานปรับปรุงคาซ่าบัตโล่ได้มีการปรับเปลี่ยนทั้งภายนอกและภายใน ด้านหน้าได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยมีรูปทรงเป็นลูกคลื่น กระเบื้องโมเสคสีสันสดใส และระเบียงเหล็กดัดที่เป็นนวัตกรรมใหม่มีลักษณะคล้ายหน้ากากและกระดูก บนชั้นดาดฟ้ามีปล่องไฟแกะสลักและหลังมังกรเป็นสถานที่หลีกหนีความวุ่นวาย ภายในอาคารก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยผสมผสานรูปแบบการใช้งานเข้ากับลวดลายธรรมชาติและออร์แกนิกได้อย่างกลมกลืน ตัวอย่างเช่น ช่องแสงตรงกลางได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้สูงสุด และใช้กระเบื้องโมเสคที่แตกเป็นกระเบื้องเซรามิก ทำให้พื้นผิวมีเอกลักษณ์และนำความมีชีวิตชีวาสู่พื้นที่
ปัจจุบันคาซ่าบัตโล่เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงอัจฉริยะในการสร้างสรรค์ของเกาดี และยังเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการสมัยใหม่ นักวิจารณ์ต่างยกย่องในการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของเขา โดยหลายคนมองว่าคาซ่าบัตโล่เป็นตัวแทนของหลังมังกรเนื่องจากมีลักษณะที่น่าอัศจรรย์และเป็นธรรมชาติ คาซ่าบัตโล่ยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก และด้วยชื่อเสียงในด้านการออกแบบที่พิเศษและเต็มไปด้วยจินตนาการยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสมรดกทางสถาปัตยกรรมของเกาดีด้วยตัวเอง
ตั๋วเข้าชมคาซ่าบัตโล่ราคาเท่าไร
คาซ่าบัตโล่เป็นที่เที่ยวยอดนิยมของบาร์เซโลนา จึงไม่แปลกใจเลยว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นทุกวัน เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการต่อคิวยาวและมั่นใจว่าจะได้เข้าชมสถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน แนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าไว้ก่อน โดยสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าได้สูงสุด 3 เดือน
ราคาตั๋วแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจำนวนตั๋วและการจองล่วงหน้า ถ้าซื้อออนไลน์จะถูกกว่าการไปซื้อที่เคาน์เตอร์ถึง 4 ยูโร ดังนั้นถ้าอยากได้ตั๋วราคาถูกที่สุดแนะนำให้ซื้อออนไลน์ไปเลยล่วงหน้า เมื่อได้รับตั๋วแล้วไม่จำเป็นต้องพิมพ์ สามารถใช้ QR จากอีเมล์ในมือถือสแกนที่จุดตรวจตั๋ว และไม่อนุญาตให้เข้าก่อนเวลาที่จองตั๋วไว้ ซึ่งจากเวลาที่จองตั๋วไว้มีเวลา 15 นาทีในการโชว์ตั๋วเพื่อเข้าชม เวลาเปิดทุกวัน 09:00-20:00 น. ราคาตั๋วเข้าชมคาซ่าบัตโล่แบ่งตามประเภทการเข้าชม คือ
หมายเหตุ: ตั๋วเข้าชมคาซ่าบัตโล่แบบทั่วไปมีให้เลือก 3 ระดับ คือ Blue Silver และ Gold นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ตามเวลาที่สะดวกในการเข้าชม ซึ่งการเข้าชมระดับ Blue ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในขณะที่การเข้าชมระดับ Silver และ Gold ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที พร้อมรวมการเข้าชมห้องโดมเกาดีและแท็บเล็ตวิดีโอไกด์ที่ไม่มีในระดับบลู
การเดินทางมาคาซ่าบัตโล่: รถไฟใต้ดิน: สาย L2, L3 หรือ L4 มาลงที่สถานี Passeig de Gràcia รถไฟ: RENFE ลงที่สถานี Passeig de Gràcia รถไฟ FGC ลงที่สถานี Provença รถบัส: สาย H10, V15, 7, 22 และ 24 ลงที่ป้าย Pg de Gràcia ซื้อบัตรเดินทางระบบขนส่งสาธารณะในบาร์เซโลนาล่วงหน้าตอนนี้เลย
ถ้าตั๋วเข้าชมคาซ่าบัตโล่เต็มทำยังไง
ตั๋วเข้าคาซ่าบัตโล่มักจะถูกจองเต็มเร็วมาก นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมแนะนำให้ซื้อตั๋วออนไลน์ไว้ก่อน อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถหาซื้อตั๋วเข้าชมได้จากเว็บไซต์ทางการ ยังมีอีกหลายวิธีที่เป็นตัวเลือกสำหรับการซื้อตั๋วเข้าชมคาซ่าบัตโล่ คือ
- ซื้อตั๋วจากตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ: ไม่ว่าจะเป็น GetYourGuide, Tiqets และ Klook ทั้ง 3 เว็บไซต์นี้เราใช้งานอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะ GetYourGuide จะใช้บ่อยที่สุด ทั้งสะดวกและช่วยประหยัดเวลามากเลย
- เข้าร่วมไกด์ทัวร์คาซ่าบัตโล่: ตัวเลือกนี้ได้ทั้งความรู้จากไกด์ผู้ชำนาญการและยังได้เข้าชมคาซ่าบัตโล่แบบเจาะลึกอีกด้วย ทัวร์ใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง จองตั๋วเข้าร่วมไกด์ทัวร์คาซ่าบัตโล่ล่วงหน้าตอนนี้เลย
สิ่งที่น่าสนใจในคาซ่าบัตโล่ (Casa Batlló)
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: ด้านหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ (A unique façade)
ก่อนจะพาตัวเองโลดแล่นก้าวเข้าสู่ประตูจักรวาลเหนือจินตนาการของคาซ่าบัตโล่ แน่นอนว่าต้องไม่พลาดที่จะใช้เวลาสำรวจความสวยงามของด้านหน้าที่มองดูคล้ายกับผืนผ้าใบแห่งแรงบันดาลใจทางทะเล และนั้นก็ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งแบบไม่ต้องสงสัย โดยแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ธรรมดาและแนวทางใหม่ ๆ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของเกาดี ผ่านประติมากรรมที่เหมือนไม่ได้ตั้งใจใส่ไว้ วัสดุรีไซเคิล รวมไปถึงวัตถุที่ไม่ตรงตามบริบท เพื่อเปลี่ยนส่วนหน้าให้เป็นงานศิลปะที่สะดุดตาได้อย่างลงตัว
ด้วยรูปทรงออร์แกนิกที่ไม่มีเส้นตรง แต่มีลักษณะเป็นของเหลวและคลื่นโค้งจากการก่อตัวตามธรรมชาติ เช่น ถ้ำหรือคลื่นทะเล ทำให้ด้านหน้าอาคารดูมีชีวิตชีวาและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ส่วนหน้ายังตกแต่งด้วยกระเบื้องเซรามิคหลากสีสันในเฉดสีฟ้า เขียว และม่วง การเติมแต่งเหล่านี้ช่วยสร้างเอฟเฟกต์ที่น่าหลงใหล โดยสีจะเปลี่ยนไปเมื่อแสงตกกระทบจากมุมที่ต่างกัน ทำให้เกิดเปล่งประกายระยิบระยับ มองดูแล้วเป็นภาพเหนือจริงที่เกินกว่าจะบรรยายได้หมด
ถ้ากวาดสายตาไปที่ระเบียงบนคาซ่าบัตโล่จะสะดุดตากับส่วนที่เป็นหน้ากากของนักแสดงงานรื่นเริง ซึ่งรับกับราวบันไดเหล็กดัดอันประณีตที่มีลักษณะคล้ายสาหร่าย ระเบียงเหล่านี้มีทั้งประโยชน์ใช้สอยและและช่วยเพิ่มรูปลักษณ์ที่แปลกตาโดยรวมของอาคาร ในขณะที่หน้าต่างมาพร้อมกรอบที่โค้งเหมือนคลื่น นับว่ามีส่วนช่วยในการไหลเวียนของการออกแบบ และยังช่วยให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในอาคารอีกด้วย เช่นเดียวกับทางเข้าหลักมีลวดลายหัวกะโหลกและกระดูกไขว้ที่สร้างจากรูปทรงคล้ายกระดูก เชื่อกันว่าองค์ประกอบนี้มาจากชื่อเล่นของอาคารที่ว่า “บ้านแห่งกระดูก” หรือที่รู้จักกันในภาษาคาตาลันว่า “Casa dels Ossos”
ว่ากันว่าเกาดีไม่เคยอธิบายงานของเขาเลย และเขาทำงานส่วนหน้าอาคารจากภายนอกโดยไม่มีแผนงานอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานของเขา ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างบ้านที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ รูปภาพอันน่าอัศจรรย์ และผืนผ้าใบที่อธิบายเรื่องราวแทบจะอ่านไม่ออก และนั้นก็ทำให้ผู้มาเยือนสามารถจินตนาการและตีความหมายได้หลากหลายรูปแบบตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: ภายในเต็มไปด้วยศิลปะ (An interior full of art)
สำรวจส่วนหน้าที่คล้ายกับคลื่นทะเลกันไปแล้วต่อไปประตูเหนือจินตนาการจะนำผู้ชมเข้าสู่อพาร์ตเมนต์อันงดงามของคาซ่าบัตโล่ ซึ่งเต็มไปด้วยการออกแบบของเกาดีร่วมกับช่างฝีมือที่เก่งที่สุดในยุคนั้น โดยใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น เหล็กดัด ไม้ กระจกสี กระเบื้องเซรามิก เครื่องประดับหิน และอื่น ๆ อีกมากมาย
ส่วนที่สะดุดตาที่สุดเมื่อเดินผ่านประตูทางเข้ามา คือ โถงทางเข้าส่วนกลางชั้นล่าง (The Entrance Hall) ที่นำไปสู่โถงทางเข้าส่วนตัวของครอบครัวซ่าบัตโล่ผ่านตะแกรงสมัยใหม่ พื้นที่นี้เป็นจุดแรกของการเยี่ยมชมภายใน และยังชวนให้นึกถึงสภาพแวดล้อมใต้น้ำ นำผู้มาเยือนไปยังโลกมหัศจรรย์ของเกาดีด้วยช่องรับแสงที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า มีผนังรูปทรงโค้งมน และบันไดไม้อันตระการตา มีเส้นนำสายตาคือราวบันไดแกะสลักทำจากไม้เนื้อแข็ง เป็นตัวแทนของกระดูกสันหลังของสัตว์ตัวใหญ่ที่เลี้ยววนไปยังชั้นสอง
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: พื้นที่อยู่อาศัยหลักของบ้าน (The Noble Floor)
จากโถงทางเข้าส่วนกลางเมื่อเดินตามบันไดขึ้นไปยังชั้นสองจะพบกับพื้นที่อยู่อาศัยหลักของครอบครัวบัตโล่ ซึ่งเป็นห้องโถงที่แสดงถึงความทันสมัยสูงสุด โดยอธิบายว่าชนชั้นกระฎุมพีในสมัยนั้นอาศัยอยู่อย่างไร ห้องโถงเหล่านี้ยังได้รับการออกแบบที่หรูหรา มีเพดานสูง มีรายละเอียดที่ซับซ้อน เน้นการใช้สีและวัสดุที่กลมกลืนกัน และเต็มไปด้วยหน้าต่างและช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ
พื้นที่อยู่อาศัยหลักของบ้านมีขนาดใหญ่กว่า 700 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยหลายห้อง เช่น ห้องอ่านหนังสือของบัตโล่ที่เด่นด้วยเตาผิงรูปเห็ด ตามด้วยห้องนั่งเล่นหลักของบ้านซึ่งมีหน้าต่างรูปภาพขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางมองเห็นวิวฝั่ง Passeig de Gràcia ให้ความรู้สึก “มองเห็นและถูกมองเห็น” เมื่อเดินผ่านห้องนี้ไปจะเจอกับห้องนั่งเล่น ตามด้วยห้องนอนหลัก ห้องนอนรอง และห้องทานอาหาร
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: ช่องไฟส่วนกลาง (The Central Lightwell)
ลักษณะสำคัญอีกหนึ่งอย่างของคาซ่าบัตโล่ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือช่องไฟซึ่งช่วยให้แสงธรรมชาติส่องลึกเข้าไปในภายในได้ ช่องไฟนี้ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินและสีขาว และมักเรียกกันว่า “บ่อแห่งจิตวิญญาณ” โดยเป็นส่วนพื้นฐานของบ้านตั้งอยู่ใจกลางอาคาร และได้รับการออกแบบอย่างชาญภายใต้พื้นที่ขนาดเล็ก
ถ้าสังเกตดี ๆ ที่ช่องไฟจะพบว่าขนาดของหน้าต่างไม่เท่ากัน ซึ่งไล่ระดับขนาดใหญ่สุดที่ชั้นล่างไปยังขนาดเล็กสุดที่ชั้นบน ที่เป็นแบบนี้เนื่องจากช่วยให้แสงสามารถส่องเข้ามาในบ้านได้มากขึ้น ในขณะที่ชั้นบนสุดมีแสงสว่างมากที่สุดจึงไม่จำเป็นต้องใช้หน้าต่างบานใหญ่ เช่นเดียวกับหน้าต่างด้านล่างมีช่องไม้สำหรับเปิดหรือปิดเพื่อควบคุมการระบายอากาศ
การออกแบบอย่างรอบคอบของเกาดียังรวมไปถึงการตกแต่งผนังปล่องไฟด้วยกระเบื้องโทนสีน้ำเงินต่าง ๆ ซึ่งเน้นสีที่เข้มกว่าในส่วนบนและกระเบื้องสีอ่อนกว่าที่ด้านล่างเพื่อให้การกระจายแสงสม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้นับว่ามีประโยชน์ในการใช้สอยและรวมองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ไว้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของเขาได้อย่างลงตัว และนั้นก็ทำให้ผู้มาเยือนสามารถตีความหมายได้หลายรูปแบบ ราวกับได้พาตัวเองไปว่ายน้ำอยู่ใต้น้ำท้องทะเล หรือเดินอยู่ในถ้ำลึกลับสุดแล้วแต่จะจินตนาการ
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: สวนในร่ม (Indoor garden)
จากช่องไฟส่วนกลางผู้เข้าชมจะพบกับห้องทานอาหารส่วนตัวของครอบครัวบัตโล่ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่อยู่อาศัยหลักของบ้าน และถ้าเดินผ่านประตูห้องทานอาหารไปจะเจอกับลานด้านหลังสุดพิเศษ ซึ่งเป็นโอเอซิสเล็ก ๆ ใจกลางเมือง ออกแบบมาเพื่อการพักผ่อน ชมวิว และรับแสงแดดยาวบ่าย โดยมีลักษณะเด่นที่สุดคือพื้นปูกระเบื้องและกระถางต้นไม้เคลือบแก้ว
นอกจากสวนในร่มแล้วการเข้าชมคาซ่าบัตโล่ยังรวมไปถึงห้องใต้หลังคา (The Attic) ซึ่งตกแต่งด้วยสีขาวและแสงที่แผ่ซ่านไปทั่วพร้อมเพดานโค้ง เดิมเคยใช้เป็นพื้นที่บริการสำหรับผู้เช่าอาคาร มีห้องซักรีด พื้นที่เก็บของ ฯลฯ ปัจจุบันมักใช้สำหรับการจัดนิทรรศการศิลปะชั่วคราวและกิจกรรมต่าง ๆ
เที่ยวคาซ่าบัตโล่: ด่านฟ้าคาซ่าบัตโล่ (The Roof Terrace)
ถ้าส่วนหน้าของคาซ่าบัตโล่เปรียบเสมือนคลื่นทะเลอันทรงพลังแล้ว ด่านฟ้าของคาซ่าบัตโล่ก็คงเปรียบเสมือนมงกุฎเพชรเลยก็ว่าได้ โดยมีลักษณะเด่นของหลังคาทรงมังกรที่ปกคลุมด้วยกระเบื้องสีรุ้ง ดูแล้วคล้ายกับเกล็ดขนาดใหญ่บนหลังของสัตว์ ใกล้ ๆ กันสามารถมองเห็นปล่องไฟมีลักษณะคล้ายหมวกนักรบและเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบอาคาร ในขณะที่หอคอยส่วนหน้าเด่นด้วยไม้กางเขนแบบ 4 แขน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก
บนชั้นด่านฟ้าคาซ่าบัตโล่นอกจากจะได้สัมผัสงานสถาปัตยกรรมของเกาดีส่งท้ายการเข้าชม ยังมีจุดถ่ายภาพที่สวยงามของทิวทัศน์เมืองบาร์เซโลนา รวมไปถึงมีคาเฟ่ขนาดเล็กสำหรับนั่งพักผ่อนทานอาหาร และถ้าเดินจากชั้นด่านฟ้ากลับเข้าไปด้านในจะเจอกับบันไดและเอเทรียม (Stairs and atrium) ที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาตินามว่า “Kengo Kuma” จากตรงนี้จะนำผู้ชมลงไปยังชั้นล่างสุดของคาซ่าบัตโล่ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านขายของที่ระลึกขนาดเล็กและประตูทางออกนั้นเอง
เยี่ยมชมคาซ่าบัตโล่กันไปแล้วต่อไปเราจะพาไปเยี่ยมชมคาซ่ามิลากันต่อ ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นผลงานการออกแบบของเกาดีด้วยเช่นกัน ตั้งอยู่ที่ถนนกราเซีย สามารถใช้เวลาเดินจากคาซ่าบัตโล่ประมาณ 7 นาที
เที่ยวคาซ่ามิลา (Casa Milà)
คาซ่ามิลา (Casa Milà) เป็นอาคารสมัยใหม่ในบาร์เซโลนา ตั้งอยู่บนถนนกราเซีย (Passeig de Gràcia) ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่เฟื่องฟูที่สุดของเมือง อาคารแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยส่วนตัวแห่งสุดท้ายที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง “อันตอนี เกาดี” ก่อนที่เขาจะอุทิศตนให้กับการสร้างมหาวิหารซากราดาฟามีเลียจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
คาซ่ามิลามักถูกขนานนามว่า “La Pedrera” ที่แปลว่า “เหมืองหิน” เนื่องจากมีส่วนหน้าอาคารที่แปลกตาแหวกแนวคล้ายกับเหมืองหินที่สกัดอย่างหยาบ และยังเป็นผลงานที่กระตุ้นความคิดและเป็นเอกลักษณ์มากที่สุดชิ้นหนึ่งของขบวนการคาตาลันสมัยใหม่ ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสถานที่สำคัญอันโดดเด่นในบาร์เซโลนา โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี
เรื่องราวของคาซ่ามิลาเริ่มต้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อ “เปเร มิลา” (Pere Milà) นักธุรกิจผู้มั่งคั่งได้แต่งงานกับหม้ายสาว “โรเซอร์ เซกิมอน” (Roser Segimon) ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยไม่แพ้กัน ครอบครัวมิลาเป็นนักอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยในสมัยนั้น มิลายังเป็นผู้ประกอบการด้านสื่อและเป็นเจ้าของเวทีสู้วัวกระทิง ส่วนเซกิมอนได้รับมรดกเล็กๆ น้อยๆ จากสามีคนแรกของเธอ ในปี 1905 ทั้งสองจึงตัดสินใจนำเงินจากมรดกนี้ไปลงทุนซื้อบ้านเดี่ยวพร้อมสวนบนพื้นที่ 1,835 ตารางเมตรบนถนนสายกราเซีย โดยตั้งใจที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยบนชั้นหลักและให้เช่าอะพาร์ตเมนต์ส่วนที่เหลือ
เช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของชนชั้นกระฎุมพี พวกเขาพยายามเน้นย้ำความมั่งคั่งและรสนิยมที่ดีของตนด้วยการสร้างบ้านสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมุ่งเน้นความสนใจไปที่เกานี เนื่องจากเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงสุด ๆ ในสมัยนั้น และชอบในงานสถาปัตยกรรมที่เขาได้ออกแบบให้กับคาซ่าบัลโล่ (Casa Batlló) ซึ่งเป็นบ้านสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน เกาดีในวัย 53 ปีในขณะนั้นจึงได้เข้ามารับหน้าที่ออกแบบโปรเจกต์ขนาดใหญ่ บ้านใหม่ของตระกูลมิลาจึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การครอบครองเซกิมอน (แม้บ้านจะเป็นนามสกุลของสามี)
คาซ่ามิลาประกอบด้วยอาคาร 2 หลัง ซึ่งมีโครงสร้างล้อมรอบลาน 2 แห่งที่ให้แสงสว่างแก่อาคารทั้ง 9 ชั้น ได้แก่ ชั้นใต้ดิน ชั้นล่าง ชั้นลอย ชั้นหลัก ชั้นบน 4 ชั้น และห้องใต้หลังคา 1 ห้อง ส่วนชั้นใต้ดินถูกใช้เป็นโรงจอดรถ (และยังเป็นที่จอดรถใต้ดินแห่งแรกของบาร์เซโลนาอีกด้วย) ครอบครัวมิลาอาศัยอยู่บนชั้นหลักในแฟลตขนาด 1,323 ตารางเมตร และส่วนที่เหลือเป็นอะพาร์ตเมนต์มากกว่า 16 ห้องสำหรับปล่อยเช่า
เพียงไม่กี่เดือนหลังจากซื้อที่ดิน มิลาได้ยื่นคำร้องต่อแผนกที่เกี่ยวข้องของสภาเทศบาลเมืองเพื่อขออนุญาตรื้อที่ดินเดิม และเริ่มงานโดยรื้อถอนอาคารที่มีอยู่เดิมแทนที่จะปรับปรุงใหม่ จากนั้นภายใน 5 เดือนเกาดีได้ร่างแผนการและนำเสนอต่อสภาเมืองในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1906 และขออนุมัติให้เริ่มดำเนินการได้
การออกแบบคาซ่ามิลาของเกาดีถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหม่ ตัวอาคารมีลักษณะเป็นส่วนหน้าคล้ายคลื่นซึ่งไร้เส้นตรงแบบดั้งเดิม มีระเบียงเหล็กดัดที่มีลักษณะคล้ายสาหร่าย รวมถึงชุดแกลเลอรีหน้าต่างที่กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และโครงสร้างทั้งหมดดูเหมือนมีชีวิตและลมหายใจ บนชั้นดาดฟ้ามีชื่อเสียงเป็นพิเศษ โดยมีปล่องไฟที่มีลักษณะคล้ายนักรบยามรักษาการณ์ และทิวทัศน์อันตระการตาของบาร์เซโลนา
เกาดีมุ่งมั่นที่จะให้คาซ่ามิลาเป็นที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของชีวิตสมัยใหม่ เขาจึงเลือกใช้วัสดุหลายชนิดจากธรรมชาติ เช่น หิน อิฐ หรือเหล็ก เพื่อเป็นเสารองรับน้ำหนักโครงสร้าง แทนที่จะใช้ผนังรับน้ำหนัก และเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนและประโยชน์ใช้สอยได้ตามต้องการ
นอกจากโครงสร้างและการรับน้ำหนักแล้วเกาดียังออกแบบอะพาร์ตเมนต์ให้มีพื้นที่กระจายตัวตามรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่สม่ำเสมอและมีการจัดโครงสร้างภายในที่ชัดเจน โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ส่วนหน้าอาคารหลักที่หันหน้าไปทางทิศใต้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ผู้คนหมุนเวียนภายในอาคารโดยใช้ทางเดินกว้างที่มีแสงสว่างเพียงพอรอบลาน ลิฟต์ช่วยให้เข้าถึงทางเข้าแฟลตแต่ละชั้นได้โดยตรง แต่ละชั้นแบ่งออกเป็นอะพาร์ตเมนต์สี่ห้องเพื่อให้แต่ละห้องมีส่วนหน้าอาคารหลัก
คาซ่ามิลาใช้เวลาสร้างนานถึง 6 ปี (ตั้งแต่ปี 1906-1912) แต่กว่าที่จะสำเร็จลุล่วงก็เต็มไปด้วยปัญหาและความซับซ้อนหลายอย่าง รวมถึงการร้องเรียนของสภาเทศบาล ทั้งในเรื่องโครงสร้างความสูงที่เกินกว่ากฎหมายระบุไว้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นห้องใต้หลังคาและมีหลังคาเกินกว่าจำนวนสูงสุดที่อนุญาต รวมถึงเสาหนึ่งต้นของส่วนหน้าอาคารที่ล้ำออกไปตรงทางเดินถนนด้วยกันเช่น นอกจากนี้เกาดียังใช้จ่ายงบประมาณเกินกว่าที่คาดไว้เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารในขณะที่งานคืบหน้าไปมากแล้ว
ท้ายที่สุดแม้จะติดปัญหาและการร้องเรียนหลายอย่าง คณะกรรมาธิการผังเมืองได้รับรองว่าคาซ่ามิลาเป็นอนุสาวรีย์โดยธรรมชาติ และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของเทศบาลอย่างเคร่งครัด ถึงกระนั้นครอบครัวมิลาก็ต้องจ่ายค่าปรับกว่า 100,000 เปเซตาเพื่อทำให้อาคารถูกกฎหมาย แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะจบเพราะยังมีเรื่องโต้เถียงกับเกาดีเรื่องค่าออกแบบของเขาจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ท้ายสุดเกาดีก็ชนะคดี ทำให้มิลาและเซกิมอนต้องจำนองคาซ่ามิลาเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นเงินค่าชดเชยให้กับเกาดี
ปัญหาในการสร้างบ้านจบไปในที่สุดก็ถึงเวลาที่ครอบครัวมิลาได้ย้ายเข้าบ้านใหม่ในเดือนตุลาคม ปี 1911 และบ้านทั้งหลังก็พร้อมให้เช่า โดยผู้เช่ารายแรก ๆ คือกงสุลของสาธารณรัฐอาร์เจนตินาประจำบาร์เซโลนา ต่อมาคือเจ้าชายชาวอียิปต์ อิบราฮิม ฮัสซัน รวมถึงครอบครัวบาลาเดียนักอุตสาหกรรมสิ่งทอ ก่อนที่ในปี 1929 ร้านค้าจะเริ่มเปิดที่ชั้นล่างของอาคาร หนึ่งในนั้นคือร้านตัดเสื้อ Sastreria Mosella อันโด่งดัง ซึ่งยังคงอยู่ที่นั่นมานานกว่า 80 ปี
แม้ว่าครอบครัวมิลาจะได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของตัวเองและมีผู้เช่าเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเข้ามากวนใจอยู่พอสมควร หนึ่งในนั้นคือรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารที่แปลกตาจนทำให้หลายคนเลิกคิ้ว บ้างก็ว่าน่าเกลียดน่ากลัว ผู้คนในละแวกใกล้เคียงต่างส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนบ้านก็เกรงว่าคาซ่ามิลาจะทำให้ราคาทรัพย์สินของบ้านหลังอื่น ๆ ในย่านเดียวลดลง บ้างก็กดดันให้ทุบตึกทิ้งไปเลย แต่ก็นั้นแหละด้วยความที่สร้างมาแล้วราคาแพงมหาศาลจะให้ทุบไปทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานก็คงไม่ใช่การตัดสินใจที่ดี
ครอบครัวมิลาไม่สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์และยังคงอดทนใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน แม้ว่าเซกิมอนไม่เคยชอบการตกแต่งรวมถึงเครื่องเรือนที่เกาดีออกแบบมาสำหรับอะพาร์ตเมนต์ของเธอด้วย เอาเป็นว่าแทนที่จะคุยกับสถาปนิกเพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียด เธอกลับทนที่จะอยู่ในอะพาร์ตเมนต์นี้ ฟังแล้วก็ดูใจร้ายกับเกาดีเนาะ เพราะเสียสละเวลาทั้งแรงกายแรงใจขนาดนี้ จนกระทั่งสถาปนิกเสียชีวิตในปี 1926 เธอก็เปลี่ยนการตกแต่งทั้งหมด โดยย้ายเฟอร์นิเจอร์ที่เกาดีออกแบบให้ออกไป และนำแบบใหม่ที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมเข้ามาใช้แทน รวมถึงสั่งตกแต่งอพาร์ตเมนต์ใหม่ในสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
การปรับปรุงครั้งนี้ส่งผลให้เพดานเสียหายเป็นจำนวนกว่า 532.50 ตารางเมตร ห้องพักที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ห้องบอลรูม ห้องโถงและโถงทางเข้า และพื้นที่เก็บของยกสูง รวมถึงห้องทำงานและห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน และทางเดิน นอกจากนี้ยังได้รื้อพื้นไม้ปาร์เก้และมู่ลี่ออก และเปลี่ยนประตูและหน้าต่างจำนวน 20 บาน เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่เลยทีเดียว
หลังการปรับปรุงบ้านครอบครัวมิลาใช้ชีวิตในคาซ่ามิลาตามปกติ จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 14 ปี มิลาได้เสียชีวิตในบ้านหลังนี้ในปี 1940 ก่อนที่ 6 ปีให้หลังเซกิมอนได้ตัดสินใจขายอาคารให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง และเธอยังคงอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์นี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ในปี 1984 คาซ่ามิลาได้ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ซึ่งตอกย้ำสถานะความเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม อาคารได้รับการบูรณะหลายครั้งเพื่อรักษาความสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรม ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และศูนย์วัฒนธรรมให้ผู้มาเยือนได้สำรวจภายในอาคาร รวมถึงอะพาร์ตเมนต์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ซึ่งสะท้อนถึงรูปลักษณ์ภายนอกของต้นศตวรรษที่ 20 และบนชั้นดาดฟ้าที่มีชื่อเสียงซึ่งมีทัศนียภาพอันงดงามตระการตาของบาร์เซโลนา
นับว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของคาซ่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ไม่เพียงซ่อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความงดงามของสถาปัตยกรรมในการออกแบบไว้ได้อย่างแยบยล สำหรับใครที่อยากรู้ว่าข้างในคาซ่าจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าในบทความฉบับนี้เราจะพาไปเดินสำรวจอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้พร้อม ๆ กัน พร้อมราคาตั๋วในการเข้าชม และสิ่งที่น่าสนใจในคาซ่ามิลา เพื่อเป็นข้อมูลไว้ใช้วางแผนไปชมงานศิลป์ของเกาดีด้วยตัวเอง
ตั๋วเข้าชมคาซ่ามิลาราคาเท่าไร
คาซ่ามิลาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของบาร์เซโลนา แนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าไว้ก่อน โดยสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ล่วงหน้าได้สูงสุด 3 เดือน
ตั๋วเข้าชมคาซ่ามิลาเมื่อซื้อแล้วไม่จำเป็นต้องพิมพ์ เพียงใช้ QR จากอีเมล์ในมือถือสแกนที่จุดตรวจตั๋ว ราคาตั๋วเข้าชมคาซ่ามิลาแบ่งตามประเภทการเข้าชม คือ
สำหรับผู้ที่ถือบัตรส่วนลด เช่น บัตร Barcelona Express Card สามารถใช้เป็นส่วนลดค่าตั๋ว 3 ยูโรได้โดยตรงที่เคาน์เตอร์ เวลาเปิดคาซ่ามิลาทุกวัน รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์ 09:00-20:30 น. เวลาที่แนะนำในการเข้าชม คือ ระหว่าง 09:00-10:00 น. และช่วงบ่ายหลังเวลา 16:00 น.
ถ้าตั๋วเข้าชมคาซ่ามิลาเต็มทำยังไง
ตั๋วเข้าคาซ่ามิลามักจะถูกจองเต็มเร็วมาก นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมแนะนำให้ซื้อตั๋วออนไลน์ไว้ก่อน อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถหาซื้อตั๋วเข้าชมได้จากเว็บไซต์ทางการ ยังมีอีกหลายวิธีที่เป็นตัวเลือกสำหรับการซื้อตั๋วเข้าชมคาซ่ามิลา คือ
- ซื้อตั๋วจากตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ: ไม่ว่าจะเป็น GetYourGuide, Tiqets และ Klook ทั้ง 3 เว็บไซต์นี้เราใช้งานอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะ GetYourGuide จะใช้บ่อยที่สุด ทั้งสะดวกและช่วยประหยัดเวลามากเลย
- เข้าร่วมไกด์ทัวร์คาซ่ามิลา: ตัวเลือกนี้ได้ทั้งความรู้จากไกด์ผู้ชำนาญการและยังได้เข้าชมคาซ่ามิลาแบบเจาะลึกอีกด้วย ทัวร์ใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมง จองตั๋วเข้าร่วมไกด์ทัวร์คาซ่ามิลาล่วงหน้าตอนนี้เลย
สิ่งที่น่าสนใจในคาซ่ามิลา (Casa Milà)
เที่ยวคาซ่ามิลา: ด้านหน้าอาคาร (The facade)
เมื่อมาเยือนคาซ่ามิลาต้องไม่พลาดที่จะชมส่วนด้านหน้าอาคาร เพราะว่าทั้งสวยงามและแปลกประหลาดในเวลาเดียวกัน โดยมีส่วนที่สะดุดตาที่สุดคือกำแพงหินลูกคลื่นที่ดูลื่นไหลมีชีวิตราวกับว่าถูกสร้างขึ้นด้วยมือของธรรมชาติ เกาดีนำเสนอความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครด้วยองค์ประกอบคุณภาพเหล่านี้ทำให้คาซ่ามิลาดูเฉิดฉาย แทนที่จะใช้เส้นตรงเพื่อสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งซึ่งแพร่หลายในสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม
ส่วนหน้าของคาซ่ามิลายังประดับด้วยระเบียงงานเหล็กอันวิจิตรบรรจง ซึ่งเปรียบเสมือนงานศิลปะอันประณีตในตัวมันเอง ระเบียงแต่ละห้องถือเป็นผลงานชิ้นเอก โดยมีการออกแบบที่หรูหราด้วยเหล็กดัดซึ่งมีทั้งประโยชน์ใช้สอยและรูปลักษณ์ที่สะดุดตา ความแตกต่างระหว่างงานเหล็กที่แข็งแกร่งและกำแพงหินที่ไหลลื่นทำให้เกิดการผสมผสานรูปแบบและพื้นผิวที่น่าหลงใหล และยังเน้นย้ำถึงความกล้าหาญทางศิลปะของเกาดีอีกด้วย
เที่ยวคาซ่ามิลา: ลานด้านในคาซ่ามิลา (The Courtyard)
ชมด้านหน้าของคาซ่ามิลากันไปแล้วขยับมาต่อกันที่ด้านในอาคารกันบ้าง โดยจะพบกับลานขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ ลานดอกไม้ (The Flower Courtyard) และลานผีเสื้อ (The Butterfly Courtyard) ทั้งสองแห่งถูกสร้างขึ้นเพื่อให้มีการระบายอากาศและแสงธรรมชาติเพียงพอภายในห้องพักทุกห้อง เมื่อตอนเริ่มสร้างอาคารส่วนใหญ่มีเพียงลานเดียวเท่านั้นเพื่อระบายอากาศให้กับห้องครัวและห้องสุขา แต่เนื่องจากคาซ่ามิลามีอะพาร์ตเมนต์มากกว่า 16 ห้อง เกาดีจึงเพิ่มลานบ้าน 2 แห่งเพื่อให้แน่ใจว่ามีอากาศถ่ายเททั่วทุกห้อง
นอกจากวัตถุประสงค์ในการใช้งานแล้ว เกาดีก็ไม่ลืมใส่ความสวยงามรวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปยังลานทั้งสองด้วย เช่น ลานดอกไม้ ชื่อก็คงพอเดาได้ว่าเกี่ยวอะไร ตั้งอยู่ทางฝั่งถนนกราเซีย ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีรูปทรงแสงและสีสันที่ตัดกับส่วนหน้าอาคารที่ดูเงียบขรึม สีสันเหล่านี้ได้มากจากภาพวาดฝาผนังที่ตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปีนป่ายไปตามบันไดโลหะจนถึงพื้นที่หลักราวกับรากที่คดเคี้ยว บันไดนี้ยังสร้างโดยบริษัทเดียวกับที่สร้างหอไอเฟลอีกด้วย โดยยื่นออกไปเหนือลานภายในช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน การออกแบบในลักษณะนี้เรียกได้ว่าหาในย่านตัวเมืองบาร์เซโลนาแทบไม่ได้เลย
เที่ยวคาซ่ามิลา: อะพาร์ตเมนต์เปเดรรา (The Pedrera Apartment)
สำรวจบันไดทางเข้าและลานบ้านกันไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่ต้องไปสำรวจอะพาร์ตเมนต์สำหรับผู้เช่าของคาซ่ามิลากันต่อ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ของอาคาร ผู้เข้าชมสามารถใช้บันไดหรือลิฟต์ไปยังชั้นเหล่านี้ได้สะดวก
เมื่อย่างกรายเข้ามาบนชั้นสี่ของคาซ่ามิลาจะพบกับที่อยู่อาศัยหลังที่สองที่ได้รับการสร้างขึ้นใหม่เพื่อเป็นอะพาร์ตเมนต์ของครอบครัวชนชั้นกลางในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจากศตวรรษที่ 20 โดยใช้องค์ประกอบดั้งเดิมของคาซ่ามิลา เช่น มือจับประตู ลูกบิดประตู คิ้วบัว ประตู และการปูกระเบื้อง ตลอดจนการบำรุงรักษาห้องดั้งเดิมและตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ย้อนยุค งานศิลปะ เครื่องประดับ และอุปกรณ์ในครัวเรือนที่ทำให้อะพาร์ตเมนต์อยู่ในบริบทของยุคสมัยนั้น และแสดงให้ผู้ชมเห็นว่าชนชั้นกระฎุมพีในสมัยนั้นอาศัยอยู่อย่างไร
เมื่อมองลึกลงไปถึงโครงสร้างของอะพาร์ตเมนต์จะพบว่าเกาดีได้ใช้นวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในการออกแบบอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เสาที่ทำจากวัสดุหลากหลายชนิด เช่น หิน อิฐ หรือเหล็กขึ้นอยู่กับความต้องการและความสวยงามของแต่ละส่วน เพื่อเป็นโครงสร้างรองรับน้ำหนักแทนที่จะให้ผนังทำหน้าที่เหล่านั้น การออกแบบในลักษณะนี้ช่วยให้มีพื้นที่เปิดกว้างโดยไม่มีกำแพงหนามากีดขวาง สามารถสร้างพื้นที่ใช้สอยได้ตามต้องการ และสามารถกระจายพื้นที่ภายในของอะพาร์ตเมนต์ได้อย่างอิสระอีกด้วย
พูดถึงโครงสร้างกันไปแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นกลิ่นอายในการออกแบบของเกาดีก็คือการสอดแทรกรายละเอียดเล็ก ๆ ตามชิ้นส่วนต่าง ๆ ไว้ เช่น ประตู ถ้ามองผิวเผินอาจจะดูเหมือนประตูทั่วไป แต่ถ้าสังเกตุดี ๆ จะพบว่าเกาดีได้สร้างบทสนทนาระหว่างรูปทรงเรขาคณิตและรูปทรงอินทรีย์ไว้บนประตูเสมอ โดยเฉพาะรูปทรงที่มีต้นกำเนิดจากพืชกระจายอยู่รอบ ๆ ประตู ซึ่งเป็นงานแฮนด์เมดของช่างฉาบปูนที่สร้างชิ้นส่วนแต่ละส่วนด้วยนิ้วมือ และผ่อนปรนบนกรอบประตูทุกบานในระดับต่าง ๆ
เรื่องของประตูยังคงสร้างความแตกต่างแต่ใช้งานได้จริงจนถึงขั้นต้องบอกว่า “คิดได้อย่างไร” เมื่อเกาดีเปลี่ยนช่องสอดแหนมที่มีขนาดเล็กด้วยหน้าต่างบานใหญ่และตกแต่งด้วยรูปทรงโลหะ วิธีนี้แน่นอนว่าทำให้คนที่อยู่ข้างในสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าคนที่มาเคาะประตูคือใครแบบไม่ต้องแอบสอดแหนมกันไปเลย
ที่เหนือจินตนาการออกแบบไปมากกว่านั้นก็คือเกาดีได้ออกแบบลูกบิดประตูให้ง่ายต่อการใช้งาน ด้วยรูปทรงที่แน่นอนเมื่อกดมือลงไปจะรับกับลูกบิดในลักษณะกำมือพอดี เรียกว่าเป็นศาสตร์การทำงานให้มีประสิทธิอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามแม้ว่าคาซ่ามิลาจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม แต่อะพาร์ตเมนต์ยังมีผู้อาศัยอยู่จริง ซึ่งเป็นผู้เช่าที่พักอยู่ที่นี่มานานกว่า 70 ปี ทั้งหมด 3 รายด้วยกัน
เที่ยวคาซ่ามิลา: ห้องใต้หลังคา (The Attic)
ห้องใต้หลังคานับว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่หนึ่งของคาซ่ามิลาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถูกออกแบบให้อยู่ที่ชั้นบนสุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำหนักของอาคารเพิ่มขึ้น โดยใช้ซุ้มประตูรั้ว 270 อันที่ทำจากอิฐแดงเปลือยเพื่อรองรับระเบียงดาดฟ้า ซุ้มแบบโซ่เหล่านี้มีน้ำหนักเบา สร้างง่าย สามารถรองรับตัวเองได้และไม่ต้องค้ำยัน ทำให้เพดานโค้งเกิดความสวยงามและมั่นคงเป็นพิเศษ
เดิมทีห้องใต้หลังคาของคาซ่ามิลาเป็นที่ตั้งของพื้นที่ซักรีดส่วนกลางและทำหน้าที่เป็นห้องฉนวนอากาศขนาดใหญ่ ปัจจุบันกลายมาเป็นที่ตั้งของนิทรรศการ “Espai Gaudí” เพื่ออุทิศให้กับชีวิตและผลงานของเกาดี ซึ่งเป็นการนำเสนอผ่านผลงานสร้างสรรค์ของเขาโดยใช้แบบจำลองและแผนผัง รวมถึงวัตถุและการออกแบบ ตลอดจนภาพถ่ายและวิดีโอ
เที่ยวคาซ่ามิลา: ชั้นดาดฟ้าของคาซ่ามิลา (The Rooftop)
สำรวจห้องใต้หลังคาเพื่อเรียนรู้ประวัติและผลงานของเกาดีในเชิงลึกกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะไปสำรวจแลนด์มาร์คของคาซ่ามิลากันบ้าง นั้นก็คือชั้นด่านฟ้าอันโดดเด่นที่สามารถเข้าถึงได้โดยใช้บันไดจากห้องใต้หลังคา
ระเบียงด่านฟ้าเป็นส่วนที่มหัศจรรย์ที่สุดของคาซ่ามิลาเลยก็ว่าได้ โดยมีจุดเด่นในเรื่องของประติมากรรมที่แปลกตา ประติมากรรมเหล่านี้มีลักษณะคล้ายยามรักษาการณ์ มองดูแล้วน่าขนลุกและเหมือนติดอยู่ในห้วงความของความฝันในเวลาเดียวกัน ว่ากันว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ประกอบทางธรรมชาติ เช่น ยอดเขาที่ขรุขระของเทือกเขา และทำจากหินและกระเบื้องเซรามิกที่แตกเข้าด้วยกัน ทำให้มีรูปร่างและพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นอกจากการตกแต่งด้วยประติมากรรมเหนือจริงแล้ว ชั้นด่านฟ้าของคาซ่ามิลายังถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้จริงอีกด้วย โดยมีปล่องบันไดช่วยให้อากาศเข้าถึงบันไดและถังเก็บน้ำ ในขณะที่หอระบายอากาศช่วยให้อากาศในห้องใต้หลังคาสดชื่น เช่นเดียวกับปล่องไฟช่วยกระจายควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเยี่ยมชมระเบียงด่านฟ้าไม่ได้มีแค่สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปฉากหลังซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองบาร์เซโลนา สามารถมองเห็นมหาวิหารซากราดาฟามีเลียตั้งอยู่ไกล ในขณะที่ฝั่งด้านหน้าสามารถมองภาพบรรยากาศของถนนกราเซีย
การเยี่ยมชมคาซ่ามิลาเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายนั้นคือการลงจากชั้นด่านฟ้ากลับไปยังชั้นล่างสุดเพื่อคืนเครื่องออดิโอไกด์ นับว่าเป็นการใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่คุ้มค่ามาก ๆ และยังเป็นการเดินทางสู่โลกสถาปัตยกรรมของเกาดีอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ส่วนหน้าอาคารไปจนถึงชั้นด่านฟ้าตระการตา ทุกบริบททั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการดำดิ่งไปในโลกอันน่าหลงใหลของคาซ่ามิลาแบบไม่อยากให้ทัวร์จบลงเลย อย่างไรก็ตามใครที่เป็นแฟนตัวยงสถาปัตยกรรมของเกาดีแนะนำว่าไม่ควรพลาดสถานที่แห่งนี้อย่างเด็ดขาด ถ้าชมคาซ่าบัตโล่แล้วก็สามารถแวะมาชมที่นี่ได้ต่อ หรือถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่แฟนตัวยงของเกาดีก็ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาชมเช่นกัน
เที่ยวคาซ่าบัตโล่ & คาซ่ามิลา เลือกที่ไหนดี
คาซ่าบัตโล่และคาซ่ามิลาต่างก็เป็นผลงานการออกแบบเกาดี ซึ่งคาซ่าบัตโล่ถูกสร้างขึ้นก่อนที่เกาดีจะมาออกแบบคาซ่ามิลา จากนั้นก็อุทิศตนไปกับการออกแบบมหาวิหารซากราดาฟามีเลีย ถ้าถามว่าควรเข้าชมสถานที่ไหนดีระหว่างคาซ่าบัตโล่และคาซ่ามิลา คำตอบคือเชียร์ให้เข้าชมทั้งสองที่เลย เพราะอาคารทั้งสองมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันและแฝงไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง
สำหรับคาซ่าบัตโล่ส่วนหน้าเหมือนกับคลื่นทะเลชวนไปแหวกว่าย เมื่อก้าวเข้าไปด้านในจะพบกับสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกเหมือนเราดำดิ่งอยู่ในมหาสมุทร ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือช่องไฟส่วนกลางที่ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินและสีขาว ส่วนชั้นด่านฟ้ามีหลังคาทรงมังกรที่ปกคลุมด้วยกระเบื้องสีรุ้ง รวมถึงปล่องไฟมีลักษณะคล้ายหมวกนักรบ และหอคอยไม้กางเขนสี่กร
ในขณะที่คาซ่ามิลาส่วนหน้าอาคารดูแปลกประหลาดด้วยเส้นคลื่น เมื่อขยับไปด้านในจะพบกับอะพาร์ตเมนต์ที่นำเสนอการใช้ชีวิตของชนชั้นกระฎุมพีในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนจะไปจบลงที่ชั้นด่านฟ้าซึ่งเป็นไฮไลท์ของบ้านเลยก็ว่าได้ที่มีประติมากรรมรูปร่างแปลกตาคล้ายยามรักษาการณ์ ซึ่งชั้นด่านฟ้าของคาซ่ามิลาจะมีขนาดใหญ่ว่าคาซ่าบัตโล่ เช่นเดียวกับตัวบ้านที่มีพื้นที่มากกว่า การเข้าชมจึงใช้เวลามากกว่าเช่นกัน
บัตรท่องเที่ยวที่รวมการเข้าชมคาซ่าบัตโล่และคาซ่ามิลา
ที่เที่ยวยอดนิยมในบาร์เซโลนา
มหาวิหารซากราดาฟามีเลีย (Sagrada Familia)
เป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกอันน่าทึ่งที่ได้รับการออกแบบโดยเกาดี ซึ่งเป็นผู้เริ่มโครงการในปี 1882 มหาวิหารแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และรูปแบบออร์แกนิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผสมผสานองค์ประกอบทางศาสนาเข้ากับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและเรขาคณิต ทำให้เกิดงานศิลปะทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แน่นอนว่าเมื่อไปเยือนมหาวิหารซากราดาฟามีเลียต้องไม่พลาดที่จะชมส่วนหน้าอาคารอันงดงาม 3 ส่วน ได้แก่ ด้านหน้าอาคารการประสูติ ด้านหน้าของความรัก และส่วนหน้าแห่งความรุ่งโรจน์ ด้านหน้าอาคารแต่ละหลังได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยประติมากรรมและรายละเอียดที่แสดงถึงแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตของพระคริสต์
นอกจากส่วนหน้าอาคารที่สวยงามแล้วถ้าเดินเข้าไปด้านในจะพบกับทางเดินที่ได้รับการตกแต่งอย่างอลังการไม่แพ้กันด้วยสถาปัตยกรรมเสา ซึ่งเลียนแบบต้นไม้และเพดานสูงที่สร้างบรรยากาศอันงดงาม มหาวิหารยังประดับด้วยหน้าต่างกระจกสีที่มอบความนุ่มนวลและงดงามสู่พื้นที่ ในขณะที่หอคอยทั้งสองด้านนำผู้ชมไปสู่วิวที่สวยงามของบาร์เซโนา
ความสำคัญอีกหนึ่งอย่างของซากราดาฟามีเลียคือได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี 2548 โดยตระหนักถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม โดยรวมแล้วนับว่าซากราดาฟามีเลียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับหนึ่งของบาร์เซโลนาที่ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด อย่าลืมเผื่อเวลาเข้าชมไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และเผื่อเวลาเดินทางจากคาซ่ามิลาไว้ประมาณ 20 นาที
สวนสถาปัตยกรรมปาร์กเกวย์ (Park Güell)
ที่เที่ยวยอดนิยมของบาร์เซโลนาไม่แพ้มหาวิหารซากราดาฟามีเลีย ด้านในเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและยังเป็นมรดกโลกของยูเนสโกอีกด้วย โดยขึ้นชื่อในด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะที่มีเอกลักษณ์แปลกตา สวนแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยเกาดี ซึ่งได้รับการมอบหมายจาก Eusebi Güell นักอุตสาหกรรมผู้มั่งคั่ง และยังเป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้าง นั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสวนจึงได้รับการตั้งชื่อว่า “เกวย์”
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นปาร์กเกวย์คือการใช้โมเสกสีสันสดใสและกระเบื้องเซรามิกประดับไปทั่วสวน ไม่ว่าจะเป็นม้านั่ง บันได ทางเดิน และผนัง สวนยังโดดเด่นด้วยบ้านคล้ายขนมปังผิง 2 หลัง คือ บ้านทางเข้า Porter’s Lodge (Pavilion) และบ้านผู้ดูแลสวนสาธารณะ (Porter’s House) ทั้งสองหลังประดับหลังคาด้วยโดมทรงเห็ดขนาดใหญ่ มองแล้วให้ความแปลกตาราวกับเทพนิยาย
ปาร์กเกวย์ยังมีเสาระเบียงที่สวยงาม บันไดสองชั้นที่มีรูปมังกรซาลาแมนเดอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “El Drac” ใครที่ไปแล้วอย่าลืมแวะไปชมเจ้ามังกรนี้ด้วยน๊า นอกจากนี้สวนยังมีแผนผังที่เดินเที่ยวง่าย รวมถึงมีจุดที่สามารถรับชมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองบาร์เซโลนาและมหาวิหารซากราดาฟามีเลียได้อีกด้วย เนื่องจากปาร์กเกวย์มีขนาดใหญ่มาก ควรเผื่อเวลาการเข้าชมไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางจากคาซ่ามิลาประมาณ 30-45 นาที
การเดินทางไปบาร์เซโลนาจากอัมสเตอร์ดัม
อัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่ห่างจากบาร์เซโลประมาณ 1,538 กม. นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเที่ยวบาร์เซโลสามารถเชื่อมต่อการเดินทางจากเมืองใกล้เคียงได้สะดวก เช่น อัมสเตอร์ดัม บรัสเซลส์ ปารีส บอร์โด หรือมาดริด ครอบคลุมตัวเลือกด้วยเที่ยวบิน รถไฟ รถโคช และรถยนต์ ดังรายละเอียด
เที่ยวคาซ่าบัตโล่ + คาซ่ามิลาใช้งบเท่าไร
ค่าใช้จ่ายสำหรับเที่ยวคาซ่าบัตโล่และคาซ่ามิลาอยู่ที่ประมาณ 85-100 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,200-3,800 บาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าที่พัก การเดินทาง อาหาร กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงค่าที่จอดรถและค่าทางด่วน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน เช็คราคาและจองตั๋วเครื่องบินราคาประหยัดได้ที่นี่
budget
โรงแรม: 90-140 ยูโร
โฮสเทล: 40-80 ยูโร
การเดินทาง: 16.40 ยูโร
ซื้อตั๋วเดินทาง
กิจกรรมและตั๋ว: 25-40 ยูโร
รถเช่า: 30-100 ยูโร
อาหาร: 15-30 ยูโร/มื้อ
เครื่องดื่ม: 10-15 ยูโร
เที่ยวอย่างอุ่นใจไปกับบัตรเดบิต Wise สำหรับใช้จ่ายทั่วโลก สามารถใช้ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มต่างประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยนจริงโดยไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง ใช้ชำระค่าอาหาร จองที่พักหรือตั๋วเครื่องบิน รวมถึงในร้านค้าออนไลน์ทั่วโลกกว่า 50+ สกุลเงิน ทั้งยังรองรับการชำระผ่าน MasterCard, Apple Pay และ Google Pay โดยไม่ต้องกังวลในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ใช้มานานกว่า 4 ปีไม่ผิดหวัง → สมัครรับบัตรเดบิต Wise ไว้ใช้ประโยชน์ด้วยตัวเองตอนนี้เลย
แหล่งข้อมูลวางแผนเที่ยว
Thank you
การเปิดเผย: บทความนี้มีลิงก์แอฟฟิลิเอทบางส่วน การกดที่ลิงก์ไม่มีค่าใช้จ่าย หากซื้อสินค้าหรือบริการจากลิงก์ดังกล่าว เราอาจได้รับค่ากำลังใจเล็กน้อยสำหรับนำไปพัฒนาบล็อก 🧡