พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) หรือที่เรียกในภาษาดัตช์ว่า “Koninklijk Paleis van Amsterdam” เป็นสถานที่อันงดงามหรูหรา ตัวอาคารได้รับการออกแบบอย่างโอ้อ่าสะท้อนถึงอำนาจและความรุ่งเรืองอย่างขีดสุดในช่วงยุคทองดัตช์ เป็นหนึ่งในสามพระราชวังในประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ในย่านจัตุรัสดัมสแควร์ (Dam Square) ตรงข้ามอนุสรณ์สถานสงคราม (National Monument) และอยู่ติดกับโบสถ์ใหม่ (Nieuwe Kerk) ในอดีตเคยเป็นศาลากลางในศตวรรษที่ 17 กว่า 150 ปี ต่อมากลายเป็นพระราชวังของกษัตริย์หลุยส์ นโปเลียน และต่อมากลายเป็นราชสำนักดัตช์ ปัจจุบันโดยส่วนมากใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกของราชวังดัตช์และงานเลี้ยงรับรอง รวมถึงโอกาสอื่น ๆ ของราชวงศ์ เช่น งานเลี้ยงต้อนรับปีใหม่ งานกาล่าดินเนอร์ และพิธีมอบรางวัล และยังเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าชมเมื่อไม่ได้ใช้งานอย่างเป็นทางการ
จากศาลากลางสู่พระราชวังอันหรูหรา
พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัตช์ผู้มีชื่อเสียง ยาค็อบ ฟาน แคมเปน (Jacob van Campen 1596-1657) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1648 โดยหันหน้าไปทางท่าเทียบเรือตามคลอง Damrak ซึ่งในสมัยนั้นอาจเต็มไปด้วยเรือ ก่อนที่จะมีการเปิดตัวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1655 โดย คอร์เนลิส เดอ เกรฟ (Cornelis de Graeff) นายกเทศมนตรีแห่งอัมสเตอร์ดัม สำหรับใช้เป็นศาลากลางของกรุงอัมสเตอร์ดัม ตัวอาคารมีความกว้าง 79 เมตร และสูงจากยอดหอคอย 55 เมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 22,000 ตารางเมตร
ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เอ็มไพร์
ในปี ค.ศ. 1808 พระเจ้าหลุยส์ นโปเลียน พระอนุชาของจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้กลายมาเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮอลแลนด์ หลังจากขึ้นครองราชย์ที่กรุงเฮกและอูเทร็คท์แล้วได้ย้ายไปที่อัมสเตอร์ดัมและแปรสภาพศาลากลางให้กลายเป็นพระราชวังของตัวเอง มีการประดับผนังด้วยผ้าหลากสีสัน ปูพรมหนาบนพื้นห้องทำงานละห้องงานศิลปะ แขวนด้วยโคมระย้าหลายร้อยตัว และตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เอ็มไพร์อันงดงามของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเล็กชั่นที่สวยงามที่สุดในโลก การเข้าพักของเขาและเฟอร์นิเจอร์ในสไตล์ ‘Empire Style’ ยอดนิยมยังคงใช้งานและจับต้องได้จนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในปี ค.ศ. 1813 หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้และฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 6 (พระราชโอรสในเจ้าชายวิลเลียมที่ 5 แห่งราชวงศ์ออเรนจ์) ได้เสด็จกลับมายังเนเธอร์แลนด์หลังจากลี้ภัยในประเทศอังกฤษเป็นเวลาหลายปี และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์ และทรงบูรณะวังให้กลับคืนสู่เจ้าของเดิม ทำให้ศาลากลางกรุงอัมสเตอร์ดัมกลายมาเป็นพระราชวังอีกครั้ง
เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมเมื่อไม่ได้ใช้งานอย่างเป็นทางการ
พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) ด้านในแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ หลายส่วน เมื่อไม่ได้ใช้งานอย่างเป็นทางการพระราชวังมีการเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมทั้งหมด 21 ห้องด้วยกัน โดยเริ่มจากห้องโถงพลเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการเข้าชมพระราชวังหลวงแห่งนี้ รวมถึงรูปปั้นแบบจำลอง “แอตลัส” (Atlas) ไททันกรีกผู้แบกท้องฟ้าไว้บนบ่า ห้องบัลลังก์ ห้องรอยัลอพาร์ทเม้นต์ อดีตห้องโถงสภาหอการค้า ระเบียงพระราชวัง ห้องโถงโมเสส และอดีตศาลแห่งความยุติธรรม
ห้องโถงพลเมือง (Citizens’ Hall)
Citizens’ Hall (Burgerzaal) เป็นห้องโถงที่ใหญ่ที่สุดในวังและยังเป็นหัวใจของศาลากรุงอัมสเตอร์ดัม สามารถเข้าถึงได้โดยเสรีสำหรับพลเมืองอัมสเตอร์ดัมทุกคน ด้านในมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ยาว 34 เมตร และสูง 25 เมตร มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษเมื่อแสงแดดส่องเข้ามาจากหน้าต่าง ปูด้วยพื้นหินอ่อนฝังด้วยแผนที่วงกลมขนาดใหญ่ 3 แผนที่ แต่ละแผ่นมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 เมตร แสดงภาพซีกโลกตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งท้องฟ้ายามค่ำคืน อ้างอิงจากแผนที่โลกและแผนภูมิดาวโดยตระกูล Blaeu ซึ่งเป็นนักทำแผนที่ที่รู้จักกันดีที่สุดในศตวรรษที่ 17
แผนที่ของซีกโลกตะวันตก (Western hemisphere)
แผนที่ของซีกโลกตะวันตกนี้อาจจะมีรากฐานมาจากแผนที่ในปี ค.ศ. 1648 วาดโดย Joan Blaeu นักเขียนแผนที่ชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งแสดงให้เห็นอเมริกาเหนือและใต้ และเป็นส่วนหนึ่งของเกาะแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามบางส่วนของแคนาดาและอลาสก้ายังไม่ปรากฎแน่ชัดในเวลานี้
Amsterdam Maiden เธอเป็นตัวแทนของเมือง
เหนือชายคาบัลลังก์ประตูทางเข้าห้องโถงคือประติมากรรมหุ่นจำลองหล่อสำริด ชื่อว่า Amsterdam Maiden เธอเป็นตัวแทนของเมือง ออกแบบโดยช่างแกะสลัก Artus Quellinus ก่อนปี ค.ศ. 1666 ตัวเลขใต้นาฬิกาแสดงถึงสันติภาพ ในมือขวาของเธอถือกิ่งมะกอก เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ส่วนในมือซ้ายมีต้นคาดูเซียส แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการค้าอีกด้วย รูปปั้นแสดงให้เห็นว่าสันติภาพช่วยกระตุ้นการค้าขายและนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของสงครามแปดสิบปีและชัยชนะของสาธารณรัฐดัตช์เหนือกษัตริย์แห่งสเปน
ประติมากรรมบนซุ้มบัลลังก์ประตูทางเข้าห้องโถง
ด้านล่างของ Amsterdam Maiden คือประติมากรรม Group above portal Citizens’ Hall ออกแบบโดยศิลปิน Artus Quellinus ราวปี ค.ศ. 1655 ตรงกลางเธอคือตัวแทนของเมืองนั่งอยู่ถือกิ่งมะกอกแทนสัญลักษณ์สันติภาพ และใบปาล์มแทนสัญลักษณ์ของชัยชนะและชื่อเสียง ชุดของเธอประดับด้วยไม้กางเขนสามเซนต์แอนดรูที่มีสัญลักษณ์ของอัมสเตอร์ดัม เหนือศีรษะมีนกอินทรีถือมงกุฎ
ในขณะที่แต่ละด้านมีสิงโต ทางด้านขวาของเมดคือตัวตนของมิเนอร์วาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญา และด้านซ้ายของเธอคือตัวตนของเฮอร์คิวลีสซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ด้านหลังรูปเหล่านี้มีเปมเทพสี่ตนยืนถือ (จากซ้ายไปขวา) หางเสือ (ธรรมาภิบาล) ตาที่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมด (ความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ) ไม้เท้าที่มีงูสองตัว (การค้าและสันติภาพ) และเขาหลายอัน (นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์)
“แอตลัส” (Atlas) ไททันกรีกผู้แบกท้องฟ้าไว้บนบ่า
เหนือชายคาซุ้มประตูทางเข้าแกลเลอรีที่นำไปสู่ห้องแสดงงานศิลปะมีรูปปั้นแบบจำลอง “แอตลัส” หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดความสูงวัดจากหัวจรดเท้าได้ประมาณ 6 เมตร ตามตำนานเขาแบกท้องฟ้าไว้บนบ่าเป็นการลงโทษโดยซูสหลังจากที่ไททันส์แพ้การต่อสู้กับเทพเจ้าแห่งโอลิมปัส ส่วนในศาลากลางแห่งนี้เขาแสดงให้เห็นว่าชาวอัมสเตอร์ดัมเห็นว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แอตลัสจึงเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลทั้งหมดและตำแหน่งกลางอัมสเตอร์ดัมก็เห็นจะครอบครองในยุคทอง
ประติมากรรมของกลุ่มผู้พิพากษา
บนซุ้มประตูทางเข้านำไปสู่ห้องแสดงงานศิลปะยังมีประติมากรรมของกลุ่มผู้พิพากษา (Group above portal Magistrates’ Chamber) ออกแบบโดยศิลปิน Artus Quellinus ตรงกลางคือผู้พิพากษาหญิงถือดาบและตาชั่งอยู่ในมือของเธอ ร่างทั้งสองที่เธอเหยียบย่ำอยู่ใต้ฝ่าเท้าคือราชาไมดาสและอินวิเดีย ตัวตนของความชั่วร้ายและความริษยา ทางด้านซ้ายของผู้พิพากษาคือโครงกระดูกแห่งความตายซึ่งถือนาฬิกาทรายในมือของเขา ข้างหลังเขามองเห็นเปมเทพสองตนถือถือแส้และทางขวาถือสายฟ้า ส่วนขวามือมีการลงโทษด้วยเครื่องมือทรมานต่างๆ ข้างหลังเธอคือพิณสองตัว ทั้งหมดแสดงถึงกระบวนการแห่งความยุติธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้
Temperance บังเหียนควบคุมความปรารถนาของมนุษย์
ทางด้านขวามือของ Group above portal Magistrates’ Chamber คือประติมากรรม Temperance ออกแบบโดย Artus Quellinus ก่อนปี ค.ศ. 1666 บังเหียนในมือของเธอใช้สำหรับควบคุมความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งความพอประมาณเป็นหนึ่งในสี่คุณธรรมที่สำคัญซึ่งบรรพบุรุษของเมืองได้ระบุไว้
ห้องบัลลังก์ (Throne Room)
เดินผ่านประตูทางเข้าแกลเลอรีที่นำไปสู่ห้องแสดงงานศิลปะเราจะพบกับ Throne Room (Troonzaal) ซึ่งอยู่ถัดจากห้องโถงพลเมือง ด้านในได้รับการตกแต่งอย่างงดงามแขวนด้วยโคมไฟระย้าจำนวน 3 ตัว บนผนังตกแต่งด้วยตราอาร์ม ประดับด้วยรูปภาพของกษัตริย์ราชวงศ์ดัตช์ และจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวของโมเสสลงมาจากภูเขาซีนายพร้อมแผ่นศิลาจารึกบัญญัติสิบประการ วาดโดยแฟร์ดีนันด์ โบล (Ferdinand Bol) จิตกรชาวดัตช์ช่วงยุคทอง ในปี ค.ศ. 1662
แกลลอรีตะวันออกเฉียงใต้
ถัดจากรอยัลอพาร์ทเม้นต์คือส่วนแสดงแกลลอรีตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประดับด้วยจิตกรรมฝาผนังสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่สองภาพ ภาพแรก คือ Brinio Raised on a Shield วาดโดยยัน ลีเฟินส์ (Jan Lievens) จิตกรชาวดัตช์ในช่วงยุคทอง ในปี ค.ศ. 1661 และภาพที่สอง คือ The Conspiracy of the Batavians under Claudius Civilis วาดโดยจิตกรโคเฟิร์ต ฟลิงก์ (Govert Flinck) และ Jürgen Ovens (ลูกศิษย์ของแรมบรันต์) ในระหว่างปี 1559/1562
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีภาพวาดของแรมบรันต์แขวนอยู่บริเวณนี้เป็นเวลาสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1662 แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนจึงถูกถอดออกและไม่เคยนำกลับมาแขวนใหม่ ก่อนที่จะมีการขอให้ Jürgen Ovens วาดภาพสเก็ตช์ของ Govert Flinck เพื่อทำหน้าที่แทนชั่วคราว และนั้นก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ห้องธนารักษ์เดิม (Treasury ordinary)
ประตูหน้าแกลลอรีตะวันออกเฉียงใต้ คือ ห้องธนารักษ์เดิมซึ่งเป็นที่ที่บริหารงบประมาณของเมือง และยังเป็นห้องนอนในวัยเด็กของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์
ห้องของนายกเทศมนตรีเดิม (Former Burgomaster’ Council Chamber)
ถัดจากห้องห้องธนารักษ์เดิม คือ หนึ่งในห้องสภาเมืองของนายกเทศมนตรี ด้านในปูด้วยพรมหินอ่อน ประดับด้วยโคมไฟระย้า และมีภาพวาดขนาดใหญ่ติดอยู่มุมห้องทั้งสองด้านและวาดโดยลูกศิษย์ของแรมบรันต์ ภาพแรก คือ The incorruptible Consul Marcus Curius Dentatus วาดโดย โคเฟิร์ต ฟลิงก์ (Govert Flinck) ในปี ค.ศ. 1656 แสดงให้เห็นถึงความพอประมาณ (ของกงสุลโรมัน) ว่าเขาพอใจกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของเขาและไม่ต้องการของขวัญสุดหรูที่มีให้ และต่อต้านความพยายามในการติดสินบนของชายชุดขาวและเสื้อคลุมสีแดงในภาพ
ส่วนภาพวาดที่สอง คือ Fabritius and Pyrrhus วาดโดยแฟร์ดีนันด์ โบล (Ferdinand Bol) ในปี ค.ศ. 1656 ชายที่สวมหมวกขนนกทางด้านซ้ายของภาพวาดนี้คือกงสุลโรมันหรือเจ้าเมือง (Gaius Fabritius Luscinus) เขายืนหยัดและปฏิเสธที่จะถูกข่มขู่โดยสัตว์ที่คุกคามและชายที่อยู่ทางขวาสุดในชุดเสื้อคลุมสีแดง
ระเบียงของพระราชวังหลวง (Balcony Chamber)
Balcony Chamber เป็นระเบียงของพระราชวังหลวงในอัมสเตอร์ดัมที่แพงที่สุดเลยก็ว่าได้ มองออกไปด้านนอกจะเห็นจัตุรัสดัมสแควร์ (Dam Square) ตั้งอยู่ตรงข้ามอนุสรณ์สถานสงคราม (National Monument) ระเบียงแห่งนี้เป็นสถานที่ที่พระราชินีจูเลียนาทรงประกาศพระราชินีองค์ใหม่ต่อประชาชน และเป็นที่ที่เจ้าชายวิลเลียมอเล็กซานเดอร์ทรงจุมพิตเจ้าหญิงมักซิมาในวันแต่งงานของสองพระองค์
ห้องโถงโมเมส (Moses Hall)
ถัดจากระเบียงของพระราชวังหลวง คือ ห้องโถงโมเมส ด้านในประดับด้วยโคมฟ้าระย้าและภาพวาดอันงดงามขนาดใหญ่จำนวน 3 ภาพ ภาพแรก คือ Truth, personified by Jeremiah วาดโดย Jacob de Wit ในปี ค.ศ. 1737 เกี่ยวกับเยเรมีย์ที่ได้รับเลือกและสัมผัสจากพระเจ้าเพื่อเผยแพร่พระวจนะของพระเจ้า และภาพ Jethro advising Moses วาดโดย Jan van Bronckhorst ในปี ค.ศ. 1659 เผยให้เห็นถึงโมเสสยืนอยู่ตรงกลางและโบกมือไปยังแผ่นกระดาษที่มีกฎหมายจารึกไว้ ณ จุดนี้ของเรื่องราวในพระคัมภีร์ เขาปฏิบัติตามคำแนะนำที่ดีของเยโธร ซึ่งเป็นพ่อตาของเขา และสามารถชักนำชาวอิสราเอลไปยังดินแดนแห่งคำสัญญาได้ ภาพดังกล่าวจึงเตือนให้เจ้าเมืองอัมสเตอร์ดัมปฏิบัติตามคำแนะนำของสภาเพื่อประโยชน์บ้านเมืองและประชาชน
ศาลแห่งความยุติธรรม (Tribunal)
ที่ชั้นล่างใกล้กับประตูทางเข้าห้องโถง คือ ศาลแห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นไฮไลท์สุดท้ายของการเข้าชมพระราชวังหลวงในครั้งนี้ ในอดีตเคยใช้เป็นพื้นที่การประกาศโทษประหารชีวิต โดยเฉลี่ยสามถึงสี่ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นพิธีที่มีความสำคัญมาก และด้วยเหตุนี้ศาลจึงได้รับการตกแต่งอย่างประณีตด้วยงานหินอ่อนประติมากรที่ชื่อว่า Relief Tribunal ออกแบบโดย Artus Quellinus ในระหว่างปี ค.ศ. 1650 – 1652
ภาพนูนต่ำนูนสูงที่หลายคนกำลังยืนมองนี้แสดงให้เห็นถึงฉากแห่งความยุติธรรมสามฉากที่กำลังดำเนินการอยู่ ฉากด้านซ้ายเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตา ภาพที่อยู่ตรงกลางคือปัญญา และภาพที่อยู่ด้านขวาคือความยุติธรรม ทั้งสามถูกคั่นด้วยรูปปั้นหญิง caryatids ขนาดใหญ่สองคู่ ระหว่างรูปปั้นหญิงทางด้านซ้ายคือสัญลักษณ์เก่าของเมืองอัมสเตอร์ดัม ‘ฟันเฟือง’ (เรือการค้า) และระหว่างขวามือคือไม้กางเขนของนักบุญอันดรูว์ (Saint Andrew) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมือง
ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในอดีต นักโทษอาจถูกนำตัวไปที่ห้องทรมานด้วยเครื่องมือทรมาน ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถถูกตัดสินประหารชีวิตได้จนกว่าจะได้รับคำสารภาพ เมื่อนักโทษฟื้นจากการถูกทรมานเพียงเล็กน้อย เขาจะถูกนำตัวไปฟังคำพิพากษาประหารชีวิตที่ประกาศโดยเสมียนเมืองในศาลต่อหน้านายอำเภอ ผู้พิพากษา และประชาชนทั่วไป
ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
ที่ชั้นล่างติดกับเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วยังมีร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกมากมาย ใครที่สนใจอยากได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วยก็สามารถไปเดินเลือกซื้อกันได้
ชมพระราชวังแบบเสมือนจริง (Virtual tour)
สำหรับใครที่ไม่สะดวกเดินทางมาชมพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) ด้วยตัวเอง หรือกำลังวางแผนที่จะมาชมพระราชวังแห่งนี้ในภายหลัง สามารถเข้าไปชมพระราชวังแบบเสมือนจริง (Virtual tour) ก่อนได้ มีการจัดแสดงภายในแบบเดียวกับที่เข้าชมด้วยตัวเองเลย พร้อมคำอธิบายประติมากรรมและจิตรกรรมด้านในแบบละเอียด แอบกระซิบนิดหนึ่งค่ะว่าถ้าชมพระราชวังเสมือนจริงแล้วเหมือนเราได้เข้าไปยืนอยู่ในพระราชวังสถานที่จริงเลยทีเดียว
พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม (Royal Palace of Amsterdam) เป็นหนึ่งในที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอัมสเตอร์ดัม ที่มีความน่าสนใจและสามารถเดินเที่ยวได้ด้วยตัวเอง ก่อนเข้าชมพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัมแนะนำให้จองตั๋วออนไลน์ก่อนเนื่องจากมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็เดินชมห้องต่าง ๆ ภายในจนทั่ว พระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัมเปิดให้เข้าชมตลอดทั้งปีเฉพาะช่วงที่ไม่ได้จัดงานอย่างเป็นทางการเท่านั้น สำหรับวันและเวลาที่แน่ชัดในการเปิดให้เข้าชมสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของพระราชวังหลวงอัมสเตอร์ดัม
เวลาเปิด: วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 10:00-17:00 น. ราคาตั๋วเข้าชม 12.50 ยูโร สามารถรับเครื่อง Audio tour สำหรับเปิดฟังคำบรรยายขณะเดินชมพระราชวังได้ที่หน้าทางเข้า (รวมอยู่ในค่าเข้าชม) รองรับภาษาดัตช์ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ภาษาญี่ปุ่น จีนกลาง และรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีเสียงสำหรับเด็กในภาษาดัตช์และภาษาอังกฤษ พระราชวังตั้งอยู่ในย่านดัมสแควร์สามารถเดินจากสถานีรถไฟ Amsterdam Centraal Station ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
คำแนะนำในการท่องเที่ยวในกรุงอัมสเตอร์ดัม
- ควรจองตั๋วพิพิธภัณฑ์ก่อนเข้าชมล่วงหน้าเพื่อความมั่นใจ
- เตรียมขวดน้ำสำหรับพกไปดื่มแก้กระหาย หรือกรอกน้ำดื่มฟรีจากสถานีบรรจุน้ำตามจุดต่าง ๆ
- ห้องน้ำสาธารณะตามสถานีรถไฟหรือจุดบริการต่าง ๆ มีค่าบริการเริ่มต้น 50 เซ็น
- ระมัดระวังไม่ยืนกีดขวางหรือเดินบนเส้นทางจักรยาน เพราะอาจถูกถึงเฉี่ยวชนได้
- ถึงแม้การเดินทางด้วยระบบสาธารณะในประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีความตรงเวลาและสะดวกสบาย อย่างไรก็ตามควรเผื่อเวลาในการเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง เผื่อสำรองในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยว
แหล่งข้อมูลวางแผนเที่ยว
Thank you
การเปิดเผย: บทความนี้มีลิงก์แอฟฟิลิเอทบางส่วน การกดที่ลิงก์ไม่มีค่าใช้จ่าย หากซื้อสินค้าหรือบริการจากลิงก์ดังกล่าว เราอาจได้รับค่ากำลังใจเล็กน้อยสำหรับนำไปพัฒนาบล็อก 🧡