การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี ดำเนินงานโดยสถาบันคัดกรองประชากรของสถาบันสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ ที่จะส่งจดหมายเชิญถึงที่บ้านให้ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก บทความนี้จะมาอธิบายถึงรายละเอียดเหล่านั้นกันว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมไปถึงแชร์ประสบการณ์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ทำได้สะดวกและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
สถิติการตรวจมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์
จากสถิติในปี พ.ศ. 2564 ของโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์ พบว่ามีผู้หญิงประมาณร้อยละ 9.5% เป็นมะเร็งปากมดลูก จากจำนวนสตรีที่ได้รับเชิญให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1,014,507 คน มีสตรีจำนวน 555,515 คนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแบ่งออกเป็นการตรวจแบบแป๊ปสเมียร์ 42.7% และสตรีจำนวน 12.1% ใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง
ทำอย่างไรจะได้ตรวจมะเร็งปากมดลูก?
ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์อายุระหว่าง30–60 ปีไม่ต้องลงทะเบียนด้วยตัวเอง แต่จะมีจดหมายเชิญส่งมาที่บ้านให้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี ซึ่งจดหมายจะมาในช่วงวันเกิด (แล้วเขาส่งมาตรงเวลามาก ๆ ค่ะ สมมุติว่าเราเกิดวันที่ 26 พฤศจิกายน วันที่ 27 พฤศจิกายนจดหมายมาถึงบ้านแล้ว) หากผลการตรวจไม่พบความผิดปกติจะมีจดหมายเชิญให้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครั้งต่อไปในอีกห้าปีข้างหน้า ส่วนผู้หญิงวัย 60 ปีที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกจะได้รับจดหมายเชิญครั้งสุดท้ายในวันเกิดปีที่ 65 ของพวกเธอ
การตรวจมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์ มีกี่แบบ?
การตรวจมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์ มี 2 แบบ คือ
- การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)
- การตรวจมะเร็งปากมดลูกใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (Self-test kit)
การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบแป๊ปสเมียร์
ในจดหมายเชิญที่เราได้รับมาจะมีสติกเกอร์บาร์โค้ดสองอัน เราสามารถใช้สติ๊กเกอร์เหล่านั้นเพื่อนำไปยืนยันเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกกับหมอบ้าน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- นัดหมายหมอบ้านประจำตัว จากนั้นเดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย อย่าลืมนำจดหมายเชิญติดตัวไปด้วยนะคะ (ไม่เช่นนั้นหมอบ้านจะไม่สามารถทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกให้เราได้)
- พบผู้ช่วยแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเบื้องต้น รวมไปถึงตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไร? มีปัญหาสุขภาพหรือไม่? ใช้การคุมกำเนิดหรือไม่? ถ้าใช้ ใช้ตัวไหน อย่างไร? เคยตรวจแป๊ปสเมียร์มาก่อนหรือไม่? ถ้าเคย รู้สึกอย่างไร? ฯลฯ ผู้ช่วยแพทย์จะกรอกคำตอบของเราลงในแบบฟอร์มสำหรับห้องปฏิบัติการ เมื่อตอบคำถามเสร็จแล้วเราต้องถอดเสื้อผ้า (เฉพาะด้านล่าง) จากนั้นนอนหงายลงบนเก้าอี้ที่มีขาหยั่ง งอเข่าแล้วกางขาออกเล็กน้อย ระหว่างนี้ก็ทำตัวให้ผ่อนคลายและไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะผู้ช่วยแพทย์โดยส่วนมากเป็นผู้หญิงและไม่มีคนอื่น ๆ เข้ามาในห้องขณะที่กำลังตรวจ
- ทำการตรวจมะเร็งปากมดลูก เริ่มต้นผู้ช่วยแพทย์จะบอกว่ากำลังจะทำอะไร จากนั้นจะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) หรือที่เรียกกันว่าปากเป็ด ค่อย ๆ สอดเข้าไปในช่องคลอด (มีล้างน้ำอุ่นก่อนไม่ให้เย็นเกินไป) เมื่อขยายช่องคลอดได้ที่จนเห็นปากมดลูกชัดเจนแล้วจะใช้ไม้ขนาดเล็กคล้ายกับไม้ไอศกรีมเพื่อป้าย (หรือหมุน) เอาเซลล์บางส่วนบริเวณปากมดลูกออกมาและนำไปใส่ไว้ในขวดโหล จากนั้นลดความกว้างของปากเป็ดลงจนสนิทและค่อย ๆ ดึงออกจากช่องคลอด ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 3 นาทีแบบเร็วมาก ๆ
- สวมเสื้อผ้าให้เรียบร้อย หลังตรวจมะเร็งปากมดลูกเสร็จแล้วบางครั้งอาจจะมีเลือดออดจากช่องคลอดเล็กน้อย ซึ่งเลือดจะหยุดไปเองและใช้เวลาไม่นาน ทางคลินิกมีผ้าอนามัยให้ด้วย
- ผู้ช่วยแพทย์กรอกแบบฟอร์มห้องปฏิบัติการ เก็บเซลล์บางส่วนบริเวณปากมดลูกลงในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อส่งไปตรวจยังห้องปฏิบัติการต่อไป
- ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อ HPV
- รอผลตรวจประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งจะมีจดหมายแจ้งผลส่งมาที่บ้าน
การตรวจมะเร็งปากมดลูกใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (Self-test kit)
การตรวจภายในอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกใจสำหรับผู้หญิงหลายคน ถ้ารู้สึกกังวลใจกับสิ่งเหล่านี้สามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิภาพ จากนั้นส่งชุดเก็บตัวอย่างกลับคืนเพื่อตรวจผลอย่างละเอียด สามารถขอชุดเก็บตัวอย่างได้ฟรีโดยใช้บัญชี DigiD ลงชื่อเข้าใช้งาน
การใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างของเซลล์บางส่วนบริเวณปากมดลูกเท่านั้น หากตรวจพบความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกต้องนัดพบคุณหมอเพื่อตรวจแบบแป๊ปสเมียร์อีกครั้งอย่างละเอียดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (นำจดหมายเชิญติดตัวไปด้วย)
วิธีการขอชุดเก็บตัวอย่าง
- ไปที่เว็บไซต์ Mijn Bevolkingsonderzoeknederland
- ลงชื่อเข้าใช้งานโดยใช้บัญชี DigiD
- กรอกข้อมูลตามที่ระบบแนะนำและกดส่งข้อมูล
- รอรับชุดเก็บตัวอย่างที่บ้าน
ชุดตัวอย่างประกอบไปด้วย
- คำแนะนำการใช้งานชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง
- ชุดเก็บตัวอย่างสีชมพู
- ถุงพลาสติกใสขอบสีน้ำเงิน
- ซองจดหมายสำหรับส่งคืน
- จดหมายพร้อมสติ๊กเกอร์ที่อยู่
การใช้งานชุดเก็บตัวอย่าง
- อ่านคำแนะนำการใช้งานชุดเก็บตัวอย่างละเอียด
- ทำตามคำแนะนำทีละขั้นตอนจนครบ จากนั้นใส่ชุดเก็บตัวอย่างกลับคืนเข้าไปในบรรจุภัณฑ์
- นำบรรจุภัณฑ์ใส่ลงในถุงพลาสติกใสขอบสีน้ำเงิน จากนั้นใส่ลงซองจดหมายสำหรับส่งคืน
- ติดสติ๊กเกอร์ที่อยู่ที่ได้รับมาลงบนลงหน้าซองจดหมาย จากนั้นส่งชุดเก็บตัวอย่างกลับคืนภายในหนึ่งอาทิตย์โดยไม่ต้องติดแสตมป์ (ขณะเดียวกันหากยังไม่ส่งให้เก็บในอุณหภูมิห้อง)
- ห้องปฏิบัติการจะตรวจสอบชุดเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ HPV
- รอผลตรวจประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งจะมีจดหมายแจ้งผลส่งมาที่บ้าน
แชร์ประสบการณ์การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบแป๊ปสเมียร์
หลังจากนัดหมายทางโทรศัพท์แล้วเราก็เดินทางไปที่คลินิกตามวันนัดหมาย เมื่อไปถึงก็แจ้งเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ว่ามาตรวจมะเร็งปากมดลูก (ไม่ต้องกังวลถ้าภาษาดัตช์ยังไม่แข็งแรงเพราะเจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษได้) จากนั้นก็นั่งรอเรียกชื่อประมาณ 5 นาที พอถึงคิวของเราแล้วผู้ช่วยแพทย์ก็จะมาเรียกชื่อให้เข้าไปในห้องตรวจ
พอเข้าไปในห้องตรวจแล้วก็ยื่นจดหมายเชิญที่มีสติกเกอร์บาร์โค้ดสองอัน จากนั้นผู้ช่วยแพทย์จะถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของเราแล้วก็กรอกข้อมูลเหล่านั้นลงในแบบฟอร์มสำหรับห้องปฏิบัติการ พอตอบคำถามเสร็จแล้วก็ถึงเวลาตรวจมะเร็งปากมดลูก
เราต้องเดินไปอีกฝั่งหนึ่งของห้องตรวจที่มีผ้าม่านกั้น ถอดกางเกงวางไว้ที่เก้าอี้ (ไม่มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า) แล้วขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ขนาดใหญ่ วางขาลงบนที่วางขาที่ปรับความกว้างได้ ถ้านึกภาพไม่ออกลองนึกภาพคนที่กำลังจะคลอดลูกประมาณนั้น ระหว่างนี้ผู้ช่วยแพทย์ก็แกะปากเป็ดออกจากถุงแล้วนำไปล้างน้ำอุ่นก่อน จากนั้นจะปรับเก้าอี้ลงให้เหมือนเรากำลังกึ่งนอนกึ่งนั่ง แล้วก็ปรับที่วางขาให้กว้างขึ้นและเปิดไฟส่อง
จากนั้นจะก็ใช้ปากเป็ดสอดเข้าไปในช่องคลอด ตอนที่สอดเข้าไปไม่เจ็บเลย ย้ำว่าไม่เจ็บจริง ๆ แต่จะรู้สึกหน่วงนิด ๆ พอสอดเข้าไปประมาณหนึ่งแล้วก็จะเปิดปากเป็ดให้กว้างขึ้น จากนั้นก็ใช้ไม้เล็ก ๆ คล้ายไม้ไอศกรีมแต่เล็กกว่าสอดเข้าไปแล้วก็หมุน ๆ เอาเซลล์บางส่วนออกมา ตอนที่หมุนไม้จะรู้สึกเหมือนเรากำลังปวดฉี่ แต่ไม่เจ็บนะคะ พอได้เซลล์บางส่วนพอประมาณแล้วก็จะเอาไม้ไปใส่ในกระปุกเล็ก ๆ ที่มีน้ำยาหรืออะไรสักอย่างแล้วหมุน ๆ จนเข้ากับน้ำยาเพื่อนำไปตรวจในห้องแล็ปต่อ ขั้นตอนสุดท้ายเอาปากเป็ดออกจากช่องคลอดและให้ผ้าอนามัยมาหนึ่งชิ้น เผื่อไว้ใส่ถ้ามีเลือดออกในภายหลัง เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก อ่านแล้วดูเหมือนนาน แต่ตอนทำจริง ๆ ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที ระหว่างทำผู้ช่วยแพทย์จะบอกก่อนด้วยว่ากำลังจะทำอะไร
หลังตรวจเสร็จแล้วประมาณ 10 นาทีเรากลับบ้านไปเข้าห้องน้ำเช็คดูปรากฏว่ามีเลือดออกนิดหนึ่งแล้วก็หยุดไปเอง จากนั้นก็รอรับจดหมายแจ้งผลประมาณ 2-4 อาทิตย์ ผ่านไปประมาณ 1 อาทิตย์แบบเร็วมากมีจดหมายแจ้งผลส่งมาที่บ้าน ผลตรวจไม่พบมะเร็งปากมดลูก จากนี้ก็รอจดหมายอีก 5 ปีข้างหน้าสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครั้งต่อไป
คำแนะนำก่อนการตรวจมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์
- ไม่ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกระหว่างมีประจำเดือน ควรนัดหมายหลังหรือก่อนครบกำหนด
- งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก 48 ชม. เพื่อไม่ให้มีสิ่งตกค้างในช่องคลอด
- ควรเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจแบบแป๊ปสเมียร์โดยส่วนมากเป็นผู้ช่วยแพทย์หญิง
- หากรู้สึกเจ็บหรือไม่สะดวกใจระหว่างการตรวจสามารถบอกให้ผู้ช่วยแพทย์หยุดได้
- การตรวจแบบแปปสเมียร์ไม่ทำให้เจ็บแต่อาจจะรู้สึกหน่วงนิดหนึ่งตอนที่สอดปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอด ถ้ารู้สึกกลัวหรือกังวลใจสามารถบอกให้ผู้ช่วยแพทย์ใช้ปากเป็ดที่มีขนาดเล็กลงได้
- หากไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือตรวจภายในมาก่อน ควรแจ้งผู้ช่วยแพทย์ ซึ่งผู้ช่วยแพทย์จะใช้เครื่องมือปากเป็ดที่มีขนาดเล็กลง
สรุปการตรวจมะเร็งปากมดลูกในเนเธอร์แลนด์ สามารถทำได้สะดวก 2 วิธี คือ การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบแป๊ปสเมียร์ และการตรวจมะเร็งปากมดลูกใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ทั้งสองแบบมีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปีจะได้รับจดหมายเชิญให้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งมะเร็งปากมดลูกโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปีโดยไม่ต้องลงทะเบียนด้วยตัวเอง ทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายในการตรวจ ไม่ต้องรอให้ภัยเงียบเกิดขึ้นกับตัวเรา ป้องกันไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้ อย่าลืมไปตรวจตรวจมะเร็งปากมดลูกกันนะคะ
ลิงก์ภายนอก →